เคยไหม? เวลาเราซื้อกระเป๋าใบใหม่ พอหยิบใช้ก็จะเห็นคนใช้กระเป๋ายี่ห้อเดียวกัน ทรงเดียวกันกับเราเต็มไปหมด หรือตอนที่เรากำลังเล็งจะไปกินอาหารสักร้าน เข้าไอจีไปดูดันเห็นเพื่อนหลายคนลงรูปร้านอาหารนั้น กระทั่งตอนทำงาน เวลาที่เราเงยหน้าขึ้นจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก็มักจะเห็นนาฬิกาบอกเวลาเดิมๆ ซ้ำๆ แบบไม่ตั้งใจ จนบางทีก็แอบนึกว่า ชีวิตคนเรานี่มันเป็นแหล่งรวมเรื่องบังเอิญชัดๆ
และไม่ใช่แค่เรื่องในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ตอนนี้มีปรากฏการณ์ใหม่ในโลกทวิตภพ ที่แฟนคลับวงที่มีตัวเลขต่อท้าย มักจะบังเอิญเจอตัวเลขเหล่านั้นอยู่บ่อยๆ ราวกับว่านี่คือปาฏิหาริย์ระหว่างพวกเรา เช่น แฟนคลับวง NCT127 ก็มักจะเห็นเลข ‘127’ ในทุกๆ ที่ ไม่ว่าจะเป็นซอยที่ขับรถผ่าน ค่าอาหารที่สั่ง วินาทีที่ติดไฟแดง หรือแม้กระทั่งฉากในละคร จนกลายเป็นปรากฏการณ์ในโลกออนไลน์ที่ใครเจอเลข 127 ก็จะเก็บหลักฐานมาโพสต์ทวิตเตอร์ และเกิดเป็นแฮชแท็กโด่งดังอย่าง #ยังจะ127อยู่นั่น
มองเผินๆ แล้ว นี่อาจจะเป็นเรื่องบังเอิญที่เราเห็นสิ่งเดิมๆ ซ้ำกันหลายครั้งจนเหมือนเป็นสัญญาณพิเศษ หรือในเชิงจิตวิญญาณก็มีคำอธิบายรองรับไว้เช่นกันว่าเป็นการเปิดพลังงานให้กลับมาสำรวจชีวิตตัวเองอีกครั้ง แต่ในอีกมุมหนึ่ง นี่อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เพราะมีคำอธิบายเชิงจิตวิทยาที่อาจทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์นี้ได้เช่นกันว่า การบังเอิญเห็นอะไรซ้ำๆ สอดคล้องอย่างไรกับจิตใจของเรา
Synchronicity: เป็นเพราะความบังเอิญ ที่เพิ่มเติมคือมัน ‘พิเศษ’
เหตุผลข้อแรกที่เราจะหยิบยกมาอธิบายคือ มันเป็น ‘ความบังเอิญ’ จริงๆ ที่เราดันมาเจอเลขหรือสิ่งของซ้ำๆ แบบไม่ได้ตั้งใจ โดยคาร์ล จุง (Carl Jung) นักจิตวิทยาได้อธิบายลักษณะของความบังเอิญนี้ผ่านเหตุการณ์ที่ว่า ครั้งหนึ่งเขาเคยจับแมลงปีกแข็ง (scarab) ที่เป็นแมลงนำโชคในวัฒนธรรมอียิปต์ไว้ แล้วนำไปให้คนไข้ พอดีกับที่คนไข้เล่าว่า ตัวเองเพิ่งฝันว่าได้รับเครื่องประดับทองคำรูปแมลงดังกล่าว ทำให้คนไข้คนนั้นรู้สึกถึงความโชคดี และเปิดใจรับคำแนะนำในการรักษาจากจุงมากขึ้น
หลังจากเหตุการณ์นี้ จุงก็ได้ยืมคำอธิบายจากคัมภีร์อี้จิงในปรัชญาเต๋ามาอธิบายว่า ถ้าเราหมกมุ่นอยู่กับ ‘ความฝัน’ ของเรามากเท่าไร เราก็เสาะหา ‘ความบังเอิญ’ จากความฝันมากเท่านั้น และเนื่องจากคนเรามักหาความหมายให้ความฝัน ความบังเอิญนั้นๆ จึงมีความหมายขึ้นมา จุงจึงเรียกเหตุการณ์ที่มีลักษณะเช่นนี้ว่า ‘Synchronicity’ ซึ่งแปลว่าความบังเอิญอันหาสาเหตุที่ชัดเจนไม่ได้ แต่มีความหมายกับผู้ประสบพบเจอเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย
หากจะอธิบายให้ใกล้เคียงกับชีวิตเรามากขึ้น สมมติว่าเรากำลังอยากกินหมาล่า คิดวนๆ ซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น แต่ยังไม่ทันได้พูด หรือแชตไปบอกใคร ทันใดนั้น เพื่อนสนิทก็ทักมาว่า ‘แก ไปกินหมาล่ากันไหม’ หรือเหตุการณ์ที่เราเงยหน้ามาเห็นตัวเลขซ้ำๆ โดยที่เราไม่ได้ตั้งใจมองหา แต่บังเอิญตัวเลขนั้นดันเป็นตัวเลขที่มีความหมายกับเรามากๆ
จุงยังได้อธิบายถึง Synchronicity อีกว่า ปรากฏการณ์นี้อาจอยู่นอกเหนือจากความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่และเวลา ซึ่งเป็นที่มาของ ‘เหตุผล’ จากเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวันของเรา ความบังเอิญที่อธิบายไม่ได้นี้เองจึงกลายมาเป็นจุดตั้งต้นในการศึกษาเหตุบังเอิญรูปแบบอื่นๆ เช่น เดจาวู หรือปรากฏการณ์ตรงข้ามอย่าง จาเมส์วู ซึ่งทำให้เราค้นหาความหมายเบื้องหลังเหตุการณ์ที่ดูเหมือนจะเกิดซ้ำกันระหว่างความฝันและความเป็นจริงไปด้วย
Visual Selective Attention: เพราะสมองตั้งใจ เลยทำให้เห็นแบบ ‘เหมือนบังเอิญ’
เหตุผลทางจิตวิทยาอีกอย่างหนึ่งที่เข้ามาอธิบายปรากฏการณ์การความบังเอิญเหล่านี้ได้ คือ Visual Selective Attention ที่เราจะเลือกเพ่ง ‘ความสนใจ’ กับบางสิ่งบางอย่างที่เราให้ความหมาย หรือให้ความสำคัญเท่านั้น จนเราไม่ได้โฟกัสสิ่งอื่นๆ ที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน
หนึ่งในการทดลองของ Visual Selective Attention ที่ทำให้เราเข้าใจปรากฏการณ์นี้ง่ายขึ้นคือ ‘กอริลล่าเอฟเฟ็กต์’ (Gorilla Effect) ซึ่งมาจากการทดลองที่ให้คนดูคลิปวีดิโอการรับ-ส่งลูกบอล โดยให้โจทย์ว่า คนที่ใส่เสื้อขาวส่งบอลกี่ครั้ง แต่ในคลิปวีดิโอดังกล่าว จะมีคนสวมชุดกอริลล่าเดินผ่านวงผู้เล่นบอลด้วย ผลปรากฏว่า อาสาสมัครที่เข้ารับการทดลองนี้ สามารถนับจำนวนครั้งที่คนใส่เสื้อสีขาวส่งบอลได้ แต่ไม่มีใครเห็นกอริลล่าที่เดินผ่ากลางวงเลย จึงอาจสรุปได้ว่า ถ้าเราโฟกัสการรับรู้ไว้กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อาจทำให้เราหลุดโฟกัสอีกสิ่งได้
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับการเห็นเลข หรือสิ่งของแบบซ้ำๆ ล่ะ?
นั่นก็เป็นเพราะว่าสมองของมนุษย์มีการรับรู้ ‘รูปแบบ’ ซึ่งเป็นวิวัฒนาการหนึ่งที่ทำให้มนุษย์สามารถเอาตัวรอดได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการขึ้น-ตกของดวงอาทิตย์ น้ำขึ้น-น้ำลง รวมไปถึงฤดูกาลต่างๆ ทำให้มนุษย์สามารถเข้าใจรูปแบบซ้ำๆ ได้ง่ายกว่าการรับรู้อื่นๆ มนุษย์จึงสามารถจดจำและมองหารูปแบบในชีวิตประจำวันได้อย่างรวดเร็วจนเป็นเหมือนความบังเอิญ ยิ่งถ้าเราให้ความหมาย หรือให้ความสำคัญกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ ก็อาจทำให้เราเห็นสิ่งนั้นอยู่บ่อยๆ จนเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญไปด้วย
ง่ายที่สุดคือ เราอาจจะนึกถึง ‘Angel Number’ ตัวเลขนำโชค หรือชุดตัวเลขที่เรามักพบเจออยู่บ่อยๆ ซึ่งแต่ละชุดตัวเลขมีความหมายและสอดคล้องกับชีวิตแตกต่างกันไป แม้จะมีคำอธิบายทางจิตวิญญาณบอกว่า การพบเห็นชุดตัวเลขเดิมซ้ำๆ เป็นเสมือนสัญญาณจากสวรรค์ให้ทบทวนการกระทำและชีวิตของตัวเองเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น แต่อีกแง่หนึ่ง การเห็นตัวเลข Angel Number บ่อยๆ นั้น อาจมาจากการรับรู้เลขเชื่อมโยงกับความหมายของตัวเลขในความรู้สึกเรา จนนำไปสู่การค้นหาความหมายของตัวเลขนั้นๆ ในเชิงจิตวิญญาณด้วย
อีกตัวอย่างหนึ่งที่อาจเห็นได้ชัดคือ การรับรู้ของเรานำไปสู่การโฟกัสสิ่งที่ใกล้เคียงกับความทรงจำหรือประสบการณ์ของเรา คล้ายกับว่าเรากำลังดึงดูดสิ่งที่คล้ายคลึงกับเราเข้ามาในชีวิตเรามากขึ้น เช่น ถ้าเราเพิ่งออกรถใหม่เป็นรถไฟฟ้าสีขาว นั่นอาจทำให้คุณเห็นรถรุ่นเดียวกัน สีเดียวกันกับรถที่เราเพิ่งซื้อบ่อยขึ้นกว่าเดิม หรือหากเราเป็นคนที่กำลังวางแผนจะมีลูก เราก็อาจเห็นคนท้องบ่อยขึ้นกว่าเดิมจนดูเหมือนเป็นเรื่องบังเอิญ หรือแม้กระทั่งปรากฏการณ์ #ยังจะ127อยู่นั่น ที่กลายเป็นว่าไม่ใช่แค่แฟนคลับ NCT127 เท่านั้นที่สังเกตตัวเลขชุดนี้ในฐานะตัวเลขประจำวง แต่ยังรวมไปถึงคนอื่นๆ ที่ร่วมสังเกตตัวเลขนี้และแชร์ภาพลงในแฮชแท็ก จนกลายเป็นการสังเกตในระดับสังคม ที่ก่อให้เกิดการมีส่วนร่วมระหว่างกันบนโลกโซเชียลไปด้วย
จากสิ่งที่เห็นโดย ‘บังเอิญ’ สู่เรื่องที่ ‘ตั้งใจ’ ใช้ในชีวิตจริง
อย่างที่บอกไปว่า เรามักจะมองหาสิ่งที่เหมือน หรือคล้ายกับตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นประสบการณ์ สิ่งของ หรือตัวเลขที่มีความหมายกับชีวิตของเรา ซึ่งอาจมาในรูปแบบของเรื่องบังเอิญที่ลึกๆ แล้วเกิดจากการที่สมองของเราตั้งใจ แล้วถ้าเราอยากลองเอาความบังเอิญเหล่านี้มาปรับใช้ในชีวิตของเราดูจริงๆ มันจะได้ไหมนะ?
มีแนวคิดทฤษฎีมากมายที่เป็นที่มาของการพัฒนาตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงพฤติกรรม การเข้าไปสำรวจความคิดของตัวเองแล้วแปรรูปออกมาเป็นการกระทำ แม้กระทั่ง Law of Attraction หรือ ‘กฎแห่งแรงดึงดูด’ ที่เคยเป็นเทรนด์ในการพัฒนาตัวเอง ซึ่งเริ่มต้นจากคอนเซ็ปต์ที่ว่า ความคิดในแง่บวกของเราจะเป็นพลังดึงดูดให้จักรวาลส่งพลังงานที่ดี และทำให้เจอสิ่งดีๆ ผ่านสิ่งที่เรียกว่า ‘Manifestation’ หรือการตั้งจิตมุ่งมั่นเพื่อดึงดูดพลังงานดีๆ ในชีวิต อาศัยการนึกถึงสิ่งที่เราต้องการอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้เราได้ในสิ่งที่ต้องการ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการมองหาตัวเลขซ้ำๆ หรือบังเอิญโฟกัสกระเป๋าแบบเดียวกับที่เราเพิ่งซื้อมา แต่ต่างกันตรงที่ Manifestation โฟกัสไปที่เรื่องของอนาคต
แง่หนึ่งการโฟกัสสิ่งดีๆ ในชีวิตอาจต้องเริ่มต้นจากพื้นฐานที่ดีก่อน Selective Attention จึงอาจนำมาประยุกต์ใช้กับการตั้งเป้าหมายและสร้างความสนใจกับเรื่องดีๆ ในชีวิตได้ เช่น เราอาจจะมองหาสกิลใหม่ๆ ในหน้าที่การงาน จึงอาจทำให้เราโฟกัสกับการพัฒนาตัวเองมากขึ้น เช่น หากเราต้องการโฟกัสการเขียนของเราให้ดีขึ้น เราก็อาจจะเห็นหนังสือพัฒนาการเขียน หรือจดจ่อกับการพัฒนางานเขียนมากขึ้น หรือถ้าขยับใกล้ตัวเข้ามาหน่อยอย่าง เราที่กำลังตั้งใจเก็บเงินซื้อกระเป๋าใบหนึ่ง ก็อาจจะเห็นกระเป๋ายี่ห้อนั้นบ่อยขึ้นมากๆ จนมีแรงฮึดสู้เก็บเงินเพื่อกระเป๋าใบนั้นมากขึ้น
นอกเหนือจากนี้ กฎแห่งแรงดึงดูดยังมีปรากฏการณ์หนึ่งที่สืบเนื่องจากการบังเอิญเจอสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ ที่เรียกว่า ‘Self-fulfilling Prophecy’ ซึ่งมีหลักการคือ ถ้าเราคิดว่ามันจะเกิดอะไร สิ่งนั้นจะเกิดขึ้นจริง โดยเราจะมองหาข้อสนับสนุนให้สิ่งที่เราคิดเสมอ เช่น ถ้าเราคิดว่าวันนี้เป็นวันที่ดี เราก็มักจะมองหาสิ่งดีๆ ในชีวิต อย่างบังเอิญเห็นดอกไม้สวยๆ ระหว่างทางที่ไปทำงาน บังเอิญเจอแมวน่ารักระหว่างเดินเข้าซอย บังเอิญกลับถึงบ้านทันก่อนฝนจะตกห่าใหญ่ จากเหตุการณ์ที่เราบังเอิญสังเกตเห็นนี้ นำมาสู่วันดีๆ ที่เรายิ้มออกมาได้ และถ้าทุกๆ วันเราบังเอิญเจอเรื่องราวดีๆ อย่างนี้เสมอ มันก็จะพัฒนากลายเป็นรูปแบบของพฤติกรรมในชีวิตประจำวันไปได้ในที่สุด
ดังนั้น หากเราบังเอิญเจอตัวเลขซ้ำๆ สิ่งของซ้ำๆ หรือเหตุการณ์ซ้ำๆ ก็อาจไม่ได้เป็นเพราะความบังเอิญเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเราอาจจะกำลังโฟกัสอะไรสักอย่างโดยไม่รู้ตัว และถ้าสิ่งที่เรากำลังโฟกัสนั้นเป็นเรื่องดีๆ ในชีวิตที่ทำให้ยิ้มได้แล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล
เพราะฉะนั้นเราจะมองหาเลข 127 ต่อไปก็ได้ ในเมื่อมันทำให้เรายิ้มออกมาได้นี่นา
อ้างอิงจาก