ปีที่แล้ว มีข่าวใหญ่ว่ารัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายยาเสพติดให้มีความยืดหยุ่นขึ้น เลิกทำสงครามกับยาเสพติดแล้วปรับนโยบายให้ผ่อนผันลง ทำเอาหลายคนตกอกตกใจว่ามันเป็นการ ‘ลดโทษ’ คดียาเสพติดรึเปล่า รัฐบาลคิดอะไรอยู่อีกแล้วเนี่ย ซึ่งเราก็เคยเขียนถึงไปแล้วที่นี่ ว่าทำไมเราถึงต้องเลิกทำสงครามกับยาเสพติด
ล่าสุด ประเทศไทยก็มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2560 ที่เพิ่งประกาศใช้ไปเมื่อต้นปี หลักๆ แล้ว ก็เป็นความพยายามในการเยียวยานักโทษที่ต้องรับโทษไม่ตรงตามความเป็นจริง ที่เป็นสาเหตุให้เกิดปัญหา ‘นักโทษล้นคุก’ โดยเฉพาะจากคดียาเสพติดนี่เอง
ทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ? ลองนึกภาพว่าคุณหรือคนรู้จักของคุณมียาไว้เสพเอง 1 เม็ด แต่ดั๊นเผอิญข้ามเขตชายแดนไปประเทศเพื่อนบ้านทำธุระ เพราะนึกไม่ถึงว่าจะต้องโทษหนัก พอโดนตรวจเจอ คดีที่คุณโดนฟ้องกลับไม่ใช่ ‘ครอบครองเพื่อเสพ’ แต่เป็น ‘นำเข้า หรือส่งออก’ จากโทษเบาก็จะกลายเป็นโทษหนัก ที่โทษคือ ‘จำคุกตลอดชีวิต’ ถ้ายอมรับสารภาพและเป็นการทำผิดครั้งแรก ลดหย่อนไปมาอาจเหลือแค่ 25 ปี
ยา 1 เม็ด กับคุกตลอดชีวิต หรือ 25 ปี
มันก็ดูจะไม่สมเหตุสมผลไปหน่อย ว่าไหม
โครงการกำลังใจฯ พาเราไปทำความเข้าใจกฎหมายฉบับใหม่ พร้อมกับเรื่องราวจากผู้ต้องขังที่เป็นผลลัพธ์จากกฎหมายเก่า ว่าเพราะอะไรเราถึงต้องแก้ไขกฎหมายนี้ แล้วมันจะส่งผลยังไงต่อผู้ต้องขังในปัจจุบัน และคนที่อาจโดนจับในข้อหาเดียวกันในอนาคต
เริ่มต้นจากความหวังดี แต่ผลลัพธ์อาจไม่ดีอย่างที่หวัง
สงครามยาเสพติดที่เราทำมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน ผู้เสพ ผู้ค้า ผู้ขน โดนจับกันจ้าละหวั่น แต่ยาเสพติดก็ยังคงเบ่งบานเจิดจรัสอยู่ในสังคม วันนี้เราไม่ได้จะมาตั้งคำถามว่า ‘ทำไม’ สงครามถึงไม่ได้ผล แต่จะมาเล่าถึงผลกระทบจากการทำสงครามที่อาจเกิดจากเจตนาดี แต่ขึ้นชื่อว่าสงครามแล้ว ผลลัพธ์ของมันก็คือการทิ้งความเสียหายไว้อย่างเลี่ยงไม่ได้
กฎหมายยาเสพติดของบ้านเรา ถ้าไม่นับครั้งนี้แล้ว ครั้งล่าสุดที่มีการแก้ไขไปก็คือพ.ศ.2545 ช่วงเดียวกันกับที่มีความพยายามกวาดล้างครั้งใหญ่ เมื่อคดีมันเยอะขึ้น งานของเจ้าหน้าที่ก็เยอะตาม
วิธีการร่นระยะเวลาเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่นที่สุด
ก็คือ ‘ช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่’
กฎหมายในตอนนั้นเลยประมาณเอาจากการสำรวจจากผู้เสพจริง ว่า ‘ปกติจะเสพวันละเม็ด และจะเก็บยาไว้กับตัวไม่เกินสองอาทิตย์’ นั่นเท่ากับ 14 เม็ดต่อ 2 สัปดาห์ ก็เขียนไว้กว้างๆ ไปเลยว่า ‘ถ้าครอบครองยาเสพติดเกิน 15 เม็ด ให้ถือว่า มีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย’ เพื่อที่เจ้าหน้าที่จะไม่ต้องมานั่งเสียเวลาสืบสวนสอบสวนว่าใครมีไว้เสพ ใครมีไว้ขาย
จุดตัดมันแค่เม็ดเดียวเท่านั้น นาย ก มียา 14 เม็ดไว้เสพ อาจถูกตัดสินว่ามีไว้เพื่อเสพเอง ประกันตัวได้ แต่นาย ข มียา 15 เม็ดไว้เสพเองเหมือนกัน แต่เพราะกฎหมายระบุแบบนั้น นาย ข เลยถูกตัดสินว่ามีไว้ขาย รับโทษต่างกัน โอกาสที่เหลืออยู่ในชีวิตก็ต่างกัน
ปี 2545-2560 มีนักโทษคดียาเสพติดกว่า 200,000 คนจากเรือนจำทั่วประเทศ เกินครึ่งถูกจับด้วยความผิด ‘ครอบครองเพื่อจำหน่าย’ และไม่รู้กี่คนที่อาจถูกลงโทษเกินกว่าความผิดจริง เพราะกฎหมายที่หวังดีแต่ทำให้เกิดการเหมารวม
นำเข้า ส่งออก โทษจำคุกตลอดชีวิต (แต่แค่ครึ่งเม็ดเนี่ยนะ?)
มาตรา 65 ในพ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ก่อนแก้ไข ระบุไว้ว่าโทษของการผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดให้โทษประเภท 1 คือจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1 ล้าน ถึง 5 ล้านบาท
โทษที่หนักหนาเอาการพอจะเข้าใจได้ว่า เพราะมันคือการขนยาข้ามประเทศ ที่อาจส่งผลต่อประเทศอื่นๆ ไปอีก ถ้าเป็นการนำเข้าหรือส่งออกหลายๆ เม็ด เพื่อไปขายในอีกประเทศ แต่ปัญหาที่เกี่ยวกับเรื่องนักโทษล้นคุกก็คือ ในกรณีนี้ จะครอบครองกี่เม็ดก็โดนโทษเท่ากัน
เพราะอย่างนั้นเราจึงเห็นบางคนนำเข้ายาครึ่งเม็ด โทษ 30 ปี หรือบางคน นำเข้า 7 เม็ด โทษ 25 ปีก็มี ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย แต่บางครั้งกฎหมายก็ดูไม่แฟร์เลยเนอะ
บพิศ เป็นผู้ต้องขังชายคดีนำเข้ายาเสพติด เพราะอยากเร่งหาเงินให้ลูก เลยเสพยาเพื่อให้ทำงานได้หนักขึ้น นานขึ้น วันเกิดเหตุเขาขับรถพาแฟนชาวลาวไปต่อหนังสือเดินทาง ก่อนจะขับรถกลับบ้าน แต่โดนตรวจพบยา 7 เม็ดที่ด่านตม. ศาลตัดสินจำคุกตลอดชีวิต แต่เพราะรับสารภาพและทำผิดครั้งแรก เลยเหลือโทษ 25 ปี
อีกกรณีคือ ปิยะ ที่โดนจับขณะที่พาแม่ยายชาวลาวมาหาหมอฝั่งไทย ยาครึ่งเม็ดที่พกไว้เสพเอง พออยู่ตรงเขตแดนระหว่างสองประเทศแล้ว น้ำหนักความผิดก็เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ โทษของเขาคือจำคุกตลอดชีวิต รับสารภาพในข้อหาครอบครอง เลยเหลือโทษ 30 ปี
กฎหมายใหม่ ที่แก้ไขให้เป็นธรรมมากขึ้น
จากความพยายามของหลายภาคส่วน ในที่สุดกฎหมายฉบับใหม่ก็มีการเปลี่ยนแปลง จาก ‘ครอบครองยาเสพติดเกิน 15 เม็ด ให้ถือว่า มีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย’ ก็กลายเป็น ‘ครอบครองยาเสพติดเกิน 15 เม็ด ให้สันนิษฐานว่า มีไว้ครอบครองเพื่อจำหน่าย’
เพิ่มโอกาสให้นักโทษและผู้ต้องสงสัยอีกหลายคน
ได้แก้ต่างเพื่อตัวเอง ไม่ถูกกฎหมายปิดปากอีกต่อไป
ส่วนมาตรา 65 เพราะเป็นความผิดที่มีหลายระดับ และมีอนุสัญญาที่ทำกับสหประชาชาติ การลงโทษสูงสุดเลยต้องคงไว้ดังเดิม แต่เพิ่มโทษขั้นต่ำขึ้นมา จาก ‘จำคุกตลอดชีวิต’ ก็เป็น ‘จำคุกตั้งแต่สิบปีถึงจำคุกตลอดชีวิต’
อีกหนึ่งประเด็นคือการผลิต นำเข้า และส่งออกเพื่อขาย จากเดิมที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว ก็ปรับให้สอดคล้องกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองระหว่างประเทศ (ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ให้เป็นการจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1 ล้าน ถึง 5 ล้านบาท
และเพราะการแก้ปัญหาไม่ใช่แค่การลดปัญหาในอนาคต แต่ยังรวมถึงการเยียวยาและช่วยเหลือผู้ต้องขังที่กำลังรับโทษเกินจริงอยู่ในปัจจุบันด้วย กฎหมายนี้เลยยังเปิดโอกาสให้ผู้ต้องขังขอให้ศาลตัดสินใหม่ได้ โดยศาลจะยกคดีมาพิจารณาให้ใหม่ หรืออัยการจะยื่นคำร้องให้ หรือจะเป็นผู้ต้องขังที่ยื่นคำร้องผ่านเรือนจำเองก็ได้
กฎหมายฉบับล่าสุดที่แก้ไขแล้วอาจจะยังบอกอะไรไม่ได้ถึงอนาคตทิศทางของยาเสพติดในประเทศไทย แต่ที่แน่ๆ คือเส้นทางของผู้ต้องขังเหล่านี้มีความหวังขึ้นกว่าเดิม
ภายในเวลาเดือนกว่าๆ ที่กฎหมายประกาศใช้ มีผู้ต้องขังส่วนหนึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาโทษใหม่แล้วเรียบร้อย และยังมีอีกหลายต่อหลายคนที่กำลังรอโอกาสในการแก้ไขเรื่องราวที่ถูกตัดสินในอดีตของตัวเอง ที่อาจตรงไปตรงมาตามแง่กฎหมาย แต่ฟังดูไม่ยุติธรรมต่อพวกเขาและครอบครัว ให้เป็นบทลงโทษที่สมเหตุสมผลและเป็นธรรมอย่างแท้จริง