“เอาชีวิตวัยรุ่นเราคืนมา” คำกล่าวที่ได้ยินหลายครั้ง หลังความล้มเหลวของรัฐบาลในการจัดการ COVID-19 พรากชีวิตปกติของเยาวชนไป
แคมเปญ ‘ไม่เรียนออนไลน์แล้วอิสัส’ จึงถือกำเนิดขึ้นมา โดยมีกำหนดเวลาตั้งแต่วันที่ 6-10 กันยายนหลังจากที่เด็กและเยาวชนจำนวนมาก ทรมาณกับการเรียนออนไลน์ และเรียกร้องให้ภาครัฐเข้ามาช่วยแก้ปัญหากันตลอดเวลาเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ถึงอย่างนั้น เราก็ยังเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์ปรากฏอยู่ตลอด
เช่นเดียวกับ ผู้คนที่อยู่ในวัยทำงานไปจนถึงผู้สูงอายุ เพื่อจะมีชีวิตรอดในสังคมที่ COVID-19 ยังแพร่ระบาดหนักและได้กลับไปใช้ชีวิตปกติอีกครั้ง การจัดสรรวัคซีนและบริหารการแพร่ระบาดของโรคอย่างมีประสิทธิภาพเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมาก
เราเลยอยากชวนทุกคน มาร่วมกันดูข้อเรียกร้องของเหล่านักเรียนและร่วมกันฟังเหตุผลว่า ทำไมพวกเขาถึงต้องออกมาประท้วงหยุดเรียนกัน
นักเรียนเลว ได้ยื่นข้อเรียกร้องในการ strike ถึงกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล ด้วยกัน 5 ข้อ โดยสรุปได้ดังนี้
- ออกคำสั่งปรับรูปแบบการศึกษาเพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น ลดตัวชี้วัด ชั่วโมงเรียน ภาระงานของครูกับนักเรียน
- จัดให้มีผู้เชี่ยวชาญในการช่วยเหลือและเยียวยาสภาพจิตใจนักเรียนจากการเรียนออนไลน์ และมีช่องทางการรายงานปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อตรวจสอบ และหาทางแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพและใช้งานได้จริง
- จัดหาอุปกรณ์การเรียนออนไลน์ กระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และเยียวยาค่าใช้จ่ายตามความเป็นจริงให้กับนักเรียนในสถานศึกษาที่เปิดเรียนไม่ได้
- เร่งทำให้การศึกษามีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยอาจมีการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการศึกษา พักชำระหนี้การศึกษา เพื่อป้องกันเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา
- รัฐบาลต้องนำเข้าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงมาให้ทุกคน และฉีดวัคซีนให้รวดเร็วที่สุด รวมถึง ต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสด้วย เพื่อคืนความปกติกลับสู่สังคม
ข้อเรียกร้องเหล่านี้เป็นสิ่งที่เหล่านักเรียน ครู และผู้ปกครองหลายคนพูดถึงมายาวนาน ในระยะเวลาที่ COVID-19 แพร่ระบาด และรัฐบาลยังไม่สามารถรับมือได้อย่างมีศักยภาพ ทำให้เด็กต้องเรียนออนไลน์แทน
แต่ก็ยังมีหลายฝ่ายที่มองว่า การเรียกร้องด้วยวิธีหยุดเรียน จะส่งผลเสียกับตัวนักเรียนเองมากกว่า และยังมองว่า การ strike อาจไม่ช่วยให้พวกเขาได้มาซึ่งข้อเรียกร้องที่ต้องการ แม้จะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องต่างๆ ก็ตาม
เราเลยไปสอบถามนักเรียนเลว ภาคีนักเรียน KKC และนักเรียนล้านนา ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่ออกมาเรียกร้องในประเด็นถึงสาเหตุที่พวกเขาต้องออกมาประท้วงกัน
“พวกเราเคยมาระดมความคิดกันว่าเรียนออนไลน์แบบไหนถึงจะดี แต่สุดท้ายมันไม่มีคำตอบ เพราะเราไม่ต้องการเรียนออนไลน์ เราต้องการเรียนออนไซต์ ซึ่งจะทำแบบนั้นได้ต้องมีวัคซีน” แบม ตัวแทนจากกลุ่มนักเรียนเลวกล่าว
แบมเล่าอีกว่า สเต็ปตามข้อเรียกร้องจะทำให้เห็นว่า ถ้ารัฐบาลไม่สามารถแจกวัคซีนซึ่งจะทำให้เด็กกลับไปเรียนออนไซต์ได้ ก็ต้องมีการจัดการเรียนออนไลน์ที่ดีกว่านี้ ชดเชยค่าอุปกรณ์และสิ่งที่เด็กต้องเสียไป ซึ่งตอนนี้กระทรวงศึกษาฯ ทำออกมาในรูปแบบของการขอความร่วมมือ ให้อำนาจโรงเรียนในการตัดสินใจอีกที แต่เธอมองว่า กระทรวงศึกษาควรทำมากกว่าแค่ขอความร่วมมือ
“อย่างเรื่องจะลดตัวชี้วัด เขาก็บอกว่าเป็นแนวทาง แต่จะลดหรือไม่ลดก็แล้วแต่ความสมัครใจของแต่ละโรงเรียน ซึ่งสุดท้ายเด็กก็เจออะไรแบบเดิม เรียน 8 ชั่วโมง ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง”
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการได้ออกมาตรการจ่ายเงินเยียวยานักเรียน 2,000 บาท ซึ่งแบมมองว่า เป็นการเยียวยาที่ยังไม่เพียงพอ เพราะสิ่งที่นักเรียน ครู และผู้ปกครองแบกรับมันมหาศาลกว่านั้น ทั้งยังมีราคาที่ต้องจ่ายในระยะยาวจากการเสียสุขภาพจิตอีกด้วย
แบมเล่าด้วยว่า การออกแคมเปญเช่นนี้ เพราะมองว่า ถ้าจัดประท้วงในตอนนี้ คนคงมาร่วมกันไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เพราะติดเงื่อนไขต่างๆ ทั้งเรื่อง COVID-19 เศรษฐกิจ และฐานะทางบ้าน
“เราเลยคิดว่า การจัดประท้วงแบบเดิมมันไม่น่าจะเวิร์คแล้วในช่วงนี้ ก็เลยทำให้มาคิดถึงแคมเปญ strike ก็เห็นว่ามีหลายประเทศที่เด็กหยุดเรียนเพื่อประท้วงเรียกร้องบางอย่าง เราก็เลยเริ่มหาข้อมูลและสุดท้ายก็มาเป็นแคมเปญนี้”
ขณะเดียวกัน แพร จากภาคีนักเรียน KKC ก็เล่าว่า การเป็นนักเรียน เป็นเหมือนฐานล่างสุดของพีระมิด ซึ่งไม่มีทางที่เราจะเรียกร้องโดยไม่สูญเสียอะไรได้ แล้วได้มาซึ่งข้อเรียกร้องที่กลุ่มนักเรียนขอไป การ strike ครั้งนี้จึงเป็นการแสดงออกที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียน และครู ซึ่งจะช่วยส่งเสียงไปถึงผู้มีอำนาจ แล้วให้เรามีอำนาจต่อรอง
“เราประท้วงกันมาแทบจะทุกทางแล้ว ทั้งการลงถนน ทั้งการยื่นหนังสือเรียกร้องต่างๆ แต่ก็ยังไม่เป็นผล แล้วภาครัฐก็ยังไม่ให้สิ่งที่เราต้องการ ยังดึงดันที่จะให้เราต้องเรียนออนไลน์ต่อไป เพราะฉะนั้น การประท้วงของเราเลยต้องยกระดับขึ้น แล้วก็เปลี่ยนเป็นการนัดหยุดเรียนแทน”
เมื่อถามว่า สิ่งที่ต้องการให้แก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด คืออะไร แพรก็ตอบว่า ข้อเรียกร้องที่เราต้องการมากที่สุด คือการเร่งนำเข้าวัคซีนที่มีคุณภาพ มาฉีดให้ประชาชนอย่างทั่วถึงเพื่อจะให้ทุกคนกลับไปใช้ชีวิตปกติได้ และนักเรียนจะได้กลับไปเรียนออนไซต์กันอีกครั้ง
แพรย้ำว่า การเรียนออนไลน์มันมีปัญหาเยอะมาก และก็มีเด็กหลายคนมากๆ ที่ไม่พร้อมสำหรับการเรียนออนไลน์จริงๆ ซึ่งประเด็นนี้ สอดคล้องไปกับตัดเลขคาดการณ์ล่าสุดของ กศส. (กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา) ที่พบว่า ในปีการศึกษาล่าสุด 1/2564 จะมีนักเรียนยากจนหรือยากจนพิเศษที่มีความเสี่ยงจะหลุดออกจากระบบการศึกษาประมาณ 1.9 ล้านคน จากจำนวนนักเรียนทั้งหมดในช่วงวัยเรียนการศึกษาภาคบังคับที่มีประมาณ 9 ล้านคน
เช่นเดียวกับ เจนนี่ จากกลุ่มนักเรียนล้านนา ซึ่งเล่าว่า ส่วนตัวก็เป็นหนึ่งในคนที่ตั้งคำถามกับการหยุดเรียนประท้วงเช่นกัน เพราะมองว่ามันส่งผลเสียกับตัวนักเรียนมากกว่าหรือเปล่า แต่ว่า พอได้ฟังสิ่งที่กลุ่มนักเรียนเลวถกกันก็เริ่มเห็นด้วย
“เรามองว่า การ strike เป็นเรื่องปกติมากๆ ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เป็นหนึ่งในกระบวนการเรียกร้องนึง เหมือนการประท้วงทั่วๆ ไปนั่นแหละ ถามว่าทำไมถึงเลือกใช้วิธีนี้ เราก็มองว่า มันเป็นอีกวิธีที่สามารถทำได้โดยไม่ต้องอะไรมาก เพราะเราคิดว่าทุกการเรียกร้อง ต้องมีการเสียสละบางอย่างอยู่แล้ว เช่น การไปร่วมชุมนุม ต้องเสียเวลา เสียค่าเดินทาง หรือเสี่ยงเจอกับอะไรบางอย่าง”
เจนนี่เล่าถึงการเรียกร้องในครั้งก่อนๆ อย่างเรื่องระเบียบทรงผม เครื่องแต่งกาย ซึ่งเธอก็เป็นคนหนึ่งที่มีส่วนร่วมในประเด็นนี้ โดยบอกว่า การออกมาแสดงอารยะขัดขืนต่อกฎระเบียบ ก็มีราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน โดยตอนนั้น เธอร่วมประท้วงด้วยการใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน แล้วก็ถูกผู้บริหารเรียกไปพูดคุยด้วย
“การ strike ในครั้งนี้ เป็นเรื่องของการเรียนออนไลน์ที่มันยืดเยื้อมา 2 ปีแล้ว เราเรียนกันมา 2 ปี ขับเคลื่อนกันมา 2 ปีแล้ว เราเสียไป 5 วัน เพื่อมาบอกให้เขารู้ว่า การเรียนแบบนี้ไม่โอเคนะ เขาจะไม่คิดว่ามันแปลกเหรอที่อยู่ๆ นักเรียนมาหยุดเรียนกัน”
เจนนี่ย้ำว่า การหยุดเรียนนี้ไม่ได้เป็นเพราะนักเรียนขี้เกียจ แต่เป็นเพราะพวกเขาเบื่อหน่ายและไม่อยากทนแล้วกับระบบการเรียนแบบนี้ ทั้งยังมองว่า การเรียนออนไลน์ไม่ควรจะเป็นแผนระยะยาว แต่ด้วยการจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้การเรียนออนไลน์กลายมาเป็นเส้นทางหลักในการศึกษา ซึ่งมันควรจะจัดการให้ดีมากกว่านี้
อย่างไรก็ดี กับกระแสอีกฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับการหยุดเรียนนี้ เจนนี่ก็เล่าว่า แม้การจะได้มาซึ่งข้อเรียกร้อง จำเป็นต้องให้คนมาเข้าร่วมมาพอ แต่เธอก็เข้าใจดีว่าแต่ละคนมีสิ่งที่แบกรับไม่เหมือนกัน ซึ่งเธอยอมรับในทางเลือกที่แตกต่างกันของแต่ละคน
ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องด้วยรูปแบบไหน ซึ่งที่สังคมต้องร่วมกันขับเคลื่อนคือการเรียกร้องให้ภาครัฐ เร่งแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น กลาง ยาว ที่เกิดจากการเรียนออนไลน์ ซึ่งไม่ได้กระทบแค่กลุ่มนักเรียน แต่ส่งผลต่อครูและผู้ปกครองด้วย เพื่อปกป้องและช่วยกันส่งเสียงสะท้อนปัญหา ให้กับกลุ่มคนที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘อนาคตของชาติ’ อย่างแท้จริง