“หนึ่งปีที่ผ่านมา ร้านอาหารสูญเสียมามากพอแล้ว หนึ่งปีที่ผ่านมาผมคิดว่า คนทำร้านอาหารเสียสละมามากพอแล้ว อย่าให้ผมต้องปิดร้านนี้ไปอีกร้าน เพราะโควิดเลย”
คำสัมภาษณ์จากผู้ประกอบการแห่งหนึ่ง ที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้กับ The MATTER คงบรรยายได้ถึงสถานการณ์ ที่ผู้ประกอบการกำลังเผชิญอยู่ได้อย่างชัดเจน กับคำสั่งคุมเข้มของภาครัฐ จนทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต่างต้องประสบกับปัญหา ในการบริหารกิจการของตัวเอง ท่ามกลางการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกนี้
The MATTER พอพาคุณไปทบทวน เพื่อเปรียบเทียบมาตรการเยียวของภาครัฐ ที่มีต่อผู้ประกอบการ ระหว่างการระบาดระลอกก่อน ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยา ในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน พ.ศ.2563 เทียบกับการระบาดในระลอกใหม่ ในเดือนเมษายนนี้ว่า รัฐมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการ แตกต่างกันออกไปอย่างไรบ้าง
การระบาดระลอก มีนาคม-เมษายน พ.ศ.2563
ไทยเริ่มมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 เมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2563 ก่อนจะมีตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นสูง ภายหลังการแพร่ระบาดจากคลัสเตรอ์สนามมวยเวทีลุมพินี ช่วงเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 ที่ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อต่อวันพุ่งสูงขึ้นนับร้อยราย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด19 (ศบค.) และรัฐบาล จึงตัดสินใจประกาศการล็อกดาวน์ ด้วยมาตรการคุมเข้ม ทั้งปิดสถานที่ประกอบการต่างๆ จนกระทบผู้ประกอบการเป็นวงกว้าง
อย่างไรก็ดี ในการแพร่ระบาดระลอกใหญ่ครั้งก่อน รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวและช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดยอาจเรียกว่าพอจะพยุงให้ผู้ประกอบการ ยังพอจะดำเนินธุรกิจของตัวเองต่อไปได้ อย่างไรก็ดี มีผู้ประกอบการหลายรายต่างต้องปิดร้านค้าของตัวเอง บ้างสะท้อนเสียงว่า มาตรการของรัฐไม่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการมากพอ
รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยา เป็น 3 ระยะ โดยสามารถแบ่งออกมาได้ดังนี้
มาตรการเยียวยาระยะที่ 1 ออกเมื่อวันที่ 10 มีนาคม พ.ศ.2563 โดยรัฐบาล ภายใต้การทำงานของกระทรวงการคลัง ได้แบ่งมาตรการออกเป็น 2 หมวดหมู่ ได้แก่ มาตรการเพิ่มสภาพคล่อง และมาตรการลดภาระ มีรายละอียดดังนี้
มาตรการเพิ่มสภาพคล่อง
1.ให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 150,000 ล้านบาท โดยคิดอัตราดอกเบี้ย 2 เปอร์เซ็นต์ นาน 2 ปี และมีการมอบสินเชื้อให้แก่ผู้ประกอบการไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย
2.พักต้นเงิน ลดดอกเบี้ย และขยายเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ฯ ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
3.ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้
4.ให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของประกันสังคม วงเงินสินเชื่อรวม 3 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3 เปอร์เซ็นต์ ต่อปี ระยะเวลานาน 3 ปี
5.คืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศ ด้วยการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ระว่างเดือนเมษายน – กันยายน พ.ศ.2563
6.เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการส่งออก โดยจะคืนภายใน 15 วันให้แก่การยื่นทางอินเทอร์เน็ต และ 45 วัน ในการยื่นแบบปกติ
7.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายเงินงบประมาณ พ.ศ.2563 โดยกรมบัญชีกลางได้ผ่อนปรนหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้าง รวมถึงการปรับลดขั้นตอนและระยะเวลาดำเนินการ
มาตรการลดภาระ
1.หักเพิ่มภาษีดอกเบี้ยจ่าย จาก 1 เท่าเป็น 1.5 เท่า (มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ Soft Loan 150,000 ล้านบาท)
2.บรรเทาภาระการจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ และคืนค่าประกันการใช้ไฟ ให้แก่ผู้ประกอบการ
3.ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ของนายจ้างและลูกจ้าง โดยลูกจ้างในข่าย ม.33 จาก 5 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ และ ม.39 จาก 9 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 7 เปอร์เซ็นต์
4.หากผู้ประกอบการไม่ปลดแรงงาน สามารถหักรายจ่ายค่าจ้างงานได้ 3 เท่า
5.บรรเทาค่าธรรมเนียม ค่าเช่า ค่าตอบแทนการให้บริการของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ด้วยการเลื่อนการจ่ายค่าเช่าที่ราชพัสดุ สำหรับผู้เช่าประเภทผู้ประกอบการ ในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
มาตรการเยียวยาระยะที่ 2 ออกเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2563 โดยรัฐบาล ภายใต้การทำงานของกระทรวงการคลัง ได้แบ่งมาตรการออกเป็น 2 หมวดหมู่ ได้แก่ มาตรการเพิ่มสภาพคล่อง และมาตรการลดภาระ มีรายละอียดดังนี้
มาตรการเพิ่มสภาพคล่อง
1.ให้สินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย วงเงินสินเชื่อรวม 10,000 ล้านบาท โดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และให้สินเชื่อต่อรายไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยคิดดอกเบี้ย 3 เปอร์เซ็นต์ ใน 2 ปีแรก
มาตรการลดภาระ
1.ยืดการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด. 50 เป็นเวลา 3 เดือน และ ภ.ง.ด. 51 เป็นเวลา 1 เดือน
2.ยืดการเสียภาษีสรรพากร เช่น VAT ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอื่นๆ ให้ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยเลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบ และชำระภาษีทุกประเภท 1 เดือน
3.ยืดการเสียภาษีสรรพสามิต ให้กิจการสถานบริการ โดยเลื่อนการยื่นแบบ และชำระภาษีสถานบริการ ออกไป 3 เดือน
4.ยืดการเสียภาษีสรรพสามิต ให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยเลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษี ออกไป 3 วัน เป็นระยะเวลา 3 เดือน
5.ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและรักษา COVID-19 เป็นเวลา 6 เดือน
6.ยกเว้นภาษีและลดค่าธรรมเนียม จากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ (Non-Bank) ให้เจ้าหนี้ที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลเช่าซื้อ Leasing เป็นเวลา 1 ปี สิ้นสุดธันวาคม พ.ศ.2564
มาตรการเยียวยาระยะที่ 3 ออกเมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2563 โดยรัฐบาล ภายใต้การทำงานของกระทรวงการคลัง ออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) 3 ฉบับ รวมทั้งสิ้น 1.9 ล้านล้านบาท
หนึ่งใน พ.ร.ก. ที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยาผู้ประกอบการ คือ พ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย ออก Soft Loan เพื่อดูแลภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SMEs ด้วยวงเงิน 5 แสนล้านบาท ผ่านการให้สินเชื่อใหม่ในอัตราดอกเบี้ย 2 เปอร์เซ็นต์ สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ล้านบาท รวมถึงให้ ธพ. และ SFIs พักชำระหนี้ ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นเวลา 6 เดือน ให้แก่ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท
การระบาดระลอก เมษายน พ.ศ.2564
สถานการณ์การแพร่ระบาด จากสนามมวยลุมพินีถูกควบคุมเอาไว้ได้ดีขึ้น ก่อนที่ตัวเลขการติดเชื้อในไทยจะพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง จากคลัสเตอร์สถานบันเทิงทองหล่อ ซึ่งพบว่าเป็นเชื้อ COVID-19 กลายพันธุ์ B117 จนรัฐต้องประกาศปิดสถานที่ประกอบการ และขยายตัวมาถึง การสั่งไม่ให้มีการนั่งรับประทานในร้านอาหาร โดยอนุญาตให้มีแต่การห่อกลับบ้านเท่านั้น
จากการระบาดในระลอกล่าสุด เมื่อช่วงเดือนเมษายน พ.ศ.2564 จนกระทั่งปัจจุบันนี้ มีข้อวิจารณ์มาตรการเยียวยาของรัฐ ว่าอาจแก้ปัญหาไม่ตรงจุด โดยควรจะมีการเยียวยาผู้ประกอบการ ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโดยตรง อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังได้ออกแถลงโต้แย้งว่า ทางรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศ เนื่องจากการแพร่ระบาดในระลอกนี้ มีสถานการณ์ที่หนักกว่ารอบก่อน
กระทรวงการคลังยังได้แถลงต่อไปอีกว่า รัฐบาลจะพิจารณาการเยียวยาในรายพื้นที่ เมื่อสถานการณ์การระบาดระดับประเทศคลี่คลาย จนอยู่ในระดับที่สามารถดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศได้ ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาประชาชน ในวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา ด้วยการเพิ่มเงินในโครงการเราชนะ และ โครงกันเรารักกัน ม.33 ซึ่งจะช่วยธุรกิจรายย่อย ผ่านการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการอยู่บ้าง ได้แก่
1.มาตรการสินเชื่อสู้ภัย COVID-19 วงเงินรวม 20,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสภาพคล่องชั่วคราว ในการดำรงชีวิตให้แก่ประชาชน และบรรเทาความเดือดร้อนสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทั้งผู้ที่มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการรายย่อย รวมไปถึงเกษตรกรรายย่อยและผู้ประกอบการร้านอาหารรายย่อย
2.มาตรการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ ผ่านการพักชำระเงินต้นให้แก่ลูกหนี้ตามความสมัครใจของลูกหนี้ ออกไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2564
นอกจากนี้ ในการแพร่ระบาดระลอกล่าสุด รัฐบาลได้ออก พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย 2 มาตรการ ในการเยียวยาผู้ประกอบการ ได้แก่
1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ หรือมาตรการสินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ในการช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจ ให้เข้าถึงสินเชื่อในอัตราที่เหมาะสม โดยผู้ประกอบธุรกิจทั้งที่มีสินเชื่อ และไม่มีสินเชื่อกับสถาบันการเงินอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก เฉลี่ยไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ตลอดระยะเวลามาตรการ ทั้งนี้ รัฐบาลจะรับภาระดอกเบี้ยแทนผู้ประกอบธุรกิจเป็นระยะเวลา 6 เดือน และมีการประกันสินเชื่อ เพื่อลดความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ประกอบธุรกิจ
2.มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันเพื่อชำระหนี้ หรือมาตรการพักทรัพย์ โดยพักหนี้ วงเงิน 1 แสนล้านบาท ด้วยการช่วยเหลือให้ผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ต้องรับภาระต้นทุนทางการเงินเป็นการชั่วคราว และมีโอกาสกลับมาดำเนินธุรกิจ โดยใช้ทรัพย์สินหลักประกันเดิมได้ หลังสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 คลี่คลายลง ผู้ประกอบธุรกิจสามารถยื่นขอโอนทรัพย์สินหลักประกัน เพื่อชำระหนี้โดยมีสิทธิเช่าทรัพย์สินเพื่อประกอบธุรกิจต่อไป และมีสิทธิซื้อทรัพย์สินนั้นคืนได้ ภายในระยะเวลาไม่เกิน 5 ปี นับแต่วันโอนหรือระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
กระทรวงการคลังยังกล่าวอีกว่า ในการระบาดระลอกนี้ รัฐบาลได้ออกมาตรการเลื่อนเวลาการชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลไปเป็นภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2564 ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ และผู้ทำบัญชีที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่มีความรุนแรง และครอบคลุมทั่วประเทศ
สำหรับผู้ประกอบการร้านอาหาร ล่าสุด ศบค. มีการแถลงเมื่อวานนี้ (11 พฤษภาคม) ยืนยันว่า รัฐบาลได้มีการหารือกับสมาคมภัตรคารไทยว่า หากสถานการณ์แพร่ระบาดดีขึ้น จะมีการผ่อนคลาย โดยขอให้ผู้ประกอบการมีมาตรการดูแลประชาชน ที่เข้ามานั่งบริโภคในร้าน ถ้าสร้างความมั่นใจได้ ก็จะมีการผ่อนคลายโดยเร็ว โดยตอนนี้ยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจน แต่ขอให้ดูสถานการณ์การแพร่ระบาดให้ดีขึ้นไปก่อน
อ้างอิงจาก
https://thematter.co/brief/141851/141851
https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/928868
https://www.prachachat.net/finance/news-665174
https://www.matichon.co.th/economy/news_2714461