เผลอแป๊บเดียวตอนนี้เราก็เข้าสู่ทศวรรษใหม่กันแล้ว วันเวลาที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วยังมาพร้อมกันกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย ทำให้มนุษย์ต้องคอยอัพเดตทักษะในการทำงานเพื่อตามให้ทันความฉลาดของ A.I. พวกนี้ด้วย
‘Reskill & Upskill’ คือ สองคำที่ได้ยินกันบ่อยๆ ในยุคนี้ คนทำงานจะไม่สามารถทำสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ ไปตลอดได้ แต่ยังต้องคอยขวนขวายหาความรู้นอกเหนือจากศาสตร์สาขาที่ตัวเองเรียนมา เพราะเทคโนโลยีที่อัพเดตอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ทักษะที่เรามีไม่ตอบโจทย์กับสิ่งต่างๆ รอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไป และหากเราอัพเดตไม่ทันก็จะเกิดเป็น ‘skill gap’ คือ ทักษะที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการขององค์กรนั่นเอง
The MATTER ได้รวบรวม ‘Hard Skills’ และ ‘Soft Skills’ ที่คนทำงานควรรู้ในปี ค.ศ.2020 นี้ มาอัพเดตให้ทุกคนได้เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนผ่านสู่ทศวรรษใหม่กัน
Hard Skills
เรียกอีกอย่างว่า ทักษะด้านวิชาชีพ เป็นความรู้หรือเทคนิคที่นำไปใช้ในการทำงาน สามารถเรียนรู้กันได้ ซึ่ง hard skills ที่จำเป็นสำหรับปี ค.ศ.2020 นี้ มีหลักๆ ด้วยกัน 6 ทักษะ ได้แก่
1.สื่อสารภาษาต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ทักษะการสื่อสารด้วยภาษาต่างชาติเป็นหนึ่งในสกิลที่สำคัญมากในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา และในทศวรรษนี้ก็จะยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก การสื่อสารด้วยภาษาต่างชาติในยุคนี้ต้องสามารถทำได้ครบทั้งฟัง-พูด-อ่าน-เขียน โดยเฉพาะทักษะการพูดและฟังที่จะช่วยเพิ่มความก้าวหน้าในเส้นทางการทำงานได้เป็นอย่างดี
2.ความว่องไวในการพิมพ์งานเพิ่มขึ้น
แม้เราจะคิดว่าตัวเองมีความสามารถในการพิมพ์งานได้ไวแล้ว แต่ในยุคนี้เราต้องเร็วมากขึ้นไปอีก! โดยเฉพาะสายงานข่าวหรืองานออนไลน์คอนเทนต์ที่ในปีนี้จะมีการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้น การเสิร์ฟคอนเทนต์หรือข่าวที่กระชับ เข้าใจง่าย และรวดเร็ว จึงเป็นอีกทักษะที่หลายองค์กรต้องการ
3.ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้หลากหลาย
ในยุคที่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาแทนการทำงานแบบ annual สิ่งที่จำเป็นไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าทักษะภาษาต่างชาติก็คือ การใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้คล่องแคล่ว และหลากหลาย แม้ว่าบางคนจะไม่ได้เชี่ยวชาญ หรือจบการศึกษามาจากสายเทคโนโลยี แต่นี่คือสกิลที่ต้องมีการ ‘upskills’ และไม่ใช่แค่ทักษะจำเป็นในปี ค.ศ.2020 แต่หลังจากนี้ การใช้งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะกลายเป็นทักษะที่ทุกคนต้องมี
4.เติมความรู้ในศาสตร์สาขาอื่นๆ ให้ตัวเอง
‘นี่คือยุคของการข้ามศาสตร์’ หลายคนน่าจะเคยได้ยินประโยคนี้กัน เพราะการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์เป็นสิ่งที่หลายองค์กรต้องการ แน่นอนว่าความเชี่ยวชาญหรือการเป็น ‘expert’ ในศาสตร์สาขาก็ยังมีความจำเป็นอยู่ แต่ในขณะเดียวกันการเรียนรู้องค์ความรู้ด้านอื่นๆ ก็นับเป็นของที่ต้องมีในยุคนี้ด้วย
5.ทักษะการผลิตวิดีโอ
มีผลสำรวจออกมาว่า มีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตราวๆ 70% เลือกบริโภคเนื้อหาในรูปแบบวิดีโอ ทำให้วิดีโอกลายเป็นสื่อหลักสำหรับบริษัทโฆษณามากมาย ผู้เชี่ยวชาญในการถ่ายวิดีโอ และงานโปรดักชั่นอย่างการตัดต่อ เขียนสคริปต์ และการจัดองค์ประกอบภาพ จึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับงานสื่ออย่างยิ่ง
6.ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน STEM (Science/Technology/Engineering/Mathematics)
คือทักษะด้านการอ่าน เขียน และคิดวิเคราะห์แบบคณิตศาสตร์ ซึ่งเป็นแนวทางการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และสามารถบูรณาการความรู้ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี กระบวนการทางวิศวกรรม และทักษะด้านคณิตศาสตร์ ซึ่งทั้งหมดจะสามารถนำไปต่อยอดสู่การประกอบอาชีพในอนาคตได้
Soft Skills
ถ้า hard skills ทำให้เราได้งานทำ ส่วนที่จะช่วยรักษางานจนกระทั่งถึงวันที่ประสบความสำเร็จในองค์กรนั้นๆ ได้ก็คือ ทักษะ soft skills นี่แหละ soft skills ที่โดดเด่นและน่าจับตามองในปีนี้มีอยู่ 8 อย่าง
1.ความคิดสร้างสรรค์
‘creativity’ ไม่ได้ใช้กับแค่สายงานอาร์ตเท่านั้น แต่ความคิดสร้างสรรค์ในที่นี้ยังหมายถึงการพัฒนาไอเดียใหม่ๆ ตลอดเวลา เพื่อนำไปสู่ทางออกใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาด้วย
2.ความฉลาดทางอารมณ์
คือ การฝึกการควบคุมอารมณ์ และการแสดงออก รวมถึงสังเกตความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมงานในที่ทำงานด้วย ‘emotional intelligence’ นอกจากจะช่วยให้ชีวิตการทำงานราบรื่นแล้ว ยังนำไปปรับใช้ในการดำเนินชีวิตพาร์ตอื่นๆ ได้เหมือนกัน
3.ทัศนคติที่เติบโตและยืดหยุ่น
ทัศนคติที่เติบโตและยืดหยุ่น หรือ ‘growth mindset’ เป็นความสามารถในการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ความเต็มใจที่จะปรับความคิดให้เข้ากับสถานการ์และการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
4.ทักษะในการถ่ายทอดและเล่าเรื่อง
ทักษะการเรียบเรียงหรือจัดระเบียบข้อมูล สามารถนำมาถ่ายทอดให้กับเพื่อนร่วมงานฟังได้อย่างครบถ้วน และเข้าใจในสารที่เราตั้งใจจะสื่อได้สมบูรณ์
5.ตระหนักถึงวัฒนธรรมองค์กร
มีความสามารถในการมีปฏิสัมพันธ์ทั้งในแง่การทำงาน และความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในองค์กร โดยผู้พูดต้องมีความเข้าใจในภูมิหลังส่วนบุคคล และวัฒนธรรมองค์กรในภาพใหญ่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6.เพิ่มความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในสายอาชีพ
การเรียนรู้ข้ามศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญ แต่ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านก็ยังจำเป็นเหมือนกัน การเป็น ‘specialist’ จะทำให้เราสามารถไปต่อในสาขาอาชีพนั้นๆ ได้ตรงตามเป้าหมายได้ไวมากขึ้น
7.ทักษะการเจรจาต่อรอง-โน้มน้าวใจ
การเจรจาต่อรองเป็นหนึ่งในทักษะที่ค่อนข้างยาก และต้องการประสบการณ์ในระยะหนึ่ง แต่ก็นับเป็นทักษะที่สำคัญมากๆ ทักษะการพูดโน้มน้าวใจยังรวมไปถึงการเสนอขายงานลูกค้า, การเจรจาธุรกิจ ซึ่งทักษะนี้มนุษย์อาจทำได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่า A.I.
8.ทักษะการคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงจุด
ในยุคที่มีการแข่งขันอย่างดุเดือดแบบนี้ การคาดการณ์ความต้องการของลูกค้าหรือผู้บริโภคได้จึงเป็นสิ่งที่หลายบริษัทต้องการมาก ขึ้นชื่อว่าการคาดการณ์ก็คงจะไม่ถูกไปซะทุกครั้ง ทักษะนี้ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์ และความเข้าใจต่อกลุ่มลูกค้า รวมถึงคอยอัพเดตเทรนด์ฮิตอยู่เสมอๆ
อ้างอิงข้อมูลจาก