ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีดีเบตเกี่ยวกับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ ‘ถุงยางอนามัย’ และการติดเชื้อ HIV
ข้อมูลฝ่ายหนึ่งมองว่า การกินยาต้านไวรัสอย่างมีวินัยจนตรวจเชื้อไม่พบ ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าทำให้ไม่สามารถถ่ายทอดเชื้อ HIV ไปยังบุคคลอื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้ (Undetectable = Untransmittable)
แต่ข้อมูลจากอีกฝ่ายก็คิดว่า การใส่ถุงยางอนามัยมีเพศสัมพันธ์ ยังใช้ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually Transmitted Diseases – STDs) นอกจากเชื้อ HIV ยังรวมถึงซิฟิลิส หนองในแท้ หนองในเทียม ฝีมะม่วง เริม ฯลฯ ได้สูงสุดถึง 98%
สิ่งที่ The MATTER รู้สึกยินดีจากวิวาทะนี้ก็คือ มันทำให้คนหันมาพูดคุยกันถึงพัฒนาการในการป้องกันเชื้อ HIV ประโยชน์ของถุงยางอนามัย และการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย
ข้อมูลตลาดถุงยางอนามัยของเมืองไทย
- มีมูลค่ารวม 1,400 ล้านบาท จากยอดขาย ราว 77 ล้านชิ้น
- 80% เป็นถุงยางอนามัยทำจากยางธรรมชาติ (latex) อีก 20% ทำจากวัสดุอื่นที่ไม่ใช่ยาง (non-latex) สำหรับผู้ที่แพ้โปรตีนจากยางธรรมชาติ
- ข้อมูลจากหน่วยงานสาธารณสุขทั้งไทยและต่างชาติ ยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์และการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ได้สูงสุดถึง 98%
- ประเภทถุงยางอนามัยขายดี 5 อันดับแรก รวมกันเกือบ 70% ของทั้งหมด (ข้อมูลปี 2561) ประกอบด้วยบางพิเศษ 0.03, 49 mm, ผิวสัมผัส (texture), กลิ่น/สีต่างๆ (flavor) และพิเศษ (special)
ความเป็นมาของการใช้ถุงยางอนามัยในเมืองไทย เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2520 เพื่อควบคุมการตั้งครรภ์ เนื่องจากในขณะนั้นอัตราการเกิดของประชากรสูงเกินไป แต่ต่อมาเกิดการระบาดของเชื้อ HIV จึงถูกรณรงค์ให้ใช้เพื่อป้องกันการติดเชื้อนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2527 เป็นต้นมา แต่กว่าจะประสบความสำเร็จ คนไทยใช้กันอย่างแพร่หลายก็ในปี พ.ศ.2534 เป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ก้าวหน้า คนมีทางเลือกในการป้องกันการตั้งครรภ์มากขึ้น ทำให้อัตราส่วนการใช้ถุงยางอนามัย โดยเฉพาะในหมู่เยาวชนไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ผลคือ แม้อัตราการท้องในหมู่วัยรุ่น (คุณแม่วัยใส) จะลดลง แต่การติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ
ข้อมูลจากสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยว่าปัญหาคุณแม่วัยใสที่เคยรุนแรงสูงสุด โดยวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-19 ปี คลอดลูก 53.4 คนต่อพันคน ในปี พ.ศ.2554 จะลดลงเหลือแค่ 35 คนต่อพันคน ในปี พ.ศ.2561 ส่วนการติดต่อโรคทางเพศสัมพันธ์ เช่น ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม แผลริมอ่อน ฯลฯ เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 89.5 คนต่อแสนคน ในปี พ.ศ.2554 เพิ่มเป็น 189.5 คนต่อแสนคน ในปี พ.ศ.2561
ดีเบตเรื่อง ‘ถุงยางอนามัย’ รอบล่าสุด จึงน่าจะช่วยให้คนตื่นตัวเรื่องบทบาทของถุงยางอนามัย และบทบาทในการควบคมประชากร รวมถึงการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
อ้างอิงจาก
– แบบ 56-1 ประจำปี พ.ศ.2562 ของบริษัท ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ จำกัด (มหาชน) หรือ TNR ผู้ผลิตถุงยางแบรนด์ ONETOUCH และ PLAYBOY
– ยุทธศาสตร์ถุงยางอนามัยแห่งชาติ พ.ศ.2558-2562
– บทความ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ของ สสส. เมื่อปี พ.ศ.2561
– รายงาน สถานการณ์อนามัยการเจริญพันธุ์ในวัยรุ่นและเยาวชนปี 2561 ของสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข81