ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ สำหรับการตัดสินศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดี ระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์ ตัวแทนจากพรรครีพับลิกัน ผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 2 และโจ ไบเดน นักการเมืองมากประสบการณ์จากพรรคเดโมแครต หลังจากต่อสู้กันมากว่าครึ่งปี ก็จะได้รู้เสียทีว่าผลจะออกมาเช่นไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบรรยากาศการเมืองเต็มไปด้วยตัวแปรสำคัญมากมายเช่นนี้
การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ได้มีความหมายแค่ ‘เลือกตั้งผู้นำคนใหม่’ เท่านั้น แต่มันยังหมายถึงทิศทางโลกในอีกสี่ปีข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง สังคม หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติ ล้วนต้องได้รับการตัดสินใจจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ด้วยกันทั้งสิ้น นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมเราจึงควรจับตาการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ เพราะนโยบายต่างประเทศของไทยจะเป็นอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกา
ต้องบอกว่าสองตัวเต็งชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีนั้น มีวิสัยทัศน์ และนโยบายการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ซึ่งวันนี้ The MATTER จะมาเปรียบเทียบให้เห็นชัดๆ ว่าโดนัลด์ ทรัมป์ และโจ ไบเดน ได้วางอนาคตของสหรัฐอเมริกาไว้อย่างไรบ้าง
นโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์
สภาพอากาศ: ทรัมป์ยังมีความเคลือบแคลงกับทฤษฎีโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ (Climate Change) จึงไม่มีนโยบายที่จะจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง นอกจากนี้เขายังตั้งเป้าว่าจะเพิ่มการเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ และยังยืนยันว่าการพาสหรัฐฯ ออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง
เศรษฐกิจ: ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะสร้างงาน 10 ล้านตำแหน่งภายใน 10 ปี นับจากวันที่เขาขึ้นเป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง และจะสนับสนุนให้เกิด Start Up รายย่อย อีกทั้งเขายังต้องการลดภาษีเงินได้ รวมทั้งลดหย่อนภาษีให้กับบริษัทต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้เกิดจากจ้างงานมากขึ้น
สาธารณสุข: ทรัมป์มีแผนจะยกเลิกโอบามาแคร์ (Obamacare) ซึ่งเป็นโครงการสาธารณสุขสมัยบารัค โอบามา และจะมีการเพิ่มระเบียบของรัฐเข้าไปในระบบประกันสุขภาพเอกชนด้วย เพื่อให้การรักษาพยาบาลครอบคลุมทุกพื้นที่ อีกทั้งเขายังประกาศว่าจะออกกฎให้โรงพยาบาลที่ปฏิเสธผู้ป่วย เข้าข่ายการกระทำที่ผิดกฎหมายด้วย อย่างไรก็ตามเขายังไม่ได้ออกเปิดเผยรายละเอียดว่าโครงการใหม่ที่ว่านี้จะเป็นอย่างไร
นโยบายต่างประเทศ: ทรัมป์กล่าวว่าเขาจะปฏิบัติตามสัญญาลดระดับกองกำลังของสหรัฐฯ ที่ตรึงอยู่ในประเทศต่างๆ อย่างไรก็ตามเขายังยืนยันจะเพิ่มเงินสนับสนุนให้กองทัพด้วยเช่นกัน ในส่วนของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประเทศพันธมิตรของสหรัฐฯ ทรัมป์ยืนยันว่าเขาจะดำเนินนโยบายเช่นเดิมกับประเทศอื่นๆ ต่อไป รวมถึงนโยบายด้านภาษีการค้ากับจีน
เชื้อชาติ: หลังเกิดเหตุประท้วงเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้กับจอร์จ ฟรอยด์ ผู้เสียชีวิตจากการใช้ความรุนแรงของตำรวจ และคนผิวสีทั่วประเทศ ทรัมป์ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกับประเด็นดังกล่าวว่า เขาไม่เชื่อว่าการเหยียดเชื้อชาติเป็นปัญหาโครงสร้างของกองกำลัง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ และจะทุ่มงบประมาณให้หน่วยงานตำรวจเพื่อใช้ในการฝึกฝนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม เขาไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต และเขายังยืนยันชัดเจนว่าตัวเองไม่ได้เป็นคนเหยียดผิว โดยเขากล่าวในการเดีเบทครั้งสุดท้ายว่า “I am the least racist person in this room,” ในห้องนี้ ฉันเป็นคนเหยียดผิวน้อยสุดแล้วล่ะ
นโยบายโจ ไบเดน
สภาพอากาศ: ไบเดนมีนโยบายพาสหรัฐฯ กลับเข้าร่วมข้อตกลงปารีสทันทีที่ได้รับตำแหน่ง รวมถึงตั้งเป้าให้สหรัฐฯ เป็นประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เพื่อก้าวขึ้นเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ นอกจากนี้ไบเดนยังมีนโยบายยกเลิกการขุดเจาะน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติในพื้นที่สาธารณะ และเตรียมเปลี่ยนสหรัฐฯ ให้กลายเป็นประเทศที่ใช้พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
เศรษฐกิจ: ไบเดนต้องการเก็บภาษีเพิ่มจากผู้มีรายได้สูง เพื่อนำไปพัฒนาสาธารณูปโภค โครงสร้างพื้นฐาน และขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนให้มีการเพิ่มอัตราค่าแรงขั้นต่ำ จาก 7.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมง เป็น 15 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อชั่วโมงด้วย
ระบบดูแลสุขภาพ: ระบบดูแลสุขภาพของเขาจะเปลี่ยนจาก ‘โอบามาแคร์’ เป็น ‘ไบเดนแคร์’ และจะมีการเปลี่ยนแปลงแผนดูแลสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเขาจะขยายขอบเขตการใช้กฎหมายประกันสุขภาพให้กว้างขึ้น เพื่อให้ประชาชน 97% สามารถเข้าถึงการแพทย์ได้ และจะลดอายุผู้มีสิทธิ์เข้าถึงเมดิแคร์ (Medicare) จาก ‘อายุ 65 ปีขึ้นไป’ มาเป็น ‘อายุ 60 ปีขึ้นไป’ เพื่อให้การรักษาพยาบาลครอบคลุมกลุ่มผู้สูงอายุมากขึ้น โดยเขากล่าวว่า “I think health care is not a privilege, it’s a right,” ฉันคิดว่าสุขภาพไม่ใช่เรื่องของ ‘อภิสิทธิ์พิเศษ’ แต่มันเป็น ‘สิทธิ์’ ที่ทุกคนต้องได้รับ
นโยบายต่างประเทศ: ไบเดนกล่าวว่า เขาต้องการฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประเทศพันธมิตรต่างๆ อีกทั้งยังมีแผนจะปรับเปลี่ยนนโยบายภาษีแต่ฝ่ายเดียวกับประเทศจีน และจะสานสัมพันธ์กับจีนอีกครั้งในฐานะประเทศมิตรภาพ
เชื้อชาติ: ไบเดนมองปัญหาในประเด็นนี้แตกต่างจากทรัมป์อย่างชัดเจน จากกรณีเหตุประท้วงเพื่อสิทธิชาวผิวสีทั่วสหรัฐฯ ในเดือนมิถุนาคมที่ผ่านมา ไบเดนกล่าวว่าการเหยียดเชื้อชาติเป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง รวมถึงนโยบาย และการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมทางเชื้อชาติในระบบยุติธรรม อย่างไรก็ตามเขาปฏิเสธที่จะตัดเงินสนับสนุน หรือยุบหน่วยงานตำรวจ แต่พร้อมจะเสนอทางออกอื่นๆ แทน
นอกจากประเด็นต่างๆ ที่รวบรวมมานั้น ยังมีอีกหลายนโยบายที่น่าสนใจ และเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างฝ่ายที่เสรีนิยม และฝ่ายอนุรักษ์นิยม อย่างเช่นประเด็นเรื่องเสรีภาพในการทำแท้ง ไบเดนมีความเห็นว่าผู้หญิงควรจะมีสิทธิ์เลือกว่าต้องการเป็นแม่คนหรือไม่ และเขาพร้อมจะเสนอชื่อผู้พิพากษาศาลสูงคนใหม่ ทันทีหลังจากการเลือกตั้ง เพื่อผ่านร่างกฎหมายที่รับรองสิทธิของผู้หญิงในการทำแท้ง ในขณะที่ทรัมป์ ไม่เห็นด้วยกับสิทธิ์การทำแท้ง และเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เขาได้แต่งตั้ง เอมี บาร์เรตต์ เป็นผู้พิพากษาคนใหม่ในช่วงสุดท้ายของวาระประธานาธิบดี ซึ่งผู้พิพากษาคนนี้ไม่เห็นด้วยเรื่องการทำแท้งเช่นเดียวกับทรัมป์
อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ นโนบายการรับมือ COVID-19 ที่ผ่านมา ทั้งสองแคนดิเดตต่างให้ความสำคัญกับการพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันโรคไวรัสโคโรนา แต่ทั้งทรัมป์ และไบเดน ต่างมีแนวทางการรับมือคนละเส้นทางกัน ทรัมป์กล่าวว่าเขาได้เตรียมทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อเตรียมพร้อมในการจัดหาวัคซีนให้กับชาวอเมริกัน รวมถึงได้มีการจัดตั้งกองกำลังป้องกันไวรัสโคโรนาขึ้นในช่วงมกราคมที่ผ่านมา เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19
ในขณะที่ทางไบเดนได้พูดถึงความล้มเหลวในการจัดการโรคระบาดดังกล่าวของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ และกล่าวว่าหากเขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ เขาจะจัดตั้งศูนย์ตรวจหาเชื้อโรคอย่างน้อย 10 จุดในทุกรัฐของสหรัฐฯ และให้บริการตรวจหาเชื้อไวรัสแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้เขายังสนับสนุนการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นจุดที่ทรัมป์แสดงออกอย่างชัดเจนว่าต่อต้านมาตลอด
อีกหนึ่งจุดยืนสำคัญของทั้งสองฝ่ายคือ ‘การจัดการกลุ่มผู้อพยพ’ ทรัมป์วางแผนจะสร้างกำแพงกั้นชายแดน สหรัฐฯ-เม็กซิโก ต่อทันทีที่ได้รับตำแหน่ง และเขายังมีแผนจะยุบโครงการล็อตเตอรีวีซ่า (Diversity Visa Lottery) และการอพยพย้ายถิ่นฐานแบบเป็นครอบครัว และเปลี่ยนการคัดเลือกผู้อพยพมาเป็นระบบวัดคะแนนแทน อย่างไรก็ตาม เขายืนยันว่าที่ผ่านมา คณะทำงานของเขาทำงานอย่างหนักเพื่อให้ครอบครัวที่แยกจากกันได้พบกันอีกครั้ง แต่การพบกันนั้นต้องถูกกฎหมาย ซึ่งสุดท้ายแล้วเขาก็ไม่ได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับแผนการดังกล่าวอย่างชัดเจน
ในขณะที่ไบเดนประกาศว่าภายใน 100 วันแรกของการครองตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจะยกเลิกนโยบายกีดกันที่บริเวณชายแดน สหรัฐฯ-เม็กซิโก และจะยกเลิกข้อจำกัดเรื่องการสมัครเข้ามาเป็นผู้ลี้ภัยเพื่อสนับสนุน ‘นักล่าฝัน’ (dreamer) ทุกคนที่ต้องการเดินทางมายังอเมริกา
และอีกประเด็นที่จะข้ามไปไม่ได้เลยคือ ‘นโยบายเรื่องการศึกษา’ ทางฝั่งไบเดนได้เสนอแผนการศึกษาที่จะเพิ่มเงินทุนสำหรับโรงเรียนในพื้นที่ที่มีรายได้น้อยเพื่อช่วยให้นักเรียนสามารถกู้เงินเรียนได้ และวางแผนจะเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ทำงานในโรงเรียนเป็นสองเท่า ซึ่งนี่เป็นหนึ่งในแผนการลดช่องว่างทางคุณภาพชีวิตระหว่างคนผิวขาว และคนผิวสีในสหรัฐฯ
ในส่วนของทรัมป์ เขากล่าวว่า เขาจะแก้ไขปัญหาการกู้เงินของนักเรียน หลังจากก่อนหน้านี้กระทรวงศึกษาธิการสหรัฐฯ ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับรายได้ และระดับหนี้ของผู้สำเร็จการศึกษา ทรัมป์จึงวางแผนจะช่วยให้นักเรียนตัดสินใจกู้ยืมได้อย่างมีข้อมูลมากขึ้น ก่อนจะเลือกเข้ามหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ทำเนียบขาวในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ยังได้ปลดหนี้อัตโนมัติให้กับทหารผ่านศึกที่มีความทุพพลภาพ อีกทั้งยังมีการผลักดันให้มีเครดิตภาษีทางเลือก หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘Education Freedom Scholarships’ โดยนักเรียนจะสามารถใช้ทุนนี้เพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ หรือเอกชนรวมถึง โรงเรียนเรียนต่างรัฐได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในวาระของทรัมป์ เขาได้ยกเลิกนโยบายหลายอย่างในยุคของโอบามา ซึ่งรวมถึงนโยบายส่งเสริมความหลากหลายทางเชื้อชาติในโรงเรียน และการคุ้มครองนักเรียนข้ามเพศในโรงเรียนของรัฐ ที่อนุญาตให้ใช้ห้องน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ แต่ในการดีเบตครั้งสุดท้ายเขาก็เปิดเผยว่า มีแผนการที่จะทุ่มงบประมาณให้กับวิทยาลัยชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน (Historically Black Colleges) เพื่อสร้างความเท่าเทียมภายในประเทศ
เรียกได้ว่านโยบายทั้งสองฝ่ายบ่งบอกถึงความเป็นเดโมแครต และรีพับลิกันอย่างได้ชัดเจน อย่างไรก็ตาม แม้ที่ผ่านมา โจ ไบเดนมักจะขึ้นนำจากผลสำรวจโพลล์ทุกสำนัก ไม่ว่าจะเป็นสำนักข่าวซีบีเอส รอยเตอร์ เอบีซี วอชิงตันโพสต์ เอ็นบีซี วอลล์สตรีทเจอร์นัล แต่ประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นแล้วว่าโพลล์ต่างๆ ไม่ได้ออกมาตามที่แสดงเสมอไป ย้อนกลับที่การเลือกตั้งปี ค.ศ. 2016 ผลสำรวจทุกสำนักต่างชี้ชัดว่า ‘ฮิลลารี คลินตัน’ จะเป็นผู้คว้าชัยชนะในศึกการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย และจะขึ้นเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐอเมริกา แต่สุดท้ายแล้วผลการเลือกตั้งก็ออกมากลับตาลปัตร โดนัลด์ ทรัมป์ กลับได้ตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ คนที่ 45 ไปครอง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ เขาเป็นรองในผลสำรวจต่างๆ มาตลอด
การเลือกตั้งในครั้งนี้จัดขึ้นท่ามกลางความไม่แน่นอน เนื่องจากปัจจัยเรื่องการแพร่ระบาดของ COVID-19 และบรรยากาศการเมืองระหว่างประเทศที่ผกผันอยู่แทบจะตลอดเวลา เพราะฉะนั้น ผลการเลือกตั้งสามารถจึงเปลี่ยนแปลงได้เสมอ อย่างไรก็ตามวันที่ 3 พฤษจิกายนนี้ เราก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผู้ชนะในศึกแห่งประวัติศาสตร์ครั้งนี้เป็นใคร ระหว่างอดีตรองประธานาธิบดี ‘โจ ไบเดน’ หรือ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ประธานาธิบดีคนล่าสุดของสหรัฐอเมริกา
อ้างอิงจาก