เช้าวันที่ 16 เมษายน ผมเปิดโทรศัพท์เข้าแอปฯ การไฟฟ้านครหลวง และถึงแม้จะเตรียมใจมาอยู่บ้างว่าค่าไฟต้องขึ้นแน่ๆ จากอากาศที่ร้อนอบอ้าว แต่เมื่อเห็นบิลเข้าจริงกลับสะดุ้งเฮือก เพราะนอกจากค่าใช้ไฟแล้ว ค่า FT ก็หนักไม่แพ้กัน
และเมื่อเข้าโลกโซเชียลก็ดูเหมือนผมจะไม่ใช่คนเดียวที่บ่นแบบนี้ เพราะหลายคนกำลังพูดถึง FT ที่สูงขึ้นกันไปต่างๆ นานา เช่น “เมื่อก่อน FT ไม่ถึงสลึง ตอนนี้ขาดไม่กี่สตางค์จะบาท”, “ถ้าคุณไม่สนใจการเมืองการเมือง จะไปหาคุณถึงตู้ไปรษณีย์ เป็นค่า FT” หรือ “ค่าไฟฟ้ารอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ค่า FT จะเพิ่มขึ้นอีกหน่วยละ 5 สตางค์ อากาศร้อนๆ เจอบิลค่าไฟแล้วจะหนาวเอง”
แล้วค่า FT คืออะไร? และมันถูกคิดอย่างไร ทำไมทำให้ค่าไฟเราแพงขึ้นอย่ามีนัยยะสำคัญ? เพื่อหาคำตอบของคำถามเหล่านี้ ผมต่อสายคุยกับ ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับข้อมูลจากบทความ ‘ความไม่เป็นธรรมของค่าไฟ’ ที่เขียนขึ้นโดย สฤณี อาชวานันทุล นักวิชาการอิสระ และกรรมการผู้จัดการด้านพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด
อะไรคือค่า FT
ค่า FT คือ ค่าไฟฟ้าผันแปรที่ถูกกำหนดขึ้นใหม่ทุก 4 เดือน โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งค่า FT เกิดขึ้นโดยประมาณต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเป็นตัวเลขจำนวหนึ่ง เนื่องจากต้นทุนพลังงานมักขึ้นลงอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีค่า FT ประมาณไว้เพื่อไม่ให้ค่าไฟฟ้าเปลี่ยนแปลงวันต่อวัน ดังนั้น หลังจากช่วงที่ค่า FT สูงเกินไป จะมีการลดค่า FT ตามมาอย่างเป็นปกติ หรือเปรียบค่า FT ได้กับเงินที่คนไทยที่หยอดกระปุกให้กับภาครัฐที่รับผิดชอบเรื่องไฟฟ้านั่นเอง
“ถ้าในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา เราใช้ไฟถูกกว่าที่ควรจะเป็น เพราะคำนวณค่าเชื้อเพลิงไว้ค่อนข้างสูง แต่เชื้อเพลิงจริงๆ ราคาต่ำกว่านั้น ใน 3 เดือนถัดไปจะมีการปรับค่า FT ให้ติดลบ” ชาลีจากสถาบันนานาชาติสิรินธร อธิบายกับเรา
ใครเป็นผู้กำหนดค่า FT
ตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 กำหนดให้คณะกรรมการ กกพ. ซึ่งถูกแต่งตั้งโดย คณะกรรมการสรรหา ที่ถูกเลือกมาจากคณะรัฐมนตรี โดย กพพ. ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการอื่นอีก 6 คน เป็นผู้กำหนดค่า FT เสนอต่อ ครม.
นอกจากกำหนดค่า FT แล้ว คกก. ยังมีหน้าที่อื่นด้วย เช่น กำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์ในการจัดหาไฟฟ้า, เสนอความเห็นต่อแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า รวมถึงตรวจสอบให้การผลิตไฟฟ้าให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใส
ทำไมค่า FT ถึงพุ่งขึ้นในช่วงที่ผ่านมา?
ข้อมูลจากเว็บไซต์การไฟฟ้านครหลวงชี้ว่า ตลอดปี 2559 – ต้นปี 2564 ค่า FT ติดลบมาโดยตลอด ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญในเดือนกันยายน ปี 2565 อยู่ที่ 93.43 สตางค์/หน่วย และอยู่ในระดับดังกล่าวลากยาวมาจนถึงปัจจุบัน
ชาลีอธิบายว่า สาเหตุที่ทำให้ค่า FT กระโดดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาจาก 2 สาเหตุ สาเหตุแรก มีการลดค่า FT ในช่วง COVID-19 ระบาด สาเหตุที่สอง คือความขัดแย้งในเมียนมาและสงครามรัสเซียบุกยูเครน ที่ทำให้การนำเข้าก๊าซธรรมชาติมีราคาสูงขึ้น
“ตอนนั้น (COVID-19) รัฐบาลไม่กล้าขึ้นค่า FT เพราะเห็นว่าประชาชนเดือดร้อน ส่งผลให้เกิดหนี้สะสมของ กฟผ. และเมื่อหนี้สูงถึงขั้น 1.1 – 1.2 แสนล้าน จึงต้องมาเอาเงินคืนจากค่า FT ที่เขาช่วยจ่ายไปตอนแรก” ชาลีวิเคราะห์ว่าถ้าค่า FT ถูกตั้งอยู่ในระดับเท่านี้ (มากกว่า 90 สตางค์/ หน่วย) จะทำให้ กฟผ. ปลดภาระหนี้ทั้งหมดภายใน 2 ปี
“ตอนนี้เราจ่ายค่าไฟสูงกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อใช้หนี้ที่เราไม่ได้จ่ายในอดีต”
ปัญหาเชิงโครงสร้างในค่า FT
อันที่จริง ปัญหาใหญ่ที่คนไทยต้องแบกรับค่าไฟที่แพงมหาศาลเกิดจาก แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ที่คาดการณ์กำลังผลิตในประเทศเราเกินจริง จนทำให้ในปัจจุบันเรามีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองสูงถึง 60% จากปกติ 15% ซึ่งเงินส่วนนี้คนที่ต้องรับผิดชอบคือประชาชน (อ่านต่อได้ใน: ทำไมค่าไฟคนไทยถึงแพง? จำเป็นไหมที่ต้องทำเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าอีก)
เราควรจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมดประมาณ 39,000 เมกกะวัตต์ แต่ตอนนี้ที่มีสำรองเกินกว่าไปอีก 13,000 – 14,000 เมกกะวัตต์ ซึ่งคิดง่ายๆ ว่า 25 ล้านบาท/เมกกะวัตต์ และถ้าเราคูณไปทั้งหมดจะพบว่า เราเสียเงินเกือบ 2 แสนล้านบาทโดยไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย แถมประชาชนต้องจ่ายหนี้อีก
อย่างไรก็ตาม ในบทความชิ้นนี้เราจะไม่พูดถึงปัญหาทั้งหมดของโครงสร้างค่าไฟไทย แต่จะโฟกัสที่ค่า FT เพียงอย่างเดียว ซึ่งค่า FT คำนวณขึ้นจากตัวแปรทั้งหมด 4 ตัวคือ ค่าเชื้อเพลิงฐาน, ประมาณค่าเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า กฟผ., ประมาณการซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. และประมาณค่าใช้จ่ายนโยบายรัฐ
แต่สูตรการคิดค่า FT เช่นนี้มีปัญหาซ่อนอยู่ด้านในอีก 4 ข้อ
ข้อแรก ผู้ผลิตปิโตรเคมีใช้ก๊าซในอ่าวไทยในราคาถูก แต่เดิมประเทศไทยใช้ก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยในการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศก็เพียงพอแล้ว แต่ภายหลังมติ ครม. สมัยรัฐบาล สมชาย วงสวัสดิ์ ได้ทำให้ผู้ผลิตปิโตรเคมี เช่น PTTGC สามารถใช้ก๊าซจากอ่าวไทยได้เช่นกัน
มติ ครม. ดังกล่าวส่งผลให้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยไม่เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าในประเทศ และทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศกล่าวคือ ในเมียนมา มาเลเซีย รวมถึงประเทศที่อยู่ในระยะทางไกล ที่ต้องอัดก๊าซให้อยู่ในรูปของเหลวหรือ LNG ซึ่งส่งผลให้ค่าเชื้อเพลิงพื้นฐานที่ถูกคิดในค่า FT สูงขึ้น
ข้อสอง การผูกขาดท่อส่งก๊าซ ในบทความ ความไม่เป็นธรรมของค่าไฟ ของ สฤณี อธิบายว่า ในปัจจุบัน ปตท. เป็นบริษัทเดียวที่ผูกขาดท่อส่งก๊าซในประเทศไทย เท่ากับว่าบริษัทนี้เป็นผู้เก็บ ‘ค่าผ่านท่อ’ บริษัทเดียวในประเทศไทย ซึ่งสฤณีมองว่าปัญหามีทั้งอัตราค่าบริการผ่านท่อเองที่ไม่สมเหตุสมผลนักแล้ว ปัญหาอีกข้อคือภาครัฐไทยรับประกันการลงทุนท่อสงแก๊ซให้แก่ ปตท. สูงถึง 12.5% – 18%
การผูกขาดท่อส่งก๊าซของ ปตท. ยังสัมพันธ์กับความที่ ปตท. เป็นเจ้าของโรงแยกก๊าซรายใหญ่ของประเทศด้วย โดยการที่อยู่ภายใต้บริษัทแม่เดียวกัน ทำให้ ปตท. เก็บค่าผ่านท่อจากโรงแยกก๊าซของตัวเอง ถูกกว่าเก็บจากผู้ใช้ก๊าซรายอื่น รวมถึงโรงไฟฟ้า
“ข้อเท็จจริงที่จะทําให้เราอึ้งกว่านั้นอีกก็คือ ต่อให้โรงไฟฟ้าเอกชนไม่เดินเครื่องเลย ปตท. ก็ยังคงเก็บค่าผ่านท่อตามสูตร ซึ่งก็จะมาอยู่ในบิลค่าไฟของเราเหมือนเดิม! เงินบางส่วนในบิลค่าไฟของเราจึงเป็น ‘ค่าไฟผี’ ที่เราไม่ได้ใช้ แต่กลับต้องควักเงินจ่าย” สฤณีเขียนต่อ
ข้อที่สาม ค่าเชื้อเพลิงส่วนต่าง ปตท. ได้ตั้งเรทการขายราคาเชื้อเพลิงส่วนต่างให้แก่โรงไฟฟ้าต่างๆ ดังนี้ 1.75% สำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. และโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตอิสระขนาดใหญ่ ขณะที่สูงถึง 9.33% สำหรับโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตรายเล็ก เรื่องนี้คงจะไม่เป็นปัญหา ถ้าหากโรงไฟฟ้าขนาดเล็กเหล่านี้ไม่ขายไฟฟ้าที่ตนผลิตได้กว่า 80% ให้แก่ กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศต้องกลายเป็นผู้รับผิดชอบส่วนต่างเหล่านี้
ชื่นชม กรีเซน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานไฟฟ้าในประเทศไทย เคยคํานวณว่าถ้า ปตท. ปรับค่าเชื้อเพลิงส่วนต่างของโรงไฟฟ้าขนาดเล็กให้เท่ากับที่คิดกับ กฟผ. และโรงไฟฟ้าอิสระขนาดใหญ่ จะทำให้คนไทยแบกรับค่าไฟฟ้าน้อยลงถึงปีละ 8,860 ล้านบาท
ข้อที่สี่ วิธีคำนวณประมาณการซื้อไฟฟ้าของ กฟผ. ซึ่งมีวิธีคำนวณ ดังนี้ ค่าความพร้อมจ่าย (AP) + ค่าพลังงานไฟฟ้า (Energy Payments: EP) + ค่าใช้จ่ายตามนโยบายของรัฐ (Policy Expense: PE) ซึ่งปัญหาซ่อนอยู่ที่ ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ นั่นเอง
อธิบายค่าความพร้อมจ่ายง่ายๆ คือ เงินที่รัฐต้องจ่ายให้โรงไฟฟ้าเอกชนตามสัญญาระยะยาวที่รัฐทำไว้กับเอกชน ไม่ว่าเดินเครื่องหรือไม่ และอย่างที่กล่าวไปก่อนหน้านี้ว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสูงมากถึง 60% ดังนั้น คนที่ต้องแบกค่าพร้อมจ่ายในบิลไฟฟ้าก็คือคนแบบเราๆ นั่นเอง
“AP เรียกว่า Aviability Payment คือค่าพร้อมจ่ายที่ต้องจ่ายทุกวัน ทุกเดือน ไม่ว่าโรงไฟฟ้าจะผลิตหรือไม่ผลิตก็ตาม อีกส่วนคือค่า EP คือจ่ายตามค่าเชื้อเพลิงที่ผลิตจริงแต่ละหน่วย” ชาลีอธิบายต่อผ่านโทรศัพท์
“เมื่อไหร่ก็ตามที่โรงไฟฟ้าเอกชนได้รับสัญญาจากรัฐบาล จะกำไรทันทีตลอดอายุโรงไฟฟ้า 25 ปี ดังนั้น การอนุมัติโรงไฟฟ้าจึงเป็นเรื่องใหญ่มาก จึงน่าถามต่อว่าทำไมรัฐบาลต้องสร้างโรงไฟฟ้าเยอะแยะ ทั้งที่ตัวเองก็มีโรงไฟฟ้ามากมายที่ไม่ได้เดินเครื่องอยู่แล้ว และคนที่เป็นแพะส่วนนี้ก็คือประชาชน” ชาลีกล่าว
ในการเลือกตั้งครั้งนี้ (2566) นโยบายพลังงานเป็นนโยบายที่ทุกพรรคนำเสนอให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ผมอยากชวนจับตาดูเรื่องนี้ไปให้ยาวกว่านั้นว่าหลังเลือกตั้ง ผู้ชนะหรือแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเหมือนที่เคยรับปากไว้ไหม เพราะในเรื่องนี้คุณต้องมีปากเสียงกับกลุ่มทุนใหญ่อย่างแน่นอน
อ้างอิงจาก