สำหรับคนอายุเยอะหน่อยอาจจะเรียกพวกเขาว่า ‘ไอ้มดแดง’ ส่วนเด็กๆ อาจจะรู้จักในชื่อ ‘มาสค์ไรเดอร์’ บางคนก็ทับศัพท์แบบญี่ปุ่นไปเลยว่า ‘คาเมนไรเดอร์’ แต่ไม่ว่าคุณจะเรียกพวกเขาด้วยชื่ออะไร พวกเขาก็คือเหล่าฮีโร่ที่พร้อมจะแปลงร่างเพื่อต่อสู้กับเหล่าร้ายหลากรูปแบบ โดยมีท่าไม้ตายเป็นลูกเตะในแบบต่างๆ
ต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทางบริษัท Toei จากประเทศญี่ปุ่นได้ประกาศเปิดตัว Kamen Rider Zi-O ไรเดอร์คนใหม่ประจำปี 2018-2019 อย่างเป็นทางการ แม้ว่าจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่ Toei จะเปิดตัวมาสค์ไรเดอร์คนใหม่ประจำปีในช่วงเดือนแปด แต่การเปิดตัวครั้งนี้มีความพิเศษมากกว่าปกติ เพราะไรเดอร์คนดังกล่าวจะถือว่าเป็น ‘ไรเดอร์คนสุดท้ายของยุคเฮย์เซย์’ อันเนื่องมาจากจะมีการเปลี่ยนแปลงรัชศกในปี 2019 ที่จะถึงนี้
แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาเพียงแค่ 18 ปี แต่มาสค์ไรเดอร์ในยุคเฮย์เซย์ก็ได้สร้าง มาสค์ไรเดอร์มาประดับวงการถึง 20 ภาค และแต่ละภาคก็มีจุดเด่นที่แตกต่างกันอย่างมากทั้งในรูปลักษณ์ เรื่องราว และการทำการตลาด ในโอกาสต้อนรับมาสค์ไรเดอร์คนใหม่ The MATTER จึงอยากพาย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นและรายละเอียดต่างๆ ของมาสค์ไรเดอร์ในยุคเฮย์เซย์แต่ละภาค มาดูกันว่าภาคไหนเป็นภาคโปรดของคุณบ้าง
ย้อนรอยดูเส้นทางไอ้มดแดงแบบคลาสสิก
มาสค์ไรเดอร์หรือไอ้มดแดง ถือว่าเป็นซีรีส์ที่อยู่คู่ประเทศญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปี 1971หรือราว 47 ปีก่อน ในช่วงแรกนั้นเป็นการเดินเรื่องตามการออกแบบเรื่องของ อิชิโนโมริ โชทาโร ที่ตีความให้เป็นมนุษย์แปลงกับพล็อตเชิงดาร์กฮีโร่เล็กน้อย แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนให้เด็กๆ ที่ถือว่ากลุ่มผู้ชมหลักสามารถรับชมได้แบบไม่ต้องสะเทือนใจมาก และหลายๆ ภาคจะมีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน ก่อนที่ช่วงหลังๆ อย่างในภาค Black, Black RX ที่จะเป็นไรเดอร์ภาคเดี่ยวๆ ไม่เกี่ยวกับรุ่นพี่เสียเท่าไหร่
ความดังของไอ้มดแดงอาละวาดข้ามน้ำข้ามประเทศมาถึงเมืองไทยด้วย ซึ่งภาคแแรกของซีรีส์นี้ก็เข้ามาฉายบ้านเราในปี 1971 ซึ่งเป็นปีเดียวกันกับการฉายในญี่ปุ่นแต่มีการฉายล่าช้ากว่าอยู่ราวครึ่งปี ด้วยการแบ่งฝ่ายต่อสู้ระหว่างตัวเอกกับเหล่าร้าย ท่าแปลงร่างอันเป็นเอกลักษณ์ กับเข็มขัดและมอเตอร์ไซค์ที่ดูเท่แต่ก็รู้สึกใกล้ตัว ทั้งยังแฝงคำสั่งสอนด้านคุณธรรมน้ำมิตร กับความสัมพันธ์ของพี่น้องไรเดอร์ที่มีการส่งจับมือร่วมกันทำงานระหว่างมาสค์ไรเดอร์หมายเลขหนึ่งกับหมายเลขสอง ก่อนที่จะส่งไม้ต่อไปให้ V3 จึงไม่แปลกนักที่ซีรีส์นี้จะฮิตระเบิดระเบ้อในบ้านเรา ตั้งแต่ครั้งแรกที่มีการฉาย
กระนั้นเมื่อเวลาผ่านไป ไอ้มดแดง ก็พบปัญหาของตัวเองนับตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการที่แพทเทิร์นของการปราบสัตว์ประหลาดรายสัปดาห์เริ่มเป็นอะไรที่จำเจมากขึ้น จึงมีความพยายามในการปรับรูปแบบของรายการใหม่ไปเน้นการฉายภาพยนตร์กับตอนพิเศษมาคขึ้นในภาค สกายไรเดอร์, ซูเปอร์วัน และ ซีครอส (ZX) ก่อนที่จะปรับมาใช้แผนการสร้างร่วมระหว่างภาคทีวีกับภาพยนตร์ตอนพิเศษ อย่างที่เกิดขึ้นในภาค Black / Black RX ที่ออกมาในแบบทีวี ส่วนภาค ชิน, ZO, J ออกมาในแบบภาพยนตร์
แล้วก็เป็นในช่วงนี้ที่กระแสของหนังแปลงร่างจืดจางลง มาสค์ไรเดอร์จึงหายหน้าไปจากจอทีวี กอปรกับว่าผู้สร้างอย่าง อิชิโนโมริ โชทาโร เสียชีวิตลงในปี 1998 จนหลายคนเชื่อว่าฮีโร่แปลงร่างด้วยเข็มขัดซีรีส์นี้จะหายไป แต่มาสค์ไรเดอร์ก็กลับมาอีกครั้งในปี 2000 และส่งผลให้มาสค์ไรเดอร์หมายเลขหนึ่งที่ออกฉายในปี 1971 จนถึง มาสค์ไรเดอร์ J ที่ออกฉายในปี 1994 ถูกเรียกว่าเป็น ‘มาสค์ไรเดอร์ยุคโชวะ’ ในภายหลัง
(ทั้งนี้ ยุคโชวะ จริงๆ แล้วสิ้นสุดใน วันที่ 7 มกราคม ปี 1989 ดังนั้นจึงมีมาสค์ไรเดอร์สามภาค ที่จริงๆ แล้วถูกสร้างในรัชศกเฮย์เซย์ แม้ว่าภาคเหล่านั้นจะถูกจัดอยู่ไหนกลุ่มมาสค์ไรเดอร์ยุคโชวะก็ตามที)
ก้าวสู่ยุคสมัยใหม่ด้วยการเซ็ตเรื่องให้มั่นคงอย่างไร้ความกลัว (คูกะ กับ อากิโตะ)
หลังจากเว้นวรรคการโลดแล่นบนหน้าจอทีวีมาราว 10 ปี ซีรีส์มาสค์ไรเดอร์ก็กลับมาบนหน้าจออีกครั้งด้วยภาค ‘มาสค์ไรเดอร์คูกะ’ แม้ตัวเนื้อหาจะมีตัวเอกที่สามารถแปลงร่างเพื่อเข้าต่อสู้กับตัวร้ายที่คอยทำร้ายมนุษย์เป็นแกนหลัก แต่เชิงรายละเอียดก็มีความเปลี่ยนแปลงไปมาก อย่างการที่ตัวร้ายไม่ได้มีเป้าหมายครองโลกแบบชัดเจน เพราะพวกเขากลายเป็นสิ่งมีชีวิตโบราณที่มีภาษาและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง และมองมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ด้อยกว่าเท่านั้น ส่วนตัวละครที่เข้าต่อสู้ในเรื่องก็ไม่ได้มีเฉพาะมาสค์ไรเดอร์คูกะเพียงตัวคนเดียว แต่ยังมีตำรวจที่เข้าร่วมต่อสู้กับสิ่งมีชีวิตลึกลับด้วย แต่ก็ใช่ว่าตำรวจจะไว้ใจนะ
การเซ็ตเรื่องใหม่แบบนี้ทำให้การเดินเรื่องไม่จำเป็นจะต้องเล่าเรื่องแบบปราบสัตว์ประหลาดรายสัปดาห์เหมือนอย่างที่เคยเป็นมาในยุคโชวะ และยังเพิ่มความซับซ้อนของเรื่องได้มากขึ้น ทั้งเป้าหมายของสัตว์ประหลาด ไปจนถึงความไม่ไว้วางใจกันระหว่างมนุษย์กันเอง กลุ่มผู้ชมจึงขยายตัวจากกลุ่มเด็กไปกินใจถึงกลุ่มผู้ใหญ่ที่ต้องการความลุ่มลึกในพล็อต แต่ก็มีจุดล่อใจเด็กอย่างการที่มาสค์ไรเดอร์มีหลายร่างกับยานพาหนะที่เท่ล้ำแปลกตาแต่ดีไซน์ก็ยังมีความคลาสสิกแฝงอยู่ รวมถึงมีการออกแบบที่อ้างอิงด้วงกว่างอันเป็นแมลงตามรอยของไรเดอร์รุ่นเก่า
อีกสิ่งที่น่าจดจำก็คือ การเลือกนักแสดงอย่าง โอดางิริ โจ มารับบทเป็นตัวเอก แม้ว่าเจ้าตัวจะไม่ชอบหนังแนวแปลงร่างเพราะตัวเขาสนใจการแสดงละครจริงจังมากกว่า แต่ด้วยแนวคิดแบบนี้เองที่สอดคล้องกับแนวเรื่องที่ขับเน้นความดราม่าของพล็อตมากขึ้น สุดท้ายการรับทเด่นในภาคนี้ก็ทำให้ โอดางิริ โจ ถูกจดจำในฐานะนักแสดงเจ้าบทบาทในเวลาต่อมา
เมื่อวางรากฐานการแสดงได้ดีแล้ว การตอบรับของคนดูจึงออกมาด้วยดีเช่นกัน ทั้งเรตติ้ง รวมถึงของเล่นที่เกี่ยวกับมาสค์ไรเดอร์ภาคนี้ตีตลาดในประเทศบ้านเกิดได้อย่างดี จนพอจะกล่าวได้ว่าฮีโร่ใหม่และตำนานบทใหม่ (A New Hero, A New Legend) ที่เป็นคำโปรยโปรโมตการกลับมาของมาสค์ไรเดอร์ภาคนี้ได้กลายเป็นความจริงไปในที่สุด
ด้วยการตอบรับที่ดีของการเดินเรื่องแบบจริงจังในภาคคูกะ ทำให้ภาคต่อมาอย่าง ‘มาสค์ไรเดอร์อากิโตะ’ ก็เลือกที่จะเดินเรื่องตามรอยของคูกะ โดยอิงเนื้อเรื่องพื้นเพจากภาคคูกะที่มนุษย์โดนสิ่งมีชีวิตลึกลับชุดใหม่ที่เรียกว่า อันโนน (Unknown) เข้าโจมตี แต่ก็ไม่ได้เป็นภาคต่อโดยตรง ปมขัดแย้งระหว่างมนุษย์กับสัตว์ประหลาดถูกจับมาเล่นมากขึ้น จนกลายเป็นประเด็นเชิงปรัชญาเล็กๆ และในภาคนี้ อากิโตะมีร่างแปลงที่หลากหลายมากขึ้น รวมถึงว่าเขาไม่ได้เป็นแค่มาสค์ไรเดอร์คนเดียวในภาคแต่ยังมี มาสค์ไรเดอร์ G3 ที่เป็นผลงานการประดิษฐ์จากฝั่งตำรวจ และ มาสค์ไรเดอร์กิลล์ ที่มีปมขัดแย้งกับอากิโตะก่อนจะพลิกกลับมามาต่อสู้ร่วมกันในภายหลัง รวมถึงปริศนาที่ถูกโยนทิ้งไว้ตั้งแต่เริ่มเรื่องว่า ใครเป็นคนที่ก่อเหตุให้เรือล่มอย่างลึกลับในช่วงต้นเรื่องกันแน่
มาสค์ไรเดอร์คูกะกับมาสค์ไรเดอร์อากิโตะไม่ได้ถูกนำเข้ามาฉายในประเทศไทยอย่างรวดเร็วเหมือนกับสมัยก่อนแล้ว แต่ถูกนำเข้ามาหลังจากประเทศญี่ปุ่นออกฉายราว 2 ปี (ประมาณช่วงปี 2002-2004) โดยในภาคคูกะนั้นเคยมีเพลงเปิดภาษาไทยที่มีท่อนสร้อยว่า ‘นักรบเด่นเป็นฮีโร่ชื่อ คูก้า’ ที่หลายๆ คนยังจำไปร้องมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนภาคอากิโตะได้น้าต๋อย เซมเบ้ มาร่วมเป็นผู้พากย์เสียง จนมีหลายคนแคยแซวว่า ภาคนี้เป็นภาค ‘อากิต๋อย’ ด้วยสไตล์เสียงที่โดดเด่นของนักพากย์ท่านดังกล่าว
ติดออพชั่น เพิ่มมุมมอง เสริมการจดจำและยอดขายของเล่น (ริวคิ, ไฟซ์ และเบลด)
หลังจากวางรากฐานใหม่ได้อย่างดีแล้ว ในปี 2002 มาสค์ไรเดอร์ก็กลับมาอีกครั้ง และคราวนี้ถ้าจะบอกว่าพวกเขาเล่นใหญ่ก็น่าจะไม่ผิดนัก เมื่อพวกเขาตัดสินใจสร้างพล็อตของ ‘มาสค์ไรเดอร์ริวคิ’ ที่เป็นเรื่องราวการต่อสู้ของมาสค์ไรเดอร์ที่สามารถเดินทางเข้าไปในมิลเลอร์เวิล์ด (Mirror World) โลกในกระจกที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่ แต่มีสัตว์ประหลาดที่สามารถคร่าชีวิตมนุษย์ปกติได้อยู่ในนั้น ทว่าการต่อสู้ของเหล่าไรเดอร์ในครั้งนี้ไม่ใช่เพื่อการปกป้องคนบริสุทธิ์อย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้เพื่อจุดประสงค์ส่วนตัวของเหล่ามาสค์ไรเดอร์ 13 คนที่ถูกกำหนดเอาไว้ว่าต้องห้ำหั่นกันเพื่อที่ผู้รอดตายคนสุดท้ายจะสามารถขอพรได้หนึ่งประการ
เนื้อหาของภาคนี้ถูกปรับเปลี่ยนจากการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมแบบขาวดำเด็ดขาดมาเป็นปมการต่อสู้ระหว่างมนุษย์กันเองแบบชัดเจนขึ้น แถมคราวนี้เป็นไรเดอร์ด้วยซ้ำที่เข้าต่อสู้กันเอง ส่วนนี้เป็นผลของทางทีมผู้สร้างที่อยากจะปรับการเล่าเรื่องที่ส่งผลถึงมุมมองของความถูกต้องว่า บางที ‘การเป็นมาสค์ไรเดอร์ก็ไม่ใช่ความถูกต้องที่สุด’ ส่งผลให้มุมมองของตัวละครมีความเป็นสีเทามากขึ้น หรือถ้าจะบอกว่าเป็นภาคแรกที่มีตัวร้ายเป็นมาสค์ไรเดอร์กันเองก็ไม่ผิดนัก ส่งผลให้สัตว์ประหลาดกลายเป็นตัวประกอบกว่าเดิม แต่มาสค์ไรเดอร์ที่เป็นตัวรองมีความเด่นมากยิ่งขึ้น จนทำให้ภาคหลังจากนี้ ตัวมาสค์ไรเดอร์สมทบหลายๆ ภาคมีหน้าที่หรือบทบาทที่โดดเด่นกว่าตัวเอกเสียอีก
นอกจากนี้ นี่ยังเป็นภาคแรกที่มาสค์ไรเดอร์ออกจากเซฟโซนด้วยการออกแบบมาสค์ไรเดอร์ให้หลุดจากกรอบจากสไตล์คลาสสิก และการปรับให้โมทีฟของไรเดอร์ตัวพระเอกมาใช้เป็นสัตว์ประเภทอื่นๆ อย่างมังกรหรือค้างคาว แทนที่จะใช้แมลงตามรูปแบบเดิมๆ ส่วนการใช้การ์ดนั้นก็ทำให้สปอนเซอร์สายของเล่นสามารถทำตลาดเพื่อขายของได้หลากหลายขึ้น ทั้งตัวเข็มขัดแปลงร่างกับอุปกรณ์ใช้การ์ดต่างๆ และกลายเป็นรากฐานให้การดีไซน์มาสค์ไรเดอร์ภาคหลังจากนี้ที่จะคำนึงถึงการออกแบบของเล่นด้วย
คอนเซ็ปต์การเล่าเรื่องที่ว่า ‘การเป็นมาสค์ไรเดอร์อาจจะไม่ใช่ความถูกต้องที่สุดเสียทีเดียว’ ถูกส่งต่อไปยังภาคหลังๆ อีกหลายภาค อย่างในปี 2003 ‘มาสค์ไรเดอร์ไฟซ์’ (หรือ 555) ก็มี ออเฟน็อค (Orphnoch) สัตว์ประหลาดที่ภายหลังเฉลยว่าทั้งหมดล้วนแล้วก็เป็นมนุษย์ปกติมาก่อน หรือปี 2004 ที่ ‘มาสค์ไรเดอร์เบลด’ ก็กลายเป็นเรื่องราวของมนุษย์เงินเดือนในหน่วยงานที่ใช้พลังมาสค์ไรเดอร์ต่อสู้กับอันเดด (Undead) ก่อนจะบอกเล่าว่าแท้จริงมีแผนการลับของคนบางกลุ่มเท่านั้น
อุปกรณ์แปลงร่างก็มีความเป็นของใกล้ตัวคนดูมากขึ้น อย่างในภาคไฟซ์ที่เอาของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างโทรศัพท์มือถือแบบฝาพับมาดีไซน์เป็นเข็มขัดแปลงร่าง ส่วนเบลดก็จับเอาคอนเซ็ปต์ของสำรับไพ่มาปรับดีเทลให้สอดคล้องกับความเป็นมาสค์ไรเดอร์มากขึ้น ทั้งยังส่งให้คนที่ไม่เคยสนใจไรเดอร์เริ่มหันมามองความเปลี่ยนแปลงที่แตกต่างอย่างชัดเจนกับยุคโชวะ นอกจากนี้ยังมีเรื่องทางการตลาดเบาๆ เกิดขึ้นในมาสค์ไรเดอร์ไฟซ์ เมื่อเพลงเปิดได้ ISSA นักร้องจากลุ่มบอยแบนด์ Da Pump มาร้องเพลงเปิดให้ ทำให้ภายหลังนักร้องที่มาร้องเพลงเปิดให้กับมาสค์ไรเดอร์จึงไม่ได้มีแค่สายที่ร้องเฉพาะเพลงการ์ตูน แต่มีกลุ่มนักร้องสายแมสมาร้องให้อีกหลายต่อหลายคน
ส่วนในประเทศไทยนั้นก็ยังนำเอามาสค์ไรเดอร์เข้าฉายช้ากว่าทางญี่ปุ่นเป็นเวลาสองปีตามข้อกำหนดของทางญี่ปุ่น แต่ในช่วงนั้นก็ถือว่ามีความหวือหวาในการโปรโมต อย่างกรณีที่มีมาสค์ไรเดอร์ริวคิไปปรากฎตัวในรายการทีวีดังๆ ของยุคนั้น หรือการที่เชิญนักแสดงนำของมาสค์ไรเดอร์ไฟซ์มาแถลงข่าวเปิดตัวในประเทศไทย เป็นอาทิ
แล้วก็เป็นในช่วงนี้เองที่การทำตลาดของมาสค์ไรเดอร์ยุคเฮย์เซย์เริ่มหดตัวลงเล็กๆ
แหวกแนวมากจนไม่ปัง การคืนฟอร์ม และจุดจบของเฮย์เซย์ยุคแรก (ฮิบิกิ, คาบูโตะ, เดนโอ, คิบะ และดีเคด)
มาสค์ไรเดอร์ยุคเฮย์เซย์ถูกชงบทให้จูงใจผู้ชมวัยผู้ใหญ่มากขึ้น ดังนั้นในภาค ‘มาสค์ไรเดอร์ฮิบิกิ’ ที่เป็นภาคประจำปี 2005 จึงพยายามปรับโทนให้ผู้ใหญ่ขึ้นไปอีกขั้น แต่ก็ยังพยายามส่งสาสน์ต่อให้เด็กรุ่นหลังด้วยการแคสต์ดาราชายอายุมากกว่าปกติ (ปกติแล้วจะเป็นดาราวัยรุ่นแต่ในภาคนี้ โอโซคาวะ ชิเงคิ รับบทตอนวัย 32 ปี) มาเป็นเหมือนผู้สอนวิชาอสูรหรือวิชาของมาสค์ไรเดอร์ภาคนี้ให้เด็กชายวัยรุ่น ที่สุดท้ายแล้วเด็กชายวัยรุ่นก็เข้าใจว่าการช่วยเหลือผู้คนไม่จำเป็นต้องเดินทางเป็นอสูรอย่างเดียวเท่านั้น
ถึงคอนเซ็ปต์จะดูน่าประทับใจ แต่ในด้านการนำเสนอนั้นดูเก่าและแหวกแนวเกินไปสักหน่อย ด้วยดีไซน์ของไรเดอร์กับสัตว์ประหลาดที่มีความน่ากลัวชัดเจน แม้ว่าจะดูสมเป็นอสูรแต่กระแสตอบรับทั้งในฝั่งเรตติ้งคนดูหรือยอดขายของเล่นก็ไม่รุ่งอย่างชัดเจน ทาง Toei จึงทำการเปลี่ยนทีมคุมงานสร้างกลางอากาศ ก่อนที่จะเดินเรื่องไปในทิศที่ต่างจากตอนแรก รวมไปถึงเหตุผลทางการตลาดที่ภาคนี้นอกประเทศแบบไม่เอิกเกริกนัก
ปี 2006 ‘มาสค์ไรเดอร์คาบูโตะ’ ซึ่งถือว่าเป็นภาคฉลองครบรอบ 35 ปี ของซีรีส์นี้กลับมาสร้างกระแสที่ดีได้อีกครั้ง ด้วยการกลับไปใช้โมทีฟในการออกแบบไรเดอร์ให้เป็นแมลง แต่นำเสนอใหม่อย่างล้ำยุคและโฉบเฉี่ยว ส่วนเนื้อเรื่องก็นำเสนอเรื่องราวของกลุ่มคนที่ใช้มาสค์ไรเดอร์ซิสเต็ม (Masked Rider System) สวมเกราะเข้าต่อสู้กับเหล่า เวิร์ม (Worm) ที่สามารถเคลื่อนไหวได้ด้วยความเร็วเหนือการตอบสนองของมนุษย์ แม้ว่าพล็อตเรื่องจะมีความงงๆ อยู่บ้างในช่วงท้ายเรื่อง แต่ความเท่ของตัวละครหลักนั้นกินขาด และเริ่มมีแฟนคลับผู้หญิงเข้ามาดูมากขึ้น ด้วยสไตล์หล่อคนละแบบของตัวเอกหลักหลายๆ คนในเรื่อง อย่างเช่น ฮิโระ มิสึชิมะ ที่รับบทเป็น เทนโด โซจิ พระเอกของเรื่องที่ภายหลังกลายเป็นนักแสดงสายหล่อฮิปสเตอร์กวาดใจคนดูไปได้หลายกลุ่ม และเป็นเหมือนจุดเปลี่ยนที่ชัดเจนขึ้นว่า ดาราชายที่มารับบทเด่นในภาคหลังจากนี้มักจะเป็นคนที่มีเสน่ห์แบบที่ผู้หญิงก็ชอบและผู้ชายก็รู้สึกว่าเข้ากับคาแรคเตอร์ในเรื่อง
กระแสของมาสค์ไรเดอร์กลับมาบูมแบบจริงจังในญี่ปุ่นด้วยการตั้งใจเลือกโมทีฟของตัวไรเดอร์ให้เกี่ยวข้องกับ ‘รถไฟ’ กับ ‘นิทานพื้นบ้าน’ ซึ่งเป็นของที่ใกล้ตัวคนดูท้องถิ่นอย่างมาก มารวมกับ ‘การเดินทางข้ามเวลา’ เพื่อปราบสัตว์ประหลาดที่อาจจะทำลายความมั่นคงของห้วงเวลา และการได้นักแสดงมากความสามารถอย่าง ซาโต ทาเครุ มารับบทเป็น โนงามิ เรียวทาโร ที่จะต้องรับบทแสดงหลากหลายอารมณ์เพราะเขาสามารถถูก อิมาจิน เข้าสิงร่างได้ การแสดงในแต่ละร่างจึงต้องแตกต่างกัน
ผลจากการรวมตัวกันของส่วนผสมเหล่านี้ทำให้ ‘มาสค์ไรเดอร์เดนโอ’ ซึ่งออกฉายในปี 2007 ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นอย่างสูง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือการที่มาสค์ไรเดอร์ภาคนี้มีภาพยนตร์ภาคพิเศษถึง 9 ภาค นอกจากนี้ยังส่งผลให้ทาง Toei พบวิธีการเก็บเอาตัวละครส่วนหนึ่งให้มาใช้งานอีกได้บ่อยขึ้น ด้วยการให้นักพากย์ชื่อดังมาพากย์เสียงเป็นตัวละครหลักที่ไม่ใช่มนุษย์ (อย่างในกรณีภาคเดนโอคือ อิมาจิน) ทำให้ตัวละครหลักเหล่านี้สามารถกลับมาเล่นในภาพยนตร์ภาคพิเศษหรือเนื้อหาภาคอื่นๆ แต่ใช้ตัวละครเดิมได้ ส่วน ซาโต ทาเครุ ก็กลายเป็นนักแสดงที่มีโอกาสได้รับบทนำในภาพยนตร์ที่ดัดแปลงมาจากการ์ตูนหรือเกมบ่อยครั้ง ด้วยทักษะการแสดงที่เขาสามารถเล่นใหญ่จนเกิดความแตกต่างของคาแรคเตอร์ในแต่ละตัวละครได้
และถ้ายังจำกันได้ มาสค์ไรเดอร์เดนโอ ยังเป็นภาคที่ได้นักร้องชื่อดังของไทยอย่าง ธนชัย อุชชิน หรือ ป๊อด โมเดิร์นด็อก มาร้องเพลงเปิดฉบับภาษาไทยให้ด้วย
ด้วยความดังระดับฉุดไม่อยู่ของมาสค์ไรเดอร์เดนโอ ‘ทำให้มาสค์ไรเดอร์คิบะ’ ที่ออกฉายในปี 2008 มาปรับใช้ธีมเรื่องที่เริ่มใช้พล็อตแบบลูกผสมมากขึ้น โดยในภาคนี้ใช้เรื่อง ‘ปิศาจจากโลกตะวันตก’ มาผูกกับการเล่าเรื่องคู่ขนานในสองยุค กลายเป็นว่าเราจะได้เห็นตัวเอกกลุ่มใหญ่ในพล็อตเรื่องที่ค่อนข้างซับซ้อน แต่ด้วยปัญหาการเกลี่ยบทบางส่วนกับความดังของภาคก่อนหน้า ทำให้คนดูที่ไม่ได้ติดตามไรเดอร์แบบจริงจังอาจจะมองภาคนี้ด้วยความรู้สึกที่ไม่ดีมากนัก
ทั้งนี้และทั้งนั้นเราก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในเชิงการตลาดเบาๆ อย่างการที่ตัวละครหญิงที่มีบทบาทสมทบในภาคก่อนๆ ได้รับบทเด่นมากขึ้น หรือในอีกแง่คือ ภาคนี้น่าจะเป็นภาคแรกที่เราได้เห็นตัวละครหญิงออกไปบู๊กับสัตว์ประหลาดแถมยังโดนเหวี่ยงไปเหวี่ยงมาเยอะกว่าปกติ แม้ว่าจะไม่ใช่การออกบทบู๊ครั้งแรกของตัวละครหญิงในซีรีส์นี้ (ก่อนหน้านี้มี แท็คเกิล คู่หูของมาสค์ไรเดอร์สตรองเดอร์ กับ มาสค์ไรเดอร์ฟาม ในภาค มาสค์ไรเดอร์ริวคิ ที่เป็นตัวละครหญิงออกบทบู๊ชัดเจนมาก่อนแล้ว) แต่ก็ทำให้เห็นว่ามีการเกลี่ยบทให้สอดคล้องกับสมัยนิยมมากขึ้น
สุดท้าย มาสค์ไรเดอร์ยุคเฮย์เซย์ก็เดินทางมาถึงคนที่สิบ แต่ทางทีมงาน Toei ก็มีการฉลองครบรอบสิบปี ที่สามารถส่งมาสค์ไรเดอร์เข้าสู่ตลาดด้วยการสร้างภาค ‘มาสค์ไรเดอร์ดีเคด’ ที่ตั้งใจจะทำให้เป็นเนื้อเรื่องที่เชื่อมโยงมาสค์ไรเดอร์ภาคต่างๆ ในช่วงเฮย์เซย์เข้าด้วยกัน แต่มีคำโปรยของภาคว่า ‘ทำลายทุกสิ่ง เพื่อเชื่อมโยงทุกอย่าง’ ซึ่งนั่นหมายความว่าเราจะได้เห็นมาสค์ไรเดอร์ในภาคนี้ออกอาละวาดไปตามโลกของมาสค์ไรเดอร์ภาคก่อนนั่นเอง
มาสค์ไรเดอร์ดีเคดออกฉายในปี 2009 ด้วยเนื้อเรื่องที่ระบุว่า คาโดยะ สึคาสะ ชายหนุ่มผู้เสียความทรงจำ และอาศัยอยู่ในบ้านของ ฮิคาริ นัตสึมิ แล้วจู่ๆ โลกของทั้งสองคนนี้ก็ถูกทำลายลงโดยสัตว์ประหลาด ก่อนที่ คุเรไน วาตารุ หรือมาสค์ไรเดอร์คิบะจะมาบอกกล่าวให้เดินทางไปยังโลกเก้าแห่ง เพื่อช่วยโลกที่เขาอาศัยอยู่ในปัจจุบัน แต่วิธีการช่วยนั้นคือการทำลายโลกต่างๆ ให้หมด และในระหว่างการเดินทางไปเพื่อทำลายปัญหาในแต่ละโลก มาสค์ไรเดอร์ดีเคดจะได้รับการ์ดในการแปลงร่างเป็นไรเดอร์ภาคเก่าๆ มาด้วย
โดยหลักแล้วมาสค์ไรเดอร์ดีเคดเป็นการตีความมาสค์ไรเดอร์ภาคที่ผ่านมาใหม่อีกครั้ง โดยมีมาสค์ไรเดอร์ดีเคดเป็นปัจจัยที่จะทำให้เรื่องราวแต่ละโลกเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น และทางทีมงานสร้างก็พยายามดึงเอานักแสดงเก่าๆ กลับมาแสดงบทเดิมเท่าที่จะอำนวย (เนื่องจากนักแสดงหลายคนมีชื่อเสียงมากขึ้นจนไม่สะดวกมารับบทเดิมแล้ว) รวมถึงยังมีการครอสโอเวอร์กับขบวนการเซนไตชินเคนเจอร์ซึ่งฉายอยู่ในปีเดียวกัน ถือเป็นครั้งแรกของซีรีส์ทีวีที่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น และยังมีมาสค์ไรเดอร์ยุคโชวะอย่างภาค Black กับ Black RX มาเป็นดารารับเชิญโดยที่ได้นักแสดงคนเดิมมาร่วมแสดงด้วย
อีกหน้าที่หนึ่งของมาสค์ไรเดอร์ดีเคดก็คือการขยับช่วงเวลาการฉายให้กับซีรีส์มาสค์ไรเดอร์ เพื่อให้ช่วงเวลาการขายของเล่นไปกระทบกับซีรีส์อื่นๆ ของ Toei ที่เป็นผู้สร้างน้อยลง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้จำนวนตอนของภาคนี้อยู่ที่ 31 ตอน แทนที่จะอยู่ในช่วงประมาณ 48-51 ตอน อย่างภาคอื่นๆ
สู่ช่วงที่สองของมาสค์ไรเดอร์ยุคเฮย์เซย์ (ดับเบิล, โอส และโฟร์เซ)
มาสค์ไรเดอร์ยุคเฮย์เซย์ในปี 2010 ขึ้นไปถูกเรียกแบบเหมารวมว่าช่วงที่สองหรือเฟสสองยังคงใช้ส่วนผสมอย่างที่เดนโอเคยทำมา คือการนำเอาของสองสิ่งมาผสมผสานกัน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นสัตว์หรือแมลงมาเกี่ยวข้องก็ได้ แต่โดยหลักแล้วดีไซน์การแปลงร่างนั้นยังต้องทำให้เด็กรู้สึกชื่นชอบหรือเข้าใจได้ง่ายๆ อย่างที่เคยทำมากับร่างสุดยอดของมาส์คไรเดอร์ดีเคด (ที่หลายคนแซวว่าเหมือนตู้ขายการ์ด) ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีการนำเอาคนเขียนบทที่ไม่เคยทำงานร่วมกับทีมสร้างมาสค์ไรเดอร์มาก่อนมาร่วมเขียนบท จึงทำให้พล็อตเรื่องนั้นมีความลุ่มลึกแต่ก็ยังไม่ทิ้งการขายของให้กลุ่มคนดูหลัก และในขณะเดียวกันก็เป็นการเลี่ยงความจำเจแบบที่มาสค์ไรเดอร์ยุคโชวะเคยโดนมาก่อน
เฟสที่สองเริ่มขึ้นด้วย ‘มาสค์ไรเดอร์ดับเบิล’ หรือ W (ฉายครั้งแรกในปี 2010) ที่เซ็ตเรื่องให้เป็นนักสืบผู้คอยคุ้มครองเมืองจากสัตว์ประหลาดที่เกิดจากการแปลงร่างด้วยอุปกรณ์ไกอาเมมโมรี่ เป็นการผสมพล็อตแนวสืบสวนคดีกับความเป็นมาสค์ไรเดอร์ได้ดี และมีความแปลกใหม่สำหรับซีรีส์ด้วยการที่คนสองคนแปลงร่างเป็น มาสค์ไรเดอร์คนเดียวกัน
ไรเดอร์คนต่อมาคือ ‘มาสค์ไรเดอร์โอส’ หรือ OOO (ฉายครั้งแรกในปี 2011) เล่าเรื่องของเหล่าสัตว์ประหลาดกรีด (Greeed) ที่ฟื้นขึ้นมาโจมตีและสูบความโลภจากมนุษย์ และผู้ที่เป็นมาสค์ไรเดอร์โอสก็คือชายหนุ่มที่อยู่อย่างสมถะไร้ความโลภ โดยมีโคงามิ ฟาวน์เดชั่น คอยสนับสนุนอยู่เบื้องหลังแต่มีเป้าหมายลับอะไรบางอย่างแฝงอยู่
มาสค์ไรเดอร์โฟร์เซ (Fourze) ที่ปรับโมทีฟให้เกี่ยวข้องกับจรวดและอวกาศ เพราะปีที่ฉายถือว่าเป็นปีครบรอบ 50 ปีที่ ยูริ กาการิน ได้เดินทางไปโคจรรอบโลก และยังเป็นภาคฉลองครบรอบ 40 ปี ของซีรีส์มาสค์ไรเดอร์ โดยเนื้อหาหลักของภาคนี้จะอยู่ในโรงเรียนและต่อสู้กับเหล่า โซดิอาร์ต สัตว์ประหลาดที่มีพื้นเพจากกลุ่มดาวต่างๆ
ทั้งสามภาคได้รับความนิยมจากแฟนๆ อยู่ไม่น้อย รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของดาราดังหลายคน อาทิ สุดะ มาซากิ จากมาสค์ไรเดอร์ดับเบิล กับ ฟุคุชิ โซตะ จากมาสค์ไรเดอร์โฟร์เซที่ตอนนี้รับบทนำในภาพยนตร์อยู่บ่อยครั้ง และทั้งสามภาคเป็นการกลับมาทำเนื้อเรื่องที่แต่ละภาคมีความเชื่อมโยงกันแบบอ่อนๆ หลังจากที่เนื้อหาของมาสค์ไรเดอร์เฮย์เซย์ช่วงแรกไม่ได้มีความเชื่อมโยงเท่าใดนัก และดีเทลของมาสค์ไรเดอร์แต่ละตัวจะมีกุศโลบายในการให้ความรู้เด็ก อย่างในภาคโอสที่เหรียญแปลงร่างจะเป็นชื่อสัตว์ประเภทต่างๆ ส่วนภาคโฟร์เซชื่อสวิทช์แปลงร่างนั้นเป็นภาษาอังกฤษแบบไม่ยากมากนักซึ่งสามารถใช้ท่องจำแทนคำศัพท์ได้ ส่วนเนื้อหาอื่นๆ อย่างการผสมดราม่าเข้ากับการปราบสัตว์ประหลาดไม่ได้ถูกปรับเปลี่ยนมากนัก
แบบที่มีคนเขาว่า อะไรที่มันดีอยู่แล้ว และไม่เสียหายอะไร ก็ปล่อยให้มันทำหน้าที่ของมันต่อไปนั่นเอง
ปรับให้แนวแต่ไม่พังเหมือนก่อน (วิซาร์ด, ไกมุ, ไดรฟ์ และโกสต์)
ถึงมาสค์ไรเดอร์ตั้งแต่ภาคดีเคดขึ้นไปจะมีโมทีฟการแปลงร่างที่ไม่อยู่ในกรอบเดิมๆ อย่างที่เคยเป็นแล้ว ความแหวกแนวแบบไปไกลมากๆ เพิ่งจะมาเห็นชัดในช่วงปี 2012 ขึ้นไป กับ ‘มาสค์ไรเดอร์วิซาร์ด’ ที่คราวนี้เอาคอนเซ็ปต์ ‘เวทมนตร์’ กับ ‘ความแฟนตาซี’ มาผูกเข้ากับเรื่องราวของศิลาอาถรรพ์กับความสิ้นหวังของมนุษย์ จนกลายเป็นการต่อสู้เพื่อช่วยเหลือผู้คนให้พ้นจากความสิ้นหวัง และใช้สไตล์การต่อสู้แบบกึ่งเต้นรำที่โดดเด่น บวกกับดีไซน์ที่เป็นมาสค์ไรเดอร์ที่เหมือนใส่เสื้อโค้ตจนน่าจดจำ
‘มาสค์ไรเดอร์ไกมุ’ ที่ฉายในปี 2013 เอา ‘ผลไม้’ เป็นโมทีฟหลักร่วมกับ ‘เกราะของนักรบ’ และการต่อสู้แบบแบ่งกลุ่มแบ่งทัพตามทีมเต้นของตัวละครหลักแต่ละตัว ทำให้เกราะของมาสค์ไรเดอร์ในภาคนี้ดูแข็งแกร่ง ส่วนด้านเนื้อเรื่องในองก์แรกอาจจะมีความเฉื่อยไปบ้าง แต่พอช่วงหลังที่ขยายความที่มาที่ไปของพลังมาสค์ไรเดอร์กับสัตว์ประหลาดและปมเกมการเมืองที่อยู่เบื้องหลังการแข่งขันเต้นรำที่พวกตัวละครหลักชื่นชอบก็ทำให้เรื่องราวมีความหม่นที่หนักแน่นอยู่ไม่น้อย
‘มาสค์ไรเดอร์ไดรฟ์’ ซึ่งฉายในปี 2014 กลับมาเล่าเรื่องราวของมาสค์ไรเดอร์กับตำรวจ หลังจากที่ห่างหายในซีรีส์มาสค์ไรเดอร์ไปนาน โดยมาพร้อมกับจุดเด่นทั้งในการให้พาหนะหลักของมาสค์ไรเดอร์ภาคนี้เป็นรถยนต์แทนมอเตอร์ไซค์คู่ใจ กับพล็อตที่ตอนแรกเหมือนจะไม่เร่งรีบหรือซับซ้อนอะไร แต่เมื่อขยายปมแล้วก็กลายเป็นละครทีวีชั้นดีอีกเรื่อง และเป็นอีกภาคที่มาสค์ไรเดอร์ตัวรองน่าจดจำไม่แพ้มาสค์ไรเดอร์ตัวหลัก
‘มาสค์ไรเดอร์โกสต์’ ตามมาในปี 2015 ที่หลายคนมองว่าเนื้อเรื่องอ่อนไปสักหน่อย แต่ก็ยังมีคอนเซ็ปต์น่าสนใจ ด้วยตัวมาสค์ไรเดอร์ที่ใช้พลังจากวิญญาณของผู้มีชื่อเสียงคนต่างๆ ในโลก อาทิ มิยาโมโต มุซาชิ, โทมัส เอดิสัน ฯลฯ ซึ่งก็เป็นกุศโลบายให้ความรู้รอบตัวกับผู้ชมวัยเด็กนั่นเอง
ไรเดอร์ในช่วงนี้มีเรื่องที่เปลี่ยนแปลงในตลาดประเทศไทยอยู่ไม่น้อย อย่างแรกคือผลพวงจากการที่ตลาดขายแผ่นนั้นหดตัวลงมากๆ ผู้ถือลิขสิทธิ์ในไทยอย่าง บริษัท ดรีมเอกซ์เพรส เดกซ์ จำกัด จึงจัดทำเฉพาะแบบแผ่น VCD ออกขายในภาควิซาร์ดกับไกมุ และมีการเปลี่ยนแปลงลำดับการฉายซึ่งเป็นการกำหนดมาจากทาง Toei ที่เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ ทำให้หลังจากฉายมาสค์ไรเดอร์ไกมุทางทีวีจบลง ก็มีการข้ามมาฉายมาสค์ไรเดอร์เอกซ์เอด (Ex-Aid) โดยไม่ได้ฉายภาคไดรฟ์กับโกสต์ต่อ ถือว่าเป็นการสิ้นสุดการเว้นช่องว่างการทำตลาดในต่างชาติสองปีมาเป็นการทำตลาดในช่วงปีเดียวกันแทน (ทั้งนี้มีการนำเอาภาคไดรฟ์มาฉายในไทยภายหลังอยู่ดี)
ส่งท้ายยุคเฮย์เซย์ด้วยการผสมผสานที่แตกต่างแต่ลงตัวมากขึ้น (เอ็กเซด, บิลด์ และ Zi-O)
การทดลองใส่ส่วนผสมแบบใหม่ลงไปในช่วงปี 2012-2015 อาจจะมีจุดขลุกขลักไปบ้าง แต่ก็ถือเป็นการทำงานที่คุ้มค่า เมื่อมาสค์ไรเดอร์ในปี 2016 อย่าง ‘มาสค์ไรเดอร์เอ็กเซด’ (Ex-Aid) ที่ตอนแรกเปิดตัวมาว่าจะเกี่ยวข้องกับ ‘หมอ’ และ ‘เกม’ ทำให้หลายคนนั่งงงกันเล็กน้อยว่ามันจะเกี่ยวข้องกันได้อย่างไร และยังมีดีไซน์เอาใจเด็กอย่างมากๆ เพราะมีรูปลักษณ์แบบ SD (Super Deformed) ตัวเล็กตาโต จนเกรงว่าการต่อสู้กับพล็อตจะไม่เข้มข้น แต่กลายเป็นว่าเรื่องราวของภาคนี้กลับเข้มข้นสวนทางกับหน้าตาน่ารักอยู่ไม่เบา และกลายเป็นภาคที่ได้รับความสำเร็จจากคนดูในบ้านทั้งฝั่ง พ่อ-แม่-ลูก ได้อย่างดี
และ ‘มาสค์ไรเดอร์บิลด์’ ก็เป็นอีกภาคหนึ่งที่ตอกย้ำการผสมผสานที่อาจจะดูขัดใจ โดยการเอา ‘สัตว์’ กับ ‘วัสดุ’ ต่างๆ มาจับรวมกัน แต่ด้วยพล็อตเรื่องที่จับเอาประเด็นที่คนทั่วไปอาจจะกลัวและสังสัยถึงการเอาวัตถุบนดาวอังคารกลับมาเปิดบนโลก จนทำให้เกิดกำแพงขนาดยักษ์ที่ถูกเรียกว่า สกายวอลล์ (Skywall) และตัวเอกนั้นเป็นนักวิจัยที่ประดิษฐ์เกราะมาสค์ไรเดอร์เพื่้อไขปริศนาลึกลับที่เกิดขึ้น จนกลายเป็นพล็อตเรื่องที่น่าติดตามและกำลังเข้าสู่จุดไคลแมกซ์ที่กำลังได้รับความสนใจอยู่ ณ เวลานี้ (ในประเทศญี่ปุ่น)
ส่วนมาสค์ไรเดอร์ภาคล่าสุดที่ยังไม่มีรายละเอียดอะไรมากและถือเป็นภาคสุดท้ายของยุคเฮย์เซย์อย่าง ‘มาสค์ไรเดอร์ Zi-O’ ก็กลับไปใช้โมทีฟเป็นเรื่อง ‘เวลา’ กับ ‘นาฬิกา’ ที่บังเอิญว่าสามารถยืมพลังของไรเดอร์รุ่นพี่มาใช้เป็นพลังของตัวเองได้ด้วย สมกับสมญานามที่ว่าเขาจะเป็น ‘ราชาแห่งเวลา’ ซึ่งภาคนี้มีกำหนดฉายในญี่ปุ่นวันที่ 2 กันยายน ปี 2018 นี้ และหลายคนเชื่อว่าทาง Toei เก็บไม้เด็ดอะไรอีกมากเพื่อทิ้งทวนให้ยุคสมัยที่กำลังจะสิ้นสุดลง
การเปลี่ยนแปลงตัวเองของมาสค์ไรเดอร์ยุคเฮย์เซย์ที่กระทบการสร้างของซีรีส์อื่นๆ
การปรับตัวของมาสค์ไรเดอร์ยุคเฮย์เซย์นั้นไม่ได้กระทบแค่เพียงซีรีส์ตัวเองอย่างเดียวเท่านั้น อย่างเช่น ในปี 2016 ก็มีการหยิบจับเอา ‘มาสค์ไรเดอร์อเมซอน’ ของยุคโชวะมาสร้างใหม่เป็น Masked Rider Amazons และเน้นเนื้อเรื่องให้ผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่เป็นหลัก และกลุ่มผู้ชมส่วนนี้ก็อยากจะหลีกเลี่ยงความเป็นเด็กที่มีอยู่ในฝั่งซีรีส์หลัก ซึ่งทางทีมสร้างก็ทำได้สำเร็จ และทำให้ภาค Amazons มีความดิบเถื่อนมากกว่าปกติ ต่อสู้กันเห็นเลือดเห็นเนื้อมากขึ้น เนื้อหาก็มีการถามไถ่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์กับอมนุษย์ และเลือกออกฉายเฉพาะช่องทางออนไลน์บนบริการ Amzon Prime ซึ่งสอดคล้องกับเทรนด์การรับชมของผู้ชมที่เป็นผู้ใหญ่ในยุค 4.0 อย่างดี
ซีรีส์ขบวนการห้าสีหรือซูเปอร์เซนไตเองก็ได้ผลข้างเคียงไปบ้าง อย่างในช่วงที่เรตติ้งของฝั่งซูเปอร์เซนไตลดลงก็มีการปรับเอาการเดินเรื่องบางอย่างของมาสค์ไรเดอร์ไปใช้งานมากขึ้น และปรับแนวทางการเดินเรื่องให้ลงตัวระหว่างการต่อสู้กับตัวร้ายและปมระหว่างตัวละครในทีมกันเอง ฝั่งอุลตร้าแมนที่ช่วงหนึ่งทีวีซีรีส์ขาดหายไปนาน เมื่อกลับมาฉายอีกครั้ง ทีมงานสร้างอุลตร้าแมนก็น้อมรับระบบการขายของเล่นบางอย่างที่สามารถสร้างรายได้จริงของฝั่งมาสค์ไรเดอร์ยุคเฮย์เซย์มาปรับใช้ จนปัจจุบันอุลตร้าแมนกลับมาฉายในรูปแบบซีรีส์ทางโทรทัศน์ได้บ่อยมากขึ้น เพราะมียอดเงินหมุนเวียนจากฝั่งของเล่นที่ชัดเจนด้วย
และการเปลี่ยนแปลงนี้ยังกระทบต่อฮีโร่ท้องถิ่นเจ้าอื่นๆ อีกหลายเจ้า ที่ต้องปรับตัวตามตลาดให้ทัน ซึ่งแม้ว่าหลายๆ เจ้านั้นอาจจะกินเรตติ้งในท้องถิ่นดีกว่ามาสค์ไรเดอร์ซีรีส์หลักก็จริง แต่จากการขยับตัวแบบจริงจังของซีรีส์ใหญ่เจ้านี้อาจจะรุกคืบจนอาจจะกวาดเรตติ้งไปได้ในที่สุด
แต่ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์หนังแปลงร่างใดๆ ทั้งหมดก็ยังมุ่งหวังสอนให้เด็กๆ เข้าใจกับการใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่สงบสุข และการรักษามารยาทที่ดี และในขณะเดียวกันก็ต้องมีความรู้ความสามารถกับความเข้าใจที่มากพอว่าสิ่งที่แต่ละคนกำลังต่อสู้อยู่นั้นเป็นจุดยืนที่ถูกต้องหรือไม่ เหมือนมาสค์ไรเดอร์ในยุคหลังที่มักจะมีบทบาทถามไถ่ตัวเอกว่าสุดท้ายแล้ว เขามายืนต่อสู้อยู่เพื่อปกป้องสิ่งใดกันแน่