นิตยสาร Fast Company เขาลิสท์ ’10 ไอเดียเปลี่ยนโลกในปี 2016′ ไว้หลายข้อ น่าสนใจดีเลยสรุปมาให้อ่านกันจ้ะ (ยังยาวอยู่แต่ยาวน้อยกว่าบทความต้นทางสัก 10 เท่าแล้ว ฮ่าฮ่า)
มาดูกันว่าไอเดียเปลี่ยนโลกเหล่านั้นคืออะไรบ้าง
1. ‘รอยเท้าข้อมูล’ ของเราจะเปลี่ยนแปลงชีวิตเราไปในทางที่เราไม่คาดคิด
นั่นคือพวกข้อมูลดิจิทัลต่างๆ ที่เราทิ้งไว้ออนไลน์ จะค่อยๆ ไปส่งผลต่ออัลกอริธึมที่มันคัดกรองสิ่งต่างๆ มาให้เรา อย่างที่หลายคนรู้ว่าซูเปอร์มาร์เก็ตอย่าง Target เคยดังจากการที่มันรู้ว่าสาวคนหนึ่งท้อง ก่อนที่สาวคนนั้นจะบอกครอบครัวเสียอีก (โดยดูจากข้อมูลการจับจ่าย) ข้อมูลเล็กข้อมูลน้อยที่เราทำหล่นไว้ตามที่ต่างๆ บนอินเทอร์เนตทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัวจะถูกเอาไปใช้เพื่อคำนวณการตัดสินใจในอนาคตของโปรแกรมอัตโนมัติมากขึ้นๆ จนเราคาดเดาไม่ได้ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร
2. โลกที่ทิ้งการทำงานไว้เบื้องหลัง
ปัจจุบันเรามักจะคิดกันว่าค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน แต่ว่าก็มีหลายคนที่ใช้การทำงานเป็นเพียงเครื่องมือในการมีชีวิตเท่านั้น (คือไม่ได้คิดว่างานเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต แต่เป็นเพียงความจำเป็น) FastCompany เลยพูดถึงไอเดียของ ‘รายได้ค่าครองชีพพื้นฐาน’ (Universal Basic Income: UBI) ที่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ อย่างที่เห็นว่าในประเทศสแกนดิเนเวียบางประเทศเพิ่งลงประชามติไปนั่นแหละ เขาเสนอว่าการมีรายได้ขึ้นพื้นฐานเพียงพอจะทำให้เราก้าวข้ามพ้นโลกทุนนิยม
3. การให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตในที่ทำงาน
บริษัทต่างๆ ควรตื่นตัวกับผลกระทบที่งานมีต่อลูกจ้างมากยิ่งขึ้น และการแก้ปัญหาก็ไม่ใช่ทำโดยการมีกิมมิกอย่างห้องโยคะหรือห้องนวดเท่านั้น แต่ยังต้องรวมไปถึงการออกแบบสถานที่ทำงาน รวมถึงวิธีการทำงานที่ไม่ทำให้ความเครียดสะสมด้วย มีสตาร์ทอัพอย่างเช่น Lyra Health ที่เป็นแอพพลิเคชั่นแบบสอบถามที่จะประเมินว่าเราสะสมความเครียดในการทำงานมากเกินไปหรือเปล่า และแนะนำการแก้ไขที่เหมาะสม (เช่นพบแพทย์)
4. การตัตด่อยีนส์ (CRISPR) กำลังจะปฏิวัติระบบอาหารของเรา
เทคโนโลยีการตัดต่อยีนส์ทำได้ง่ายดายขึ้น และละเอียดยิ่งขึ้น ฝ่ายที่สนับสนุนบอกว่ามันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการเลี้ยงประชากรโลก (ที่มากขึ้นๆ) ยิ่งในสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปของโลก ยิ่งทำให้การเพาะปลูกยากขึ้น ทั้งยังอาจช่วยให้พืชพันธุ์บางชนิดไม่สูญพันธุ์ด้วย (เช่น กล้วยชนิดหนึ่งเป็นโรคเชื้อราจนเกือบสูญพันธุ์ ก็มีการตัดต่อยีนส์บางส่วนออกทำให้ไม่เป็นโรค)
5. ธุรกิจที่ไม่เพียง ‘ทำดี’ แต่เป็นธุรกิจที่ดีด้วยตัวมันเอง
ธุรกิจในอนาคตจะมี ‘คุณค่าร่วมกันกับสังคม’ (shared value) มากยิ่งขึ้น นี่เป็นความคิดเห็นของนักทฤษฎีการจัดการคนหนึ่ง ที่บอกว่าธุรกิจมันก้าวผ่านจากจุดแรก คือบริษัททำเรื่องเลวร้ายเพื่อให้ได้เงิน มาสู่การแบ่งปันรายได้บางส่วน มาสู่การพยายามทำเรื่องเลวร้ายน้อยลง และขั้นถัดไป บริษัทต่างๆ จะเริ่มมองหาธุรกิจที่ตอบโจทย์สังคมมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพียงการทำแคมเปญจบแล้วจบเลยเท่านั้น แต่เป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์สังคมเลย ปัจจุบันมีบริษัทที่เรียกว่าเป็น B Corporations ซึ่งเป็นบริษัทเพื่อแสวงหากำไร แต่จะได้รับการตรวจสอบอย่างเข้มข้นว่าส่งผลที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม มากกว่า 1,600 บริษัท
6. สังคมที่ไร้เงินสด (cash) จะเป็นอย่างไร
ในประเทศอย่างฝรั่งเศสและสเปน มีการกำหนดว่าห้ามใช้เงินสดในการแลกเปลี่ยนที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ยูโร (เหรอ เพิ่งรู้!) และมีนักวิชาการหลายท่านที่สนับสนุนว่าเราควรจะเลิกใช้เงินสดไปเลยด้วยซ้ำ เพื่อให้ธุรกิจมืดทั้งหลายหมดทางหากิน – อันนี้ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ เพราะมันก็มีสกุลเงินอย่างบิตคอยน์เนอะ ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรสังคมในหลายประเทศก็ก้าวไปสู่สังคมไร้เงินสดมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น สวีเดน คนไร้บ้านก็มีเครดิตการ์ด (ที่สนับสนุนโดยองค์กรเพื่อการกุศล) ด้วยซ้ำ
7. บล็อกเชนจะเปลี่ยนโลกอย่างไร
อย่างที่รู้, บล็อกเชนคือเทคโนโลยีเบื้องหลังบิตคอยน์ ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลายรูปแบบ ซึ่งเขาว่ากันว่าเทคโนโลยีนี้จะมาช่วยเปลี่ยนแปลงความเป็นอยู่ของคนที่มีรายได้ต่ำสุดหนึ่งพันล้านคนทั่วโลกด้วยซ้ำ เราสามารถใช้มันได้โดยที่เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร บล็อกเชนจะช่วยให้เงินตราไหลเวียนได้คล่องตัวขึ้น จะช่วยให้เรา ‘ติดตาม’ การทำงานหรือการเคลื่อนไหวของวัตถุดิบหรือสต็อกสินค้าได้ดีขึ้น (มีสตาร์ตอัพชื่อ Provenance ที่ใช้บล็อกเชนเพื่อติดตามระบบการขนส่งสินค้า) จะช่วยให้เงินช่วยเหลือจากองค์กรต่างๆ มีความโปร่งใสขึ้น ติดตามได้ง่ายขึ้น (เพราะรู้ว่าเงินไหลไปที่ไหนบ้าง)
8. ผู้อพยพจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น – ถ้าเรายอม
ขัดกับความเชื่อส่วนใหญ่ที่บอกว่าผู้อพยพนั้นเป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาลควรจัดการ หรือควบคุมให้มีน้อยที่สุด แต่ในหลายประเทศก็มีหลักฐานว่าผู้อพยพจะไม่ได้ทำลายระบบเศรษฐกิจ แต่อาจช่วยบูสท์ระบบเศรษฐกิจให้กลับมามีเสถียรภาพอีกครั้งด้วยซ้ำ (เช่น รองรับงานที่คนในชาติไม่ต้องการทำ หรือกระทั่งตั้งธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นเอง) ในฟินแลนด์มีองค์กรชื่อ Startup Regufees ที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้อพยพสามารถตั้งธุรกิจขึ้นเองได้
9. ความท้าทายในการใช้ยาแอนตี้ไบโอติกส์
แบคทีเรียชนิดต่างๆ มีความทนทาน ดื้อยามากขึ้น แบคทีเรียที่ใช้ยาต้านไม่ได้เหล่านี้เรียกว่า ‘ซูเปอร์บั๊กส์’ (superbug) หรือ ‘แบคทีเรียฝันร้าย’ (nightmare bacteria) ในปัจจุบันมียาเหลือไม่กี่ชนิดที่สามารถต้านแบคทีเรียพวกนี้ได้ เช่น Colistin ซึ่งก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะยาพวกนี้ยังไม่ถูกใช้ในวงกว้างเท่านั้นเองแบคทีเรียจึงยังไม่ดื้อยา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญก็ให้ความเห็นว่าเราควรจะลดการใช้ยา antibiotics และลดการแพร่เชื้อของแบคทีเรียโดยการดูแลรักษาความสะอาดยิ่งขึ้น
10. ถ้าเราจ่ายเงินให้คนไปลงคะแนนเสียง จะดีไหม
เป็นไอเดียที่ดูบ้าบอคอแตกมากเมื่อแรกเห็น เพราะหลายประเทศคิดว่าการโหวตคือ ‘หน้าที่’ หรือคือ ‘สิทธิที่พลเมืองควรทำ’ แต่ก็เป็นไอเดียที่อาจเปลี่ยนแปลงการลงคะแนนเสียงได้จริงๆ ซึ่งมีการทดลองว่าถ้าเราให้คนที่ออกมาลงคะแนนมีโอกาสเป็น ‘ผู้โชคดี’ ในการชิงเงินรางวัล (เช่น $10,000) จะทำให้คนออกมาโหวตกันมากขึ้นไหม
ผลออกมาว่า มีผลทำให้คนออกมาโหวตมากขึ้นไม่มาก เพราะคนไม่ค่อยได้ยินข่าวล็อตเตอรี่ ซึ่งในบทความก็ตั้งข้อสังเกตว่า แต่ถ้ามีการโปรโมตมากขึ้น ก็อาจทำให้มีคนมาลงคะแนนเสียงมากขึ้นซึ่งอาจเปลี่ยนแปลงผลการเลือกตั้งได้เลยทีเดียว
ที่มา – http://www.fastcoexist.com/…/the-world-changing-ideas-of-20…