ไม่ควรมีใครเก็บความรู้ (Knowledge) ไว้กับตัวเองคนเดียว การพยายามของคุณมักไร้ความหมายหากคนอื่นไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย จากการค้นพบเหนือจินตนาการ เรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการลองผิดลองถูก สู่การพยายามส่งต่อความรู้ให้เกิดระบบระเบียบ แต่ประวัติศาสตร์เองก็สอนว่า กระบวนการเหล่านี้ไม่ง่ายที่จะเกิดขึ้น และล้วนต้องผ่านอุปสรรคขวากหนามด้วยกันแทบทั้งสิ้น
งานให้ความรู้ ไม่ใช่งานง่าย
ตั้งแต่ครั้งแรกที่เราเห็นแผนที่โลกแบบเต็มตา มองขึ้นไปยังท้องฟ้าและตั้งคำถามกับสวรรค์ สู่การเปิดโลกใบใหม่ที่เล็กระดับจุลทรรศน์ หรือการกลับมาทำความเข้าใจว่าร่างกายของมนุษย์ทำงานอย่างไร หากสิ่งเหล่านี้ไม่เคยถูกถ่ายทอดเลยครั้งแรก ก็ยากที่จะเกิดองค์ความรู้อื่นๆ ที่พื้นฐานตามมา
The MATTER ขออาสาพาคุณลัดเลาะไปสำรวจ ‘การถ่ายทอดความรู้ที่เปลี่ยนโลกไปตลอดกาล’ ที่เราคัดสรรมา คุณคงมีอยู่ในใจอยู่บ้างแล้ว มาแชร์กันเถอะ! เราอยากรู้ว่า ความรู้อะไรที่คุณควรส่งต่อ?
1. มนุษย์ทุกคนมีเสียงของตัวเองผ่าน ‘ประชาธิปไตย’ : กรีก 507 ปีก่อนคริสตกาล
ประชาธิปไตย (Democracy) ถูกประดิษฐ์ขึ้นในช่วง 507 ปีก่อนคริสตกาลโดยรัฐบุรุษชาวเอเธนส์นาม ‘คลิสเทเนส’ (Cleisthenes) ซึ่งหลังจากบ่มเพาะประชาธิปไตยในจุดเล็กๆ เป็นเวลากว่าร้อยปี จนแพร่กระจายไปทั่วแผ่นดินกรีก พัฒนาเป็นระบบที่เป็นรูปเป็นร่าง เมื่อประชาชนทุกคนที่เข้าสู่อายุ 18 ปี สามารถมีสิทธิในการกำหนดความเป็นไปของรัฐได้โดยใช้ออกเสียงเพื่อตัวเอง
แม้แต่รัฐบุรุษที่มีชื่อเสียงของเอเธนส์ ‘เพริคลีส’ (Pericles) ก็ไม่มีอำนาจเหนือประชาชน สิ่งที่เขาทำได้มากที่สุด คือโน้มน้าวให้คนเห็นว่า แนวคิดหรือนโยบายของเขาน่าสนใจ แต่หากผู้คนไม่เห็นด้วย ก็สามารถมีปากเสียงปฏิเสธได้ตามสิทธิอันชอบธรรม
การดีเบตโต้เถียงที่ร้อนแรงในสภาจึงเป็นเรื่องปกติ แต่ถือว่าได้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับสังคมเป็นเวลากว่า 180 ปี กระทั่งธรรมเนียมของสภากรีกถูกทำลายลงโดยชาวมาซีโดเนียนในปี 323 ก่อนคริศตกาลประชาธิปไตยแบบฉบับของชาวเอเธนส์มอบความเชื่อที่ว่า มนุษย์ทุกคนมีความสามารถในการใช้เหตุผลเพื่อการตัดสินใจสำคัญ ซึ่งประชาธิปไตยยุคปัจจุบันยังสามารถกลับไปสืบรากเหง้าตามแบบฉบับเอเธนส์ได้เสมอ และของ Original อาจจะขลังกว่าในเชิงปฏิบัติ แม้จะผ่านมาเป็นเวลาพันๆ ปี แล้วก็ตาม
มนุษย์ทุกคนต้องการที่จะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจว่าสังคมของเขาควรมีลักษณะใด แม้คุณอยากจะเดินหน้าแค่ไหน แต่เมื่อไม่เคยได้ยินเสียงของผู้คนที่เดินอยู่รอบ จุดหมายของรัฐก็ไร้ความหมาย
2. มองโลกแบบเต็มตา ผ่านแผนที่ ‘ปโตเลมี’ : อาณาจักรโรมัน 150 ปีก่อนคริสตกาล
‘ปโตเลมี’ (Ptolemy) นักภูมิศาสตร์และนักดาราศาสตร์คนสำคัญของโลก ขณะที่ยังทำงานอยู่ในหอสมุด Alexandria ที่เปรียบเสมือนคบไฟแห่งการเรียนรู้ที่สว่างโชติช่วงที่สุดในยุคโบราณ เขาลงมือเขียนแผนที่ทางภูมิศาสตร์หลายชิ้นและเป็นผู้นิยามการทำแผนที่โลกครั้งแรกๆ แม้จะยังไม่มีแผนที่ปรากฏในหนังสือเล่มใด แต่เขาวางรากฐานการทำแผนที่ โดยอธิบายหลักการทางภูมิศาสตร์ของโลก และบอกว่าจากฐานข้อมูลที่มีควรจะวาดแผนที่ขึ้นมาอย่างไร
สิ่งนี้เองทำให้นักเรียนของเขาเห็นเป็นครั้งแรกว่าแผนที่โลกมีหน้าตาโดยคร่าวๆ อย่างไร และมันน่าจะดีไม่น้อยหากประชาชนคนทั่วไปจะได้เห็นด้วย แต่เอาเข้าจริงในยุคแรกๆ ชาวคริสเตียนกลับไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันเท่าไหร่นัก แต่ชาวอาหรับต่างหากที่ต่อยอดความฝันของปโตเลมีให้มีลมหายใจต่อ
มีร่องรอยแผนที่ปโตเลมีไปปรากฏ ณ กรุงแบกแดดอยู่หลายร้อยปี ก่อนจะปรากฏหลักฐานอีกครั้งในประเทศอิตาลี ช่วงศตวรรษที่ 14 เมื่อเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูศิลปวิทยาการ นักภูมิศาสตร์รวมตัวกันอัพเดทแผนที่ปโตเลมีใหม่โดยยังคงใช้หลักการเก่าแก่ของปโตเลมีอยู่ ซึ่งแผนที่นี้ถูกใช้โดย ‘คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส’ (Christopher Columbus) เดินเรือข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกไปค้นพบโลกใหม่ และ ‘วัชกู ดา กามา’ (Vasco da Gama) นักเดินเรือสำรวจชาวโปรตุเกสก็ยังสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการค้บพบเส้นทางการเดินเรือจากยุโรปสู่อินเดีย
หรืออาจกล่าวได้ว่า ‘ปโตเลมีเป็นบิดาแห่งภูมิศาสตร์’ กินระยะเวลายาวนานถึง 1,500 ปี เมื่อเราอยู่ภายใต้สิ่งที่ใหญ่กว่าตัวเองหลายพันล้านเท่า การที่คุณรู้ว่าอยู่จุดไหนบนโลก มันช่วยทำให้เรายืนยันตัวตนบางอย่างได้ ปัจจุบันคุณสามารถหาบ้านตัวเองได้ใน Google Earth เพียงปลายนิ้ว เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อมที่อยู่รอบคุณ เป็นการมอบ Sense of Surrounding เป็นความรู้อันเอกอุที่ทำให้คุณเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองและสิ่งรอบตัว
3. สอนมวลชนให้อ่านหนังสือ : ฝรั่งเศส ปี ค.ศ. 1199
การอ่านเป็นรากฐานของทุกสิ่ง แต่หากย้อนไปยังช่วงยุคกลาง การอ่านและการเขียนยังอาศัยโครงสร้างทางภาษา ‘ละติน’ อย่างเหนียวแน่น ซึ่งการสอนภาษาละตินด้วยตัวมันเองก็ใช้เวลานานโขอยู่ ผู้สอนและผู้เรียนจึงมักถอดใจไปตามๆ กัน ทำให้การเรียนรู้นั้นเป็นไปอย่างครึ่งๆ กลางๆ (สมกับเป็นยุคกลางเนอะ) โดยระบบการสอนโบราณจะให้นักเรียนอ่านและท่องจำอักษรละตินอันยาวเหยียดให้ขึ้นใจ ซึ่งเป็นทักษะที่ต้องอุทิศตนสูงมาก เหมาะสำหรับนักบวชคริสตจักรที่คร่ำเคร่งเท่านั้น เพราะชาวบ้านตาดำๆ ก็ยังต้องทำงานหาเช้ากินค่ำ ใครเล่าจะมีเวลาไปเรียนหนังสือกันล่ะพ่อคุณ!
จนกระทั่งปลายศตวรรษที่ 12 Alexander of Villedieu นักภาษาชาวฝรั่งเศส ผู้เคยเป็นติวเตอร์ส่วนตัวของบิชอปในฝรั่งเศส เปลี่ยนการเรียนภาษาละตินเสียใหม่ ให้เป็นไปในลักษณะ ‘เรียนลัด’ เหมือนติวเตอร์ฮอตๆ ยุคนี้ เขาใช้กฎเกณฑ์ที่เข้าใจง่าย ใช้เพลงหรือกลอนร่วมในการสอน จนเมื่อบิชอปถามหลานที่เรียนกับเขาว่า เรียนเป็นอย่างไรบ้าง หลานตัวน้อยก็ต่อกลอนให้ฟังจนสะดุดใจบิชอปคิดว่ามันน่าจะเวิร์กมิใช่น้อย จึงดำริให้ Alexander of Villedieu เขียนหนังสือแนวติวเตอร์การเรียนละตินใหม่ในชื่อ Doctrinale จากนั้นก็พิมพ์ขาย ซึ่งในสมัยนั้นก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า แล้วค่อยๆ แพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วยุโรป ก่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทาง Literacy ครั้งสำคัญของโลก
แท้จริงแล้วผู้คนแม้จะเป็นคนธรรมดาอย่างที่สุด ก็ยังโหยหาความรู้ แต่ต้องเป็นช่องทางที่เข้าถึงพวกเขาได้มากที่สุด เห็นผลเร็ว และสร้างแรงบันดาลใจได้ดี Doctrinale จึงเป็นรากฐานที่งอกเงยอย่างงดงามของการศึกษาสู่ยุคปัจจุบัน
4. กาลิเลโอสำรวจสวรรค์ครั้งแรก : อิตาลี ปี ค.ศ.1609
เมื่อชายหนุ่มชาวอิตาลี ‘กาลิเลโอ’ (Galileo) หยิบกล้องส่องไปยังท้องฟ้า มันได้เปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อจักรวาลไปโดยสิ้นเชิง เขาพบว่า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ต่างๆ ไม่ได้อยู่ในกรอบความรู้ที่โลกเก่าวางไว้เลย ท้องฟ้าและดวงดาวล้วนเคลื่อนไหว เต็มไปด้วยความโกลาหลวิปลาส หาใช่ถูกตรึงนิ่งอยู่กับที่ และโลกไม่ได้เป็นศูนย์กลางของจักรวาล งานของเขาช่วยสนับสนุนแนวคิดของโคเปอร์นิคัสอย่างชัดเจนที่สุด
กล้องดูดาวฝีมือการประดิษฐ์ของเขา มอบแรงผลักดันให้เขียนหนังสือชื่อ Dialogue Concerning the Two Chief World Systems (ปี1632) แต่คริสตจักรที่นำโดย Roman Catholic Church กลับไม่พอใจนัก ผลงานของกาลิเลโอที่สนับสนุนแนวคิดของโคเปอร์นิคัส ได้กลายเป็นต้นเหตุของการถกเถียงหลายต่อหลายครั้ง เพราะแนวคิดเรื่องโลกเป็น ‘ศูนย์กลางของจักรวาล’ เป็นแนวคิดหลักมานานแสนนานนับแต่ยุคของอริสโตเติล การเปลี่ยนแนวคิดใหม่ว่าดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาลโดยมีข้อมูลสังเกตการณ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างชัดเจนจากกาลิเลโอช่วยสนับสนุน ทำให้คริสตจักรโรมันคาทอลิกต้องออกกฎให้แนวคิดเช่นนี้เป็นสิ่งต้องห้าม เพราะขัดแย้งกับการตีความตามพระคัมภีร์ กาลิเลโอถูกบังคับให้ปฏิเสธความเชื่อเรื่องดวงอาทิตย์จนเวลาล่วงเลยมานานถึงศตวรรษที่ 20 วาติกันถึงได้ยอมรับแนวคิดของกาลิโอในที่สุด ซึ่งกาลิเลโอกลับชาติมาเกิดได้ คงกลับชาติมาเกิดหลายรอบแล้ว (มุกหน่า)
คุณก็รู้ว่า หากเรายังชื่อว่าโลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาลอยู่ เราจะไม่มีทางไปไหนได้ไกลเลย เพราะยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง เราจึงเป็นเพียงหน่วยเล็กๆ ของจักรวาลที่ยากจะหาจุดสิ้นสุด และเราจะไม่หยุดแสวงหาความรู้เพื่อเข้าใจมัน
5. การอธิบายว่า ‘ร่างกายของเราทำงานอย่างไร’ : อังกฤษ ปี ค.ศ. 1628
ระบบหมุนเวียนของเลือดในร่างกายคุณก็เคยเรียนมาบ้างแล้วในช่วงมัธยม (หรือบางคนก็ตั้งแต่ชั้นประถม) แต่มันเป็นความรู้แปลกใหม่สุดเหวอเมื่อย้อนไป ปี 1628 ก่อนหน้านั้นคนโบร่ำโบราณเชื่อกันว่า เลือดมาจากตับ จากนั้นเข้าสู่หัวใจจนทำให้เลือดมีอุณหภูมิที่ร้อน และค่อยส่งต่อไปตามเส้นเลือดทั่วร่างกาย ระบบโลหิตในร่างกายมนุษย์มีลักษณะคล้ายน้ำขึ้นน้ำลงในธรรมชาติ
วิลเลี่ยม ฮาร์วี่ (William Harvey) แพทย์ประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าเจมส์ที่ 1 แห่งอังกฤษ โดยระหว่างนั้น วิลเลี่ยมได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับระบบการไหลเวียนโลหิต ซึ่งใช้เวลาค้นคว้านานกว่า 10 ปี จากผู้ป่วยมากกว่า 100 คน จนพบว่าหัวใจไม่ได้ทำให้เลือดอุ่น แต่ทำหน้าที่ในการสูบฉีดโลหิต คล้ายกับถุงกล้ามเนื้อที่เต้นผับๆ อยู่ตลอดเวลา และการเต้นของหัวใจก็ทำให้เกิดการไหลเวียนของโลหิตโดยมีเลือดแดงที่ไหลออกจากหัวใจไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย จากนั้นเลือดแดงจะกลายเป็นเลือดดำ และกลับคืนมาสู่หัวใจอีกครั้งหนึ่งจนครบวงจร
น่าทึ่งที่เขาศึกษาเองโดยไม่มีเทคโนโลยีกล้องจุลทรรศน์ใดๆ เลยด้วยซ้ำ การค้นพบนี้ทำให้เราเข้าใจระบบการทำงานของร่างกายมนุษย์ที่เป็นปริศนามานับพันๆปี หากความรู้ทางการแพทย์ไม่มีระบบการไหลเวียนของเลือด ก็ยากที่ความรู้อื่นๆ จะอุบัติตามมา คุณไม่มีทางเข้ารับการผ่าตัดสมัยใหม่หรือแม้แต่ฉีดยาเข้าเส้นเลือดง่ายๆ แม้จะเป็นเรื่องพื้นฐานที่สุด แต่หากปราศจากผู้ค้นพบเรื่องเหล่านี้ การแพทย์โลกคงงมเข็มในมหาสมุทรของร่างกายยังจับต้นชนปลายไม่ถูก
6. การก่อตั้งราชสมาคมแห่งลอนดอน Royal Society : อังกฤษ ปี ค.ศ. 1660
เมื่อครั้งสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 ขึ้นปกครองอังกฤษเป็นที่เรียบร้อย ก็ได้รวบรวมเอาเหล่านักวิทยาศาสตร์ผู้ปราดเปรื่องหลายอัตราที่เคยทำงานกันเข้ามือในอ็อกฟอร์ด ย้ายฐานที่มั่นใหม่มาอยู่ ณ กรุงลอนดอน โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นราชสมาคมที่อุทิศตัวเพื่อการศึกษาค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่เข้มข้นที่สุด ยิ่งกว่าต้มเล้ง เข้มถึงเครื่องยิ่งกว่าต้มโคล้ง
ราชสมาคมแห่งลอนดอนเป็นสมาคมคนรักวิทยาศาสตร์ที่แรกๆ ในยุโรป แต่บรรยากาศในอดีตไม่เปิดกว้างให้ผู้หญิง จะค่อนไปทาง ‘คลับสุภาพบุรุษ’ (gentlemen’s club) ที่ผู้ชายมีศักดิ์จะแฮงก์เอาท์ด้วยการคุยกันเรื่องความรู้ และจะคัดเลือกสมาชิกที่เหมาะสมเพื่อทำการทดลองวิทยาศาสตร์ร่วมกันเท่านั้น (น่าหมั่นไส้หน่อยๆ ใช่ไหม?) ภายในไม่กี่ปีเมื่อราชสมาคมแห่งลอนดอนดำเนินการไปได้สักระยะกลับสร้างผลงานวิจัยหลายเรื่อง จนประเทศยุโรปอื่นๆ อยากเอาเป็นแบบอย่างบ้าง จึงมีสมาคมวิทยาศาสตร์ผุดขึ้นในฝรั่งเศส อิตาลี ฯลฯ ทำในยุโรปมีการแข่งขันความเป็นเลิศทางวิชาการสูง
นักประวัติศาสตร์หลายคนมองว่า ก่อนหน้านี้วิทยาศาสตร์มีผู้นำที่เป็น ‘ไอดอล’ อยู่เพียงไม่กี่คน และส่วนใหญ่เป็นที่รู้จักผ่านผลงานระดับที่เป็น Achievement แล้วทั้งนั้น แต่เราควรกลับไปมองว่า วิทยาศาสตร์ถูกสร้างขึ้นมาอย่างไรบ้าง ผ่านช่วงเวลาร้อนหนาวมาอย่างไรบ้าง ที่เราทุกความก้าวหน้านั้นไม่ได้มาจากคนเพียงคนเดียว ความเป็นสมาคมจึงเป็นตัวจุดระเบิดที่ร้อนผ่าว หากคุณจะเปลี่ยนโลก จงเปลี่ยนโลกร่วมกันคนอื่นๆ ที่คิดเหมือนกันกับคุณ
7. ปฏิวัติการมองโลกให้ ‘จิ๋ว’ ด้วยกล้องจุลทรรศน์ : ยุโรปช่วงปี ค.ศ. 1700
หากคุณคิดว่าดวงตาของคุณเห็นความเป็นไปของสรรพสิ่งแล้ว แต่มันกลับไม่ใกล้เลย มีอะไรต่อมิอะไรเกิดขึ้นในระดับที่เล็กมากจนตาเปล่ามองไม่เห็น รากฐานของวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เป็นเรื่องเป็นราวน่าประทับใจ ตื่นตา พิลึกพิลั่น ก็เมื่อเรามองเห็นโลกผ่านกล้องจุลทรรศน์ ตัวหมัดที่เคยเล็กเท่าขี้ผงไม่มีใครสนอกสนใจ จนกระทั่งได้เห็นใบหน้าของมันที่ขนาดใหญ่ยักษ์ราวสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวก็ไม่ปาน
ซึ่งความก้าวหน้าทางวิทยาการส่วนหนึ่งต้องให้เครดิตกล้องจุลทรรศน์ที่อยู่ในมือคนที่รู้จักใช้มันแม้กล้องจุลทรรศน์ในสมัยศตวรรษที่ 17 จะเป็นของเล่นสำหรับผู้มีอันจะกิน และทำให้เรามองโลกใบเล็กได้แจ่มชัดยิ่งขึ้น แต่ช่วงแรกนักวิทยาศาสตร์กลับใช้มันจ้องมองอย่างเดียว จนกระทั่งมารู้ว่า ถึงจะเล็กแค่ไหน แต่เรายังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับโลกใบจิ๋วนี้ได้ โดยเปลี่ยนโครงสร้างมัน กระตุ้นให้เกิดผลบางอย่าง ที่เปิดประตูจินตนาการไม่รู้จบ
โรเบิร์ต ฮุก (Robert Hooke) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษเป็นผู้ใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องพบเซลล์ในจุกไม้คอร์ก และพบเนื้อเยื่อพืชที่ยังมีชีวิต จึงบัญญัติคำว่า ‘เซลล์’ ขึ้นเป็นครั้งแรก ฮุกได้ตีพิมพ์หนังสือที่พิลึกพิลั่นเล่มหนึ่งในประวัติศาสตร์ชื่อ Micrographia โดยนำเสนอภาพสัตว์ที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่ไม่เคยเห็นแบบใหญ่ๆ ชัดๆ มาก่อน ทั้งมด แมลงวัน เห็บหมัด ที่เขาวาดจากการส่องกล้องจุลทรรศน์ จนกลายเป็นหนังสือขายดีระดับ Best Seller ที่เปลี่ยนมุมมองของคนทั่วโลกไปตลอดกาล
วิทยาศาสตร์จึงกลายเป็นเรื่องเหลือเชื่อ ตื่นตะลึงแก่ผู้พบเห็น ดึงดูดให้คนทั่วไปหลงใหลใคร่รู้ในวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น โดยการใช้ภาพสื่อสารเพียงไม่กี่ภาพแทนการเล่าทฤษฎียาวเหยียด ทุกวันนี้ใครๆ ก็ชอบดูภาพจากกล้องจุลทรรศน์ แม้แต่เส้นขนของคุณยังมีเรื่องราวเลย
อ้างอิงข้อมูลจาก
Ptolemy’s World Map