มนุษย์เข้าห้ำหั่นกันตลอดเวลาด้วย ‘กำลังและปัญญา’ จนเป็นที่มาของเทคโนโลยีที่คุณเองยังใช้อยู่ถึงทุกวันนี้
มีคำกล่าวว่า ความก้าวหน้าทางนวัตกรรมเกือบทุกชิ้นในโลก ถูกพัฒนาขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แทบทั้งสิ้น และเปลี่ยนโลกแบบพลิกฝ่ามือตั้งแต่นั้นมาอย่างถาวร
วันที่ 14 สิงหาคมของทุกปี เป็นช่วงเวลาของเหตุการณ์สำคัญ เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ในแปซิฟิก-เอเชีย ได้ยุติลงอย่างเป็นทางการ ญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตร ในวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2488 พระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะแห่งญี่ปุ่น (Emperor Hirohito) ทรงประกาศยอมแพ้ต่อฝ่ายสัมพันธมิตรผ่านทางวิทยุกระจายเสียงทั่วญี่ปุ่น
การดิ้นรนของมนุษย์ภายใต้ฝุ่นควันของสงคราม สร้างผลกระทบต่อชีวิตมากกว่าที่ใครเคยคาดคิด เป็นช่วงเวลาที่ความเลวร้ายของมนุษย์ถูกนำมาตั้งโชว์หราให้เห็นเป็นประจักษ์ มนุษย์มีธรรมชาติของการทำลายล้างพอๆ กับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่
สงครามทำให้เทคโนโลยีหลายชิ้นได้รับ ‘ไฟเขียว’ เร็วกว่ากำหนด หลายโครงการเกิดขึ้นได้จริง ทั้งๆ ที่แผนการทั้งหมดยังอยู่ในแผ่นกระดาษบางๆ ไม่กี่หน้า
แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คนทั่วไปสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เคยใช้ทางทหาร นำมาดัดแปลง ปรับปรุงจนกลายมาเป็นสิ่งที่แนบสนิทไปกับชีวิตประจำวันอย่างเรียบเนียน นวัตกรรมหลังสงคราม (Post War inventions) จึงไม่ได้เน้นทำลายล้างชีวิต แต่พยายามสร้างคุณภาพชีวิตมนุษย์ให้มีเสถียรภาพมากกว่าที่เป็นอยู่
ทำไมเราไม่แวะเวียนย้อนดูเทคโนโลยีที่เกิดจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ในวันที่สงครามสิ้นสุดลงเสียหน่อย เพราะมันยังหลงเหลือข้อเท็จจริงประการหนึ่งว่า “มนุษย์สามารถเปลี่ยนหายนะให้เป็นช่วงเวลาที่ดีได้ หากเราต้องการ”
เพนิซิลลิน (Penicillin)
ฮาวเวิร์ด ฟลออรีย (Howard Florey) นักเภสัชวิทยาชาวออสเตรเลีย เขาไม่ใช่คนที่เข้ากับคนอื่นได้ง่ายนัก ด้วยนิสัยหัวรั้น ชอบแหกกฎ แต่กระตือรือร้นเสมอที่จะไปคลุกคลีกับประเด็นร้อนในสังคม ทำให้เขาได้รับการยอมรับจากแวดวงแพทย์ในออสเตรเลียอย่างกว้างขวาง เขาเคยกล่าววลีเด็ดว่า “หากผมต้องทำงานร่วมกับปีศาจ ผมก็จะทำ หากเจ้าปีศาจตนนั้นเจ๋งพอ” ซึ่งปีศาจรายนั้น อาจป็นเชื้อโรคที่พรากชีวิตมนุษย์นั้นเอง
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารเสียชีวิตจากบาดแผลติดเชื้อมากเป็นประวัติการณ์ แม้ว่า ‘อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง’ (Alexander Fleming) ได้ค้นพบสาร ‘เบนซิลเพนนิซิลิน’ จากเชื้อรา Penicillium notatum ในปี ค.ศ. 1928 ซึ่งนำไปสู่การพัฒนายาปฏิชีวนะตัวแรกของโลก แต่องค์ความรู้นี้ยังไม่ได้ถูกใช้จริงในภาคสนาม จนกระทั่ง ฮาวเวิร์ด ฟลออรีย และทีมวิจัย ยื่นเรื่องขออนุญาตผลิตเพนิซิลินจำนวนมากกับคณะบริหาร US War Production Board ในปี 1943 และแจกจ่ายให้กับทหารติดตัวไปช่วงสงคราม
ภายในปี 1944 สหรัฐอเมริกาผลิตยาเพนิซิลินมากถึง 2.3 ล้านโดส โดยสามารถลดอัตราการตายจากการติดเชื้อในสนามรบได้ถึง 12 – 15 เปอร์เซ็นต์ ยาเพนิซิลินจึงเป็นหนึ่งกุญแจสำคัญที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม
Nescafé กาแฟสำเร็จรูป ระบบ Freeze Dryer
ทุกสงครามจำเป็นต้องมีกาแฟตกถึงท้อง หากไม่มีสงครามโลกเมล็ดกาแฟสดจำนวนมากคงถูกทิ้งไว้ในประเทศบราซิล เพราะไม่มีใครว่างพอจะมาละเมียดเตรียมเครื่องปรุงกาแฟจากเมล็ดกาแฟแท้ในขณะที่บ้านกำลังระเบิดตูมๆ
เมล็ดกาแฟที่ค้างในโกดังกำลังเสียและเปลี่ยนรสชาติไปเรื่อยๆ บริษัท Nestle จึงต้องรีบเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสผ่านงานวิจัย เพื่อรักษาคุณภาพกาแฟให้มีสถานะคงที่ ด้วยการดัดแปลงรูปแบบใหม่ที่ยังไม่เคยวางตลาดมาก่อน
แผนนี้ถูกเก็บเป็นความลับจนกระทั่งปี 1938 Nestle ประสบความสำเร็จในการปฏิวัติวงการอาหารโดยการสกัดกาแฟให้แห้งด้วยการอบแบบ freeze dryer ที่นำเมล็ดกาแฟสดที่มีน้ำอยู่ไปแช่แข็งในอุณหภูมิราว –30°C จนน้ำในวัตถุดิบแข็งตัวเป็นน้ำแข็ง แล้วนำไปวางไว้ในสุญญากาศอ่อนๆ เพิ่มความร้อนเพียงเล็กน้อย ผลึกน้ำแข็งในกาแฟจะระเหิดกลายเป็นไอในระยะเวลาอันสั้น เหมาะกับอาหารที่มีสรรพคุณเฉพาะทางที่ไม่ต้องการให้เปลี่ยนสภาพด้วยความร้อน เน้นรักษากลิ่นหอมยาวนาน จนกลายมาเป็นกาแฟสำเร็จรูปในแก้วของคุณทุกเช้า
ไฟฉายไดนาโมมือหมุน (Dynamo-powered torch)
ไฟฟ้าเป็นปัญหาใหญ่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ หลังถูกเยอรมันยึดครองในปี 1943 ไฟทั้งประเทศมักติดๆ ดับๆ เอาแน่เอานอนไม่ได้ และการอยู่ในความมืดมิดเป็นเวลานานทำให้เสียเปรียบ
บริษัท Philips จึงหาวิธีพัฒนาไฟฉายแบบไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานจากไฟบ้าน แต่ใช้แรงของมนุษย์ ‘หมุน’ เพื่อให้เกิดแสงสว่าง โดยมีคันโยกที่รุ่นแรกๆ ไม่ค่อยจะสะดวกนัก หมุนแล้วฝืด ไฟตกเร็ว แถมยังมีเสียงดังจนถูกเรียกว่า ‘knijpkat’ ที่แปลว่า แมวครวญ จากกลไกไดนาโมรุ่นแรกๆ ที่ยังไม่มีประสิทธิภาพ
แม้สงครามสิ้นสุดลง Philips ยังคงพัฒนาเจ้าไฟฉายมือหมุนอย่างต่อเนื่อง จนได้รุ่นลูกๆ ที่พอใช้งานแบบสมน้ำสมเนื้อในปี 1950 และเมื่อทำตลาดสำหรับคนทั่วไป ก็กลายเป็นว่าขายดีแบบเทน้ำเทท่า จนทุกวันนี้ Philips ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแม้จะมีรุ่นใหม่ที่ไฮเทคแค่ไหนก็ตาม ชิ้นส่วนภายในก็ยังคงเป็นโมเดลเดิม แต่รักษาประจุพลังงานได้นานขึ้น ออกแรงน้อยลง และสว่างทันใช้โดยคุณไม่ปวดมือเสียก่อน
ระบบลงจอดเครื่องบินด้วยเรดาร์ (Radar Landing)
ขึ้นบินน่ะง่าย แต่ลงจอดนี่อีกเรื่อง! โดยเฉพาะในช่วงสงครามโลก การลงจอดในเวลากลางคืนของเครื่องบินทิ้งระเบิดมีความเสี่ยงสูง การผิดพลาดเพียงน้อยนิดระเบิดที่ติดตั้งมาด้วยก็มีโอกาสระเบิดตูมพังทั้งสนามบิน
ฝ่ายสัมพันธมิตรพยายามออกแบบการลงจอดที่มีความแม่นยำมากขึ้น และจำเป็นต้องบอกได้ว่าลำไหนเป็นพวกเดียวกันหรือศัตรูเพื่อจะได้ไม่ถูกสอยอย่างส่งเดช เครื่องบินจึงติดตั้งอุปกรณ์ที่ชื่อ Rebecca transponder unit เพื่อส่งสัญญาณระบุฝ่าย ที่ทำงานร่วมกับระบบภาคพื้นดินที่ชื่อ Eureka ground-based transmitter มันจึงเป็นการสื่อสารระหว่าง Rebecca และ Eureka ที่ ‘คุย’ กันไปมาจนสามารถนำร่องเครื่องบินลงจอดได้อย่างปลอดภัย
แนวคิดนี้ถูกชาวอังกฤษนำไปต่อยอดเป็นระบบ Instrument Landing System (ILS) ที่ช่วยให้เครื่องบินรุ่นใหม่ลงจอดได้แม่นยำที่สุดไม่หลุดจากรันเวย์ ทำให้เที่ยวบินนับล้านที่ต้องลงจอดในสภาพอากาศที่ย่ำแย่ได้อานิสงส์จากระบบ ILS ด้วยกันทั้งนั้น
ระบบปรับความดันห้องโดยสาร (Cabin Pressurization System)
การบินด้วยระดับความสูงเสียดฟ้า ทำให้ผู้โดยสารเครื่องบินเสี่ยงต่อภาวะขาดออกซิเจน หรือ ภาวะเลือดมีออกซิเจนน้อย (Hypoxemia) ส่งผลให้ เซลล์ เนื้อเยื่อ และอวัยวะต่างไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือต้องเผชิญกับอาการเมาความกดอากาศ (Decompression sickness) ที่ยิ่งสูงก็ยิ่งอันตราย
ในช่วง WWII นักบินเครื่องบินทิ้งระเบิดทุกนายจะต้องสวมหน้ากากออกซิเจนขณะทำการบิน แต่กลับกลายเป็นอุปสรรคในการเคลื่อนไหว และเอาแน่เอานอนไม่ได้ แม้ภารกิจสำเร็จ แต่หากท่อสายอากาศหลุดก็ทำให้นักบินไม่สามารถกลับบ้านได้
ความเสี่ยงจากทางเทคนิคนี้ถูกแก้ไขโดยเครื่องบินรุ่น B-29 Superfortress ที่ออกบินในปี 1944 โดยสหรัฐอเมริกาออกแบบระบบใหม่ที่ปฏิวัติวงการบิน ด้วย ระบบปรับความดันห้องโดยสาร (Cabin Pressurization System) ที่มีท่อยาวเพื่อรักษาอุณหภูมิและความดันในห้องผู้โดยสารให้อยู่สบายไม่อึดอัด ทำให้นักบินไม่ต้องสวมหน้ากาก และเดินไปไหนมาไหนได้สะดวก
หลังสงครามสิ้นสุด เครื่องบินพาณิชย์ทุกลำต่างถอดแบบระบบปรับความดันห้องโดยสารจาก เครื่องบินทิ้งระเบิด B-29 ด้วยกันทั้งสิ้น มาปรับใช้ให้คุณรู้สึกสบายขณะบินที่ความสูงเหนือเมฆโดยยังมีสติครบถ้วน
เรดาร์ (Radar)
นานมาแล้วก่อนสงครามในปี 1886 นักฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ‘ไฮน์ริช เฮิรตซ์’ (Heinrich Hertz) พบว่าสัญญาณคลื่นวิทยุมีคุณสมบัติในการสะท้านกลับเมื่อกระทบวัตถุ แต่ยังไม่มีใครนำมาปรับใช้อะไรจนน่าตื่นเต้น กระทั่งเข้าสู่ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เครื่องบินทิ้งระเบิดของเยอรมันจู่โจมอังกฤษแบบไม่ทันตั้งตัว สร้างความบอบช้ำให้กับประเทศอย่างสาหัส
จากบทเรียนที่ได้รับ 2 นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ‘โรเบิร์ต วัตสัน วัตต์’ (Robert Watson Watt) และอาร์โนลด์ วิลกิ้นส์ (Arnold Wilkins) ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีที่ตรวจจับเครื่องบินทิ้งระเบิดอันร้ายกาจของเยอรมันก่อนถึงน่านฟ้าอังกฤษเพื่อให้ทหารสามารถตอบโต้ได้ทันท่วงที ไม่เป็นเป้านิ่งให้เสียเปรียบ
ในปี 1930 ระบบ Radar-Radio Detection and Ranging ตัวแรกจึงถือกำเนิดขึ้น ซึ่งได้เปลี่ยนสถานการณ์สงครามไม่ให้อังกฤษถูกกระทำอยู่ฝ่ายเดียว ระบบใหม่นี้ระบุตำแหน่งเครื่องบินข้าศึกได้ในระยะไกล 100 ไมล์ ทำให้เยอรมันต้องเปลี่ยนแผนการโจมตีทางอากาศอย่างชุลมุน
ภายหลังสงครามยุติ อังกฤษและสหรัฐอเมริกาแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีทางด้านเรดาร์ต่อกันทำให้มีการพัฒนาเรดาร์ที่ทำงานในความถี่ย่าน ‘ไมโครเวฟ’ (Microwave) ได้สำเร็จ
เทคโนโลยีเรดาร์เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในแง่ของประสิทธิภาพ ทั้งสามารถพยากรณ์อากาศ ใช้นำทางเครื่องบินโดยสาร ใช้เป็นระบบเตือนสิ่งกีดขวางของรถยนต์ และใช้ในระบบดาวเทียมเพื่อสร้างภาพถ่ายทางอากาศแสดงสภาวะของโลก ทั้งสภาพป่า น้ำ มลภาวะ
เครื่องยนต์ไอพ่น (Jet Engine)
วิศวกรชาวอังกฤษ ‘แฟรงก์ วิตเทิล’ (Frank Whittle) สร้างเครื่องยนต์เจ็ตสำเร็จเป็นครั้งแรกในปี 1937 แต่รัฐบาลยังไม่สนใจผลงานชิ้นนี้มากนัก จนกระทั่งฝ่ายเยอรมันผลักดันเทคโนโลยีนี้ไปขั้นสุดด้วยเครื่องบินที่ล้ำสมัยที่สุดของกองทัพ Messerschmitt Me 262 ที่เร็วเสียจนเอาชนะเครื่องบินทุกลำที่เคยสร้างมา แถมยังร้ายกาจมากจนมีสถิติยิงเครื่องบินสัมพันธมิตรร่วงในอัตรา 5 ต่อ 1
ความดุดันของ Me 262 ทำให้รัฐบาลอังกฤษต้องเอางานวิจัยของ แฟรงก์ วิตเทิล มาพิจารณาอีกครั้งและอนุมัติให้สร้างเครื่องบินสัญชาติอังกฤษชื่อว่า Gloster Meteor โดยมีภารกิจจู่โจมจรวด V-1 ของเยอรมัน ซึ่ง Gloster Meteor ปราดเปรียวด้วยเครื่องยนต์ไอพ่นแบบใหม่ฉีกเวหา ซึ่งหลังจากสงครามยุติ อังกฤษก็ยังไม่อยากเสี่ยงให้เครื่องบินของพวกเขาไปเลยน่านฟ้าของเยอรมัน เพราะกลัวจะถูกยิงตกแล้วโดนขโมยเทคโนโลยี
แต่ปัจจุบันเครื่องยนต์ไอพ่น ถูกใช้ในวิศวกรรมการบินจนเป็นเรื่องปกติ ถูกนำไปดัดแปลงใช้งานที่ไม่ใช่อากาศยาน เช่น เครื่องกังหันแก๊สในอุตสาหกรรม เครื่องผลิตไฟฟ้า เครื่องสูบน้ำ
โคลอสซัส คอมพิวเตอร์ (Colossus Computer)
ในปี 1920 เยอรมันมีความภูมิใจในการสร้างเครื่องเข้ารหัสที่ลับสุดยอดจนไม่สามารถถอดรหัสได้ในชื่อ Enigma มันสามารถคำนวณได้นับล้านครั้งภายในเสี้ยววินาที ซึ่งทำให้รหัสลับนี้ถูกเปลี่ยนทุกวัน เยอรมันใช้รหัสลับ Enigma ส่งข้อความในการวางแผนโจมตีอันแยบยลจนประสบความสำเร็จทุกครั้ง
ในปี 1930 นักคณิตศาสตร์ชาวโปแลนด์ได้รวมตัวกันใน ‘เบล็ตซ์ลีย์พาร์ค’ (Bletchley Park) ณ กรุงลอนดอน โดยมีภารกิจแกะรหัสลับด้วยเทคโนโลยีที่เหนือกว่า สิ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็น ‘คอมพิวเตอร์เครื่องแรกของโลก’ โคลอสซัส (Colossus) ทำงานด้วยท่อสุญญากาศ 1,500 ตัว เปิดตลอด 24 ชั่วโมง จนฝ่ายสัมพันธมิตรสามารถไขรหัสลับได้สำเร็จ และวางแผนบุกขึ้นหาดในวัน D-Day โจมตีเยอรมันโดยไม่ทันตั้งตัว
เราแทบไม่ต้องพูดอะไรถึงคอมพิวเตอร์แล้ว เพราะสิ่งที่คุณอ่านนั้นมาจากศักยภาพการคำนวณของคอมพิวเตอร์ ที่แม้จะมีขนาดเล็กเพียงอุ้งมือ มีบรรพบุรุษมาจากเครื่องโคลอสซัสทั้งปวง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Colossus Birth of the digital computer
Indicator, Radar Interrogator, BC-929-A, AN/APN-2 Rebecca Mk IIA
Aircraft Pressurization Systems
Freeze Dryers
How do penicillins work?