รถเมล์ที่เรารอเมื่อไหร่จะมาถึง?
เราเช็คตำแหน่ง BTS หรือ MRT แบบเรียลไทม์ได้ไหม?
กรุงเทพฯ มีสวนสาธารณะหรือสนามกอล์ฟมากกว่ากัน?
แล้ววัดกับอาบอบนวดล่ะ?
แล้วตกลงถ้าเราซื้อหวย ใครรวย?
คำถามมากมายที่จริงๆ แล้วมีข้อมูลที่ให้คำตอบได้ แต่ข้อมูลเหล่านั้นถูกเก็บไว้ที่ไหนสักแห่ง เก็บในรูปแบบนำมาใช้งานไม่ได้ เก็บแบบยังไม่ได้จัดระเบียบ หรือเก็บไว้แต่ไม่ยอมเปิดเผย แม้สังคมเราจะอุดมไปด้วยข้อมูลมหาศาล แต่กลับมีการจัดการเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้น้อยนิด
The MATTER เลยชวน คุณโจ้ – ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ จาก ‘Boonmee Lab’ เจ้าของโปรเจคเจ๋งๆ อย่าง แผนที่ 77 จังหวัด ยุพิน Youpin และล่าสุดที่เพิ่งออกมาสดๆ ร้อนๆ คือ เมล์ไหนไปไกลเฟร่อ! มาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่อง Data Visualization การออกแบบและนำข้อมูลอันท่วมท้นนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง รวมถึงเหตุผลที่ทั้งรัฐและเอกชนควรเปิดเผยข้อมูลของตัวเอง เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปเป็นไทยแลนด์ 4.0 อย่างที่หวังได้จริง
The MATTER : Boonmee Lab ทำอะไรบ้าง
คุณฐิติพงษ์ : จริงๆ ก็ค่อนข้างหลากหลาย แต่อันแรกที่เราทำเลย เราเรียกมันว่า ‘ค้นคิท’ คือระบบจัดการความรู้ให้กับห้องสมุด หรือ Creative Space ที่แรกคือ TCDC ตั้งแต่ปี 2013 แล้วก็ยังใช้มาอยู่ถึงตอนนี้ แล้วก็ได้ไปทำให้ห้องสมุดอื่นๆ ด้วย ห้องสมุดก็เป็นพื้นที่ที่มีข้อมูลเยอะ เราก็ต้องไปทำระบบจัดการ ระบบค้นหา และฟังก์ชั่นการใช้งานให้กับเขา
อย่างที่สองคือเราพยายามผลักดันให้สังคมนี้ใช้ข้อมูลกันมากขึ้น จริงๆ มันก็มีหลายอย่าง แต่ส่วนที่เราสนใจและสนุกกับมันเป็นพิเศษก็คือ Data Visualization กับ Data Journalism เพราะเป็นสิ่งที่เข้าถึงคนทั่วไปได้ พร้อมเสพ แล้วทีมของเราก็มีทั้งดีไซน์เนอร์และวิศวกร มันก็เลยสามารถทำได้เลย แรงบันดาลใจของเราคือ Interactive Media ของ New York Times เราก็อยากจะเห็นที่เมืองไทยบ้าง แต่เมืองไทยก็ยังต้องพิสูจน์ตัวเองกันอยู่
แล้วก็มีโครงการชื่อว่า CoST (Construction Sector Transparency Initiative) ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) คือเป็นการเปิดเผยข้อมูลโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ (เกินพันล้านบาท) เพื่อความโปร่งใสใของภาครัฐ สิ่งที่เราทำก็คือทำระบบให้สามารถเปิดเผยข้อมูลออกมาได้ ตอนนี้ก็มีเป็นพันโครงการก็ได้ที่เราทำให้ไป ก็หวังว่าจะมีการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมอีก
หรืออย่าง ‘ยุพิน’ (YouPin) ก็คือการทำให้พลเมืองมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงเมืองกับเรา ด้วยการแชร์ข้อมูล การให้ความเห็น เพื่อที่จะให้ฝั่งที่เป็นฝ่ายบริการสามารถมาแก้ไขปัญหาได้ เรามองว่าอันนี้เป็นสเต็ปแรกของการจะพูดเรื่อง Smart City ระบบนี้จะช่วยสร้างประชาชนให้มีความพร้อมด้วย เป็นตัวจุดประกายที่ทำให้เขาคิดว่าเขามีส่วนในการเปลี่ยนแปลง พูดใหญ่ๆ เราว่ามันเหมือนประชาธิปไตยเลยนะ เหมือนเราไม่เคยสัมผัสสิ่งนี้ แล้วเราก็มัวไปมองหาอะไรที่มันใหญ่เกินไป แต่ถ้าเราสามารถสัมผัสสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ได้ เราก็อาจจะบ่มเพาะประชาธิปไตยของเราขึ้นมาได้ ในแบบที่มันจับต้องได้จริงๆ
ก็ถ้าเรื่องของข้อมูล สิ่งที่ Boonmee Lab ทำก็ประมาณนี้ คือมีข้อมูล อยากจะเอาข้อมูลมาทำอะไรบางอย่าง เขาก็จะติดต่อมาที่เรา
ส่วนอย่างที่สามคือเราเป็นสตาร์ทอัพชื่อว่า Blue Basket ทำเป็น Market Place สำหรับสินค้าเพื่อสุขภาพและออร์แกนิก ความตั้งใจของเราก็คือว่า อีก 20-30 ปีข้างหน้า เราอยากจะมีตัวเลือกอื่น นอกจากการขับรถไปห้าง กินอาหารตามร้าน หรือเซเว่นหน้าปากซอย เราอยากมีของออร์แกนิกในราคาที่จับต้องได้ เราเริ่มจากออนไลน์และเดลิเวอรี่ก่อน ทำให้มันสะดวกที่สุด
The MATTER : ถ้าโฟกัสที่การทำงานกับข้อมูล เริ่มต้นโปรเจคนึงขึ้นมายังไง
คุณฐิติพงษ์ : อย่างล่าสุดแผนที่ 77 จังหวัด ก็เริ่มจากเห็นไวรัลบนเฟซบุ๊กที่ให้คนกดว่าไปเที่ยวที่ไหนมาบ้างในโลก ก็เลยอยากทำเมืองไทยบ้าง เราก็เลยเข้ามาสู่โหมดดีไซน์ ทำยังไงให้คนเห็นแผนที่ปุ๊ปแล้วรู้เลยว่าจะเล่นยังไง กดแชร์แล้วมันไปโผล่โซเชียลจะหน้าตาออกมายังไง คือเราต้องรู้ก่อนว่าเราอยากเก็บข้อมูลอะไร อย่างอันนี้เราอยากเก็บว่าหนึ่งคนไปจังหวัดไหนบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเตรียมรอไว้ก็คือ 77 จังหวัด IP แล้วก็เวลาที่เขาเล่น ประมาณนี้
จริงๆ มันแอบมีแมสเสจที่เราพยายามสื่อออกไป คือเราอยากจะบอกว่าต้องระวังนะ เรื่องการเล่นนู่นเล่นนี่แล้วมันมีการหลุดไหลไปของข้อมูลส่วนตัวของเรา ซึ่งคนไทยไม่ตระหนักเลย แต่เราทำตรงข้าม ไม่มีกด sign up ไม่มีอะไร เราประกาศก่อนด้วยซ้ำว่าเราเอาแค่นี้ เพื่อที่จะให้คนรู้ว่ามันมีโปรเจคอีกแบบนึงที่มันดูดข้อมูลของคุณ
ตอนปล่อย เราคาดว่ามันจะเป็นไวรัล เพราะฉะนั้นก็เตรียม Analytics ไว้เรียบร้อย ปล่อยออกไปประมาณ 4-5 วันก็ฮอตเลย มีคนเปิดมาที่หน้านี้ประมาณเกือบล้าน แล้วก็สร้างแผนที่เกือบ 400,000 แผนที่ภายในระยะเวลาสั้นๆ ตอนนี้เราก็กำลังจัดระเบียบข้อมูลกันอยู่ กำลังคิดกันอยู่ว่าเล่าเรื่องอะไรต่อดี เช่นคนกรุงเทพฯ ไปที่ไหนบ้าง หรือคนที่ไปกรุงเทพฯ ด้วยจะไปที่ไหน หรือจังหวัดไหนไม่มีคนไป เราเริ่มเห็นอะไรมากขึ้น แล้วเราก็จะเอามาทำงานต่อไป
อีกส่วนหนึ่งก็คือเมื่อข้อมูลเราเป็นระเบียบแล้วก็อาจจะเปิดให้ developer คนอื่นเอาไปเล่นด้วย เขาก็อาจมีไอเดียของเขา ล่าสุดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ก็ติดต่อเข้ามา
The MATTER : อะไรที่เป็นความท้าทายสำหรับการทำ Data Visualization
คุณฐิติพงษ์ : มันต้องทำให้เหมาะกับคนรับสาร เราอยากจัดเต็มเหมือนของ New York Times แต่ก็ต้องยั้ง เพราะเรารู้สึกว่า โห มันอาจจะเว่อร์วังไปหน่อย ลึกไปหน่อย ยากไปหน่อย เราก็ไม่ทำ เพราะเรารู้สึกว่าเราก็ต้องเอนเอียงไปกับความต้องการของคนที่นี่
แต่ต่อไปเรื่อยๆ เดี๋ยวมันน่าจะยากขึ้นได้ ลึกขึ้นได้ อย่างเช่น ถ้าเราจะเปิดข้อมูลบัญชีของประเทศไทย มันก็ไม่ใช่คนทั่วไปที่เข้ามาดู แต่จะเป็นคนที่ทำงานด้านเศรษฐศาสตร์หรือนักข่าว ซึ่งก็มีความพร้อมใจที่จะรู้เรื่องอะไรมากขึ้น เราก็สามารถทำให้มันลึกซึ้งขึ้นได้
The MATTER : จริงๆ แล้ว ข้อมูลต้นทางในเมืองไทยนั้นมีมากพอที่จะเอามาทำอะไรไหม
คุณฐิติพงษ์ : มันก็จะมีที่ไม่เก็บเลย หรือเก็บบนกระดาษ หรือเก็บบนอะไรที่ไม่เวิร์กกับการนำมาใช้ กับอีกแบบนึงคือมี แต่ไม่มีใจจะเปิดหรือเอามาใช้ ซึ่งอย่างหลังนี่ก็มากพอที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แล้ว เพียงแค่เอามาใช้หรือเชื่อมระหว่างองค์กรให้เปิดหากัน ตอนนี้เหมือนฉันมีของฉัน แต่ฉันไม่ให้คุณหรอก เพราะถ้าให้ไปแล้วไม่รู้จะได้อะไร ฉันต้องได้ผลตอบแทนในทันที นี่คือการมองแบบสั้นๆ ไม่เห็นมูลค่าของข้อมูล ข้อมูลมันจะต้องเปิดออกไป ทุกคนเปิด แล้วพอสภาพแวดล้อมมันพร้อม คุณจะได้รับประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่า
จริงๆ ก็พอเข้าใจได้ในประเทศเรา ที่ชอบมองอะไรสั้นๆ อย่างนี้อยู่แล้ว โปรเจ็คใหญ่ๆ ก็ไม่สามารถทำอะไรอลังการได้ เพราะเดี๋ยวอีกคนนึงมาก็จะไม่เอา ดังนั้นทำยังไงให้อย่างน้อยข้อมูลที่มีอยู่แล้วมันถูกเอามาใช้ จริงๆ แล้วสัญญาณในแง่บวกก็พอมีอยู่ อย่างหน่วยงานราชการที่มาติดต่อเราก็เพื่อที่จะทำยังไงกับข้อมูลที่มีได้ เพราะว่าตัวเขาเองอาจจะขาดความรู้และไม่สามารถดึงดูดบุคลากรเข้าไปทำงานได้
ส่วนที่เหลืออีกครึ่งนึง ที่เก็บเป็นกระดาษบ้าง เป็นข้อมูลไม่สะอาดบ้าง หรือเก็บหมดทุกสิ่งทุกอย่างจนไม่รู้เก็บทำไม ตรงนี้เราคิดกันว่า อาจจะยังไม่ถึงขั้นว่าต้องไปเรียนเขียนโค้ดหรือโปรแกรมมิ่ง แต่เราต้องผลักดันให้พวกเขาและสังคมมี Computational Thinking ก่อน มันจะสามารถทำให้ข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดดีขึ้นได้ในระยะยาว ทำให้เข้าใจก่อนว่าเครื่องจักรคิดยังไง เข้าใจบริการก่อนว่าบริการของตัวเองต้องการข้อมูลอะไร ในอนาคตจะได้ไม่ต้องให้ผู้ใช้กรอกฟอร์มยืดยาวทั้งที่ไม่จำเป็น
The MATTER : เราจะสามารถทำให้คนมี Computational Thinking ได้ยังไง
คุณฐิติพงษ์ : อันนี้ยังไม่รู้ว่าคนอื่นคิดยังไง แต่เรากำลังจะทำเอง หมายถึงเราก็จะสอนอะ ทำเวิร์กชอป ทำใส่ Youtube ไว้เลย ใครอยากเรียนรู้ก็ให้เขาไปนั่งดู เพราะทุกครั้งที่พูดถึงเรื่องข้อมูล ไม่ว่าจะเป็น Data Visualization หรืออะไรก็แล้วแต่ ความเหนื่อยไม่ได้อยู่ที่ตอนทำหรอก มันอยู่ที่ตอนไปเอามา แล้วก็มานั่งทำให้มันคลีน
The MATTER : ทำไมเราถึงควรทำ Data Visualization เพื่อเปิดเผยข้อมูล
คุณฐิติพงษ์ : เรามองว่าทุกคนควรจะเปิด มันจะทำให้ทุกคนแฮปปี้ในแบบยูโทเปีย เราก็ทำงานไปในส่วนของเรา ถ้าโปร่งใสก็ไม่ต้องกลัวว่าจะมีใครมาข่มเหงได้ ไม่มีใต้โต๊ะ เพราะว่ามีการเปิดเผยข้อมูล ต่อไปองค์กรต่างๆ ก็จะจับมือกัน ทั้งรัฐและเอกชน มีโปรโตคอลว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วจะได้ประกาศได้ว่าตัวเองโปร่งใส มาโปร่งใสพร้อมกันดีกว่า มันแฟร์ๆ แถมลดต้นทุนอีก ไม่ต้องมีไหลออกไป ก็ดีกว่าอยู่แล้ว เปิดหมดอ่ะ
The MATTER : แล้วคิดว่าเป็นไปได้ไหมที่ประเทศไทยจะเปิดข้อมูล Open Data 100%
คุณฐิติพงษ์ : เป็นไปได้สิ จริงๆแล้ว อยากให้เป็นนโยบายเลยด้วยซ้ำ ว่าคนต่อไปที่จะมารับงานต่อ ก็ควรจะเล็งเห็นสิ่งเหล่านี้ ทำเป็นนโยบายหลัก ไม่ว่าจะระดับผู้ว่าหรือนายก เพราะว่ามันช้าแล้ว เรื่อง Open Data เนี่ย มันไม่ควรมีคำถามแล้วว่าเปิดทำไม เปิดแล้วดียังไง มันต้องเป็นระดับผู้นำแล้วที่เห็นคุณค่าของสิ่งนี้ ถ้าเราจะมาบอกว่าให้กระทรวงนู้นเริ่มก่อน ให้กระทรวงนี้เริ่มก่อน แล้วถึงเวลาผู้นำไม่สนับสนุน ก็คงยาก
จริงๆ ก็มีสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (EGA) อยู่นะที่ผลักดันเรื่องนี้ แต่เขาไม่ได้มีอำนาจไปบังคับใคร เป็นไปในเชิงขอความร่วมมือและรณรงค์มากกว่า คือจะต้องเข้าใจด้วยนะว่าถ้าทำได้จริงๆ มันเอาไปใช้อะไรได้มากมาย แล้วถ้าเปิดก็ไม่ใช่แค่เปิดเฉยๆ นะ เปิดแล้วต้องร่วมมือกันด้วย มันต้องไปด้วยกัน
The MATTER : นอกจากเรื่องของความโปร่งใสแล้ว การเปิดเผยข้อมูลทำให้เกิดผลลัพธ์อะไรได้อีกบ้าง
คุณฐิติพงษ์ : จริงๆ เรื่องความโปร่งใสเป็นผลพลอยได้ของการเปิดเผยข้อมูลนะ มันไม่ควรคอรัปชั่นอยู่แล้วปะวะ ไม่ใช่ว่าจะต้องไปหาเครื่องมืออะไรมาทำให้ไม่คอรัปชั่น ถ้ามี Open Data และเกิดการร่วมมือกัน สิ่งหนึ่งที่อยากจะเสนอเลยก็คือว่ารัฐบาลควรจะเก็บข้อมูลและทำ API มันดีกว่าทำแอพพลิเคชั่น กระทรวงนั้นทำแอพฯ ใหม่ แล้วยังมีการทำแอพฯ ที่รวมแอพฯ ของรัฐอีก ซึ่งทำไปแล้วยังไง ทำๆ ไป ปีหน้าไม่ได้งบ ก็ไม่อัพเดท สิ่งที่รัฐบาลควรจะโฟกัสคือ Open Data และ API มากกว่า แล้วก็ปล่อยให้ประชาชนเข้าไปเก็บเกี่ยวหรือเรียนรู้กันเอาเอง
ทำไมมันยังไม่มีข้อมูลแบบเรียลไทม์สำหรับ BTS MRT ขสมก หรือเวลามีเหตุฉุกเฉิน ถ้าเปิด ทุกคนก็หยิบมาใช้ได้ อย่างเช่นเวลามีอีเวนท์ สตาร์ทอัพที่จัดอีเวนท์ก็หยิบข้อมูลการเดินทางมาใช้ได้ มันจะเป็นไปโดยธรรมชาติ เพราะว่าทุกคนก็อยากจะทำให้โปรดักต์ตัวเองดีขึ้นอยู่แล้ว แต่ตอนนี้คือรัฐไม่ปล่อย เพราะอาจจะรู้สึกว่าตัวเองเสียอะไรไปบางอย่าง แต่ถ้ามองว่าต่างคนต่างได้ บวกกับสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีได้ ก็น่าจะทำ คือถ้าเป็นองค์กรที่แข่งขันกันโดยตรงแล้วไม่เปิดข้อมูลให้กัน ก็เข้าใจได้ มันเป็นธุรกิจ แต่นี่เป็นรัฐบาลอ่ะ เป็นองค์กรที่เราทำงานดูแลผลประโยชน์ของทุกคน ไปคิดเล็กคิดน้อยอะไรอย่างงั้น
The MATTER : ทำงานสายนี้สนุกยังไง
คุณฐิติพงษ์ : มันก็สนุกหลายด้าน เหมือนสิ่งที่ทำอยู่ตอนนี้มันสามารถทำให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นได้หลายอย่าง ถ้าทำแล้วสำเร็จ มันก็ค่อนข้างมีผลต่อเนื่อง และต่อยอดไปในเรื่องอื่นๆ ได้ แล้วก็ได้ใช้ความสามารถค่อนข้างเต็มที่ ได้ใช้ความคิด ต้องวางแผนอะไรเยอะ
The MATTER : สมมติถ้าให้ทำโปรเจคเกี่ยวกับข้อมูลสักอย่าง อยากทำอะไร
คุณฐิติพงษ์ : อยากทำ API ถ้าเป็นของประเทศได้ก็ดี ประเทศเราจะพลิกโฉมไปอีกแบบนึงเลย จะได้พูดได้เต็มปากว่าไทยแลนด์ 4.0 อธิบายง่ายๆ Application Program Interface (API) ก็คือการเชื่อมต่อกันระหว่างเครื่องจักรกับเครื่องจักร (machine to machine) โดยที่เราไม่ต้องไปแทรกแซง ไม่ต้องใช้คนกด OK กด Submit มีการถ่ายเทข้อมูลกันแบบเรียลไทม์และอนุญาติกันเอง
สมมติสองสำนักข่าวจะแชร์ข้อมูลกัน ก็แยกกันหาข่าวแล้วโพสต์ขึ้นมา อีกฝั่งก็จะดึงมาโดยอัตโนมัติ แต่ก่อนต้องมานั่งส่งอีเมลให้กัน ต้องมาจัดสรรก่อนโพสต์ลงอีก แต่แบบนี้ใช้เวลาแค่เสี้ยววินาที ซึ่งนี่คือโลกในปัจจุบันที่มันควรจะเป็น นี่คือตัวอย่างในการคุยกันของเครื่องจักร
ถามว่ามันมีประสิทธิภาพยังไง ก็ถ้าคุณไม่ต้องใช้แรงงานคนตรงนี้ คุณก็ได้ไปโฟกัสเรื่องอื่นแทน อันนี้มันทำงานโดยตัวของมันได้ ถ้าประเทศมี API รัฐก็ทำงานของคุณไป ปล่อยให้ข้อมูลเหล่านี้มันอัพเดทของมันเอง คนก็หยิบมาใช้เองได้ แค่คุณอนุญาตใครให้ใช้อะไรบ้าง มันดีมากๆ เลย
มันจะเป็นอะไรที่จับต้องได้ เป็น 4.0 จริงๆ ที่ไม่ใช่จัดแฟร์ จัดเสวนา หรือว่าจัดทอล์ก เอาแค่เทคโนโลยีเบสิกก็พอ คือขอให้คุณเปิดข้อมูลมาให้ประชาชนรับรู้ก็พอแล้ว มันไม่ใช่เรื่องล้ำสมัยด้วยนะ เราแค่ล้าหลังเท่านั้นเอง
Interview by Teepagorn Wuttipitayamongkol & Thanisara Ruangdej
Photo by Nantanat Thamthonsiri
อ่านบทความอื่นๆ ในซีรีส์ ‘Data for Future’
หากอยากทำอาชีพที่เซ็กซี่ที่สุดในศตวรรษ คุณมีนัดที่ Data Café
https://thematter.co/pulse/datacafe/30854
เรากำลังก้าวสู่โลกใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วย AI และข้อมูล
https://thematter.co/byte/dataforfuture/33082