ไม่มีใคร ‘ฉลาด’ เมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤต มีแต่ใครจะ ‘โง่’ เร็วกว่ากันเท่านั้นเอง เพราะสมองคุณทำงานช้าลงเมื่อเจอสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่จะทำอย่างไร คุณถึงจะพร้อมรับมือกับเรื่องคาดไม่ถึงในชีวิต
เราเชื่อว่าคุณคงเคยเห็นใครสักคนทำอะไรที่ไม่สมควรทำเมื่อพวกเขาตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ผมเคยเห็นคนจ้องมองดูบ้านตัวเองไฟไหม้ไปเฉยๆ ต่อหน้าโดยไม่มีแรงกระดิก เพื่อนกำลังขับรถกลับบ้านแต่ทันทีที่รู้ข่าวว่าแม่เสียชีวิต ก็ดันเหยียบคันเร่งแทนเบรกจนชนเข้ากับตอม่อทางด่วนเลียบเกษตร-นวมินทร์ ลุงที่เป็นญาติห่างๆ ของผมที่ปัตตานีเคยถูกกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบดักยิงขณะออกไปทำสวนลองกอง ด้วยกระสุน 9 มม. 3 นัดเข้ากลางลำตัว แต่ลุงยังเดินหารองเท้าแตะของตัวเองอีกข้างอยู่ 10 นาทีกว่าจะคิดได้ว่าต้องไปโรงพยาบาล
ด้วยพื้นเพผมเป็นคน 3 จังหวัดชายแดนใต้ พวกเรามักรับรู้เสมอว่า หากได้ยินเสียง ‘ตูม’ ครั้งที่ 1 มันจะมีครั้งที่ 2 ตามมาในบริเวณไล่เลี่ยกัน จะไม่มีใครวิ่งทะเล่อทะล่าเข้าไปช่วยคนเจ็บโดยทันที คล้ายกับกรณีนักข่าวสงครามที่ต้องประจำแถวฉนวนกาซ่าที่มีหลักปฏิบัติอันห้ามหลงลืมเป็นอันขาด หากพวกเขาได้ยินเสียงจรวดระเบิดขึ้นกึกก้องคราใด จรวดอีกลูกจะตามมาซ้ำที่จุดเดิมอีกครั้งเป็นการ Kill Confirmed เป้าหมายให้ราบคาบ
ด้วยความที่พี่น้องชาวใต้ต้องอาศัยอยู่ในสถานการณ์อันพลิกผันอยู่ตลอดเวลา แต่ดูเหมือนพวกเขาจะรับมือมันได้ดีกว่าชาวกรุงเทพฯ เป็นไหนๆ พรุ่งนี้เช้าก็พร้อมเริ่มวิถีชีวิตปกติอีกครั้ง จนน่าตั้งคำถามว่า เมื่อมนุษย์เผชิญวิกฤต สมองของเรารับมืออย่างไร ในขณะที่อีกคนกลับมาใช้ชีวิตของตัวเองได้เร็ว แต่อีกหลายคนกลับทุกข์ทรมาน หรือแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่าง ‘ผิดจุด’ จนชีวิตของตัวเองมอดม้วยด้วยปัจจัยที่น่าจะหลีกเลี่ยงได้ง่ายๆ
ไม่มีใคร ‘ฉลาด’ เมื่อเผชิญหน้ากับวิกฤต มีแต่ใครจะ ‘โง่’ เร็วกว่ากันเท่านั้นเอง
เรามักทำอะไรผิดแปลกไปจากสิ่งที่ควรทำ ณ ขณะที่ความเป็นความตายมาประจันหน้า งานศึกษาทางจิตวิทยาหลายชิ้นล้วนมุ่งตรงไปว่า เมื่อเราตกอยู่ภายใต้ความเครียด ชีวิตแขวนอยู่บนเส้นด้าย หรือดันไปรับรู้สิ่งที่กระทบกระเทือนใจอย่างรุนแรง เรามักลืมสิ่งที่ต้องทำในทันที หรือแม้คุณจะจำได้ว่าฉันต้องทำอะไร แต่ร่างกายกลับไม่สามารถทำได้อย่างที่ต้องการ จึงเป็นเหตุผลที่หลายคนถูกไฟคลอกตายในกองเพลิง หรือยอมจมลงไปกับเรือเฟอร์รี่อย่างช้าๆ โดยไม่หาทางช่วยเหลือตัวเอง
การโทรเรียกตำรวจหรือกู้ภัยด้วยเบอร์เลขสามตัว ก็ยังยากที่จะพิมพ์ให้ถูก จำหมายเลขสลับกันอย่างสับสน จนเผลอไปเรียกพิซซ่าแทนที่จะเรียกรถพยาบาล (มีจริงๆ ทำเป็นเล่นไป) นักกระโดดร่มชูชีพกว่า 11% ตกมากระแทกพื้นตาย เพราะเพียงลืมที่จะกระตุกร่มสำรองอันที่สอง
ผมเคยติดตามผลงานเขียนของ นักนิติจิตเวชศาสตร์ Charles Morgan จากมหาวิทยาลัย New Haven ผู้ศึกษา Posttraumatic stress disorder หรือโรคความเครียดที่เกิดจากหลังเหตุการณ์สะเทือนใจ เขาตั้งคำถามคล้ายๆ พวกเราว่า อะไรทำให้สมองคุณรับมือเรื่องเลวร้ายได้ดีกว่าคนอื่นๆ และเหตุใดที่สมองสูญเสียศักยภาพในการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล คำถามนี้จุดติดขึ้นในหน่วยกู้ภัย Emergency Services ทั่วโลกเพื่อเข้าช่วยเหลือคนที่ ‘สติแตก’ ท่ามกลางความเป็นความตาย หรือในแวดวงทหารที่ต้องประจำในพื้นที่ขัดแย้งเป็นเวลานาน หน่วยรักษาความปลอดภัยที่ต้องรับมือการถูกลักพาตัว ตกอยู่ในสถานการณ์เปิดฉากยิงของคนคลั่งไร้สติ หรือกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบทำลายเพื่อหวังผล
อย่างน้อยการเข้าใจกลไกของสมองมนุษย์ก็อาจเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ หรือช่วยให้คุณรู้สึกสามารถควบคุมตนเองได้ในวันที่ย่ำแย่ที่สุด
ดังนั้นทุกบริษัทส่วนใหญ่จึงมีการฝึกรับมือหายนะ อย่างน้อยที่สุดคือ ‘ซ้อมหนีไฟ’ ซึ่งเป็นพื้นฐานสุดๆ (หลายคนก็ยังทำเป็นเล่น หรือได้โอกาสอู้) และอาจรวมไปถึงฝึกรับมือภัยก่อการร้ายในสำนักงาน เช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และแคนาดา ที่ให้ลูกจ้างทุกคนเข้าหลักสูตร ‘HEAT’ (hostile environment awareness training) หรือหลักสูตรอบรมตอบสนองรับรู้ต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เป็นมิตร ก่อนที่จะส่งพวกเขาไปปฏิบัติการในพื้นที่เสี่ยงของสำนักข่าว CNN , Al Jazeera
หรือนั่นหมายความว่า แท้จริงแล้ว สมองฝึกได้เพื่อรับหายนะได้
นักจิตวิทยาล้วนมั่นใจว่า การฝึกฝนนั้น ‘เวิร์ก’ เพราะการที่ผู้คนตอบสนองต่อสถานการณ์ใดๆ มักอยู่บนรากฐานของความรู้ที่พวกเขามีก่อนหน้า เพราะเมื่อหายนะเล่นงานคุณฉับพลัน สมองจะไม่สามารถอยู่ในสภาวะที่คิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล มันใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้นที่อะดรีนาลีนจะหลั่งเข้าสู่กระแสเลือด ผลักดันให้หัวใจคุณเต้นเร็วจาก 70 ครั้งต่อนาทีไปถึง 200 ครั้งต่อนาที ระบบประสาทส่วนกลางของร่างกายจะปล่อยฮอร์โมนแห่งความเครียด Cortisol กระตุ้นให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น จนปิดระบบส่วนอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต่อการรอดชีวิต เช่น ระบบย่อยอาหาร คุณจึงไม่รู้สึกหิวหรืออยากอาหาร
กระบวนการนี้พัฒนาสู่กลไก ‘สู้หรือถอยหนี’ fight or flight mechanism เตรียมพร้อมให้ร่างกายเข้าสู่โหมดเร่งด่วน ปิดกลไกสมองในการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ หรือพูดง่ายๆ คุณจะพร้อม ‘บู๊’ มากกว่าจะ ‘บุ๋น’
แต่มันก็ยังมีกรณีของผู้คนอีกมากที่ทำไม่ได้ทั้งสองอย่าง ทั้งไม่สู้และไม่ถอยหนี พวกเขานิ่งงัน แข็งทื่อเป็นรูปปั้น ไม่สามารถสั่งการร่างกายใดๆ ได้ และมีสถิติว่า ผู้คนกว่า 75 % เกิดอาการ Cognitive paralysis เมื่อตกอยู่ในความเสี่ยง
สมองของเราล้วนสร้าง ‘โมเดล’ จำลองโลกที่คุ้นเคยขึ้นมา ซึ่งส่วนใหญ่มันค่อนข้างตรงไปตรงมา แต่เมื่อเผชิญหน้า ‘ความไม่ปกติ’ สมองจึงไม่สามารถหาโมเดลที่เคยเข้าใจได้ คุณรู้ว่าต้องขับรถกลับบ้านอย่างไร ด้วยเส้นทางที่ใช้ทุกวันจนขึ้นใจเป็นอัตโนมัติ แต่เมื่อเผลอไปชนรถกระบะเจ้าอารมณ์คันข้างหน้าเข้า ความเคยชินบนเส้นทางคุณถูกทำลายลงโดยทันที
ในแง่การทดลองปรากฏการณ์นี้ในห้องแล็บภายใต้ปัจจัยควบคุม ยังเป็นไปได้ยาก เพราะการทำให้อาสาสมัครรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยเป็นกระบวนวิจัยที่ผิดจริยธรรมไม่น้อย (แต่ที่ผ่านมา เราก็มีงานวิจัยอีกเพียบที่ทำลายเส้นบางๆ ของจริยธรรมดังกล่าว เช่นการทดลองอันฉาวโฉ่ของ ‘มิลแกรม’ เรื่องการเชื่อฟัง (Obedience) ที่เอาอาสาสมัครมาช็อตไฟฟ้า) และมีอีกหลายเรื่องที่ผมเขียนรวบรวมไว้แล้วใน Stranger Research : งานทดลอง ‘หมิ่นศีลธรรม’ ที่สร้างความก้าวหน้าให้วิทยาศาสตร์ ดังนั้นการศึกษาในรูปแบบงานวิจัย มักเป็นการสัมภาษณ์ทหารอาชีพที่สู้รบในพื้นที่เสี่ยงภัยตลอดเวลา ช่วยยืนยันว่า สถานการณ์อันตึงเครียดสุดขั้ว สร้างผลกระทบต่อการแสดงออกของพวกเราอย่างน่าทึ่ง
คำแนะนำสั้นๆ จาก HEAT Training ที่อาจช่วยให้คุณรอด
- เมื่อต้องเข้าไปในตึกที่ไม่คุ้นเคย หาป้ายสัญลักษณ์หนีไฟและประตูฉุกเฉินเป็นอันดับแรกให้ขึ้นใจ เพราะเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน สมองคุณจะประมวลผลช้าและสับสนจนไม่รู้ว่าจะต้องวิ่งไปที่ไหน
- ฟังการบรรยายหรือสาธิตความปลอดภัยทุกครั้งที่ขึ้นเครื่องบินหรือเรือโดยสาร อ่านซ้ำๆ แม้จะจำได้แล้วจนเข้าหัว ส่วนใหญ่คุณจะชะงักจนเรียงลำดับไม่ถูก
- ทุกครั้งที่นั่งแท็กซี่ หาที่นั่งปลอดภัยที่สุด คือเบาะหลังคนขับ หากเกิดอุบัติเหตุคนขับมักหลีกเลี่ยงฝั่งตัวเองก่อนเสมอโดยหักหลบฝั่งคนขับ หรือหากคนขับมีพฤติกรรมคุกคามคุณ ก็จะยากที่จะเอื้อมมือมาเล่นงานคุณ
- ห้องพักในโรงแรมที่ปลอดภัยต่อเหตุยิงกัน คือห้องชั้น 2 ที่อยู่ใกล้บันไดหนีไฟ จากสถิติการก่อการร้ายที่ผ่านมา ผู้ก่อการมักเล่นงานคนที่พักในชั้น 1 ก่อน แล้วข้ามไปยังชั้น 3
- เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน อย่ารอให้ใครออกคำสั่ง คนส่วนใหญ่เลือกจะไม่ทำอะไรเลย
- ถ้าได้ยินสัญญาณเตือนไฟไหม้ แม้ว่าคุณจะไม่รู้ว่าเกิดเพลิงไหม้ ณ จุดไหน จงออกมาจากตึกก่อนเลย ถึงคุณจะดูเด๋อก็ตาม
- หากมีใครพยายามจู่โจมหรือลักพาตัวคุณกลางถนน ให้ตะโกนว่า ‘ระเบิด’ หรือ ‘มีปืน’ แล้ววิ่งเข้าฝูงชน คนที่ไม่หวังดีต่อคุณไม่ชอบความประเจิดประเจ้อ
- เมื่อคุณถูกจับเป็นตัวประกัน อย่าพยายามขัดขืนคำสั่งคนที่ลักพาตัวหรือด่าทอสร้างปัญหา เก็บแรงไว้ เมื่อพวกเขาให้ข้าวให้น้ำ ก็รับมากินโดยดุษณี เพราะผู้ไม่หวังดีมักเล่นงานคนที่ชอบก่อปัญหาด้วยความรุนแรง
- เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เปิดฉากยิงท่ามกลางฝูงชน ให้ ‘ก้มต่ำลง วิ่งให้เร็ว’
คนที่เคยมีประสบการณ์ระทึกขวัญ หรือได้รับการอบรมมามีแนวโน้มจัดการตัวเองให้สมองจัดการได้ดีกว่า ตอบโต้ได้ทันที มองเห็นภัยที่ใหญ่กว่าและสังเกตความอันตรายได้เร็ว ในขณะคนที่ตื่นตระหนกมักถูกกลืนกินด้วยความคิดย้อนแย้งไม่เป็นระบบ เพราะเชื่อว่า “ฉันกำลังจะตาย ฉันกำลังจะตาย” เมื่อคุณไม่พร้อมที่จะช่วยเหลือตัวเอง มันก็ยากที่จะยื่นมือไปช่วยเหลือคนอื่น
อย่างไรก็ตาม แม้ทหารที่เชี่ยวสงครามที่สุดก็ยังตกอยู่ในความตื่นตระหนก จึงมีความพยายามที่จะพัฒนายาที่จำลองกลไกต้านทานความตื่นตระหนกนี้ขึ้นใช้ภายในกองทัพ แต่กาลเวลาผ่านไปก็ยังไม่มีอะไรดีเท่าการ ‘ฝึก’ เพราะการอยู่ท่ามกลางคนที่ Keep Cool ท่ามกลางวิกฤตได้ ก็สร้างความเชื่อมั่นให้กับคุณเช่นกัน และส่งอานิสงส์ให้คุณเตรียมพร้อมเสมอ
จากเหตุวางระเบิดที่ห้าง Big C ปัตตานี เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 อันเป็นห้างใหญ่ของจังหวัด เสมือนเป็นแหล่งจับจ่ายสำคัญจนมีผู้บาดเจ็บจำนวนมากถึง 30 ราย คนส่วนใหญ่มักช็อกกับหายนะ เปลี่ยนเป็นแรงแค้นเจ็บปวดแสนสาหัส สาปแช่งผู้ลงมือ แต่ทีมแพทย์และหน่วยกู้ภัยในทั้งปัตตานีและพื้นที่ใกล้เคียง ล้วนปฏิบัติงานด้วยสมาธิ และแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย
เพราะเมื่ออยู่ภายใต้หายนะบ่อยครั้ง คุณจะรู้ว่าควรทำอะไรเพื่อคนอื่น เมื่อตัวเองปลอดภัยแล้ว
อ้างอิงข้อมูลจาก
Charles A Morgan III, M.D., M.A
What Makes Special Operations Forces Special? Clues from Psychobiological Studies of Elite Military”
Post-Traumatic Stress Disorder
Hostile Environment Awareness Training (HEAT)