คุณยังตื่นเต้นกับข่าวเหล่านี้อยู่แค่ไหน?
จีนเปิดตัวผู้ประกาศข่าว AI คนแรกของโลก
โรงแรมไร้พนักงาน มีแต่หุ่นยนต์ให้บริการ
ธนาคารกลางออกสกุลเงินดิจิทัลให้ประชาชนใช้
หลายคนอาจจะคุ้นชินกับโลกที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับชีวิตเราไปแล้ว และสิ่งหนึ่งที่พูดกันเสมอๆ คือเรื่องของ ‘ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21’ ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อปรับตัวในปัจจุบันและเตรียมตัวสำหรับอนาคต โดยหนึ่งในสกิลยอดฮิตติดชาร์ตคือ ‘Coding’ หรือการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ที่หลายประเทศ จัดการบรรจุเข้าไปในหลักสูตรโรงเรียนแล้ว
แม้จะพอเข้าใจได้ถึงเหตุผลของการที่ Coding นั้นเป็นทักษะสำคัญสำหรับยุคที่อะไรๆ ก็ผูกพันกับความเป็น ‘ดิจิทัล’ แต่ก็ยังมีอีกหลายคำถามที่ตามมาว่าจริงๆ แล้ว เด็กควรเริ่มเรียนตอนไหน? เรียนไปแล้วจะได้เปรียบคนอื่นอย่างไร? พ่อแม่หรือครูที่ก็ไม่ได้มีทักษะด้านนี้ จะสอนหรือช่วยเหลือเด็กอย่างไรได้บ้าง? และในอนาคต เมื่อโครงสร้างการทำงานเปลี่ยนแปลงไป มีโอกาสไหมที่โปรแกรมเมอร์จะกลายเป็นชนชั้นแรงงาน?
ด้วยข้อข้องใจทั้งหมดนี้ The MATTER จึงได้สนทนากับ ‘Pat Yongpradit’ Chief Academic Officer จาก code.org แพลตฟอร์มที่สอนการเขียนโปรแกรมออนไลน์ รวมถึงผลักดันเชิงนโยบายด้านการศึกษา และออกแบบโครงสร้าง โดยทำงานร่วมกับรัฐและองค์กรเอกชน ทั้งในสหรัฐฯ และในประเทศต่างๆ (รวมถึงประเทศไทยด้วย) เพื่อสนับสนุนการเรียน Computer Science ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน
และนี่คือคำตอบของคำถามเกี่ยวกับทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 อย่าง ‘Coding’
การเรียนการสอน Coding ตามโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทย ตอนนี้เป็นอย่างไรบ้าง
Computer Science เป็นอะไรที่ยังใหม่มากสำหรับประเทศไทย รัฐบาลเพิ่งบรรจุวิชานี้ลงไปในหลักสูตรเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ก็เลยเพิ่งเริ่มเรียนกัน ปกติเด็กๆ เรียนรู้การใช้โปรแกรมพื้นฐานอย่างพวก Microsoft Office อยู่แล้ว แต่พวกเขาไม่เคยเรียนวิธีสร้างแอปพลิเคชั่น วิธีสร้างเกม หรือวิธีทำงานกับหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการทำงานในอนาคต
ผมคิดว่าที่วิชานี้เพิ่งมี ไม่ใช่เพราะเด็กๆ ไม่อยากเรียน แต่ครูไม่รู้จะสอนอย่างไรมากกว่า ดังนั้นรัฐควรโฟกัสที่การฝึกฝนครู เพื่อที่ครูจะได้สอนเด็กๆ ได้
ครูทั่วไปที่ไม่มีทักษะด้านการเขียนโปรแกรม จะสอนเด็กๆ ได้อย่างไร
จากประสบการณ์ของ code.org ที่ฝึกครูมากว่า 80,000 คน ตลอดเวลา 5 ปี พวกเขาก็ไม่เคยมีทักษะด้านนี้มาก่อน แต่สิ่งสำคัญคือครูต้องมี Mindset ที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับการเรียนการสอน ต้องไม่ใช้วิธีคิดแบบเดิมที่ครูมีความรู้ ส่งต่อความรู้นั้นให้เด็ก เด็กก็จดโน้ต ท่องจำ และนำมาทำข้อสอบ แต่ครูต้องเปลี่ยนเป็นผู้ที่คอยอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และยินดีที่จะเรียนรู้ไปพร้อมกับเด็กๆ ต้องปลูกฝังให้ตัวเองและเด็กมี ‘Growth Mindset’ พร้อมจะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ให้ได้ ต้องใช้วิธีนี้ เพราะไม่อย่างนั้นก็ต้องใช้เวลานานมากในการฝึกฝนครูให้มีทักษะด้าน Coding เพียงพอที่จะมาสอนเด็กได้
ผู้ปกครองจะช่วยเหลือครูหรือเด็กๆ ได้อย่างไร
พ่อแม่ต้องเรียนรู้และเข้าใจก่อนว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 มีอะไรบ้าง เพื่อที่จะสนับสนุนลูกได้ถูก อย่างทักษะการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) ทักษะการแก้ปัญหา (Problem Solving) รวมถึงทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์ (Computer Science) ที่มากไปกว่าการพิมพ์และการใช้อินเทอร์เน็ต เพราะคอมพิวเตอร์ได้เปลี่ยนวิธีทำงานของคนยุคนี้และยุคหน้าไปแล้ว ไม่ว่าคุณจะทำงานอะไรก็ตาม
คิดง่ายๆ ก็อย่างการที่คุณไม่ได้อ่านบทสัมภาษณ์นี้บนในหน้ากระดาษ แต่เป็นบนหน้าจอ นักข่าวคนไหนที่รู้จักวิธีใช้คอมพิวเตอร์ที่มากไปกว่าการพิมพ์ตัวอักษร หรือเข้าใจธรรมชาติของอินเทอร์เน็ต รู้วิธีการหาข้อมูล ดึงข้อมูล ก็จะทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า และในอีก 5-10 ปีข้างหน้า ก็จะยิ่งมี ‘Digital Jobs’ ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยทักษะในการใช้คอมพิวเตอร์แน่นอน
เมื่อพูดถึงเรื่องงาน ก็จะมีประเด็นที่พูดกันว่า ‘หุ่นยนต์จะมาแย่งงานคน’ สำหรับโปรแกรมเมอร์หรือคนเขียนโปรแกรม จะต้องเผชิญกับการถูกหุ่นยนต์มาแทนที่ไหม ในเมื่อ AI ก็สามารถเขียนโปรแกรมได้แล้ว
ผมมองว่านั่นเป็นความเข้าใจผิด ยังไงมนุษย์เรายังเป็นคนเขียนโปรแกรมเพื่อสร้าง AI ขึ้นมาอยู่ดี รวมถึงเป็นคนซ่อมเมื่อมีปัญหาด้วย อย่างรถยนต์ที่เห็นได้ชัดว่ามีเทคโนโลยีที่ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ แต่เวลาพัง ก็ยังซ่อมแซมตัวเองไม่ได้ ก็ยังต้องอาศัยมนุษย์ช่วยซ่อมอยู่ดี จริงๆ การมีหุ่นยนต์ก็แค่ทำให้เราเปลี่ยนวิธีการทำงานไป อาจจะต้องใช้ทักษะการเขียนโปรแกรมที่สูงขึ้น แล้วนั่นก็เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราควรจะเรียนเขียนโปรแกรมตั้งแต่เด็กๆ
ในอนาคต เมื่อโครงสร้างการทำงานเปลี่ยนแปลงไป มีโอกาสไหมที่โปรแกรมเมอร์จะกลายเป็นชนชั้นแรงงาน (Blue-Collar Workers)
ก็เป็นไปได้ แต่การเรียนเขียนโปรแกรม ก็ไม่ได้หมายถึงว่าเด็กๆ ต้องโตไปเป็นโปรแกรมเมอร์เสมอไป เพราะทักษะนี้จะกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหลายๆ สายงาน เช่นต่อให้ทำงานในสวนในไร่ ที่ต่อไปจะเป็น Smart Farm มากขึ้น ใช้เครื่องจักรทุ่นแรงมากขึ้น นั่นหมายถึงฟาร์มนั้นต้องการคนที่มีความรู้ด้านเทคนิค คนที่รู้ว่าจะจัดการกับข้อมูลอย่างไร ตั้งค่าอย่างไร เขียนโปรแกรมอย่างไร ที่จะทำให้การจัดการไร่สวนนั้นมีประสิทธิภาพขึ้น ได้ผลผลิตมากขึ้น การเขียนโปรแกรมก็จะทำให้คุณมีโอกาสได้งานเพิ่มมากขึ้น
นอกจากการเขียนโปรแกรมเพื่อสั่งงานเครื่องจักรได้แล้ว การเรียน Coding ยังให้ประโยชน์อะไรอีก
สิ่งที่ได้คือวิธีคิดแบบ ‘Computational Thinking’ เป็นการคิดที่มีระบบ เป็นสัดส่วน แล้วก็ช่วยให้เราหาวิธีทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ มันช่วยในเรื่องการทำงานเป็นทีม เพราะเมื่อเราคิดเป็นระบบแบบแบ่งส่วนที่เชื่อมโยงถึงกัน ก็จะทำให้เราจัดการงาน มอบหมายงาน และประสานงานกันได้ดีขึ้น
นอกจากนี้ก็ยังช่วยเพิ่มทักษะการแก้ปัญหา เพราะวิธีคิดแบบโปรแกรมเมอร์คือการคิดจากสถานการณ์ในชีวิตจริง แล้วแปลงมันให้เป็นภาษาที่คอมพิวเตอร์เข้าใจได้ วิธีคิดแบบนี้ช่วยให้เวลาเราเจอปัญหา เราก็จะแตกมันออกมาเป็นส่วนๆ แล้วค่อยๆ หาสาเหตุและวิธีแก้ไขไปในแต่ละส่วน
จริงๆ ก็คล้ายเวลาเราเรียนชีววิทยา ในเมื่อเรามีร่างกาย เราเลยต้องเรียนรู้เกี่ยวกับมัน เพื่อที่จะเข้าใจมัน รวมถึงเข้าใจโลกที่ประกอบขึ้นจากสิ่งมีชีวิต และเมื่อโลกกลายเป็นโลกดิจิทัล เราใช้อินเทอร์เน็ตแทบจะตลอดเวลา ในมือถือสมาร์ทโฟนแทบจะตลอดเวลา แต่ว่าเราไม่ได้เข้าใจวิธีการทำงานของมันจริงๆ ขณะที่โลกกลายเป็นดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็แทบไม่มีเหตุผลเลยที่เราจะไม่เรียนรู้โลกที่เราอยู่
เด็กอายุเท่าไหร่ที่ควรจะเริ่มเรียน Coding
จริงๆ เริ่มได้ตั้งแต่ 5 ขวบ เด็กขนาดนั้นอาจจะยังไม่รู้จักวิธีใช้คอมพิวเตอร์ก็จริง แต่ก็มีวิธีการสอนที่ออกแบบมาให้เขาเรียนรู้เรื่องของการจัดการคำสั่งเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการได้ แล้วก็ปรับไปตามแต่ละช่วงอายุ
ทำไม code.org เลือกใช้เกมเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้
เกมทำให้เด็กมีแรงจูงใจมากขึ้น ปกติเด็กๆ เรียน เพราะจำเป็น ‘ต้อง’ เรียน ต้องเอาความรู้นั้นไปสอบ แต่เราอยากสร้างการเรียนรู้ที่เด็ก ‘อยาก’ เรียน เพราะมันสนุก แล้วผลลัพธ์ที่ออกมาก็คูล อย่างแอพฯ หรือเกม ที่สร้างขึ้นมาเอง เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเรียนลงลึกไปในรายละเอียด
นโยบายด้านการศึกษาแบบไหน ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ด้าน Computer Science ในโรงเรียน
อย่างแรกเลย ก็คือการบรรจุให้ Computer Science เป็นวิชาบังคับในหลักสูตรของโรงเรียน ซึ่งประเทศไทยก็ได้เริ่มทำไปแล้ว และเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก ต่อจากนั้นก็ต้องไม่ลืมที่จะให้การสนับสนุนทุนสำหรับฝึกหัดครู ซึ่งตอนนี้สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ทำอยู่ คงต้องใช้เวลา 4-5 ปี แต่มันก็คุ้มค่ากับการลงทุน
ถึงตอนนี้ความรู้ด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของไทยจะด้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค แต่ผมเชื่อว่า จากประเทศที่เด็กๆ ไม่รู้จัก Computer Science เลย แล้วมีนโยบายวิชาบังคับ บวกกับทุนสนับสนุนครู จะทำให้ประเทศไทยไม่แค่ตามประเทศอื่นทันเท่านั้น แต่จะแซงหน้าประเทศอื่นได้ด้วย เพราะ Computer Science ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศส่วนใหญ่ในโลก ใครเริ่มก่อนก็ได้เปรียบ
ในโลกที่เทคโนโลยีพัฒนาแบบก้าวกระโดด ข้อมูลเปลี่ยนแปลงเร็วมาก หลายครั้งที่ความรู้หรือทักษะที่เรียนในโรงเรียนปีนี้ จบออกไปอาจจะใช้ไม่ได้แล้ว เราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร
ในโรงเรียน เราเรียนรู้ทักษะพื้นฐาน คำว่าพื้นฐานนั้นไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา แต่วิธีการใช้งานต่างหากที่เปลี่ยน สิ่งที่เราเรียนไม่ควรเป็นความรู้ แต่เป็นทักษะการปรับใช้งาน เป็นคอนเซ็ปต์ เพื่อที่ว่าเวลาเปลี่ยนไปแค่ไหน หรือเปลี่ยนสายงาน ก็ยังเอาไปใช้ได้ ต่อให้เจอของใหม่ที่ไม่รู้จัก แต่ถ้าเรามีวิธีคิดอยู่ ก็รู้ว่าจะทำให้มันทำงานได้อย่างไร
ในฐานะที่เป็นครูด้วย คิดว่า AI จะมาแทนที่ครูได้ไหม
ผมเป็นครูมา 13 ปี ผมนี่รอให้ AI มาตรวจข้อสอบให้เลยนะ (หัวเราะ) ความจริงคือ AI ไม่ได้มาแทนที่ครูแต่มาช่วยเหลือครูมากกว่า ทำให้คนไม่ว่าจะอาชีพไหน ทำงานได้ดีขึ้น
อย่างการเป็นนักข่าว ถ้า AI สามารถวิเคราะห์ให้ได้ว่า พาดหัวข่าวแบบไหนที่จะดึงดูดความสนใจคนได้มากที่สุด หรือวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อดูว่าวางโครงเรื่องแบบไหนสื่อสารได้ดีที่สุด ก็จะดีกับอาชีพเราจริงไหม แต่สิ่งที่เราต้องทำคือเพิ่มเติมสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ แล้วผลิตงานเหล่านั้นออกมา AI ก็ไม่ได้มาแทนที่เรา แต่ช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น อาจจะผลิตงานได้เพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่า
แล้วห้องเรียนยังจำเป็นไหม ในเมื่อคนเรียนออนไลน์ได้หมดแล้ว
ผมคิดว่าไม่จำเป็น เรียนออนไลน์ก็ได้ แล้วการมีอินเทอร์เน็ตก็ยังช่วยให้เรายกเลิกระบบการเรียนแบบท่องจำได้ด้วย อยากรู้อะไรเราก็เสิร์ชเอา ไม่ต้องท่องแล้ว การเรียนการสอนก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบไป Computer Science ก็เป็นศาสตร์ที่เหมาะกับยุคสมัย คือไม่ต้องอาศัยการท่องจำ แค่เรียนรู้คอนเซ็ปต์ วิธีคิด แล้วก็สร้างอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาจากสิ่งเหล่านั้น การเรียนการสอนก็ควรเน้นไปที่การใช้งานเช่นกัน
ในอนาคต 5-10 ปี คาดหวังจะเห็นอะไรในโรงเรียน
ผมหวังจะเห็นเด็กๆ สร้างสิ่งต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ่นยนต์ แอพฯ หรือเกม ที่สามารถแก้ปัญหาในชีวิตจริงได้ เราเรียนการบวกลบคูณหาร เรียนวิธีแก้สมการ แต่มันไม่ได้ถูกนำไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราเท่าไหร่ เราเรียนไปเพื่อสอบ แต่ไม่ได้เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงอะไร จะดีกว่าไหมถ้าเด็กๆ เรียนรู้การสร้างแอพฯ ที่ช่วยให้พ่อแม่ขายของได้มากขึ้น
ในอนาคต 5-10 ปี ถึงตอนนั้น ผมหวังว่าเด็กๆ ควรจะทำอะไรได้มากกว่าเขียนโปรแกรม แต่สามารถใช้มันในชีวิตจริงได้แล้ว
Photos by Watcharapol Saisongkroh