เมื่อการกินกลายเป็นความป่วยไข้ กับความเชื่อ 5 ข้อที่คุณอาจเข้าใจผิด
พอพูดถึงการกิน ใครๆ ก็อยากสำราญกับอาหารรสเลิศ แต่สำหรับหลายๆ คน การกินกลับเป็นความป่วยไข้ที่หนักหนาสาหัสทีเดียว ในสังคมเรามีประชากรอย่างน้อย 0.6% ประสบปัญหาจากโรคการกินผิดปกติ (Eating Disorders) ซึ่งพวกเขาพยายามหลีกเลี่ยงการกินอาหาร แม้ร่างกายจะโหยหาพลังงานอย่างทุรนทุรายก็ตาม ความปรารถนารูปร่างผอมและความรู้สึกผิดต่ออาหาร กลายเป็นเสียงที่ขัดแย้งในจิตใจ คนส่วนหนึ่งจึงมีอาการกลัวความอ้วนหรือที่เรียกว่า ‘อนอเร็กเซีย’ (Anorexia) และอาการ ‘บูลิเมีย’ (Bulimia) โดยการล้วงคอหรือใช้ยาถ่ายเพื่อขับไล่อาหารออกจากร่างกาย
โรคการกินผิดปกติเป็นอาการทางจิตที่มีแนวโน้มเสียชีวิตมากที่สุด แม้จะมีใครต่อใครพยายามเตือนถึงปัญหานี้ แต่ยังคงมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Anorexia และ Bulimia อยู่ดี
The MATTER จึงขอพาไปสำรวจกันหน่อยเนอะว่าความเข้าใจผิด 5 ประการนั้นคืออะไรบ้าง เผื่อเราจะแฮปปี้กับการกินได้อย่างเข้าอกเข้าใจกว่าเดิม
Myth#1 โรคแบบนี้มีแค่ ‘ผู้หญิง’ เท่านั้นล่ะที่เป็น
ไม่จริงเสมอไปหรอก แม้โรคการกินผิดปกติจะพบมากในผู้หญิง แต่ก็มีผู้ชายจำนวนไม่น้อยเลยที่มีอาการกลัวความอ้วนจนพัฒนากลายเป็นโรค จากสถิติมีผู้หญิงอย่างน้อย 0.9% และผู้ชาย 0.3% เคยมีประสบการณ์โรค Anorexia หลีกเลี่ยงการกินหรืออดอาหาร และมีสัดส่วน ผู้หญิง 1.5 % ผู้ชาย 0.5 % ที่เคยพยายามล้วงคอหลังการกินจากอาการ Bulimia ด้วยเช่นกัน (และมีแนวโน้มที่จะป่วยทั้ง 2 อาการพร้อมๆ กันด้วยซ้ำไป)
ดังนั้น โรคการกินผิดปกติแบบนี้ ผู้ชายเองก็เป็นได้นะ
Myth#2 มีแค่โรค Anorexia เท่านั้นล่ะที่เสี่ยงตาย
โรคการกินผิดปกติเป็นความป่วยทางจิตที่ทำให้เสียชีวิตได้ ไม่เพียงจากการขาดสารอาหารเท่านั้น แต่มันนำไปสู่การใช้ยาผิดวัตถุประสงค์และการฆ่าตัวตายจากภาวะซึมเศร้าอีกด้วย
ในปี 2009 จิตแพทย์จากมหาวิทยาลัย Minnesota และทีมวิจัยทำการวิเคราะห์ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากโรคการกินผิดปกติจำนวน 1,885 ราย ที่มีอายุต่ำกว่า 25 ปี พบคนที่เป็นโรค Anorexia และ Bulimia มีอัตราการเสียชีวิตพอๆ กันอยู่ที่ 4%
แม้บางข้อมูลจะบอกว่าคนเป็นโรค Anorexia มีอัตราเสียชีวิตมากกว่าอยู่หน่อยๆ แต่ก็ไม่ได้ห่างกันมาก
Myth#3 ‘ล้วงคอให้อ้วก’ เป็นวิธีดีที่สุดในการลดน้ำหนัก
ความรู้สึกผิดต่อการกินอาหาร เพราะคิดว่าคือต้นตอของแคลอรี่จำนวนมาก คนที่มีอาการ Bulimia จึงหาทางออกด้วยการล้วงคอให้อาเจียนหรือใช้ยาถ่ายเพื่อให้อาหารออกมา เพียงเพราะเชื่อว่าจะขับแคลอรี่ออกจากร่างกายได้ ล้วนเป็นความเชื่อที่คลาดเคลื่อนทั้งนั้น
การใช้ยาถ่ายหรือยาขับปัสสาวะ แค่ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำ อย่างมากสุดก็เอาแคลอรี่ออกจากร่างกายได้เพียง 10% จากอาหารที่กินเข้าไป การอาเจียน (Vomiting) ก็ไม่ได้ผลเช่นกัน การล้วงคอให้อ้วกเมื่อร่างกายดูดซึมอาหารไปแล้วกว่า 50 – 70% นอกจากจะไม่ทำให้น้ำหนักลดแล้วยังทำให้ร่างกายขาดน้ำ เกลือแร่ในร่างกายไม่สมดุล ไปจนถึงหลอดอาหารหรือเยื่อบุลำคอฉีกขาดจากน้ำย่อยที่กัดกร่อนจนถึงขั้นเสียชีวิต
การอาเจียนไม่ใช่ทางออกซะหน่อยเนอะ
Myth#4 ‘น้ำหนัก’ คือสัญญาณเดียวที่บอกว่าเป็นบูลิเมีย
ผู้ป่วยบูลิเมีย มักอยากกินอาหารในทันทีแบบที่บังคับตัวเองไม่ได้ ทำให้กินมากเกินไป แล้วจึงกินยาถ่ายหรือล้วงคอให้อาเจียนออกมา ซึ่งผู้ป่วยมักไม่แสดงออกจากรูปร่างหรือน้ำหนัก แม้คนใกล้ตัวในครอบครัวเองก็ไม่รู้ความแตกต่าง แต่สัญญาณที่ชี้ชัดที่สุดคือ อาการแก้มบวม สาเหตุจากต่อมน้ำลายอักเสบ หรือแผลในกระพุ้งแก้มจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร
แต่ตรงกันข้ามกับ ‘Anorexia’ ที่ผู้ป่วยมักมีร่างกายผ่ายผอมชัดเจน กระดูกนูนเป็นสัน หากน้ำหนักร่างกายลดลงกว่าปกติ 20 – 30% จะยิ่งเห็นชัดว่าเป็น Anorexia
Myth#5 โรคการกินผิดปกติ หายขาดได้ยาก?
มีงานศึกษาหลายชิ้นระบุว่าการบำบัดโดยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมที่ไม่สมเหตุสมผล หรือที่เรียกว่า Cognitive-behavioral therapy (CBT) ในผู้ป่วยบูลิเมียมีแนวโน้มประสบความสำเร็จมากกว่าเทคนิคอื่นๆ โดยจิตแพทย์จะเริ่มปรับทัศนคติของผู้ป่วย ว่าเรื่องการอ้วกไม่ได้ผลในการลดน้ำหนัก เปลี่ยนความคิดผิดๆ เกี่ยวกับการมองตัวเอง และให้ผู้ป่วยยับยั้งความคิดชั่วแล่นที่พยายามล้วงคอหลังกินอาหาร
งานศึกษาของมหาวิทยาลัย Stanford School of Medicine ทำการศึกษาผู้ป่วยบูลิเมีย 220 ราย โดยการเข้าคอร์สบำบัด แบบ CBT เมื่อเทียบกับการบำบัดความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (Interpersonal psychotherapy ) หรือ IPT (โดยปกติ IPT เหมาะกับโรคซึมเศร้าที่มีปัญหาการเข้าสังคม) คอร์สบำบัดมี 19 session ซึ่งผู้ป่วยบูลีเมียที่ผ่าน CBT มีแนวโน้มหายพฤติกรรม 29 % เมื่อเทียบกับ IPT ที่ 6 % และหลังจากนั้น 1 ปี ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดถึง 40% เลยทีเดียว
หมายความว่า การบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม CBT มีแนวโน้มประสบความสำเร็จสูงในกรณีบูลิเมีย
แต่สำหรับกรณี Anorexia กลับยากกว่า
เพราะผู้ป่วยมักมีร่างกายผอมแห้งขาดสารอาหาร และร่อแร่กว่าจะถึงมือแพทย์ถึง 85% จากผู้ป่วยทั้งหมด ทำให้ภารกิจแรกๆ ของหมอต้องฟื้นฟูสุขภาพร่างกายก่อนและต้องให้คำปรึกษาทางโภชนาการ (Nutrition Counseling) กับการบำบัดรูปแบบอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยจะไม่มีทัศนคติการกินแย่ๆ อีก Anorexia จึงยังเป็นโรคที่ท้าทายสำหรับวงการแพทย์อยู่ ดังนั้นการเข้าใจเรื่องสัดส่วนโดยไม่พยายามบังคับร่างกายดูจะแก้ไขง่ายกว่าการรักษา
การกินอาหารอย่างมีความสุขเป็นเรื่องน่าอิจฉา แต่การทำความเข้าใจธรรมชาติของโรคกินผิดปกติก็ทำให้เราไม่เสี่ยงต่อความคิดที่ลบๆ ที่ก่อตัวจนมองอาหารเป็นความเกลียดชัง จงกินอาหารให้อร่อยและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทำให้คุณจัดการกับความอ้วนได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า
พร้อมจะออกไปหาอะไรอร่อยๆ หรือยังล่ะ
ว่าแต่มื้อนี้ใครจ่ายเอ่ย?
อ้างอิงข้อมูลจาก
Cognitive Behavior Therapy in the posthospitalization treatment of anorexia nervosa
The Oxford handbook of eating disorders. W.Stewart Agras.Oxford University Press,2010