ธรรมชาติของมนุษย์นั้น เป็นสิ่งมีชีวิตที่ดีงามหรือชั่วร้ายกันแน่?
นี่เป็นคำถามสั้นๆ ง่ายๆ แต่กลับหาคำตอบได้ยากยิ่ง สร้างความเห็นอันแตกต่างตั้งแต่รุ่งอรุณของปรัชญาอุบัติขึ้นบนโลก มนุษย์นั่งขบคิดถึงธรรมชาติของตัวเองมานานนับแสนปี แต่ขึ้นอยู่กับนักคิดแต่ละคนจะหยิบจับอะไรมาวัด นักคิดอย่าง ฌ็อง-ฌาก รุสโซ (Jean-Jacques Rousseau) เชื่อว่า มนุษย์นั้นเป็นเผ่าพันธุ์ที่รักสงบ ไขว่คว้าความดีงาม แต่ถูกผลักให้ชั่วร้ายจากโครงสร้างทางสังคมที่บีบคั้น ในขณะที่นักคิดอีกท่าน โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) กลับเห็นต่างอย่างสิ้นเชิง เขาเชื่อว่า มนุษย์นั้นเลวร้ายโดยธรรมชาติ ทำให้เราต้องแก่งแย่งช่วงชิง แต่ศีลธรรมและความศิวิไลซ์เกิดขึ้นได้จากโครงสร้างทางสังคมที่ขัดเกลา
เอาจริงๆ ถ้าคุณฟังสองคนนี้เถียงกัน คุณก็อาจจะเห็นด้วยกับแนวคิดของทั้งคู่ แล้วการถกเถียงก็คงจะไม่มีวันจบสิ้นต่อให้เดือนและดาวบนฟ้าดับแสงไปแล้ว

Chimera
‘รักสันติโดยธรรมชาติ’ หรือ ‘โหยหาความรุนแรงโดยธรรมชาติ’
นิสัยทั้งสองแบบนี้เหมือนแม่น้ำสองสายที่ไหลสวนทางไม่เคยบรรจบกัน แต่ไหลเชี่ยวกรากไปด้วยกันทั้งคู่ ทำให้เกิด Paradox ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้อย่างยอดเยี่ยม ชาวกรีกเองก็มีมุมมองเปรียบเทียบมนุษย์ที่น่าสนใจ พวกเขาคิดว่าธรรมชาติของมนุษย์นั้นเปรียบเสมือน ‘คิมีร่า’ (Chimera) อสูรพิลึกพิลั่นในตำนานกรีก ที่มีตัวเป็นแพะ หัวเป็นสิงห์ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งแพะหรือทั้งสิงห์ แต่เป็นองค์ประกอบผสมผสานกลายเป็นหนึ่งเดียว บางครั้งเรารักสงบดุจแพะ บางครั้งเราก็แยกเขี้ยวดุดันราวราชสีห์
หากเผ่าพันธุ์มนุษย์มีลักษณะร่วมเป็นส่วนผสมของทั้ง 2 ขั้ว ยิ่งกรุยทางไปสู่คำถามที่ลึกซึ้งขึ้นไปอีกว่า อะไรคือวิวัฒนาการที่ทำให้เราครอบครองความดีงามและความชั่วร้ายในเวลาเดียวกัน Homo sapiens ผู้เป็นสิ่งมีชีวิตอันพิสดารทางศีลธรรมเหมือนกับอสูร Chimera แล้วการศึกษาด้านวิวัฒนาการมนุษย์บอกใบ้อะไรเราได้บ้าง?
ความก้าวร้าวของมนุษย์
กระบวนการตั้งคำถามและศึกษาความก้าวร้าวของมนุษย์ (aggression) ในมิติทางชีววิทยา เพิ่งเริ่มมาได้ไม่นานนัก คือในช่วงปี 1960 ให้หลังเท่านั้นเอง ความก้าวร้าวนั้นหมายถึงพฤติกรรมที่คุกคามทางร่างกายหรือทางจิตใจ ซึ่งในมิติวิวัฒนาการแบ่งความก้าวร้าวออกเป็น 2 ประเภท คือ Proactive (เชิงรุก) และ Reactive (เชิงรับ) หรือบางสำนักก็เรียกว่า Offensive และ Defensive โดยใช้เกณฑ์ที่ว่า สัตว์มีพฤติกรรมแสดงออกถึงความก้าวร้าวในแต่ละกิจกรรมอย่างไร ซึ่งทั้ง 2 ประเภทนี้มีความสัมพันธ์กันยิ่งยวด ยกตัวอย่างเช่น ลิงชิมแปนซีที่มีพฤติกรรมแสดงออกถึงความก้าวร้าวเชิงรุกในการฆ่าผู้บุกรุก ในขณะที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวเชิงรับในการควบคุมสมาชิกในฝูง
คล้ายๆ หมาป่า (wolf) ที่ใช้พฤติกรรมก้าวร้าวเชิงรับเพื่อควบคุมอำนาจสมาชิกในฝูง จนบ่อยครั้งมีรายงานว่า หมาป่าจะกัดกันเองจนตาย แม้จะเป็นครอกเดียวกันก็ตาม พฤติกรรมควบคุมกันเองเหล่านี้ นักพฤติกรรมสัตว์เรียกว่า self-domestication หรือ ‘กลไกทำให้เชื่องจากภายในฝูง’
แต่กลไกทำให้เชื่องนี้ ปรากฏในมนุษย์ด้วยไหม?
งานศึกษาในช่วงหลังๆ พบว่า Domestication Syndrome ปรากฏตั้งแต่มนุษย์โฮมินิดส์ (Hominids) กลุ่มแรกๆ จนถึงมนุษย์ยุคปัจจุบัน พวกเรามีใบหน้าเล็กลง ฟันเล็กลง ไม่มีสันขอบคิ้วหนา และมีขนาดสมองที่เล็กกว่าญาตินีแอนเดอทัล (Neanderthal) และอีกหนึ่งพฤติกรรมที่นักชีววิทยาสนใจกันมาก คือการเรียนรู้ในช่วงวัยเด็กของมนุษย์ที่อาศัยการเรียนรู้ผ่านสมาชิกในฝูงนั้น มีช่วงเวลาเตาะแตะนานขึ้นกว่าสัตว์ป่าทั่วไป มนุษย์จะติดแจกับแม่และเล่นกับเพื่อนๆ รวมถึงต้องได้รับการประคบประหงมดูแลใกล้ชิด ผิดกับสัตว์ป่าที่พร้อมเรียนรู้และต่อสู้โดยลำพังตั้งแต่เด็ก ระยะเวลาในช่วงเยาว์วัยของมนุษย์จึงยืดยาวขึ้น พวกเราจำเป็นต้องพึ่งพาผู้อื่นเพื่อให้มีโอกาสรอดชีวิต ดังนั้นเราจึงค่อยๆ พัฒนาลักษณะนิสัยที่ดึงดูดผู้อื่นเพื่อใช้ชีวิตร่วมกัน
กลไกทางสังคมของมนุษย์เริ่มเปลี่ยนแปลงแบบชัดๆ ราว 300,000 ปีก่อน เมื่อมนุษย์สามารถคิดค้น ‘ภาษา’ เพื่อเป็นสื่อกลางในการสื่อสารได้ ทำให้เริ่มเกิดการรวมกลุ่มของสมาชิกเพื่อโค่นล้มอำนาจ alpha males ที่แต่ก่อนพวกผู้นำแบบ alpha males สามารถควบคุม ยึดครองอำนาจได้อย่างเบ็ดเสร็จ (แต่โดดเดียว) ซึ่งหลังๆ การเป็น alpha males ที่ไร้พันธมิตรเลยก็ไม่ใช่เครื่องการันตีที่มั่นคงแล้ว
น่าสนใจที่โครงสร้างทางภาษาและการสื่อสาร ช่วยทำให้กลุ่มด้อยอำนาจที่เคยเรียกว่า ‘underdogs’ ทั้งหลาย รวมพลังเพื่อสู้และสามารถวางแผน มีปากมีเสียงต่อกรกับพลังที่ใหญ่กว่าพวกเขาได้ จึงมีทฤษฏีที่ว่า พันธุกรรมที่เชื่อมโยงกับความก้าวร้าวเชิงรับ (Reactive Aggression) ของมนุษย์จึงค่อยๆ ถูกลดทอนความสำคัญลงเรื่อยๆ เพราะไม่จำเป็นที่สัตว์ตัวเดียวจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จเหนือฝูงอีกแล้ว alpha males จึงลดความดุดัน ก้าวร้าวลงเรื่อยๆ เป็นการจำยอมต่อกฎของฝูง ซึ่งพัฒนามาเป็น ‘กฎเกณฑ์ทางสังคม’ นั่นเอง
การลงโทษกันเองในฝูงพัฒนามาเป็นการลงโทษทางสังคม ซึ่งเป็น self-domestication รูปแบบหนึ่งที่ขัดเกลามนุษย์ให้ค่อยๆ ก่อเกิดสำนึกทางศีลธรรม (Moral Sense) เราจะเห็นได้ว่า มนุษย์นั้นมีทั้งกลุ่มที่ไม่พึงปฏิบัติตามครรลองของสังคมอยู่ด้วยเสมอ เปรียบเสมือนตัวเองเป็นนักผจญภัยที่แหกกรอบทางสังคม ชื่นชอบการปะทะทางอำนาจ ไม่ยินดีที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่สังคมต้องการ
ส่วนมนุษย์อีกจำพวก คือผู้ที่ยินดีอยู่ภายใต้กรอบทางสังคมเพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่เรียบง่าย สร้างความขัดแย้งให้น้อยที่สุดตลอดช่วงชีวิต โดยหลีกเลี่ยงการแข่งขัน และไม่แสดงออกถึงพฤติกรรมเห็นแก่ตัว เน้นทำประโยชน์ให้สังคมส่วนใหญ่
แต่หากถามว่า เมื่อมนุษย์อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ทางสังคมแล้ว ความก้าวร้าวนั้นจะถูกแสดงออกไปทางไหน จากการต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์นี้เองที่ความก้าวราวถูกทำให้อยู่ใน ‘พื้นที่สาธารณะ’ เช่น มนุษย์มีการสร้างประชามติเพื่อลงมือประหาร หาความชอบธรรมในการปราบอริศัตรูทางสังคม ทำลายคนที่มาสั่นคลอนธรรมเนียมปฏิบัติทางศีลธรรม
ดังนั้นมนุษย์จึงพยายามสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงภายใต้กฎระเบียบทางสังคม ในลักษณะ ‘การปราบมาร’ ซึ่งปรากฏในทุกวัฒนธรรมของโลก ผ่านตำนานเรื่องเหล่า โดย ‘เทพ เทวดา’ เป็นตัวแทนของความดีงาม ในขณะ ‘ปีศาจ อสูร’ เป็นตัวแทนของความชั่วร้าย ภาพการปราบมารของศาสนาต่างๆ จึงแสดงให้เห็นว่า มนุษย์มีความชอบธรรมในการกำจัดสิ่งชั่วร้าย แม้จะต้องเป็นฝ่ายทำสิ่งชั่วร้าย(อย่างการฆ่า)เสียเองก็ตาม
คุณจะเห็นภาพแนว ‘Angelic Killing’ มากมายในช่วงยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา(Renaissance) ภาพนามธรรมเหล่านี้เป็นกลไกทางวิวัฒนาการอันแยบคายและละเอียดอ่อนยิ่งกว่าโครงสร้างทางภาษา เพราะเราจะไม่บอกให้ ‘คุณไปฆ่าเขา’ แบบตรงๆ เหมือนในอดีต แต่มีความซับซ้อนมากขึ้นโดยการมอบความชั่วร้ายให้กับตัวเขา โน้มน้าวให้มีการปราบความชั่วร้ายโดยใช้เครื่องมือที่ชอบธรรมของสังคม

St. Michael Vanquishing Satan : Raphael
ความก้าวร้าวของมนุษย์จึงไม่ได้หายไปไหนในกรอบวิวัฒนาการ แต่ถูกควบคุมจัดการให้ซับซ้อนมากขึ้น แต่ความดีงามเองก็เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน และช่วยดึงดูดผู้คนให้มีชีวิตเพื่อประโยชน์สุขของผู้อื่น
มนุษย์ Homo sapiens จึงเป็นอัตลักษณ์บูดๆ เบี้ยวๆ แบบอสูรคิมีร่า (Chimera) ที่ตัวเป็นแพะ หัวเป็นสิงห์ พอถึงคราวดีก็ดีใจหาย แต่พอจะทำชั่วขึ้นมาก็ยากจะหยุดยั้ง ดังนั้นเราจำเป็นต้องตรวจสอบอยู่ตลอดเวลาว่า สังคมที่พวกเราอาศัยอยู่นี้กำลังจัดการกับความชั่วร้ายด้วยกระบวนการใด พวกเรายินดีกับการป้ายสี สร้างความเป็นมารร้ายให้กับคนที่เราเกลียดชังเพื่อให้เราได้รับอำนาจการทำลายอย่างชอบธรรมหรือไม่
อ้างอิงข้อมูลจาก
- The ‘Domestication Syndrome’ in Mammals: A Unified Explanation Based on Neural Crest Cell Behavior and Genetics Adam S. Wilkins, Richard W. Wrangham and W. Tecumseh Fitch GENETICS July 1, 2014 vol. 197 no. 3
- Comparative Genomic Evidence for Self-Domestication in Homo sapiens.
The self-domestication hypothesis: evolution of bonobo psychology is due to selection against aggression. Animal Behaviour. Vol. 83, 2012, p. 573.
- Two types of aggression in human evolution