นิยามของความตายถูกขยับไปเรื่อยๆ ตามวิวัฒนาการทางเทคโนโลยีที่รุดหน้า หากเซลล์สมองสามารถกู้ได้ ความตายจะมีความหมายอย่างไรต่อไปในอนาคต
เคยนอนคิดถึงความตายไหม?
ทุกการเริ่มต้นล้วนถึงจุดสิ้นสุด ชีวิตของคุณและผมเช่นกัน แม้พวกเราจะประคบประหงมชีวิตมากแค่ไหน จะขยันหรือขี้เกียจ จะรวยอู่ฟู่หรือจนกินแกลบ ก็ล้วนถึงวันตายของตัวเอง ความตายจึงเสมือนเงาที่อุบัติขึ้นพร้อมๆ กับวินาทีแห่งการมีชีวิต เมื่ออีกด้านถือกำหนดขึ้น ปลายอีกด้านคือจุดจบที่รออยู่
บางช่วงขณะของชีวิตพวกเราก็แทบไม่เคยนึกถึงความตายเลยสักนิด แต่แล้วความหวาดกลัวก็จู่โจมเราขณะที่กำลังพยายามข่มตานอนหลับ คุณนอนก่ายหน้าผากคิดถึงความตายในรูปแบบต่างๆ เราสามารถตายได้แบบไหนกัน มันจะทรมานเหนือจินตนาการ หรือสุขสบายเหมือนอย่างที่ได้นอนแผ่หลา ณ ขณะนี้หรือไม่
ทันใดนั้นก็เผลอฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า “สักวันเราต้องตายหรือนี่”
ใช่ พวกเราต้องตาย แต่แค่เมื่อไหร่เท่านั้นเอง…
การคิดถึง จิตนาการ (และหวาดกลัว) ความตายไม่ใช่เรื่องผิดแปลก นี่อาจเป็นกลไกของวิวัฒนาการมนุษย์ที่ผลักให้เราสร้างกลยุทธ์ดำรงชีวิตเพื่อหลีกหนีจากมัน และเตรียมตัวอะไรสักอย่างก่อนที่ความตายมาเยือน ซึ่งความวิตกกังวลต่อความตายอาจเป็นมรดกทางวิวัฒนาการอย่างน้อยก็อาจ 10 ล้านปีที่ติดตัวเราจนถึงทุกวันนี้
นิยามของความตายในมิติของวิทยาศาสตร์นั้นไม่เคยหยุดนิ่ง ถูกปรับเปลี่ยนลื่นไหลตลอดเวลาตามความก้าวหน้าของวิทยาการ ในอดีตการนิยามความตายนั้นไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อนอะไรเลย คือถ้าคุณไม่หายใจและหัวใจหยุดเต้นไปหลายนาที นั่นก็หมายความว่า คุณได้ตายไปแล้ว ก็เตรียมหาวิธีจัดการศพได้เลยตามความเชื่อทางศาสนานั้นๆ
แต่เมื่อเข้าสู่ยุคศตวรรษที่ 20 นิยามความตายเริ่มเปลี่ยนไป เมื่อวิทยาการสามารถสร้างเครื่องช่วยหายใจ (ventilators) ได้สำเร็จเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยให้ผู้ที่ไม่สามารถหายใจได้เองมีโอกาสได้หายใจอีกครั้ง และการพัฒนาเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (cardiac pacemakers) ติดเข้าไปในช่องอก แก้ไขจังหวะการเต้นของหัวใจ ซึ่งหากเทียบกับอดีต ถ้าคุณหายใจไม่ได้และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ก็เท่ากับแง้มประตูสู่ความตายไปแล้วหลายคืบ ดังนั้นในช่วงกลางๆ ของศตวรรษที่ 20 นิยามของความตายในมิติทางวิทยาศาสตร์จึงเริ่มเปลี่ยนไป ถ้าคุณไม่หายใจ หัวใจไม่เต้น ก็ยังไม่นับว่าตาย 100% ยังมีโอกาสที่แพทย์จะช่วยกู้ชีพได้
เมื่อหัวใจกับการหายใจยังไม่ใช่ปัจจัยที่วัดความตายได้ดีที่สุด ในปี ค.ศ. 1968 จึงมีการหานิยามความตายใหม่โดยกลุ่มแพทย์จาก Harvard Medical School ที่ขยับนิยามของความตายเป็น irreversible coma หรืออาการโคม่าที่ไม่สามารถฟื้นคืนได้ เมื่อสมองไม่ทำงานแล้ว การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ได้รับการเห็นชอบด้วยกฎหมายในปี ค.ศ. 1981 เรียกว่า uniform determination of death act โดยบัญญัติว่า หากระบบไหลเวียนโลหิตและระบบทางเดินหายใจหยุดชะงัก ส่งผลต่อการทำงานของสมองจนหยุดทำงาน ให้ถือว่า “ผู้นั้นได้ตายแล้วตามกฎหมาย”
ซึ่งหลายประเทศในโลกก็ยึดกับกฎหมายนี้เช่นกัน เห็นได้ว่านิยามของความตายเปลี่ยนจากอวัยวะที่อยู่ทรวงอก อย่างหัวใจและปอด เปลี่ยนมาพิจารณาที่สมองแทน
ดังนั้นกฎหมายนี้ยังส่งอิทธิพลต่อการตีความอื่นๆ ได้อีก อาทิ การทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ว่าช่วงไหนของตัวอ่อนมนุษย์ที่สามารถเรียกว่าเป็น ‘สิ่งมีชีวิต’ ได้นั้น สมองต้องมีพัฒนาการอยู่ช่วงไหนที่จะเรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิต
แต่การนิยามว่า ‘สมองตาย’ (brain death) ในเชิงปฏิบัติก็ไม่ง่ายที่จะตีความอีกเช่นกัน ยังมีการถกเถียงไม่รู้จบอีก เพราะประเด็นที่ว่า แม้บุคคลนั้นจะเรียกได้ว่าสมองตายแล้ว แต่บุคคลนั้นยังคงมีชีวิตอยู่ได้ด้วยอุปกรณ์ช่วยเหลือ อาจอยู่ได้เป็นวันหรือนานเป็นสัปดาห์ที่ล้วนสร้างความหวังให้กับญาติๆ ที่จะอยู่หน้า ICU ว่าอาจมี ‘ปาฏิหาริย์’ ใดๆที่ทำให้บุคคลนั้นฟื้นขึ้นมาอีกครั้ง เนื่องจากร่างกายของบุคคลนั้นอาจขยับจากการหายใจ เนื้อตัวยังคงอุ่น ผิวยังดูเปล่งเหมือนมีชีวิต ทำให้หลายๆ คนเชื่อว่ายังมีชีวิตอยู่ แม้แพทย์จะยืนยันว่าสมองตายแล้วก็ตาม และร่างกายจะไม่ตอบสนองหากกถอดอุปกรณ์ช่วยเหลือ
ช่วงที่คนนั้นๆ มีสถานะกึ่งมีชีวิตกึ่งตาย (quasi-living) เช่นนี้ เป็นวินาทีสำคัญสำหรับการบริจาคอวัยวะ ซึ่งอวัยวะอื่นๆ นอกเหนือจากสมอง ยังสามารถใช้การได้หากอนุญาตให้มีการบริจาค เช่น หัวใจ ตับ ปอด ไต ซึ่งแพทย์ต้องการมากเพื่อนำไปให้ผู้ป่วยคนอื่นๆ และอวัยวะเหล่านี้ก็มีไม่เพียงพอ
อย่างไรก็ตาม แม้สมองได้ตายแล้ว บุคคลนั้นก็อาจจะยังมีเล็บที่งอกยาวอยู่ ยังสามารถมีประจำเดือนได้ และภูมิคุ้มกันในร่างกายยังคงต่อสู้กับการรุกรานจากภายนอก มีเรื่องน่าสนใจกรณีแม่ตั้งครรภ์ที่ระบุว่ามีภาวะสมองตายแล้วกว่า 30 ราย ยังสามารถอุ้มท้องทารกได้โดยใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ ทำให้ทารกยังคงเติบโตในครรภ์ได้นานเป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน (มีสถิตินานที่สุดคือ 107 วัน) และทารกสามารถคลอดได้อย่างปลอดภัย
นี่ยิ่งทำให้ความตายกลับซับซ้อนขึ้นอีก! เพราะแม้คุณจะตายไปแล้ว แต่ยังให้กำเนิดชีวิตได้อยู่
และจะเกิดอะไรขึ้นอีกหากเราโกงความตายได้อีกครั้ง จากเคยนิยามว่าสมองตาย แต่ความก้าวหน้าทางวิทยาการฟื้นสมองให้กลับมาได้อีก จะยิ่งทำให้การนิยามยุ่งยากขึ้นไปอีกก็ได้
ไม่นานมานี้ทีมวิจัยจาก Yale School of Medicine นำโดย Nenad Sestan ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาสาขาเวชศาสตร์ ได้นำสมองของหมู (pig) ที่ถูกฆ่าเป็นร้อยๆ ตัวจาก คณะ Department of Agriculture นำมาทดลอง ซึ่งสร้างความฮือฮาและได้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อทีมวิจัยนำสมองหมูออกมาจากกะโหลก เชื่อมต่อสมองเข้ากับหลอดเลือดใหญ่ที่คอและเครื่องจำลองการเต้นหัวใจ โดยเลียนแบบการไหลเวียนโลหิตของสิ่งมีชีวิต
ทีมวิจัยได้พัฒนาเลือดจำลองโดยมีคุณสมบัตินำพาออกซิเจนและผสมสารบางชนิดที่ป้องกันไม่ให้เซลล์สมองเสื่อมสภาพ จากคอนเซปต์ที่ว่าสมองจะตายเมื่อไม่ได้รับออกซิเจนและเลือดไปเลี้ยงหลายนาที แต่ทีมวิจัยท้าทายธรรมชาตินี้ได้ โดยทำให้สมองหมูยังคงสภาพได้นานถึง 4 ชั่วโมง โดยทีมวิจัยเรียกเทคนิคนี้ว่า restoration of brain circulation and cellular functions hours post-mortem
แต่อย่างไรก็ตามแม้จะสมองจะยังไม่เสื่อมสภาพจากเทคนิคนี้ แต่ยังคงมีช่องโหว่อยู่ เพราะหากทำการตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalography) หรือ EEG โดยติดขั้วอิเล็กโทรดไปยังสมองหมู ก็พบว่าไม่มีกิจกรรมทางประสาทอะไรเกิดขึ้นในสมอง ไม่มีสัญญาณไฟฟ้าใดๆ อันแสดงถึงการตระหนักรู้ (consciousness) เป็นสมองที่เงียบงัน
แต่ทีมวิจัยชี้แจงว่า กิจกรรมทางสมองที่ไม่เกิดขึ้น อาจมาจากสารเคมีจำลองคล้ายเลือดนั้น ไปหยุดยั้งการสื่อสารของเซลล์ประสาท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นไปไม่ได้เลย หากในไม่ช้าทีมวิจัยสามารถพัฒนาสารที่กระตุ้นการสื่อสารของเซลล์ประสาทได้ด้วย ไม่แน่ที่สมองที่ตายแล้วอาจกลับมามีชีวิตได้อีกครั้ง
แต่จะเป็นชีวิตที่ ‘ควรมี’ หรือเปล่านั้นก็อีกเรื่อง เพราะมีการคาดเดาว่าสมองที่ฟื้นกลับขึ้นมาอาจทำงานไม่ปกติ นำไปสู่อาการลมชักรุนแรง เพ้อคลั่ง หรือแย่ไปกว่านั้น ซึ่งไม่ควรจะมีสิ่งมีชีวิตใดๆ ต้องมีชะตากรรมเช่นนั้น
อ่านๆ ดูก็เหมือนกับภาพยนตร์สยองขวัญ ‘คนเปลี่ยนหัวคน’ (Re-Animator ปี ค.ศ. 1985) ที่อาจจะเป็นเรื่องของอนาคตมากๆที่เราสามารถฟื้นสมองได้ แต่ก็ไม่ได้ปิดประตูความเป็นไปได้เลย แม้การจะปลุกสมองหมูอาจทำไม่สำเร็จขณะนี้เสียทีเดียว แต่การที่ทีมวิจัยเลือกใช้สมองหมูที่ซับซ้อนมากกว่าสมองหนู ก็นับเป็นความท้าทายมากๆ ในทางวิทยาศาสตร์แล้ว และอาจเป็นไปได้ที่จะทดลองในมนุษย์ (ซึ่งแน่นอนว่า ต้องติดเรื่องจริยธรรมยาวเป็นหางว่าว) แต่ว่ากันในเชิงทฤษฎีเพียวๆ นั้น ก็สามารถ ‘ทำได้’
คำถามจึงไม่ใช่ว่า ทำได้หรือไม่ได้ แต่เป็น “ควรทำหรือไม่?” นิยามของความตายจะเปลี่ยนแปลงไปเช่นไรในอนาคต
ผมยังคงนอนขบคิดว่า แม้เราจะต้องตายแน่ๆ แต่จำเป็นหรือที่เราจะมีชีวิตเป็นอมตะ ผมไม่เคยจินตนาการความเป็นอมตะ
แต่ผมกลับนอนขบคิดถึงความตาย หากปลายด้านหนึ่งไม่มีจุดจบ การเริ่มต้นชีวิตจะมีความหมายอีกหรือ? แล้วคุณล่ะนอนขบคิดถึงความตายหรือชีวิตอันไร้จุดจบ? ความตายทำให้คุณหวาดกลัวพรุ่งนี้ หรือนำมาสู่ความสงบเงียบสงัด
อ้างอิงข้อมูลจาก
Restoration of brain circulation and cellular functions hours post-mortem
Scientists restore some functions in a pig’s brain hours after death