‘กลไกหัวเราะ’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างพันธะทางสังคมของมนุษย์และกลุ่มไพรเมตใกล้เคียง เด็กอายุเพียง 18 สัปดาห์หัวเราะได้ก่อนจะพูด ซึ่งมีรากทางวิวัฒนาการตั้งแต่กำหนดช่วงลมหายใจ การเปล่งเสียง และการปฏิสัมพันธ์อันครื้นเครง การเรียนรู้ที่จะหัวเราะเป็นการทำความเข้าใจบริบททางสังคมที่ซับซ้อน และมันสำคัญที่ต้องสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการหัวเราะในทุกๆ วัน หัวเราะไม่ใช้เรื่องเหลวไหล แต่มันเป็นอิทธิพลทางสังคมที่ฝังรหัสสู่ดีเอ็นเอมนุษย์อย่างเหนียวแน่น
จำได้ว่าเย็นวันนั้น เป็นวันที่ต้อง ‘เผาย่า’
บรรยากาศในวัดตอนนั้นค่อนข้างหดหู่ มีเสียงสะอึกสะอื้นระคนเป็นระยะจากแขกที่มาร่วมงานมากหน้าหลายตา ย่าของผู้เขียนค่อนข้างเป็นที่รู้จักในสังคม งานเผาศพจึงเต็มไปด้วยใครก็ไม่รู้นั่งอยู่เต็มไปหมด จนต้องสั่งกระเพาะปลามาเพิ่ม 3 ถึง 4 หม้อ (แล้วก็หมดตามคาด)
ระหว่างที่รอพระสวดอยู่นั้น ทุกคนประนมมือตามมารยาท ท่ามกลางบรรยากาศยามเย็นอันเงียบสงบ จู่ๆ ก็มีเสียงหัวเราะระเบิดขึ้นกลางวงสวด เสียงหัวเราะใสแจ๋วของเด็กทารกวัย 18 เดือน หัวเราะจ้าออกมาแบบไม่มีแตะเบรก จนคนในงานปรับฟีลลิงไม่ถูก มองหน้ากันเลิ่กลั่ก เด็กน้อยในอ้อมกอดของแม่หัวเราะชอบใจ เมื่อน้องหนูหันไปเห็น หมาวัดตัวสีส้มวิ่งไล่กัดหางตัวเองวนไปวนมา เหมือนลูกข่างสลาตัน
น้องหนูลูกหัวเราะอร่อยมาก หมาก็ยิ่งวิ่งวน เป็นบรรยากาศที่น่าดูไม่ใช่น้อย แม่เด็กก็พยายามปรามว่า “อย่าหัวเราะลูกจ๋า” เอามือป้องปาก แต่จะห้ามได้อย่างไรเล่า ก็เด็กมันขำจริงๆ ใครเห็นเหตุการณ์ก็ตลก และพวกผู้ใหญ่ที่พยายามทนฝืนนั่งนิ่ง พอเอาเข้าจริงๆ ก็ยอมรับมาเถอะว่ามันตลก
เสียงหัวเราะในงานเผาศพคือสัญญาณแห่งชีวิต คงเหมือนบทสวดที่เสนาะหู สำหรับผู้ที่ยังคงมีลมหายใจ
Laughing is Life
การหัวเราะเป็นรากฐานสำคัญในชีวิตมนุษย์ แต่พอมันใกล้ตัวเรามากๆ ปริศนาที่แท้จริงอาจถูกซ้อนเร้นหรือถูกมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย เสียงหัวเราะเป็นภาษาลิ้นอันสากลที่สุด สระเสียงสั้นที่คงเอกลักษณ์นี้ทำให้หลายอารยธรรม (ไม่ว่าภาษาของพวกเขาจะยากขนาดไหนก็ตาม) ล้วนดัง ฮ่า ฮ่า ฮี่ ฮี่ หรือ โฮ โฮ กลุ่มสระเสียงสั้นที่ซ้ำกันกระโดดข้ามกำแพงทางภาษาทั้งปวง มันคือภาษาซ่อนเร้นที่ตอบสนองความกระหายจะปฏิสัมพันธ์กับสิ่งรอบตัวของพวกเรา
เด็กที่มีอายุ 4 เดือนแรก ไม่ว่าพวกเขาจะมีเชื้อชาติอะไร มีภาษาถิ่นอะไรก็ตาม มักหัวเราะครั้งแรกราวช่วง 14 ถึง 18 เดือน เสียงหัวเราะของเด็กจดจำได้ง่าย ก็เหมือนการร้องไห้ ที่ยากจะแสร้งทำให้ดูเป็นธรรมชาติ อีกนัยหนึ่งมันมีลักษณะที่แพร่ระบาดไปสู่คนอื่นๆ คล้ายการหาว (Yawn) เมื่อเราหัวเราะ คนที่อยู่ข้างๆ ก็มีแนวโน้มจะหัวเราะตามด้วย ความฮาก็มักระบาดง่ายไม่แพ้ไวรัสหวัดในหน้าฝน
แต่แน่นอน เมื่อพวกเราเติบโตขึ้นการหัวเราะจึงไม่ใช่สัญญาณที่บ่งบอกความสนุกสนานไปเสียทั้งหมด ผู้ใหญ่มักอำพรางบริบททางสังคมโดยการใส่รหัสที่ซับซ้อนขึ้น หัวเราะกลบเกลือนความผิด หัวเราะทั้งน้ำตา หัวเราะอย่างสะใจ หรือหัวเราะความยโสโอหังของตัวเอง
แต่เด็กหัวเราะอะไรล่ะ เด็กยังไม่มีรสนิยมส่วนตัวของมุกตลก (อาจไม่ใช่เด็กทุกคนที่หัวเราะหมาวิ่งงับหางตัวเอง) ดังนั้นเราจึงไปทำความเข้าใจว่า เด็กดูดซับสภาพแวดล้อมรอบตัวจนเปลี่ยนเป็นเสียงหัวเราะอย่างไร เพราะ มันทำให้เราสามารถปรับสภาพแวดล้อมเบื้องต้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ของเด็ก เสียงหัวเราะแรกๆ จึงเป็นตราประทับที่พวกเขาอาจจดจำความเป็นไปของโลกจนเติบโตตลอดชีวิตของพวกเขา
หัวเราะในวิวัฒนาการ
มนุษย์ไม่ได้เป็นสิ่งมีชีวิตเดียวที่หัวเราะ ยังมีสัตว์อื่นๆ ในสายวิวัฒนาการใกล้เคียงที่เรียนรู้ได้ อาทิ ชิมแปนซี กลุ่มลิงไม่มีหาง และกลุ่มลิงกระรอก พวกมันเปล่งเสียงเป็นจังหวะสั้นๆ ระหว่างเล่นสนุกกับสมาชิกในฝูง ที่รวมๆ แล้วคือการหัวเราะเฉกเช่นเดียวกับมนุษย์ ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (โดยเฉพาะรุ่นเด็กๆ) เรียนรู้การกำหนดลมหายใจจากเสียงหัวเราะ นักปราชญ์ยุคโบราณอย่างอาริสโตเติล เคยกล่าวว่า “หัวเราะคือสัญญาณสำคัญอันบ่งบอกว่า ทารกคนนั้นมีวิญญาณลงมาสิงสถิตอยู่ หากปราศจากหัวเราะ พวกเราก็เหมือนร่างเนื้ออันไร้ชีวิตชีวา“
นักประสาทวิทยา Jaak Panksepp จากมหาวิทยาลัย Bowling Green State University เคยทดสอบว่า โครงข่ายประสาทของสัตว์เมื่อพวกมันหัวเราะหรือเล่นสนุก จะมีพื้นที่สมองที่ตอบสนองตำแหน่งเดียวกันกับมนุษย์ ทั้งส่วนที่ควบคุมความทรงจำและอารมณ์ ที่บริเวณสมองส่วน Amygdala และ Hippocampus เสียงหัวเราะจึงเป็นปฏิกิริยาตอบสนองของความพึงพอใจ อันเป็นการให้รางวัลตนเอง (self-reward) Jaak Panksepp ยังคิดไปไกลกว่านั้นว่า สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอย่างหนูจะมีอารมณ์ขันหรือไม่ แล้วก็พบว่า เมื่อหนูถูกจั๊กจี้อย่างเบามือ หนูก็ ‘หัวเราะคิกคัก’ ได้เช่นกัน
จิตวิทยาเริ่มสนใจกระบวนการหัวเราะเมื่อ 40 ปีที่แล้วนี่เอง เนื่องจากเทรนด์การบำบัดสุขภาพจิตเพื่อนำไปคุณภาพชีวิตที่ดี กำลังเป็นทิศทางที่น่าสนใจต่อคนส่วนใหญ่ เป็นศาสตร์การแพทย์เพื่อการป้องกัน ไม่มีใครอยากรอปัญหาแล้วค่อยไปพบแพทย์ โดยนักจิตวิทยาและจิตแพทย์ก็ศึกษากลไกการหัวเราะจากเด็กๆ ของพวกเราเอง
การเรียกเสียงหัวเราะอย่างสม่ำเสมอจนเป็นอาชีพได้ (และมีคนยอมจ่าย) เป็นงานที่ยากสาหัสมิใช่น้อย ผู้เรียกเสียงหัวเราะที่ดีจะใช้ประโยชน์จากความคาดหวังของผู้ชมและบิดมันเป็นอารมณ์ขันที่น่าประทับใจ การสร้างพื้นที่ประสบการณ์ร่วมระหว่างผู้แสดงและผู้ชม จะต้องมีความเข้าใจบริบทเชิงกายภาพและเชิงสังคมชุดหนึ่งก่อน
พื้นที่เหล่านี้นี่เองจำเป็นต่อการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ หากมองในมิติวิวัฒนาการที่ทับซ้อนกันอยู่ สิ่งมีชีวิตพยายามจะสื่อสารกันในขณะแอบซ่อนความกดดันจากการขับเคี่ยวอยู่เนืองๆ เพื่อเลี่ยงการปะทะอันรุนแรง เราจึงใช้การหัวเราะสื่อสารแทนความอัดอั้นตันใจ
กะลาสีเรือตาขาวถามว่า “ขึ้นเรือลำไหนอับปางยากที่สุด เรือรบ เรือพ่อค้า หรือ เรือขุนนาง?”
กัปตันเรือตอบ “ก็เรือที่จอดอยู่บนฝั่งไง ไอ้ตาขาว”
มุกตลกโบราณที่สุดเท่าที่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร หนึ่งในมุกจากหนังสือรวมมุกของชาวกรีกที่มีชื่อว่า Philogelos หรือ ‘คนรักเสียงหัวเราะ’ เป็นกวีนิพนธ์กรีกที่รวบรวมมุกตลกกว่า 200 มุกในช่วงศตวรรษที่ 4 ถึง 5 ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวกรีกและพื้นที่ใกล้เคียงในการอ่านเล่นยามว่างหรือใช้ตบมุกกันกับเพื่อน ที่นอกเหนือจากเนื้อหาเรียกเสียงหัวเราะแล้ว ล้วนบอกเล่าวิถีชีวิตของผู้คน การถูกกดขี่ของผู้มีอำนาจ ความแตกต่างของชนชั้น สงคราม ความตาย และความไม่แน่นอนของชีวิต
การหัวเราะของผู้ที่ยังมีชีพจรจึงเหมือน “กาวใจ” ที่ยึดโครงสร้างทางสังคมไว้ด้วยกัน
จากเสียงหัวเราะของเด็กน้อยที่พยายามใช้ผัสสะใหม่แกะกล่อง สู่สุ้มเสียงหัวเราะจากผู้ใหญ่ที่เยาะเย้ยให้กับความไม่แน่นอนของชีวิต ถ้าน้ำตาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ทำไมการหัวเราะจะทำให้เราเข้าใจโลกอีกด้านหนึ่งบ้างไม่ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
Humor in Infants Developmental and Psychological Perspectives
http://www.springer.com/in/book/9783319389615
Infant Humor Perception from 3- to 6-months and Attachment at One Year
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3494749/