เคยสงสัยไหม ทำไมผู้นำที่คุณรู้จักหลายคนชอบมีพฤติกรรม “อิหยังวะ” เหมือนพวกเขาควบคุมตัวเองไม่ได้ ผีเข้าเจ้าสิง เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย ผู้นำหลายคนในประวัติศาสตร์โลก แม้พวกเขาเชื่อว่ากำลังพาสังคมเดินไปข้างหน้า ก็ยังเหยียบเท้าใครนับไม่ถ้วน แต่พวกเขากลับประสบความสำเร็จอย่างน่าประทับใจ โดยมีคุณลักษณะของ ‘อาชญากรโรคจิต’ เป็นแรงผลักดัน พวกเขาไร้ซึ่งความเกรงกลัว มีอิทธิพลทางสังคมสูง และมีเกราะภูมิคุ้มกันความเครียดอย่างน่าเหลือเชื่อ หรือ ‘ผู้นำ’ และ ‘ไซโคปาธ’ มีเส้นบางๆ กั้นเพียงนิดเดียว
หันไปทางไหนก็เต็มไปด้วยผู้นำบ้าพลังที่คุณได้แต่หวั่นใจ ไม่ต้องมองไกลที่ไหน เพราะพวกเขาอาจเป็นหัวหน้าคุณ หรือเป็นคนในครอบครัวที่ต้องทนอยู่ร่วมกันให้ผ่านไปวันๆ จริงหรือที่บุคลิกแบบไซโคปาธ (psychopath) คือหนทางเดียวของการเป็นผู้นำ?
ย้อนกลับไปในอดีตพบว่า ท่านผู้นำ Führer อย่าง อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ก็ใช้พลังแหล่งความเกลียดชังในการผลักดันให้ประเทศเยอรมันไปข้างหน้า แต่ในขณะเดียวกันจากสายตาคนเยอรมันบางกลุ่มก็ยังมองว่า วินสตัน เชอร์ชิล อดีตนายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้นก็กระหายอำนาจและความรุนแรงไม่แพ้กัน จากเหตุสั่งสังหารลูกเรือชาวฝรั่งเศส 1,300 ราย แต่จะให้มานั่งไล่เรียงรายชื่อผู้นำโลกที่ไร้ความปราณี คงยาวเป็นหางว่าวงู
ในขณะที่เรากำลังอยู่ระหว่างรอยแยกอันน่าหวาดเสียวของสังคมโลก ความขัดแย้งทั่วภูมิภาค แต่การมาชี้นิ้วแขวนป้ายว่าใครเป็น ‘โรคจิต’ ก็ไม่ใช่วิสัยของนักวิเคราะห์จิตที่ดีจะทำกัน เพราะมีกฎทองคำทางจริยธรรมที่ชื่อว่า ‘Goldwater Rule’ โดย สมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกา (American Psychiatric Association) ที่ไม่แนะนำให้จิตแพทย์กล่าวหาใครลอยๆ โดยปราศจากการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัว
Fun Fact : กฎ Goldwater Rule เริ่มต้นในยุค 1960 หลังจากนิตยสาร Fact ไปสอบถามนักจิตวิทยา 1,189 คน เพื่อทำเป็นโพลว่า นาย Barry Goldwater ไม่มีคุณสมบัติของผู้นำที่ดี ขณะนั้นเขาเป็นนักการเมืองชาวอเมริกัน เป็นวุฒิสมาชิกห้าสมัยจากรัฐแอริโซนาและเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาจากพรรคริพับลิกันในปี ค.ศ. 1964 โพลดังกล่าวทำให้เขาเสื่อมเสียชื่อเสียงและสั่งฟ้องนิตยสารประมาณ 75,000 เหรียญ สมาคมจิตเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกาจึงต้องถอยมาตั้งหลัก และปรับจูนทัศนคติของเหล่าแพทย์กันครั้งใหญ่ ซึ่งกฎดังกล่าวยังมีผลมายังปัจจุบัน ที่จะไม่กล่าวหาใครก่อน
เส้นบางๆ แต่โยงใยซับซ้อน
เหล่าผู้นำที่พวกเราศรัทธา (และถูกบังคับให้ศรัทธา) อาจพกพาบุคลิกภาพแบบวิกลจริตขึ้นโพเดี้ยม แบบนี้ก็ไม่ต่างจากอาชญากรหรือฆาตกรต่อเนื่องที่ฆ่าคนเพื่อสนองความสุขตัวเองอย่างนั้นล่ะสิ? ไม่หรอก การประทับตราไปตรงๆ กับบุคลิกของคนอันซับซ้อน ก็เหมือนบังคับให้ทุกคนใส่รองเท้าไซส์เดียวกันในมุมมองเชิงจิตวิเคราะห์บุคลิกที่มีมิติที่แยกย่อยมากกว่านั้น
ไม่มีใครนิยมชมชอบคนโกหกไร้หัวใจ บิดเบือนเรื่องผิดให้เป็นถูก แต่การวิเคราะห์ทางจิตระหว่าง ‘ไซโคปาธ’ กับ ‘ผู้นำ’ ที่ดูเหมือนเป็นเส้นบางๆ ก็จริง แต่ก็ยังมีหลายเฉด หลากหลายสี หลายเส้น ซึ่งนักจิตวิทยามักนิยมใช้เครื่องมือในการทำความเข้าใจปีศาจตัวเล็กๆ ที่แอบแฝงอยู่ในใจเราด้วยเครื่องมือวัดบุคลิกภาพ PPI-R (Psychopathic Personality Inventory) หรือการวิเคราะห์ให้เห็นลักษณะบุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับอาการโรคจิต เพื่อหาเมล็ดพันธุ์ที่ปีศาจตัวเล็กๆ แอบปลูกไว้ รอวันเติบโต ซึ่งทั้งมีประโยชน์และโทษ ไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน
พวกเขาแสดงออกถึงความเหี้ยมโหดผ่านทางการกระทำหรือไม่ (ruthlessness) ไม่หวาดกลัวต่อสิ่งเร้าหรือเปล่า (fearlessness) มีความมั่นใจในตัวเอง (self confidence) มีเสน่ห์ดึงดูดแบบผิวเผิน (superficial Charm) มีความสามารถพิเศษ (charismatic) หรือไม่น่าไว้วางใจ (dishonesty) ขาดความเห็นอกเห็นใจและสำนึก
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า บุคลิกของคนโรคจิตประเภทไซโคปาธ (psychopath) ยังสามารถนำไปปรับใช้ในการนำองค์กรไปสู่จุดหมายได้ พอๆ กับการหักหลบปากเหว
พวกไซโคปาธ มีความซับซ้อนเหมือนมีอะไรมาวางอยู่บนโต๊ะเต็มไปหมด การใช้ PPI-R ทำให้นักวิเคราะห์เห็นความเชื่อมโยงของทักษะในการสร้างอำนาจอย่างไม่เกรงกลัว (fearless dominance) ที่เกิดจากรวมของคุณลักษณะ 3 ประการ คือ มีอิทธิพลทางสังคมต่อผู้อื่น ไร้ความหวาดกลัว และมีภูมิคุ้มกันความเครียดที่มากกว่าคนอื่น
อย่างไรก็ตาม มันไม่มีสูตรสำเร็จที่สามารถให้คำจำกัดความของไซโคปาธได้ครบถ้วนทั้งหมด ขึ้นอยู่กับจังหวะสถานการณ์และสิ่งเร้าที่พวกเขาได้รับ แม้ในมิติใกล้ตัว บางอาชีพหรือบางสายงาน ก็จำเป็นต้องใช้ความครอบงำอยู่บ้าง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ อย่างตำแหน่งผู้จัดการในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง คนในสายงานกฎหมาย เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร หน่วยบรรเทาสาธารณะภัยฉุกเฉิน หรือแม้กระทั่งแพทย์ผ่าตัด ซึ่งล้วนเป็นอาชีพที่ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์เร่งเร้า และเต็มไปด้วยความเสี่ยง เมื่อการอยู่ในตำแหน่งที่ต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วน ยอมรับเถอะว่าบางสถานการณ์คุณลักษณะไซโคปาธอาจรับมือได้ดีกว่า
ใคร ‘ไซโคปาธ’ กว่ากัน
ผลงานของ Kevin Dutton นักจิตวิทยาจากคณะจิตวิทยาการทดลอง (experimental psychology) ของมหาวิทยาลัย Oxford เก็บข้อมูลจากนักประวัติศาสตร์หลายคน โดยให้พวกเขาประเมินบุคลิกภาพผู้นำในประวัติศาสตร์จวบจนผู้ท้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งล่าสุด โดยใช้เครื่องมือวัดบุคลิกภาพ PPI-R
โดยแยกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ และมีพฤติกรรมย่อย 8 อย่าง
- SI (Social Influence) มีอิทธิพลทางสังคม
- F (Fearlessness) ไร้ความหวาดกลัว
- STF (Stress immunity) มีภูมิคุ้มกันความเครียด
- ME (Machiavellian Ego centricity) มีเล่ห์เหลี่ยมอุบายทางการเมือง
- RN (Rebellious Nonconformity) กบฎและต่อต้านสังคม
- BE (Blame Externalization) กล่าวโทษคนอื่น
- CN (Self Centered) เอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง
- C (Cold heartness) เย็นชาไร้ความรู้สึก
นักจิตวิทยามีความเห็นพ้องกันว่า นักการเมืองส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมกันหลายประการ เนื่องจากพวกเขาต้องตัดสินใจภายใต้แรงกดดันมหาศาล อย่างการชั่งน้ำหนักระหว่างความเสี่ยงต่างๆ ที่ส่งผลกระทบขนาดมหึมาต่อคนหมู่มากในสังคม หรือต้องต่อกรกับภัยระดับชาติที่คุกคาม แม้กระทั่งภัยธรรมชาติที่พวกเขาต้องจัดการรับมือในเวลาอันน้อยนิด
ผู้นำไม่น้อยส่งคนหนุ่มไปกลางสงคราม แม้รู้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะกลับมา แต่ก็ยังสามารถโน้มน้าวให้ผู้คนทำสิ่งที่ขัดกับเจตจำนงเดิมได้ ผู้นำต้องใช้การหว่านล้อมและเสน่ห์อย่างยิ่งยวด แม้บางครั้งความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันจะต้องถูกละเลย
ไซโคปาธใกล้ตัวอยู่ข้างๆ คุณ
ไซโคปาธเป็นภัยต่อสังคมมากหรือน้อยเพียงใด? น่าสนใจที่ไซโคปาธเป็นคนที่ดูจะจัดการตัวเองได้ดีและสามารถจัดการกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อให้ตนได้รับประโยชน์อย่างแนบเนียน พวกเขาไม่มีความยากลำบากในการดำรงชีวิตและสามารถประกอบอาชีพการงานได้ดีเลิศ
การศึกษาพฤติกรรมของผู้เป็นโรคไซโคปาธในเวลาที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นการสร้างแนวทางการอธิบายพฤติกรรมของผู้เป็นโรคนี้ ซึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา และไม่นานมานี้ก็มีคนพูดว่าเป็น “แนวความคิดทางด้านการสืบสวนสอบสวนที่สำคัญที่สุดในตอนต้นศตวรรษที่ 21” เลยก็ว่าได้
ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับคุณจะใช้ความบ้าคลั่งในการขับเคลื่อนสังคมหรือไม่ หรือความชอบธรรมและมนุษยธรรมอย่างเดียวจะทำให้สังคมอยู่รอดตลอดฝั่งเพื่อการเดินหมากในโลกที่อันตราย เราหวังว่าผู้นำที่ดีควรรู้ว่าพวกเขามี ‘ปีศาจหลบซ่อน’ อยู่ และควบคุมมันอย่างระแวดระวังที่สุด
อ้างอิงข้อมูลจาก
Successful Psychopathy : A Scientific Status Report
Scott O.Liienfeld et al. in Current Directions in Psychological Science,Vol 24