หลังจากเราเข้าสู่ยุคแป้นพิมพ์ การขีด เขียน จดบันทึก รวมไปถึงการที่เราสื่อสารกันส่วนใหญ่ถูกทำผ่านแป้นพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นแป้นพิมพ์จริงๆ ที่เราใช้พิมพ์งานและแป้นพิมพ์เสมือนที่เราใช้คุยหรือตอบคอมเมนต์เพื่อนบนหน้าจอ
อย่างเช่นงานที่กำลังเขียนอยู่นี้ก็ถูกเขียนขึ้นผ่านแป้นพิมพ์ – แน่ล่ะ นี่มันยุคดิจิทัลแล้ว เวลาเราเขียนงาน บันทึก หรือต้องการจะสื่อสารอะไร การพิมพ์ด้วยแป้นพิมพ์เป็นสิ่งที่ ‘มีประสิทธิภาพ’ เปิดโปรแกรมปุ๊บพิมพ์กรอกความคิดของเราลงไปได้เลย จะลบ แก้ไข ก็ทำได้ทันที จะเซฟสำรอง เปิดไฟล์ใหม่ขึ้นมาเขียนก็สุดแสนจะง่าย แถมระบบการพิมพ์ก็เป็นระบบ กดขึ้นไปตัวอักษรก็เรียงกันอย่างเป็นระเบียบ เป็นแถวเป็นแนว
เทคโนโลยีมันก็ดีเนอะ สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ… แต่มันก็อาจจะแห้งๆ หน่อย ตัวอักษรที่เรียงกันเป็นพรืดบนหน้าเวิร์ด การใช้นิ้วจิ้มลงไปอย่างซ้ำๆ ลงไปที่แป้น ทุกอย่างดูจะเป็นระเบียบและแห้งแล้งในบางที จะว่าไป นานแค่ไหนแล้วนะที่เราไม่ได้จับปากกาแล้วขีดขีดสิ่งต่างๆ ลงบนหน้ากระดาษ นานแค่ไหนแล้วนะที่ลายมือขยุกขยุยของเราหรือของเพื่อนไม่ได้ออกมาโชว์ตัวให้โลกเห็น
การเขียนด้วยมือเป็นอะไรที่อาจจะยุ่งยากกว่าแป้นพิมพ์หน่อย อาจจะเป็นระเบียบน้อยกว่าการพิมพ์ไปนิด แต่จริงๆ แล้ว การเขียนด้วยมือเป็นสิ่งที่ชวนคิดถึงและมีประโยชน์ไม่แพ้ความสะดวกรวดเร็วของการพิมพ์ The MATTER ชวนมาดูประโยชน์ของการเขียนด้วยมือ และสุดท้ายด้วยพลังของเทคโนโลยีที่ทำให้การเขียน การพิมพ์และการทำให้เป็นดิจิทัลมารวมพลังกัน
1. การเขียนใช้พลังของอนาล็อก จุดเชื่อมของร่างกายและความคิด
สิ่งหนึ่งที่โลกดิจิทัลเอาไปจากเราคือ ‘ร่างกาย’ นึกภาพการทำงานของเรา ก้นแปะอยู่กับเก้าอี้ สายตาจ้องมองจอ สิ่งที่ขยับมีแค่นิ้วของเราที่กดลงไปบนแป้น ทีนี้ถ้าเราจะมองการเขียนในฐานะส่วนหนึ่งของโลกอนาล็อก การเขียนใช้ร่างกายมากกว่าการพิมพ์นิดหน่อย การเขียนเป็นทักษะที่เราต้องฝึกฝนตั้งแต่ตอนเด็กๆ เป็นการฝึกร่างกายในการขยับและควบคุมปากกาให้หมุน ลากจนเกิดเป็นเส้น เป็นคำ ในด้านหนึ่งการเขียนด้วยมือจึงเป็นการใช้สมองไปพร้อมๆ กันในการควบคุมร่างกายเพื่อถ่ายทอดความคิดและภาษาออกมาบนหน้ากระดาษ ลองนึกถึงสมัยที่เราหัดเขียน การเขียนคือกระบวนการที่เราได้ฝึกฝนทักษะในการควบคุมร่างกายผ่านการใช้งานอุปกรณ์การเขียนในมือ
2. การเขียนด้วยมือเพิ่มพลังให้การเรียนรู้
ทุกครั้งของการลากเส้น สัมผัสของปลายปากกาที่เราตวัดลงไปแต่ละตัวต้องการความรู้สึกและความคิดที่เราจดจ่อลงไปในการขีดเขียนสิ่งต่างๆ ลงบนหน้ากระดาษ การเขียนจึงเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน นักวิทยาศาสตร์บอกว่าการจรดปากกาและจดบันทึกสิ่งต่างๆ กระตุ้นสมองส่วนที่เรียกว่าReticular Activating System (RAS) เป็นส่วนที่ทำหน้าที่เหมือนตัวกรองที่จะกรองว่าเรื่องนี้สำคัญนะและทำให้เราโฟกัสกับสิ่งและเรื่องราวตรงหน้า
3. การ ‘ไม่เป็นบรรทัด’ เป็นพลัง
ถ้าเรามองว่าการพิมพ์ขึ้นเป็นบรรทัดๆ มีข้อดีคือความเป็นระเบียบและอ่านง่าย แต่การเขียนที่ไม่ถูกกำกับด้วยระบบและบรรทัดก็มีพลังพิเศษในตัวเอง การเขียนคือผลผลิตของการคิด แน่นอนว่าความคิดและความรู้ทั้งหลายมันคือความยุ่งเหยิง การเขียนที่มีอิสระสามารถทำแผนผัง จัดวางคำสำคัญ โยงเส้น นึกภาพกระดาษที่เต็มไปด้วยคำและแผงผังความคิด (mind map) มันคือการที่เราพยายามย่อมความคิดของเราออกมา มีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัย Princeton ทำการศึกษานักศึกษา 300 คนพบว่านักศึกษาที่จดโน้ตมีแนวโน้มที่จะตอบคำถามได้ดีกว่าการจดเลคเชอร์ด้วยการพิมพ์ ส่วนหนึ่งคือเพราะการลงมือเขียนบันทึกคือการต้องคิดทบทวนแล้วค่อยโน้ตลงไป แต่การเลคเชอร์ด้วยการพิมพ์นักศึกษามีแนวโน้มที่จะพิมพ์โน้ตลงไปมากมาย ดังนั้นการบันทึกแบบไม่ได้เป็นบรรทัด เป็นเส้นตรง เป็นสิ่งที่ช่วยในการสรุปรวบยอดความคิดด้วย ดังนั้นการจดโน้ตออกจากกว่าการพิมพ์เอานิดหน่อย แต่ก็ถือเป็นความยากที่มีความคุ้มค่าแฝงอยู่
4. ความขยุกขยุยคือความสวยงาม
เราอาจจะลายมือไม่สวย–สวยในที่นี้อาจจะหมายถึงความเท่ากันของตัวอักษร ความเป็นระเบียบ และระยะ ที่แน่ล่ะว่างานพิมพ์มันเต็มไปด้วยความแม่นยำ แน่นอนและอ่านง่าย แต่การเขียนด้วยมือมันคือตัวตนของเรา มันคือ ‘ลายมือ’ ของเรา ในการจดบันทึกด้วยมือ เรามีอิสระที่จะแสดงตัวตน ความสนุกสนานและความคิดสร้างสรรค์ออกมาได้เต็มที่ เราอยากจะให้ตัวอักษรตัวนี้กลมมากหน่อย เส้นตรงนี้หนานิด คำนี้ดูน่ารักกว่าปกติ เติมรอยยิ้มเล็กๆ แฝงลงไปบนหน้ากระดาษ เราควบคุมปริมาณตัวอักษรบนหน้ากระดาษ ความสมดุล ความสวยงามได้ตามใจ ลองเอาสมุดบันทึกที่เราเคยเขียนๆ ไว้มานั่งดู เรามักจะอมยิ้มกับลายเส้น ตัวตนและความทรงจำของเราที่เกลื่อนอยู่บนบรรทัดและตัวอักษรที่เราได้เป็นคนเขียนมันลงไป
5. S Pen อนาล็อกบนโลกของดิจิทัล
โลกก็ก้าวไปข้างหน้า เทคโนโลยีใหม่ที่นำโลกอนาล็อกกลับมาผสานกับโลกดิจิทัล เมื่อเราก็สามารถกลับไปใช้ประโยชน์ของพลังจากการเขียนไปพร้อมกับความสะดวกสบายของโลกดิจิทัลได้ การจด ขีด เขียน ที่สามารถทำได้ทันที ตัวปากกาใหม่ที่ถูกออกแบบมาให้กด ลากเส้นหนักเบาได้เสมอนปากกาจริง แอพพลิเคชั่นที่ให้เราบันทึกได้เหมือนกระดาษแต่ไม่ต้องพกของและกลัวว่าจะลืมหรือทำสิ่งที่บันทึกหาย การลบและแก้ไขก็ทำได้รวดเร็วด้วยพลังของความล้ำสมัย
ที่มา
http://lifehacker.com/the-benefits-of-writing-by-hand-versus-typing-1778758792
http://mentalfloss.com/article/33508/4-benefits-writing-hand
https://www.theguardian.com/science/2014/dec/16/cognitive-benefits-handwriting-decline-typing
Illustration by Manaporn Srisudthayanon