แมวสีอะไรก็จับหนูได้เหมือนกัน แล้วทำไมแมวสีส้มถึงแสบ แต่ก็แสนน่ารักเป็นพิเศษนัก
ช่วงนี้เจ้าแมวส้มกำลังมาแรง มี TikTok ที่เจ้าแมวส้มเล่นกับเพื่อนสีอื่นๆ แต่ปรากฏว่ามันดันกลายเป็นสนามอารมณ์ทุกที โดยถ้าเรามองย้อนกลับไปเวลานึกภาพแมวระดับเซเลป เรามักจะวาดภาพว่าเป็นแมวสีส้ม เพราะมันดูจะเป็นตัวแทนความแสบทรวง หนึ่งในแมวตัวสำคัญคือเจ้าการ์ฟีลด์ (Garfield) แมวส้มที่ถือเป็นตัวแทนแมวอ้วน ขี้เกียจ แต่ก็น่ารัก ซึ่งถ้าเป็นแมวยุคใหม่อาจบอกได้ว่า แล้วคุณมาบูลลี่กันทำไม
ภาพรวมของเจ้าแมวส้ม นอกจากจะเป็นเจ้าพ่อมีมแล้ว โดยทั่วไปมนุษย์เราดันมองแมวส้มว่ามันเป็นแมวซื่อบื้อ ในโลกวิทยาศาสตร์เองก็มีความสนใจเจ้าแมวส้มเป็นพิเศษ ถึงกับมีการศึกษาเรื่องสีของแมวที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรม ซึ่งก็ต้องสปอยก่อนเลยว่า สีส้มๆ ของแมวส้มนั้น ไม่พบความเชื่อมโยงพิเศษถึงพฤติกรรมที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากแมวสีอื่นๆ แต่ในทางกลับกันแมวส้มก็มีความพิเศษบางอย่างที่งานวิจัยค้นพบ คือเรื่องทางวิทยาศาสตร์ที่สีของเจ้าแมวส้มมีนัยสำคัญทางเพศและชีววิทยา
แมวส้ม อ้วนกว่าแมวอื่น
เปิดมาก็บูลลี่น้องก่อนเลย แต่ประเด็นแรกนี้เราเริ่มด้วยงานวิจัยชิ้นแรกๆ ในปี 1995 จากฝรั่งเศส งานศึกษานี้ถือเป็นงานของคนรักแมวส้มอย่างหนึ่ง เพราะเน้นการศึกษาเจ้าแมวสีส้มโดยเฉพาะ ตัวงานวิจัยทำการรวบรวมและศึกษาพฤติกรรม รวมถึงสถานะทางสังคมต่างๆ โดยรวบรวมและจำแนกแมวออกเป็น 7 กลุ่มสี แล้วเปรียบเทียบข้อมูลหลายๆ ด้าน เช่น ถิ่นที่อยู่ ลักษณะประชากรในพื้นที่เมืองและพื้นที่ชนบท ซึ่งงานศึกษาแมวสีส้มแรกได้ข้อสรุป 3 ประเด็นที่เกี่ยวกับลักษณะเฉพาะของแมวส้ม
ข้อแรกคือ แมวส้มมีแนวโน้มจะมีน้ำหนักตัวมากกว่าแมวสีอื่น ซึ่งหมายความว่าเจ้าแมวส้มนั้นอ้วนกว่าเพื่อนนั่นเอง โดยผลการศึกษาระบุว่า
แมวส้มตัวผู้มีค่าเฉลี่ยน้ำหนักตัวมากกว่าแมวสีอื่นๆ
ส่วนแมวส้มตัวเมียมีแนวโน้มจะน้ำหนักน้อยกว่าแมวสีอื่นๆ
ทั้งนี้ข้อค้นพบดังกล่าวยังสัมพันธ์กับผลการศึกษาอีก 2 ประการของเจ้าแมวส้ม ซึ่งเกี่ยวกับเพศและพฤติกรรมของมัน เบื้องต้นคือด้วยลักษณะทางพันธุกรรม แมวสีส้มมักเป็นแมวตัวผู้ ในงานศึกษาพบลักษณะประชากรและพฤติกรรมการจับคู่ของแมวส้มที่แตกต่างกันในพื้นที่เมืองและพื้นที่ชนบท รวมถึงบางส่วนอาจจะชี้ให้เห็นลักษณะนิสัยที่เชื่อมโยงกับเพศของแมวส้มได้บ้าง
ไข่แมวส้ม และพฤติกรรมที่น่าสนใจ
วิทยาศาสตร์เบื้องต้นของแมวส้ม คือแมวส้ม 80% มักเป็นแมวตัวผู้ จึงไม่แปลกที่เราชอบหยอกล้อกับไข่เจ้าแมวส้มตัวแสบ ซึ่งการที่แมวสีส้มมักเป็นตัวผู้นั้น เป็นเพราะสีส้มของพวกมันสัมพันธ์กับโครโมโซม โดยขนสีส้มของแมวจะอยู่บนโครโมโซม X แมวตัวผู้มีโครโมโซม XY ดังนั้น ถ้าพวกมันมีโครโมโซม X พร้อมยีนส์ขนสีส้ม พวกมันก็จะเป็นแมวส้ม ส่วนแมวส้มตัวเมียจะมีโครโมโซม XX จึงเกิดได้ค่อนข้างยากกว่า เพราะต้องการโครโมโซน X ถึง 2 ตัวเลยทีเดียว กล่าวอย่างสรุปคือ แมวส้มตัวผู้เกิดขึ้นง่ายเพราะรับยีนส์ขนสีส้มจากทางแม่ ส่วนแมวส้มตัวเมียจะเกิดได้นั้นต้องรับยีนส์สีส้มจากทั้งฝั่งพ่อและแม่แมว
ย้อนกลับไปยังงานวิจัยเรื่องแมวส้มในปี 1995 ข้างต้นที่บอกว่า เจ้าแมวส้มตัวผู้อ้วนกว่าตัวอื่นๆ ในผลการศึกษาอีก 2 ข้อยังพบความน่าสนใจคือ แมวส้มมักพบมากในพื้นที่ชนบท (ของฝรั่งเศส) มากกว่าในพื้นที่เมือง โดยพฤติกรรมการจับคู่ของมันก็มีความแตกต่างไปตามพื้นที่ แมวส้มตัวผู้ในพื้นที่ชนบทมีพฤติกรรมจับคู่กับตัวเมียจำนวนมาก (มีแฟนเยอะ) ส่วนแมวส้มตัวเมียมีแนวโน้มจะจับคู่กับตัวผู้เพียงตัวเดียว แต่ในพื้นที่เมือง แมวส้มทั้งตัวเมียและตัวผู้มักมีพฤติกรรมจับคู่กันหลายตัว
นอกจากนี้ งานวิจัยยังบอกอีกว่า เราพบแมวส้มในพื้นที่เมืองได้น้อยกว่าแมวส้มในชนบท เพราะมันมีพฤติกรรมเสี่ยง มักใช้ชีวิตแบบไม่แคร์อะไร จึงทำให้มันมีอัตราการเสียชีวิตสูงและรอดชีวิตน้อยในเขตเมือง พฤติกรรมโดยรวมของแมวส้มยังอาจสัมพันธ์กับความเป็นแก๊งแมวตัวผู้ของพวกมัน คือถ้าอยู่ในชนบทก็จะสามารถขยายพันธุ์ได้ดี มีแมวส้มน้อยๆ ตัวผู้ออกมาเยอะ ส่วนแมวส้มในเมืองจะขยายพันธุ์ โดยมีคู่จำนวนมากทั้งตัวผู้และตัวเมีย พฤติกรรมเสี่ยงของแมวส้มยังอาจสัมพันธ์กับสัดส่วนแมวตัวเมียที่มีจำนวนน้อย และเลือกผสมพันธุ์กับแมวตัวผู้หลายตัว ดังนั้น พฤติกรรมเสี่ยง เช่น การผาดโผนเกินไปหรือการไม่ค่อยระมัดระวังของแมวส้ม จึงอาจสัมพันธ์กับการแข่งขันเพื่อเอาชนะใจแมวตัวเมียด้วย
ในภาพใหญ่ วิทยาศาสตร์ค่อนข้างชี้ให้เห็นว่านิสัยอื่นๆ นอกจากพฤติกรรมของแมวส้มในงานศึกษาแล้ว สีของมันไม่ได้ชี้วัดเชิงพฤติกรรมแต่อย่างใด เพราะความรู้สึกที่เรามีต่อแมวส้ม ไม่ว่าจะเป็นความน่ารักเป็นพิเศษ อ้วนเป็นพิเศษ หรือซื่อบื้อเป็นพิเศษ ส่วนใหญ่เป็นความคิดที่เรามีต่อมันอยู่ก่อนแล้ว อีกทั้งแมวส้มยังมักเป็นแมวตัวผู้ที่ชอบเสี่ยงและโลดโผน จึงอาจทำให้พวกมันเข้าหามนุษย์แบบเราๆ มากกว่าแมวตัวเมียนั่นเอง
แมวส้มคิ้วขมวด กับตำนานแมวศักดิ์สิทธิ์
มีตำนานบอกไว้ว่า แมวส้มถือเป็นสายตระกูลของแมวที่มีรากเหง้าเก่าแก่ กล่าวคือแมวส้มทุกตัวมาจากแมวประเภท Tabby Cat หรือแมวลาย ซึ่งมีจุดเด่นเป็นรูปตัว M กลางหน้าผาก ซึ่งเจ้าแมวส้มทุกตัวจะมีจุดเด่นสำคัญตรงนี้เสมอ
รากศัพท์ของคำว่า Tabby ดูจะเป็นคำตะวันตก แต่ที่จริงแล้วมีรากเหง้าค่อนข้างยาวไกลมาจากเทคนิคการทอผ้าในตะวันออกกลาง โดยเป็นผ้าไหมที่มีลักษณะการทอเป็นคลื่นต่างจากที่อื่น และรากของคำว่า Tabby ยังมาจากเมืองชื่อ Al-‘Attābīya ซึ่งถูกย่อเหลือเป็นคำว่า Attābī ต่อมาในยุคกลาง ราวศตวรรษที่ 16 ยุโรปได้รับคำนี้ไปใช้แทนความหมายของผ้าไหมที่ทอแล้วเป็นคลื่น (Moiré Pattern) จนราวๆ ศตวรรษที่ 17 จึงเริ่มมีการใช้คำว่า Tabby ไปอธิบายลวดลายคลื่นบนตัวแมว
ในแง่วงศ์วานของเจ้าแมวส้มในฐานะสมาชิกตระกูลแมว Tabby นับเป็นหนึ่งในแมวที่เก่าแก่ ด้วยลายของพวกมันคล้ายกับลายของเสือ จึงเหมือนแมวที่เป็นเสือบ้าน ที่มาของเจ้าแมวส้มยังเชื่อว่า มีความเก่าแก่มาตั้งแต่สมัยอียิปต์ โดยเป็นแมวที่เริ่มมาจากว่าชาวอียิปต์นำแมวป่า มาทำให้เชื่อง จนกลายเป็นต้นตระกูลแมวบ้านในปัจจุบัน และหนึ่งในลูกหลานที่เชื่อว่าสืบทอดมาจากการเลี้ยงแมวบ้านของอียิปต์ นั่นคือแมวอียิปต์เชียนมัวร์ (Egyptian Mau) แมวลายที่ปรากฏรูปตัว M จางๆ อยู่บนกลางหน้าผาก
นอกจากนี้ แมวลายและตำนานตัว M กลางหน้าผากของมันยังสัมพันธ์กับตำนานทางศาสนาว่า เมื่อครั้งพระเยซูยังทรงเป็นทารกและประทับบนเปลในโรงนา ด้วยความหนาวเย็น พระเยซูจึงทรงกันแสงและไม่มีสัตว์ตัวไหนให้ความอบอุ่นได้ จนกระทั่งมีเจ้าแมวตัวหนึ่งปีนเข้าไปในเปลและขดตัวลงข้างพระองค์ ก่อนจะกล่อมให้พระองค์บรรทมได้ด้วยความอบอุ่นและเสียงของมัน พระแม่มารีย์จึงมอบสัญลักษณ์อักษร M ลงบนบริเวณหน้าผากของแมวตัวนั้นจากพระนาม Mary
สรุปแล้วลักษณะที่ถูกกำหนดจากสีของเจ้าแมวส้ม อาจจะไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงกับนิสัยหรือความกวนประสาทของมัน แต่การที่มันเป็นแมวตัวผู้และภาพจำอาจทำให้เรารู้สึกว่าพวกมันเตะตา หรืออยู่ในความทรงจำของเราเป็นพิเศษ เพราะเจ้าแมวส้มเองก็นับเป็นแมวดาราที่มักถูกเลือกเป็นพรีเซนเตอร์อยู่บ่อยๆ นักเขียนนักสร้างสรรค์เองก็อาจจะมีแมวส้ม และสีของพวกมันก็อาจจะเหมาะกับงานภาพ ซึ่งมีความโดดเด่นกว่าแมวสีอื่นๆ หรือแมวอนิเมชั่น เช่น การ์ฟีลด์ หรือพุซอินบู๊ทส์ (Puss in Boots) รวมถึงคาแร็กเตอร์หน้าซองอาหารแมว เจ้าแมวส้มก็มักจะได้รับเลือกมาขึ้นปกเป็นตัวนำ
อย่างไรก็ตาม ก็มีบางประเด็นจากสถิติบอกว่า แมวส้มอาจจะมีแนวโน้มด้านสุขภาพบางอย่าง เช่น ภาวะอ้วน เพราะเจ้าแมวสีส้มมีแนวโน้มที่จะไม่ค่อยขยับตัว ชอบนอน หรือพูดเหมารวมคืออาจจะขี้เกียจหน่อย ถ้าเจ้าของตามใจก็อาจจะทำให้มันอ้วนได้ง่าย แต่ผู้เชี่ยวชาญก็บอกอีกว่าจริงๆ แล้วแมวสีไหนก็เสี่ยงอ้วนได้ทั้งนั้น
ในฐานะแฟนคลับแมวส้ม ไม่ว่าจะเป็นแมวสีไหน ลายไหนก็น่ารักทั้งนั้น แต่อาจจะด้วยสีที่มันเตะตาเราเป็นพิเศษ แม้จะเป็นเรื่องของอคติ จะด้วยที่มันมักเป็นตัวผู้ หรือด้วยการอยู่ในกลุ่มแมวลายที่มีตำนานติดตัวมาอย่างยาวนาน ทว่าเราเองก็ยังคงรู้สึกว่า ถึงเจ้าแมวส้มมันจะกวนประสาท บางทีก็งงๆ อ้วนๆ กินเก่ง และนอนเก่งกว่าชาวบ้านอยู่หน่อย แต่มันก็น่ารักน่าหยิกเสมอ
อ้างอิงจาก