ภาพที่เราเอาแต่วิ่งไปหาพ่อที่มารับหลังเลิกเรียน จนลืมกระเป๋าหมีพูห์ที่ครูประจำชั้นถือไว้ให้ ยังคงชัดเจนเสมอมา แต่มันเริ่มจะไม่ชัดตอนที่เล่าให้พ่อกับแม่ฟังแล้วเขาบอกว่า ตอนเด็ก เราไม่เคยชอบกระเป๋าหมีพูห์ใบนั้นเลย จนไม่ยอมสะพายไปไหนสักที่ต่างหาก ยังไม่นับความทรงจำอื่นๆ ที่เรามั่นใจเหลือเกินว่าเป็นแบบนี้แน่ๆ แต่ความจริงมันกลับไม่เป็นเช่นนั้น ทำไมความทรงจำที่เรามั่นใจนักหนา กลับกลายเป็นหนังคนละม้วนกับความจริงไปได้? มาดูกันว่า ความทรงจำกำลังเล่นตลกอะไรกับเรา แล้วเรายังสามารถเชื่อความทรงจำของเราได้อยู่หรือเปล่า
ก่อนจะไปสำรวจความแสนกลของความทรงจำ มาทำความรู้จักกันก่อนว่า ความทรงจำของเรามีอะไรบ้าง มาเริ่มกันที่ ความจำโดยปริยาย (Implicit memory) เป็นความจำส่วนที่เราใช้จดจำสิ่งที่เราเรียนรู้มา ทักษะต่างๆ อย่างว่ายน้ำ ขี่จักรยาน เล่นดนตรี รวมไปถึงสิ่งที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของจิตใจด้วย อย่างการตอบสนองของร่างกายต่อสิ่งเร้า อาการเกร็งเมื่อตกอยู่ในสภาวะคับขัน และอีกส่วนคือ ความจำชัดแจ้ง (Explicit memory) อันนี้แหละที่ค่อนข้างเข้าข่าย ‘ความทรงจำ’ ในรูปแบบที่เราเข้าใจกัน โดยแบ่งเป็น ‘SEMANTIC’ ได้แก่ ข้อเท็จจริง ตัวเลข วันที่ คำ และ ‘EPISODIC’ หรือเหตุการณ์ที่เราประสบมา โดยรวมของความจำชัดแจ้งนี้ คือ สิ่งที่เราจำได้ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ ใบหน้า ความรู้ทั่วไป เหตุการณ์วัยเด็ก หรือเหตุการณ์สะเทือนใจ เป็นต้น
ในความจำโดยปริยาย ที่เราเอาไว้จดจำพวกทักษะ ความสามารถต่างๆ นั้น ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่นัก เราอาจจะลืมเลือนไปบ้าง หากไม่ได้เล่นดนตรีนานๆ หรือไม่ได้ขี่จักรยานบ่อยๆ แต่ muscle memory จะพาความเคยชินทุกอย่างกลับมาให้เรา โดยที่เราไม่มีทางลืมทักษะที่เราเคยทำได้ จะบอกว่าเป็นแล้วเป็นเลยก็ใช่ แต่กับความจำชัดแจ้งมันไม่ได้เป็นแบบนั้น มันสามารถลืมเลือนได้ตามกาลเวลา หรือจากการกระทบกระเทือนของสมองด้วย อลิซาเบธ เฟลปส์ (Elizabeth Phelps) นักประสาทวิทยาที่ค้นคว้าเรื่องความทรงจำมานาน ได้บอกไว้ในสารคดี Explained บน Netflix ไว้ว่า “รายละเอียดความทรงจำราวครึ่งหนึ่ง เปลี่ยนไปในระยะเวลาหนึ่งปี แม้เราจะเชื่อว่าเราจำสิ่งนั้นได้แม่นยำก็ตาม”
เราอาจจะเห็นหลายคนที่มีความจำเป็นเลิศ คนที่สามารถจำและนับไพ่ในแบล็กแจ็กได้ คนที่จำค่าพายได้ยาวเหยียด หรือคนที่แข่งขันด้านความจำอยู่เป็นนิจ พวกเขาเหล่านั้นล่ะ ไม่มีปัญหาด้านความจำเหมือนพวกเราหรอ? ความจำเหล่านั้นของพวกเขา เกิดจากการฝึกฝนเพื่อเอาไว้จำโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะการแปลงเลขเป็นเสียง เป็นตัวหนังสือ การจำเป็นภาพ แผนผัง เรื่องราวต่างๆ ล้วนฝึกฝนมาเพื่อการแข่งขันทั้งสิ้น พวกเขาไม่ได้ฉลาดกว่า สมองใหญ่กว่า หรือความจำอื่นๆ ในชีวิตแม่นกว่าคนธรรมดาเท่าไหร่นัก
แล้วทำไมเราถึงมักจะจำผิดจำถูก?
อลิซาเบธยังกล่าวอีกว่า “เรามักจะจดจำเหตุการณ์สำคัญ โดยให้ความสนใจทั้งหมดไปที่จุดศูนย์กลางของเหตุการณ์นั้นๆ เราจึงลืมรายละเอียดรอบข้างไป” นั่นเพราะคนเราไม่สามารถจำทุกอย่างที่เกิดขึ้นได้ (หมายถึงทุกอย่างจริงๆ) เราจึงใช้ข้อมูลที่มีอย่างความทรงจำอื่นๆ ข้อเท็จจริง มาช่วยเติมช่องว่างที่หายไป หรืออาจจะเป็นอคติหรือความเชื่อที่เราอยากให้เป็นจริงจนเกิดเป็นความทรงจำลวง ที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงนั่นเอง เช่นเดียวกับตอนต้นที่เราเล่าถึงเรื่องกระเป๋าหมีพูห์ใบนั้น เราจำได้ว่าเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นที่ไหน ยังจำความรู้สึกแสนอบอุ่นตอนวิ่งไปหาพ่อ และความเขินอายตอนวิ่งกลับมาเอากระเป๋าได้ แต่กลับจำกระเป๋าใบนั้นเป็นใบอื่นไปเสียได้
ความทรงจำที่ถูกบิดเบือน จึงมักเป็นความทรงจำต่อเหตุการณ์มากกว่าความทรงจำเล็กๆ อย่าง ข้อเท็จจริง คำศัพท์ ชื่อสถานที่ เพราะในหนึ่งเหตุการณ์มีรายละเอียดมากมายเกิดขึ้นพร้อมกันและอยู่ตรงนั้น เราจึงจำใจความสำคัญของเหตุการณ์ได้จากความรู้สึกต่อเหตุการณ์นั้น จนลืมที่จะจดจำรายละเอียดรายล้อมไปด้วย เราเคยเล่น telephone game ไหม? ที่เราจะกระซิบข้อความต่อๆ กันจากคนแรกไปจนถึงคนสุดท้าย แล้วมาดูว่าข้อความนั้นจะเป็นข้อความเดิมหรือเปล่า เราสามารถเดาตอนจบได้อยู่แล้วว่า ข้อความที่ว่านั้นมักจะไม่ใช่ข้อความเดิมเมื่อถูกส่งต่อเรื่อยๆ จำคอนเซ็ปต์นี้ไว้ให้ดี เพราะความทรงจำของเราก็เป็นแบบนั้นเช่นกัน
ในสมองของเรา ไม่ได้ส่วนใดส่วนหนึ่งที่ทำหน้าที่กักเก็บความทรงจำโดยเฉพาะ หรือทำหน้าที่อยู่เพียงส่วนเดียว แต่เป็นการประกอบกันของสมองหลายส่วน ที่ทำหน้าที่เฉพาะตัวแตกต่างกันไป สมมติว่าเกิดเหตุการณ์รถชนต่อหน้าเรา ส่วนที่ได้ยินกันบ่อยๆ อย่าง ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) เป็นส่วนที่กักเก็บความจำชัดแจ้ง จะช่วยเราจดจำรายละเอียดของรถ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนอะมิกดาลา (Amygdala) เป็นส่วนที่ตอบสนองกับความรู้สึก เราจะจำได้ว่าเรากลัว ประหม่า ร้อนรนแค่ไหน เป็นต้น
ความทรงจำต่อเหตุการณ์จึงเป็นการเอาความจำจากหลายๆ ส่วนในสมองมาประกอบต่อกัน จึงสามารถเกิดความผิดพลาดได้เช่นเดียวกับ telephone game ในขณะที่เรารำลึกถึงอดีต สมองส่วนที่ทำหน้าที่จินตนาการก็เริ่มร่ายมนต์ให้เกิดภาพของอนาคตไปด้วย นอกจากการจำรายละเอียดที่ไม่สมบูรณ์ แล้วถูกเติมเต็มจากความจำลวงแล้ว จึงอาจเกิดภาพที่ไม่เคยมีมาก่อนอย่างภาพในอนาคตของจินตนาการเข้ามาเสริมด้วย เราเลยไม่อาจเชื่อความทรงจำของเราได้ทั้งหมดนั่นเอง
สิ่งที่เราเล่านี้ เป็นเพียงการย่อยเรื่องในสมองออกมาให้ง่ายแสนง่าย อาจลดทอนความซับซ้อนของมันลงไปบ้าง แต่หากอยากเดินเข้าสู่เขาวงกตแห่งความทรงจำของให้ละเอียดยิ่งขึ้น เราขอแนะนำสารคดี Explained บน Netflix ที่อาจช่วยให้เราเห็นภาพในเรื่องความจำนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เอ๊ะ ใช่หรือเปล่านะ?
อ้างอิงข้อมูลจาก