7 พันล้านคน หรือเทียบเท่ากับประชากรครึ่งหนึ่งของโลก คือตัวเลขของมนุษย์ที่กำลังมีชีวิตอยู่ใน ‘เมือง’ แถมจำนวนนี้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึงปีละ 60 ล้านคน เอาแค่กรุงเทพฯ ที่มีการประเมินว่า ในพื้นที่ต่อ 1 ตารางกิโลเมตรจะมีคนกระจุกตัวอยู่เฉลี่ยราว 5800 คน เราก็คงพอเดาได้ถึงปัญหาต่างๆ ตั้งแต่การจราจรแออัด ความหนาแน่นของที่อยู่อาศัย ไปจนถึงการเข้าถึงทรัพยากร แต่เมื่อ ‘เมือง’ ยังเป็นพื้นที่ของ ‘ความหวัง’ ถึงชีวิตที่ดีกว่า ความท้าทายของโลกยุคใหม่ก็คือ การควานหา ‘ไอเดีย’ ที่จะทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น
หลายคนคงเคยได้ยินคำเก๋ๆ อย่าง Smart City ที่เกี่ยวกับการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาทำให้เมืองน่าอยู่ แต่ก็ยังงงๆ ใช่ไหมว่า มันคืออะไร รูปร่างหน้าตาของเมืองสุดสมาร์ทต้องเป็นแบบไหน ไม่นานมานี้บริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนเมืองอย่าง อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เพิ่งประกาศตัวเป็น Tech Company รายแรกของวงการ ในชื่อ Ananda UrbanTech พร้อมใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์รูปแบบการใช้ชีวิตของคนเมือง และเพื่อให้เห็นภาพชัด นี่คือกรณีศึกษาที่น่าสนใจ…
1. แก้ปัญหาการเดินทางอย่างชาญฉลาด (Smart Travel Around the City)
ประมาณเกือบ 2 เดือนต่อปี ที่คนกรุงเทพต้องทิ้งเวลาในชีวิตให้แก่ปัญหาการจราจรบนท้องถนน แต่ด้วยนวัตกรรมก็ทำให้เกิดโซลูชั่นใหม่ๆ ที่จะมาแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้มากมาย เช่น ในซานฟรานซิสโกมีแอพฯ แสดงเส้นทางจักรยานและทางเดินเท้าเข้าสู่เมือง เพื่อกระตุ้นให้คนลดการใช้รถยนต์ หรือผลการศึกษาของ MIT ที่บอกว่า เพียงรถ 3000 คันในระบบRide-Sharing (การแชร์รถร่วมกันผ่านแอพฯ) ก็จะสามารถแทนที่รถแท๊กซี่ทุกคันในมหานครใหญ่อย่างนิวยอร์กที่มีมากถึง 13,000 คันได้
ส่วนในไทย โมเดลที่น่าจับตาคือ Haupcar บริการรถเช่าแบบบริการตนเองขั้นสูง หนึ่งในโซลูชั่นการประหยัดพลังงาน เพื่อให้ทุกคนแบ่งปันรถยนต์ระหว่างกันได้ตลอดเวลา ผู้ใช้สามารถเช่ารถยนต์ตามจุดสำคัญๆ ในกรุงเทพฯ ขับไปยังสถานที่ต่างๆ โดยจ่ายตามการใช้งานจริง ซึ่ง Ananda UrbanTech ผู้นำตลาดคอนโดมิเนียมติดรถไฟฟ้าที่ให้ความสำคัญกับการเข้าถึง ‘ระบบขนส่งมวลชน’ มาโดยตลอด ก็ได้เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีดังกล่าวและเข้าไปมีส่วนร่วม ยกระดับการใช้ชีวิตของคนเมืองอย่างเป็นรูปธรรม เปิดตัวโครงการนำร่องในคอนโด ไอดีโอ คิว จุฬา–สามย่าน และ ไอดีโอ โมบิ สุขุมวิท อีสท์เกสต์ เพื่อให้ลูกบ้านที่ไม่มีรถยนตร์เป็นของตนเอง สามารถขับรถเดินทางได้อย่างสะดวกเหมือนมีรถยนต์ส่วนตัว—ส่วน Haupcar นั้น วิธีการใช้งานก็แสนง่ายด้วยการดาวน์โหลดแอพฯ เลือกจุดบริการที่ใกล้ที่สุด เลือกเวลาที่ต้องการใช้ และยืนยันการจอง เมื่อถึงเวลาก็แค่ใช้บัตร haup cardปลดล็อกประตู
2. สร้างพื้นที่สุดสมาร์ทสำหรับการทำงาน (Make Smart Work Space)
ตามกฎหมายมีการกำหนดเวลาการทำงานสูงสุดไว้ที่ 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่เราต่างก็รู้ดีว่า ทุกวันนี้คนเมืองอย่างเราๆ ทำงานกันมากกว่านั้น ที่ทำงานก็ทำ กลับบ้านก็ทำ นอนหลับฝันยังทำ เห้อ!!!! เหนื่อย—แต่จะดีแค่ไหนถ้าเรามีสถานที่ทำงานที่เข้าใจเราอย่างแท้จริง และนั่นคือเหตุผลที่ทำให้สถานที่ทำงานแนว Co-Working Space และ Co-Living Space ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานที่เน้นสร้างเครือข่าย (Connection) ร่วมกันระหว่างสมาชิก เพื่อให้เกิดการแบ่งปันไอเดียและแชร์ประสบการณ์เกิดขึ้น ซึ่งก็มีผลวิจัยมากมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ เช่น 71% ของคนที่ทำงานในสถานที่แบบนี้จะมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น 82% มีแรงผลักดันเพิ่มขึ้น 70% บอกว่าพวกเขาสุขภาพดีขึ้น แต่ไม่ใช่ว่าพนักงานออฟฟิศอย่างเราๆ จะไม่มีทางเลือกเสียเมื่อไหร่…
ตัวอย่างก็เช่นAnanda Campus ของ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ที่เปลี่ยนออฟฟิศของตัวเองให้กลายเป็น Smart Office แห่งแรกของเอเชีย เพื่อเป็นก้าวสำคัญในการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กรให้ตอบรับกับแนวคิด Tech Company เอื้อให้การทำงานระหว่างพนักงานเป็นไปอย่างราบรื่น ด้วยการจัดการกับพื้นที่การทำงานอย่างชาญฉลาด มีพื้นที่ Town Hall สำหรับกิจรรมสันทนาการ หรือร่วมแบ่งปันความรู้และเรื่องราวดีๆ ระหว่างกัน ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และไอเดียใหม่ๆ แถมให้พนักงานระบุที่นั่งได้ตามความต้องการในแต่ละวัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานลดปัญหาจากการสื่อสาร หรือถ้าเครียดขึ้นมาเมื่อไหร่ ก็มีมุมพักผ่อนส่วนตัวจัดสรรไว้ให้หลบไปทำใจ หรือถ้าอยากบริหารอารมณ์ศิลป์ ก็ยังสามารถระบายสีสันและความในใจลงบนผนังของออฟฟิศที่อนุญาติให้ขีดเขียนได้ตามใจต้องการ ล้ำไปกว่านั้นคือ ระบบปรับอากาศ (Fresh Air) เพื่อลดและตรวจสอบค่าของคาร์บอนไดออกไซด์ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สร้างอากาศที่ดีให้แก่พนักงาน แถมยังใช้นวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาจัดการปัญหา เช่น ระบบลงทะเบียนออนไลน์ (Smart Registration System) เพื่อจองโต๊ะทำงานและห้องประชุมผ่านแอพฯ หรือการใช้แอพฯ Jabber ที่รวบรวมเอาทุกการสื่อสารมาไว้ในโปรแกรมเดียวทั้งทางภาพ เสียง ข้อความ การแชร์หน้าจอการประชุม ซึ่งจะถูกติดตั้งในสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ของพนักงานทุกคน เพื่อเป็นอีกหนึ่งในตัวช่วย
3. เพิ่มโอกาสการเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยี (Knowledge Accessibility)
สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เป็นอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงการพัฒนาเมืองนอกจากสิ่งปลูกสร้าง หรือนวัตกรรมใหม่ๆ นั่นก็คือ ‘คน’ การเพิ่มทักษะความรู้ให้แก่คนจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเมื่อคนสามารถปลดล็อกศักภาพของตัวเอง พวกเขาก็จะกลับมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงสถานที่ที่ตัวเองอาศัยให้ดีขึ้น ยิ่งเป็นเรื่องของเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราจึงต้องใส่ใจกับการกระจายโอกาส ‘การเข้าถึงความรู้’
ในระดับโลกนั้นมีกรณีศึกษาให้ได้ว้าวอยู่มากมาย เช่น ล่าสุด คุกแห่งหนึ่งของเมืองอัมเตอร์ดัมที่ปิดตัวไปแล้ว เพราะไม่มีนักโทษ ได้เปลี่ยนตัวเองให้เป็นศูนย์กลางความคิดสร้างสรรค์ในชื่อ Lola Lik ที่รวบรวมคนรุ่นใหม่ผู้มีพลังในการสร้างนวัตกรรมมาไว้ด้วยกัน แถมยังเป็นสถานที่พักพิงให้แก่ผู้อพยพมากถึง 1000 คน เพื่อมอบโอกาสการทำงานและการศึกษา ซึ่ง อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ก็ไม่ได้ละเลยในข้อนี้ โดย ชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บอกว่า “กลยุทธ์ที่สำคัญของอนันดาฯ คือการบริหารจัดการการเข้าถึงความรู้ด้านเทคโนโลยี และการจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากนวัตกรรมที่มีอัตราการล้มเหลวสูง” สิ่งที่น่าสนใจคือ พวกเขากำลังจะสนับสนุนระบบ Ecosystem หรือ ระบบนิเวศน์ของนวัตกรรม ซึ่งเป็นกลยุทธ์เพื่อผลักดันผู้ริเริ่มนวัตกรรมอื่นๆ นอกจากตัวเอง ด้วยการบ่มเพาะและเฟ้นหาธุรกิจใหม่ๆ ช่วยเหล่าสตาร์ทอัพให้เข้าถึงเครือข่าย เทคโนโลยี และ Know-How ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนด้านสถานที่ มอบโอกาสการเป็นพันธมิตร สนับสนุนการเดินทางร่วมกับทีมบริหารระดับสูงไปศึกษาอบรมยัง Silicon Valley’s Singularity University เพื่อนำการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์ และกุลยุทธ์ทางธุรกิจมาผสมผสานกัน จนกลาย เป็น UrbanTech Startup ที่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน และสิ่งนี้นี่เองจะช่วยให้เราเข้าถึงเทคโนโลยี ความคิด ความรู้ และผู้คนได้อย่างกว้างขวางโดยมีค่าใช้จ่ายน้อยลง
ไม่หมดเพียงเท่านั้น เพราะ Ananda UrbanTech ยังจะตั้งเงินกองทุนด้านนวัตกรรมเพื่อร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญ นอกจากนี้ในส่วนของบริษัทเองก็ได้นำระบบ Workplace by Facebook มาใช้ ซึ่งเป็นเครื่องมือให้พนักงานติดต่อสื่อสารกันได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการแลกเปลี่ยนความรู้ (Knowledge Sharing) ระหว่างกันและกัน
Cover Illustration by Namsai Supavong