พวกเราต่างขวนขวายหาสัตว์เลี้ยงมาอยู่ใกล้ตัวในบทบาท ‘นักบำบัด’ ที่ช่วยเยียวยาปัญหารบกวนจิตใจ 108 ตั้งแต่โรคซึมเศร้าจนถึงภาวะออทิสซึม เทรนด์เลี้ยงสัตว์เพื่อบำบัดทุกข์กำลังบอกอะไรผ่านความสัมพันธ์ต่างสายพันธุ์ นำมาสู่คำถามสำคัญที่ว่า หากเรามอบหน้าที่ให้กับสัตว์เลี้ยง เราพร้อมแค่ไหนที่จะรับผิดชอบต่อชีวิตอื่น มิใช่ตักตวงผลประโยชน์จากมันเพียงเพราะ คุณรู้สึกเศร้าเปล่าเปลี่ยว
ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มคนชอบดูภาพหรือคลิปสัตว์โลกตลกๆ ทำอะไรเปิ่นๆ ในโลกออนไลน์ คุณอาจจะจำเจ้า ‘เดเนียล’ ได้ มันนั่งมองปุยเมฆผ่านหน้าต่างเครื่องบินพาณิชย์ลำหนึ่ง ถ้าเจ้าเดเนียลเป็นมนุษย์ก็คงไม่น่ามีอะไรพิเศษจนต้องกล่าวถึง แต่มันดันเป็น ‘เป็ด’!
เดเนียลเป็นเป็ดหัวเขียวที่ได้นั่งเครื่องบินโดยไม่ต้องคุดคู้อยู่ในช่องแข็งใต้เครื่องบิน มันนั่งอยู่บนเบาะอย่างสบายอารมณ์ โดยเจ้าของยอมทุ่มทุนซื้อให้นั่งส่วนตัวในฐานะ ‘ผู้ยึดเหนี่ยวจิตใจ’ จากเหตุผลที่เดเนียลทำหน้าที่หลายครั้ง ในการช่วยเหลือมนุษย์ผู้เลี้ยงให้ผ่านภาวะเครียดหลังพบเหตุการณ์กระทบกระเทือนใจ (Posttraumatic stress disorder หรือย่อ PTSD) ได้สำเร็จ เจ้าของและเดเนียลจึงแยกกันไม่ได้ราวกับมีบุพเพสันนิวาสหรือโซ่ทองคล้องใจ ที่แม้แต่การโดยสารเครื่องบินก็จะมาพรากเราทั้งสองจากกันไม่ได้
คนทั่วไปอาจคิดว่าเป็นเรื่องขำขัน บ้าแล้ว! กับแค่เป็ดจะช่วยเยียวยามนุษย์ได้ขนาดไหนกัน เห็นบ่อยๆ ก็ตอนที่พวกมันมักถูกแขวนคอพับคออ่อนในร้านสุกี้เท่านั้น แต่เจ้าของยืนยันว่า ความเป็นเป็ดแบบเดเนียล นี่เองที่ทำให้เขาไม่ชิงฆ่าตัวตายไปเสียก่อน มันอยู่ข้างๆ เขายามที่ไม่มีมนุษย์ผู้ไหนต้องการ และช่วยลบภาพหลอนของเหตุการณ์ในอดีตที่รังควาญจิตใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ
ในประเทศสหรัฐอเมริกาอนุญาตให้สัตว์เลี้ยงโดยสารเครื่องบินร่วมกับเจ้าของได้ โดยมีข้อแม้ว่าต้องมีจดหมายรับรองจากแพทย์ที่ระบุว่า สัตว์เลี้ยงนั้นมีส่วนช่วยในการประคับประคองอาการป่วยของเจ้าของ จำเป็นต้องเดินทางไปด้วย ซึ่งหากเงื่อนไขครบถ้วน คุณก็สามารถเอา เป็ด ไก่ สุนัข แมว แม้กระทั้งหมูและนกหางนกยูง (จริงๆ ไม่ได้พูดเล่น มีคนทำมาแล้ว) ขึ้นเครื่องนั่งไปด้วยได้
ในปี 2017 สายการบิน Delta Air Lines มีสัตว์เลี้ยงโดยสารไปกับเจ้าของกว่า 250,000 ตัว ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าปี 2015 ถึงร้อยละ 150 โดยส่วนใหญ่เป็นสุนัข แมว หนูแฮมสเตอร์ แต่เริ่มมีสัตว์แปลกๆ (Exotic Pet) เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนดูเหมือนจะเป็นเทรนด์ที่น่าแปลกประหลาดไม่น้อย ถ้าที่นั่งข้างๆ คุณดันไม่ใช่มนุษย์ซะนี่
เราจึงเกิดคำถามชวนสงสัยว่า สัตว์เลี้ยงเหล่านี้เข้าอกเข้าใจบาดแผลทางจิตใจหรืออาการป่วยของมนุษย์ได้อย่างที่พวกเรารู้สึกขนาดนั้นไหม
ล่าสุดหนังสือประเภทสัตว์เลี้ยงบำบัด (แนวเฉพาะทางยิ่งกว่าหนังสือสัตว์เลี้ยงธรรมดา) ค่อนข้างขายดิบขายดีในอังกฤษและอเมริกากว่า หนึ่งในนั้นคือ หนังสือที่มีชื่อว่า Dog Sense and Cat เขียนโดย John Bradshaw นักสัตวมานุษยวิทยา (anthrozoology) จากมหาวิทยาลัย University of Bristol ที่ขายไปมากถึง 400,000 เล่ม เขาใช้ศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสัตว์ หรือศึกษาชีวิตทางสังคมของสัตว์ในวัฒนธรรมของมนุษย์ เพื่อตอบปราฏการณ์สัตว์บำบัดที่มีประชากรเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จากการป่วยไข้ของมนุษย์
ในหนังสือตอบคำถามน่าสนใจว่า มีหลักฐานงานศึกษาใดๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า สัตว์เลี้ยงช่วยบำบัดมนุษย์อย่างเชิงประจักษ์หรือไม่ คำตอบคือ “ยังไม่มี” งานวิจัยที่มีหลักฐานทางวิชาการชัดเจนในปัจจุบัน ซึ่งต้องยอมรับว่า ที่มันไม่มี เพราะส่วนหนึ่งงานศึกษาด้านสัตว์บำบัด (animal therapy) ยังมีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดในแวดวงวิชาการอยู่มาก
แม้ไม่มีหลักฐานก็ไม่ได้หมายความว่าไร้แนวโน้มไปเสียทีเดียว เพราะความเชื่อที่ว่าสัตว์เลี้ยงมีพลังในการเยียวยาความเจ็บป่วยในแง่บวกล้วนแพร่หลายมาก จากงานวิจัยปี 2014 ที่สำรวจทัศนคติของแพทย์ทั่วไปของสหรัฐอเมริกา โดยแพทย์ร้อยละ 97 เชื่อว่าสัตว์เลี้ยงมีพฤติกรรมที่ก่อให้เกิดแนวโน้มในการรักษาอาการป่วยทางจิตของมนุษย์ได้ ขนาดหมอเองก็ยังเชื่อและยังแนะนำบ้างตามโอกาส
ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติมาก (และก็ไม่เกินเลยไปนัก) ที่โรงพยาบาลเด็ก ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือสถาบันรักษาผู้ป่วยทางจิตเวช จะมีกิจกรรมที่ให้มนุษย์ทำร่วมกันกับสัตว์ เช่น นำลาตัวเล็กๆ ไปให้ผู้สูงอายุป้อนอาหาร พาแมวไปให้นักโทษในคุกเลี้ยง หรือเอาสุนัขไปนั่งฟังเด็กอ่านหนังสือในโรงเรียน ในสหราชอาณาจักรมีสุนัขทำหน้าที่บำบัดทางจิตพร้อมทำงานกว่า 4,000 ตัว นอกจากนั้นยังมีสัตว์สายพันธุ์อื่นๆ ไม่ต่ำกว่า 20 สายพันธุ์ที่มีพฤติกรรมคงเส้นคงว่า เช่น แกะ เต่า หมู นกแก้ว ฯลฯ โดยเชื่อว่า พลังของสัตว์เลี้ยงเหล่านี้มีความสามารถในการกระตุ้นความรู้สึกของการมีชีวิตให้กับผู้คนที่ถูกปฏิเสธจากสังคม และช่วยให้พวกเขาปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมได้อีกครั้ง
แม้จะยังไม่มีงานศึกษาแบบ Cause and Effect ที่ชัดเจน แต่ก็มีงานวิจัยทำนองว่า ครอบครัวที่เลี้ยงสุนัขมีแนวโน้มสุขภาพจิตและร่างกายดีกว่าครอบครัวที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์เลย (แต่อย่าลืมว่า คนที่พร้อมเลี้ยงสัตว์มักมีสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจที่ดีกว่าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยิ่งในกรณีเลี้ยงสุนัข ซึ่งอัตราที่เจ้าของหมามีบ้านเป็นของตัวเองถึง 3.5 เท่าเมื่อเทียบกับครอบครัวที่ไม่ได้เลี้ยงสัตว์) ดังนั้นสุขภาพที่ดีอาจมีปัจจัยร่วมหลายอย่างผ่านสิ่งแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจที่ล้วนมองข้ามไม่ได้
สัตว์เลี้ยงดูแลหัวใจ แล้วใครดูแลสัตว์เลี้ยง
โดยพื้นฐานที่สุด การที่คุณได้ลูบไล้ขนนุ่มๆ ของสุนัขก็ทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นผ่านการสัมผัส เมื่อคุณได้ใกล้ชิดกับสัตว์เลี้ยงฮอร์โมน Endorphin และ Oxytocin จะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งล้วนเป็นฮอร์โมนที่ส่งเสริมด้านความสุข ความดันโลหิตจะปรับลดลงมาอยู่ในระดับปกติ แต่นอกเหนือจากนั้นแล้วยังไม่มีหลักฐานจำเพาะใดๆโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น เมื่อมีสุนัขสักตัวเข้ามาในออฟฟิศคุณ การปรากฏตัวของมันจะทำให้อารมณ์ของผู้คนรอบๆ ดีขึ้น และช่วยเปลี่ยนบรรยากาศให้น่าอภิรมย์มากกว่าเดิม หรือมีงานวิจัยระบุว่า คนที่เลี้ยงสัตว์หรืออยู่กับสัตว์จะได้รับความน่าไว้วางใจมากขึ้น (คล้ายๆ กับใช้สัตว์ช่วยเสริมบุคลิก) หรืออีกนัยหนึ่งคือสัตว์เลี้ยงเองมีแนวโน้มให้ มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันเองง่ายขึ้น
คราวนี้เองที่คุณจะเห็นการใช้ประโยชน์จากสัตว์ในการบำบัดตั้งแต่ ช่วยเยียวยาภาวะ PTSD โรคซึมเศร้า หรือภาวะเสพติดต่างๆ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งพัฒนากลายเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ เกิดช่วงว่างที่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ไม่น้อย มนุษย์ใช้สัตว์เพื่อบำบัดหรือเป็นข้ออ้างเพียงแค่เราจะใช้ประโยชน์มันทางอ้อมด้วยเหตุผลที่ดูละมุนละม่อมกว่า
สวนสัตว์น้ำในหลายประเทศจึงหัวใสเปิดให้คนทั่วไปเข้ารับบำบัดกับปลาโลมา (dolphin therapy) ที่โฆษณาว่า การสัมผัสกับสัตว์น้ำแสนรู้ช่วยรักษาจิตใจ ให้คุณลงไปอยู่ในสระร่วมกับโลมาสนนราคาชั่วโมงละสูงถึง 20,000 บาท โดยยังใช้เหตุผลที่ข้างๆคูๆ แต่ก็เรียกเงินจากกระเป๋าคนที่พร้อมจ่ายหนักได้เพื่อแลกกับการใกล้ชิดโลมา มันอาจจะสนุกก็ได้ แต่ยังมีหลักฐานสนับสนุนน้อยมากว่าคุณจะได้ผลคุ้มกับเงินที่จ่ายไป ที่สำคัญไปกว่านั้น การรักษาด้วยสัตว์บำบัด (Animal Therapy) ไม่สามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ เพราะยังไม่ได้รับการยอมรับทางการแพทย์ ในกรณีคอร์สบำบัดกับโลมา มีองค์กร Whale and Dolphin Conservation ออกมาประกาศแบนธุรกิจดังกล่าว เนื่องจากรูปแบบของกิจกรรมมีความเสี่ยงเกินไปสำหรับมนุษย์และโลมา แม้เราจะเชื่อว่าโลมาเป็นมิตรขนาดไหนก็ตาม พวกมันยังคงมีสัญชาตญาณสัตว์ในธรรมชาติอยู่ดี
หากปราศจากการควบคุมและใช้งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์มาสนับสนุน สวัสดิภาพของสัตว์ต่างหากที่จะได้รับผลกระทบไปเต็มๆ จากการที่เรามอบหมายหน้าที่ใหม่โดยไม่ศึกษารอบคอบ นักวิชาการเกี่ยวกับพฤติกรรมสัตว์จึงเริ่มกังวลกับเทรนด์นี้ เพราะคุณจะเห็นสัตว์เหล่านี้จำเป็นต้องใช้ชีวิตในพื้นที่อันไม่เหมาะสมตามสายพันธุ์ เสี่ยงอันตราย มีสัญญาณทุพโภชนาการจากอาหารที่กิน และอาจตกอยู่ในเงื้อมือของมนุษย์ที่ปราศจากความรับผิดชอบ คิดจะใช้ประโยชน์จากพวกมันเพียงด้านเดียว ซึ่งคุณไม่มีทางรู้เลยว่า การปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์เลี้ยงและเจ้าของที่มีปัญหาหลังม่านที่คุณไม่เห็นเป็นอย่างไร พวกเขามีความพร้อมแค่ไหนในการเลี้ยงดู และเข้าใจธรรมชาติตามสายพันธุ์ของสัตว์แต่ละชนิด
ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นเริ่มชัดเจนเรื่อยๆ หากบรรดาหมอๆ ‘เชียร์’ ให้ผู้ป่วยของพวกเขาเลี้ยงสัตว์ในเชิงบำบัดมากเกินความจำเป็น เราอาจยิ่งเพิ่มปัญหาด้านสวัสดิภาพสัตว์ (Animal Welfare) แทน หากไม่มีการประเมินศักยภาพของผู้ป่วยในการดูแลสัตว์เลี้ยง หลายคนยังไม่เข้าใจว่า ต้องรับผิดชอบอย่างไรบ้างเพื่อให้สัตว์เลี้ยงมีสุขภาพที่ดี คุณต้องรู้จักโภชนาการสัตว์ สภาพแวดล้อมต้องปลอดภัย การดูแลเอาใจใส่ด้านความสะอาด นอกจากนั้นสัตว์เลี้ยงยังสามารถเป็นแหล่งพาหะของโรคติดต่ออื่นๆ ได้อีกหากเจ้าของปล่อยปะละเลย ซึ่งถ้าแพทย์ไม่ใช้องค์ประกอบเหล่านี้ร่วมด้วย (หรือตัวผู้ป่วยเองก็จำเป็นต้องประเมินตัวเองและยอมรับได้) อันตรายจะตกไปที่ทั้งคนและสัตว์เลี้ยง แทนที่จะบำบัดกลับเพิ่มปัญหามากกว่า
มีงานวิจัยหลายชิ้นของนักจิตวิทยา Hal Herzog จากมหาวิทยาลัย Western Carolina University ยืนยันว่า สัตว์บำบัดเองก็สามารถก่อปัญหาให้กับผู้เลี้ยงได้เช่นกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยจะรู้สึก ‘เบี่ยงเบน’ โรคที่กำลังเผชิญ ไม่แก้ปัญหาที่ปัจจัยหลักโดยตรง แต่จะหาสัตว์มาเป็นข้ออ้างเพื่อเลี่ยงการรักษาทางการแพทย์ เก็บปัญหาให้นานต่อไปเรื่อยๆ อาการป่วยก็จะแย่ลงกว่าเดิม
และที่มองข้ามไม่ได้คือ ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสัตว์อาจจะเลวร้ายลงเมื่อทั้งสองไม่สามารถปฏิบัติตัวให้ถูกต้องได้ ผู้ป่วยอาจลืมใส่ใจให้อาหาร ขังพวกมันไว้เป็นเวลานาน หรือใช้สัตว์เป็นเครื่องมือระบายอารมณ์ จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่เห็นได้บ่อยๆ ในหลายประเทศที่ปากก็ว่าต้องการเลี้ยงสัตว์เพื่อบำบัดจิตใจ แต่ขังสุนัขจำนวนมากจนกัดและ ‘กินกันเอง’ เพียงเพราะความรู้สึกที่ไม่ต้องการมันแล้ว หรือฉันป่วยเกินไปที่จะเลี้ยงดูพวกมัน
ดังนั้นกลับมาสู่คำถามที่ว่า คนซึมเศร้าต้องการสัตว์เลี้ยง แล้วสัตว์เลี้ยงต้องการอะไรจากคนซึมเศร้า เพราะหากเราปราศจากความเข้าอกเข้าใจทั้งอาการของโรคที่มนุษย์เผชิญและสวัสดิภาพที่สัตว์ต้องการ กลายเป็นว่า ‘ทั้งคนและสัตว์ป่วยกันทั้งคู่’ ก็ยิ่งซ้ำเติมอาการของโรคให้ทวีคูณหนักขึ้นอีก
มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่มีทัศนคติต่อต้านสัตว์เลี้ยง (Anti-Pet) หรอก หากจะไม่สนับสนุนให้เลี้ยงสัตว์เลยก็จะเป็นการบิดเบือนเกินไป แต่ความต้องการเลี้ยงสัตว์อย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอเสียแล้ว เราอยากเห็นความรับผิดชอบและการสร้างความรู้ความเข้าใจในธรรมชาติของสัตว์ให้เกิดมากขึ้น
สัตว์เลี้ยงที่แสนน่ารักเป็นเพื่อนที่ดีของคุณและครอบครัว พวกมันเป็นกำลังใจให้คุณเห็นความงามของชีวิต แม้ตัวคุณเองจะรู้สึกว่าลมปราณแห่งชีวิตได้ระเหิดหายไปจากร่างแล้ว แต่เมื่อมองไปยังแววตาอันไร้เดียงสา อาจมอบความรู้สึกว่าโลกนี้ยังมีสรรพสิ่งที่ดำเนินร่วมกันกับคุณ ทุกสิ่งทุกอย่างมีเงื่อนไขสำคัญคือ ‘ความรับผิดชอบ’ เมื่อคนและสัตว์เข้าใจกันตรง ความสัมพันธ์นี้จะมอบความหมายที่ดีงามต่อทุกชีวิตอย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Why Do People Think Animals Make Good Therapists? Harold Herzog, Western Carolina University
animalstudiesrepository.org - Are the Results of Animal Therapy Studies Unreliable?
www.psychologytoday.com - Cat Sense: How the New Feline Science Can Make You a Better Friend to Your Pet
www.amazon.com - Dolphin-Assisted Therapy: Claims versus Evidence
www.ncbi.nlm.nih.gov