หากย้อนกลับไปวันนี้ในปีก่อน หลายคนคงลุ้นและใจจดใจจ่อกับผลการเลือกตั้งที่พวกเราต่างตั้งตารอมากว่า 5 ปี แต่แล้วความวุ่นวายและสาพัดเรื่องราวก็ตามมา ประหนึ่งว่าเป็นสมรภูมิการเลือกตั้งในหนังเรื่องหนึ่ง
The MATTER ชวนย้อนไปดูเหตุการณ์ความวุ่นวายและสารพัดคำถามที่ได้คำตอบบ้างไม่ได้คำตอบบ้าง แล้วความทรงจำเกี่ยวกับการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562 ของแต่ละคนเป็นยังไงกันบ้าง
คะแนนเสียงของคนไทยในนิวซีแลนด์
ความวุ่นวายเริ่มต้นก่อนวันเลือกตั้งจริงเมื่อคะแนนเสียงของคนไทยในนิวซีแลนด์ที่ออกมาใช้สิทธิใช้เสียงกับหายเข้ากลีบเมฆไปเสียเฉยๆ โดยกกต. แจงว่าบัตรเลือกตั้งล่วงหน้าจากนิวซีแลนด์ 1,542 ใบ นั้นไม่ได้เรียกว่าบัตรเสียนะ แต่เป็น ‘บัตรที่ไม่ถูกนำมานับคะแนน’ เฉยๆ เท่านั้นเอง
โดยบัตรเลือกตั้งล่วงหน้านอกราชอาณาจักรของคนไทยในนิวซีแลนด์นั้น ถูกส่งมาพร้อมกับถุงเมล์ทางการทูต ในคืนวันที่ 23 มี.ค. แต่ทางกระทรวงการต่างประเทศจำเป็นต้องจัดเตรียมเอกสารเพื่อประกอบการนำถุงเมล์ทางการทูตออกมาตามขั้นตอน จึงไปรับวันที่ 24 มี.ค. ซึ่งไม่ทันขั้นตอนการคัดแยกเพื่อส่งไปตามหน่วยเลือกตั้งตามๆ ตามภูมิลำเนาของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ในด้านการบินไทยก็บอกว่า ถุงเมล์ดังกล่าวมาถึงไทยราวสองทุ่มเศษ ของวันที่ 23 มี.ค. และแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องมารับในเวลา 22.00 น.ของวันเดียวกัน แต่กว่ากระทรวงการต่างประเทศจะมารับ ก็เป็นเวลา 19.30 น.ของวันที่ 24 มี.ค. แล้ว
ส่วนการลงโทษเป็นยังไงต่อไป ใครรับผิดชอบกับความผิดพลาดนี้ ก็…ยังไม่มีคำตอบ
คะแนนที่เพิ่มขึ้นในข้ามคืน one night miracle!
สิ่งที่หลายคนน่าจะจำกันได้คือคะแนนที่พุ่งขึ้นมามากเป็นพิเศษจนชวนให้สงสัย แถมข้อมูลตัวเลขกับบัตรที่ถูกใช้ ยังไม่ตรงกับจำนวนผู้ใช้สิทธิอีก จนคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เองก็ออกมาทวีตถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า “หลังปิดหีบลงคะแนน 24 มี.ค. 21.30 น. กกต.แถลงผลการลงคะแนนว่ามีผู้มาใช้สิทธิ์ 65.96% รวมจำนวน 33,775,230 คน 28 มี.ค. 14.50น. กกต.แถลงอีกครั้ง ผู้มาใช้สิทธิ์เพิ่มขึ้นเป็น 74.69% จำนวนเพิ่มเป็น 38,268,375 คน 4วันมี บัตรเกิดใหม่ในหีบ 4,493,145 ใบ” พร้อมแฮชแท็ก #แบบนี้ก็ได้เหรอคะ
ทางกกต. ออกมาชี้แจงว่าเป็นเพราะ ‘บัตรเขย่ง’ ที่มีหมายความว่า มีผู้ไปรายงานตัวใช้สิทธิ แต่อาจรอคิวนาน หรือเกิดเหตุอื่นกระทันหัน ทำให้ต้องออกจากแถวที่ต่อคิวลงคะแนน หรือพูดง่ายๆ คือไปรายงานตัวใช้สิทธิ แต่อาจรอคิวนาน เลย ‘สละสิทธิ’ จึงเป็นที่มาว่าทำไมคะแนนถึงได้ดูแปลกๆ
ทหารที่เข้ามาดูในคูหาเลือกตั้ง
“แอบมองเธออยู่นะจ๊ะ” อีกหนึ่งเหตุการณ์ที่หลายคนจับตามองคือการที่เหล่านายทหารออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่แล้วก็มีคนสังเกตว่ามีนายทหารคนหนึ่งคอยเดินเข้าไปดูในคูหาระหว่างที่นายทหารคนอื่นๆ กำลังลงคะแนนเสีย เกิดเป็นคำถามตามมาว่า ทำแบบนี้ไม่ผิดหรือ? ทำไมถึงปล่อยให้ทหารนายนี้เข้าไปในคูหาได้
ซึ่ง กกต. ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ออกมาอธิบายว่า ทหารผู้ที่ชะโงกเข้าไปดูการลงคะแนนเป็นผู้ที่จะลงคะแนนในลำดับต่อไป และหลังจากลงคะแนนแล้วก็ได้ออกจากหน่วยเลือกตั้งไป จึงมีการชะโงกมองทหารผู้ที่กำลังลงคะแนนเพียงครั้งเดียว แต่ก็ได้มีการสั่งการให้ตรวจสอบและหากกระทำผิดจริงก็จะให้ลงคะแนนเลือกตั้งของหน่วยเลือกตั้งนี้ใหม่…มั้ง?
กกต.หาเครื่องคิดเลขเจอยัง?
หลังปิดหีบเลือกตั้ง นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต. ก็ได้แถลงสรุปผลเลือกตั้ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการ โดยแจกแจงสถานการณ์การเลือกตั้ง และข้อสงสัยต่างๆ ที่เกิดขึ้น และเมื่อมีนักข่าวถามถึง การคำนวณจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่สูตรการคำนวณยังคงงงๆ ประธานกกต. ก็ตอบออกมาสั้นๆ ว่า “ผมไม่มีเครื่องคิดเลข”
จบ.
การคำนวนสูตร แบบฉบับของกกต. ที่ขอให้ศาลช่วยคิดหน่อย
แม้ว่าสูตรการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อจะมาจากการคิดค้นโดยกกต. เอง แต่เพราะยังหาเครื่องคิดเลขไม่เจอ เลยคำนวณไม่ได้ กกต. จึงไปขอให้ ศาลรัฐธรรมนูญช่วยคำนวณให้หน่อย ซึ่งในวันที่ 24 เม.ย. ศาลรัฐธรรมนูญมีมติไม่รับคำร้อง และบอกว่าเป็นหน้าที่และอำนาจของกกต. เอง
ทำเอาหลายๆ คนสงสัยถึงความโปร่งใสของกกต. ซึ่งเกิดเหตุหลายเรื่องราวนอกจากการคำนวณสูตรส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะยังมีเรื่องอื่นๆ เช่น ผู้เสียชีวิตแต่มีชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การพิจารณาบัตรดีบัตรเสียที่ยังไม่มีมาตรฐาน หรือการลงโทษบางพรรคการเมืองและปล่อยบางพรรคการเมือง
แล้วยังไงต่อนะ?
ถามไม่ตรงคำตอบ กับโต๊ะจีนพลังประชารัฐ
หลังจากสำนักข่าวอิสราเผยแพร่ให้เห็นเอกสารแผนผังโต๊ะที่นั่งในงาน ซึ่งมีชื่อบุคคลซื้อโต๊ะที่คล้ายชื่อหน่วยงานราชการ คือ คลัง 20 โต๊ะ ททท 3 โต๊ะ กทม 10 โต๊ะ ซึ่งผู้บริหารทุกหน่วยงานปฏิเสธ ซึ่งต่อมา นายศรีสุวรรณ จรรยา ก็ได้นำเรื่องนี้ไปร้อง กกต. ใน 3 ประเด็น คือ มีข้าราชการหรือหน่วยงานรัฐร่วมบริจาคมั้ย มีเจ้าหน้าที่ของรัฐมาร่วมซื้อโต๊ะมั้ย และทำไมนิติบุคคลบางแห่งที่บริจาคมีผลประกอบการขาดทุนถึงมีเงินบริจาคได้
ซึ่งต่อมา พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. ตอบผลการพิจารณาคำร้องของนายศรีสุวรรณว่า ไม่พบบุคคลต่างชาติร่วมบริจาค ไม่มีความผิด ไม่เข้าข่ายยุบพรรค ก็ชวนเอางงตามๆ กันไปว่าฉันถามอะไรไป แล้วเธอตอบอะไรมา แต่เอาเป็นว่าพลังประชารัฐก็รอดไป
ประยุทธ์ ver.ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
อีกประเด็นที่ทำเอางงๆ ว่าตกลงแล้วยังไงกันแน่ ก็คือตำแหน่งของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังจากการเลือกตั้งมีข้อถกเถียงถึงคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เพราะพลเอก ประยุทธ์ นั้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แล้วอย่างนี้เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่ เพราะในเพจเฟซบุ๊กก่อนหน้าก็ระบุว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ก็ที่จะเปลี่ยนในภายหลังว่าไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐแล้วน้า
ซึ่งผลออกมาว่า ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณาว่าตำแหน่งหัวหน้า คสช. ไม่อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาหรือการกำกับดูแลของรัฐหรือหน่วยงานของรัฐใด เป็นตำแหน่งที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายโดยมีอำนาหน้าที่เป็นการเฉพาะชั่วคราว ก็เลยไม่นับว่าเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
อ่า แล้วเธอเป็นอะไรสำหรับฉันกันแน่นะ
ประชาธิปไตยหลังเลือกตั้ง
(…)