เคยสงสัยมั้ยว่า ทำไมคนฉลาดบางคนถึงมีความคิดแปลกๆ ความเชื่อประหลาดๆ หรือคนที่เข้าวัดทำบุญอยู่เสมอ ทำไมถึงสนับสนุนเรื่องที่ผิดบาปอย่างมหันต์ได้ และยังมองว่าตนเองกำลังทำสิ่งที่ถูกต้องอยู่ ดูเผินๆ อาจจะคิดว่ามนุษย์ก็แค่บกพร่องทางความคิดได้ แต่ลึกๆ แล้ว นั่นอาจจะเป็นเพราะพวกเขามีการหาเหตุผลมาป้องกันความคิดหรือความเชื่อของตัวเอง ซึ่งเหตุผลดังกล่าวเกิดจากปัจจัยที่เราเรียกกันว่า ‘อคติ’
อคติทางความคิด (cognitive bias) คือ ความผิดพลาด ความบกพร่อง หรือความคลาดเคลื่อนในการตัดสินใจของมนุษย์ อันเนื่องจากการสร้าง ‘รูปแบบความจริง’ บางอย่างขึ้นมา ซึ่งการที่มนุษย์มีอคตินั้นไม่ใช่เรื่องที่แปลก หรืออาจเรียกได้ว่าเราทุกคนล้วนแล้วแต่มีอคติทั้งนั้น เพราะประสบการณ์ การรับรู้ และความเชื่อหล่อหลอมให้แต่ละคนมีการตัดสินใจที่แตกต่างกันออกไป
แต่สิ่งที่ทำให้เราเรียกอคติทางความคิดว่าเป็น ‘ความผิดพลาด’ นั่นก็เพราะมันทำให้เราเลือกที่จะรับข้อมูลอยู่เพียงด้านเดียว นั่นก็คือข้อมูลที่ตรงกับความคิดเราเอง แม้จะมีอีกข้อมูลที่มีหลักฐานหนักแน่นกว่ามากองอยู่ตรงหน้าก็ตาม แต่เราก็เลือกที่จะหาอะไรมาสนับสนุนชุดความคิดของเราอยู่ดี และอาจเหมารวมไปด้วยว่าคนอื่นๆ ในสังคม จะต้องมีชุดความคิดที่คล้ายคลึงกับเราอย่างแน่นอน และความผิดพลาดนี้ก็จะทำให้เราปฏิเสธความเห็นต่าง คำแนะนำ คำวิจารณ์ หรือปิดกั้นโอกาสที่จะได้รับชุดข้อมูลที่เป็นความจริง (ที่เราไม่ได้สร้างขึ้นมาเอง)
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องศึกษาว่าความคิด การกระทำ หรือตัดสินใจของเรา เกิดจากปัจจัยทางความคิดแบบไหนบ้าง ซึ่งจริงๆ แล้วอคติทางความคิดถูกจำแนกออกมาได้ถึง 180 กว่ารูปแบบเลย แต่เราจะขอหยิบมาเพียง 10 รูปแบบ ที่ดูจะเกี่ยวข้องการกับการรับข่าวสารหรือการบริโภคของคนในยุคนี้มากที่สุด
Confirmation Bias : การที่เรารับแต่ข้อมูลที่ตรงกับความเชื่อของตัวเอง และปิดกั้นข้อมูลที่ขัดแย้ง
บางครั้งเรามีอคติในการรับข้อมูลข่าวสาร โดยจะเลือกรับแต่ข้อมูลที่ยืนยันความเชื่อเดิมของตัวเองเท่านั้น และกำจัดข้อมูลที่ขัดแย้งกับความเชื่อตัวเองทิ้งไป เช่น การเปิดดูแต่ข่าวช่องเดียวซ้ำๆ เพราะข่าวช่องนั้นรายงานข้อมูลที่สนับสนุนความเชื่อของเราเอง
Cognitive Dissonance : การที่เราหาเหตุผลมาเข้าข้างความเชื่อตัวเอง เพื่อให้เกิดความสบายใจ
เมื่อเราเจอข้อมูลที่ไม่สอดคล้องหรือไม่ลงรอยกับความเชื่อของตัวเอง เราจะมีอาการสั่นคลอน อึดอัด ไม่สบายใจ และจะเริ่มหาเหตุผลมาคิดเข้าข้างความเชื่อนั้น เพื่อปลอบใจตัวเอง เช่น เมื่อเราซื้อสินค้าร้านหนึ่งในราคา 20 บาท แต่อีกสองวันต่อมา เราเจอสินค้านั้นลดราคาเหลือ 15 บาท เราจึงปลอบใจตัวเองว่า ไม่เป็นไร ถือว่าเงิน 5 บาทนั้น ใช้ซื้อความรวดเร็วในการได้สินค้านั้นมาใช้
Halo Effect : อคติที่เกิดจากรูปลักษณ์ภายนอก คิดว่าคนนั้นดูดี นิสัยต้องดีด้วยแน่ๆ
เราเรียกอีกอย่างว่าเป็น ‘กระบวนการคิดเชิงเทิดทูน’ นั่นก็คือการที่เรานำบุคลิก รูปร่าง หรือหน้าตาของคนๆ หนึ่ง หรือของสิ่งหนึ่ง มาบดบังคุณสมบัติอื่นๆ หมด โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว เช่น การมองว่าคนๆ นี้สุภาพ เรียบร้อย ไม่มีทางไปข่มขืนใครได้อย่างแน่นอน
Blind Spot Bias : การคิดว่าตัวเองไม่มีคติ คนอื่นต่างหากที่มีอคติต่อตัวเราเอง
บางครั้งเรามองไม่ออกหรอกว่าตัวเองไม่มีคติ แต่คนอื่นนั่นแหละที่มีอคติกับเรา ซึ่งจุดบอดด้านอคตินี้เองที่ทำให้เราประเมินตัวเองในแง่ดีมากเกินไป และทำให้เราปฏิเสธข้อเสนอแนะของคนอื่น เพราะคิดว่าคนอื่นมีคติต่อตัวเรา
False Consensus Effect : การคิดว่าใครๆ ก็คิดแบบเดียวกับเราทั้งนั้น
หรือเรียกว่า ‘ปรากฏการณ์การเห็นพ้องเทียม’ เป็นการที่เราคิดว่าความคิดของเรานั้นถูก และทึกทักไปว่าใครๆ ก็คิดแบบนี้เหมือนกันทั้งนั้น เพื่อสนับสนุนความคิดของตัวเอง ซึ่งถือว่าเป็นการตีความความคิดของคนส่วนใหญ่ที่ผิดพลาด จนทำให้เกิดการเหมารวมบางอย่างในสังคม เช่น การทึกทักว่าใครๆ ก็ชอบคนผิวขาว ขาเล็ก หน้าอกใหญ่ทั้งนั้นแหละ
Fundamental Attribution Error : อคติต่อความผิดพลาดของตัวเอง มองความผิดของตัวเองเล็กน้อยกว่าของคนอื่น
เวลาเกิดความผิดพลาด มนุษย์มักตัดสินความผิดของตัวเองเล็กน้อยกว่าคนอื่น หรือมองว่าความผิดพลาดของคนอื่นเกิดจากบุคลิกหรือนิสัย แต่ความผิดพลาดของตัวเองเกิดจากสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ เช่น คนอื่นมาทำงานสายเพราะตื่นสาย แต่เรามาทำงานสายเพราะบ้านอยู่ไกลหรือรถติด หรือที่เรียกอีกอย่างว่า ความผิดเขาเท่าภูเขา ความผิดเราเท่าเส้นผม
Bandwagon Effect : การคิดหรือทำอะไรตามคนส่วนใหญ่ เพื่อให้อยู่ในกระแสนิยม
การที่เราแห่ทำอะไรตามกัน ใช้ตามกัน หรือซื้อของตามกัน เพื่อให้ตัวเองอยู่ในกระแสนิยม เนื่องจากมนุษย์จะรู้สึกปลอดภัยเมื่อรู้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของสังคมส่วนใหญ่ หรือบางครั้งเราเลือกที่จะยอมจำนนต่อความคิดหรือการกระทำดังกล่าว เนื่องจากไม่อยากรู้สึกแปลกแยก หรือที่เรียกว่าคิดแบบ Groupthink ทำให้ไม่สามารถตัดสินใจด้วยตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Stereotypical Bias : อคติที่เกิดจากการนำสิ่งหนึ่งมาเหมารวมทุกสิ่ง โดยไม่มองบริบทที่แตกต่าง
บางครั้งเราเผลอนำลักษณะนิสัยหรือคุณสมบัติทั่วไปของ เช่น เพศ เชื้อชาติ หรือฐานะทางสังคมของบุคคลหนึ่ง มาอธิบายภาพรวมกลุ่มคนที่มีลักษณะคล้ายกันที่เหลือทั้งหมด โดยปราศจากการมองบริบทอื่นๆ หรือไม่เห็น ไม่ยอมรับความแตกต่างของบริบท เช่น คนเอเชียจะต้องเนิร์ด เรียนเก่ง หรือคนผิวสีจะต้องแร็ปหรือเต้นเก่ง
Anchoring Bias : การปักใจเชื่อในข้อมูลแรกที่ได้รับ จนไม่หาข้อมูลด้านอื่นประกอบ
เรามักจะตื่นเต้นกับข้อมูลแรกที่ได้รับ และจดจำมันได้ดี ทำให้เราเชื่อข้อมูลนั้นอย่างสนิทใจ หรือปักใจเชื่อโดยไม่หาข้อมูลอื่นๆ มาสนับสนุน ซึ่งความลำเอียงหรืออคตินี้ ทำให้การโฆษณาหรือการตลาดของแบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญกับความประทับใจแรกมากขึ้น
Self-serving Bias : อคติที่เกิดจากการเข้าข้างตัวเองมากเกินไป
คือการที่เราหาเหตุผลหรือความชอบธรรมมาเข้าข้างตัวเองในการทำสิ่งที่ไม่ดี ทำให้มาตรฐานในการตัดสินตัวเรา แตกต่างจากมาตรฐานในการตัดสินคนอื่นด้วย เช่น ผู้ใหญ่บางคนอาจใช้วัยวุฒิในการข่มเหง รังแก หรือริดรอนสิทธิ์ของผู้เยาว์ เพราะมองว่าตัวเองอาบน้ำร้อนมาก่อน มีประสบการณ์มากกว่าคนที่เด็กกว่า
แม้การตรวจสอบอคติของตัวเองจะเป็นเรื่องที่ดีและควรทำ เพื่อไม่ให้การตัดสินใจอะไรบางอย่างในชีวิตผิดพลาด แต่การจะมองเห็นอคตินั้นและกำจัดมันทิ้งเสีย ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ง่ายๆ เนื่องจากมันเปรียบเสมือนการทลายกำแพงความเชื่อหรือความมั่นใจบางอย่างที่เราสร้างไว้มานาน ทางที่ดี อาจจะลองแชร์สิ่งที่ตัวเองคิดกับเพื่อนหรือคนรอบข้างดูก่อน เพื่อเช็คว่าการที่คิดแบบนี้ เป็นเพราะเรามีอิทธิพลหรือความลำเอียงบางอย่างครอบงำอยู่หรือไม่ แล้วการที่เขาคิดแบบนั้น เป็นเพราะเขาถูกหล่อหลอมด้วยประสบการณ์หรือความเชื่อที่แตกต่างจากเรายังไงบ้าง เพื่อให้การตัดสินใจที่จะพูดหรือทำอะไรในครั้งต่อๆ ไปมีสติมากยิ่งขึ้น