ร่างทรงเป็นเรื่องที่กำลังอยู่ในความสนใจ ถ้าเราตัดประเด็นเรื่องการหลอกลวง การทำมาหากินบนความเชื่อ ไปจนถึงเรื่องร่างทรงแท้ร่างทรงเทียมออกไป ร่างทรงเองเป็นสิ่งที่อยู่ในสังคมมนุษย์มาอย่างยาวนาน เรามักมีคนที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างโลกใบนี้กับโลกที่มองไม่เห็น นอกจากคำตอบพื้นฐานที่ว่าร่างทรงทำหน้าที่ตอบและเป็นที่พึ่งทางใจแล้ว การมีอยู่ของร่างทรงยังมีมิติทางวัฒนธรรมที่ซับซ้อน ทั้งประเด็นเรื่องการรักษาเยียวยา อำนาจ และเพศสถานะ
ในพื้นที่ประเทศไทยเรามีร่างทรงปรากฏอยู่ในหลายๆ วัฒธรรม นอกจากร่างทรงที่เราคุ้นๆ แบบร่างทรงองค์เทพแล้ว ในวัฒนธรรมของกลุ่มชนก็จะมีพิธีกรรมที่มีการทรงเจ้าประกอบด้วย การทรงนี้มักเป็นการทรงดวงวิญญาณบรรพบุรุษ หรือดวงวิญญาณที่กลุ่มชนเชื่อว่าเป็นใหญ่ในพื้นที่นั้นๆ หนึ่งในฟังก์ชั่นของการทรงดังกล่าวมักเกี่ยวข้องกับการรักษาเยียวยาความเจ็บป่วยของสมาชิกในชุมชน
ร่างทรงคือการที่มนุษย์หยิบยืมเสียงหรือตัวตนจากโลกที่อยู่เหนือกว่าตัวเองมาใช้ ในวัฒนธรรมกลุ่มชน ร่างทรงมักเป็นผู้หญิง งานศึกษาจึงพบว่าการทรงเจ้าจึงมีฟังก์ชั่นทางสังคม เป็นการที่ผู้หญิงสามารถมีอำนาจ มีเสียงขึ้นมาท่ามกลางสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ได้ จากร่างทรงแบบดั้งเดิมถึงยุคปัจจุบัน ร่างทรงในเมืองเองก็มักเป็นผู้หญิงไปจนถึงเพศทางเลือกต่างๆ และร่างทรงเองในฐานะสิ่งที่มาจากยุคก่อนหน้าก็ต้องมีการจัดการปรับตัวไปตามโลกโลกาภิวัตน์
ด้วยความที่ร่างทรงเป็นผลผลิตของสังคมและมีความซับซ้อนยอกย้อนในตัวเอง The MATTER จึงชวนไปดูและเข้าใจร่างทรงในมิติที่หลากหลายผ่านงานวิจัย 6 ชิ้น หลายชิ้นเนื่องด้วยเป็นงานศึกษาเก่าอาจจะหาอ่านออนไลน์ยากเล็กน้อยต้องลองไปเล็งที่ห้องสมุดใหญ่ๆ
ร่างทรง: บทบาทที่มีต่อสังคมปัจจุบัน กรณีศึกษาที่อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา, นิภาวรรณ วิรัชนิภาวรรณ (2532)
วิทยานิพนธ์ของ นิภาวรรณ เป็นการลงไปศึกษาร่างทรงด้วยการลงภาคสนาม เป็นการเก็บข้อมูลและประมวลออกมาด้วยวิธีการทางมานุษยวิทยา งานศึกษานี้พูดถึงทั้งสภาพสังคม ร่างทรง กระบวนการเข้าทรง และผลกระทบของร่างทรงที่มีต่อสังคม ข้อค้นพบคือพบคำตอบคลาสสิกของร่างทรง ประชาชนใช้ร่างทรงเป็นที่พึ่งทางใจ โดยเฉพาะในการดิ้นรนต่อสู้ในโลกปัจจุบัน ในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิต ในขณะที่ร่างทรงก็มีสถานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ข้อสังเกตหนึ่งที่อธิบายว่าทำไมร่างทรงจึงยังคงอยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงได้ คือตัวร่างทรงเองก็มีการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยเสมอ เช่น มีการอัพเดตพิธีกรรมและการแต่งกายตามสมัย หรือในการแก้ปัญหาทางสุขภาพก็มีการให้คำแนะนำอิงการแพทย์สมัยใหม่ผสมกับความเชื่อ
ทรงเจ้าเข้าผีในวัฒนธรรมสุขภาพไทย, พัฒนา กิติอาษา (2544)
งานศึกษาเรื่อง ‘ทรงเจ้าเข้าผีในวัฒนธรรมสุขภาพไทย’ เป็นหนึ่งในงานศึกษาที่ให้ความสนใจสังคมไทยในทศวรรษ 2540 อันเป็นช่วงที่พื้นที่ต่างๆ ของไทยกำลังเผชิญความเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ แม้ว่าบริการทางการแพทย์สมัยใหม่เริ่มแพร่หลาย แต่การรักษาพยาบาลแบบเดิมด้วยความเชื่อยังคงดำรงอยู่ พัฒนา กิติอาษา บอกว่าเราจะใช้แค่กรอบความคิดเรื่องเหตุผลเพื่ออธิบายร่างทรงและความเชื่อไม่ได้ การมีจริงหรือไม่มีจริงของการทรงผี หรือรักษาโรคหายได้จริงหรือไม่ ไม่สำคัญเท่าความเข้าใจว่าการทรงเจ้าเข้าผีให้คำอธิบายหรือเยียวยาในส่วนที่การแพทย์สมัยใหม่ให้ไม่ได้อย่างไร เช่น การรักษาที่ตอบคำถามว่าทำไมเราถึงป่วย ไปจนถึงการรักษาที่แยกผู้ป่วยออกมาจากครอบครัวเครือญาติ งานศึกษาชิ้นนี้วิเคราะห์การทรงเจ้าเข้าผีในฐานะส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมสุขภาพของไทย ลงไปศึกษาหมอลำทรง หมอลำผีฟ้า เจ้าก๊กผีฟ้อน
Spirits, power and discourse of female gender: The Phi Meng cult in northern Thailand, Tanabe Shigeharu (2534)
Tanabe Shigeharu เป็นนักวิชาการที่สร้างองค์ความรู้ทางมานุษยวิทยาและสังคมวิทยาให้กับบ้านเรามากมาย ในแง่ของคนทรง Shigeharu ก็มีผลงานที่ลงไปศึกษาพิธีกรรมและการแพทย์พื้นบ้านที่เกี่ยวข้องกับคนทรงและการทรงเจ้า ‘Spirits, power and discourse of female gender: The Phi Meng cult in northern Thailand’ เป็นงานที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ของเพศหญิงในมิติของอำนาจในประเพณีการฟ้อนผีเม็งในภาคเหนือ ข้อเสนอหนึ่งคือบอกว่า ด้วยความที่พื้นที่ความเชื่อและศาสนาของพุทธเถรวาทไม่มีพื้นที่ให้ผู้หญิง การทรงเจ้านี้จึงเป็นพื้นที่ที่ผู้หญิงได้มีอำนาจผ่านความเชื่ออีกชุดหนึ่ง บทความนี้อยู่ในหนังสือ Thai Constructions of Knowledge เป็นรวมบทความองค์ความรู้ว่าด้วยเรื่องไทยจากการประชุมวิชาการในปี 1988 ของวิทยาลัยบูรพคดีศึกษาฯ ลอนดอน (SOAS)
ร่างทรงและพื้นที่ทางสังคมของคนข้ามเพศ, กิ่งแก้ว ทิศตึง (2559)
จากงานศึกษาร่างทรงทางภาคเหนือในชุมชนดั้งเดิม บอกว่าร่างทรงทางเหนือมีประเด็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างเพศชายและหญิง ในงาน ‘ร่างทรงและพื้นที่ทางสังคมของคนข้ามเพศ’ งานศึกษานี้เลือกกลุ่มนักศึกษาเพศทางเลือกในจังหวัดลำปาง ข้อเสนอหนึ่งในงานศึกษาบอกว่าแต่เดิมที่ร่างทรงมักเป็นผู้หญิง และใช้การทรงเจ้าเพื่อเสริมอำนาจให้กับตนเอง แต่ระยะหลังร่างทรงเป็นได้ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย คนชรา และมีกลุ่มคนที่เป็นเพศทางเลือก เช่น เกย์และกะเทยเพิ่มมากขึ้น ในการทรงนั้น การเป็นเพศทางเลือกที่มีความลื่นไหลทางเพศสามารถทรงดวงวิญญาณได้ทั้งชายและหญิง ในขณะเดียวกันกลุ่มเพศที่สามเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับในสังคม การทรงจึงเป็นการเสริมสร้างอำนาจรูปแบบหนึ่ง
Spirit Mediumship in Thailand: A Performance Theory Approach, รตพร ปัทมเจริญ (2550)
รตพร ปัทมเจริญ เป็นอีกหนึ่งนักวิชาการทางมานุษยวิทยาและชาติพันธุ์ศึกษาที่สนใจและศึกษาร่างทรงในฐานะปรากฏการณ์ทางสังคม วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของรตพรเสนอที่ The University of Heidelberg ศึกษาร่างทรงในพื้นที่นครปฐม โดยใช้กรอบความคิดที่หลากหลาย โดยหนึ่งในนั้นคือการใช้ทฤษฎีการแสดง พิจารณาร่างทรงในฐานะผู้แสดงที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์และต่อรองกับผู้เข้ามาหาร่างทรง
การกลายเป็นสำนักปฏิบัติธรรมของสำนักทรง: ระบบความเชื่อกับการปะทะประสานองค์ประกอบทางวัฒนธรรมในโลกสมัยใหม่, อลงกรณ์ จิตนุกูล (2560)
บทความชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ในชื่อเดียวกัน งานศึกษาของ อลงกรณ์ จิตนุกูล พูดถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เรากำลังกลายเป็นโลกสมัยใหม่ และสำนักทรงที่ดูไม่เข้ากับโลกสมัยใหม่มีกระบวนการปรับตัวเพื่อให้เข้ากับความเชื่ออย่างไร ผลการศึกษาพบว่ามีการใช้องค์ประกอบที่หลากหลายเช่น ความเชื่อแบบพุทธชาวบ้าน พุทธแบบปัญญาชน ความเชื่อเรื่องผี พราหมณ์มาเพื่ออธิบายและสร้างที่ทางความชอบธรรมให้กับทางสำนัก
อ้างอิงข้อมูลจาก