นักเรียน นักศึกษา พลังคนรุ่นใหม่ ในช่วงวัยที่มีพลัง มีไฟแรงกล้า ที่เป็นอนาคตของประเทศชาติ และหลายๆ ครั้งในหน้าประวัติศาสตร์ของหลายประเทศ ก็มีคนรุ่นใหม่ที่เป็นตัวแปรสำคัญในการร่วมเคลื่อนไหว ออกมาเรียกร้อง ปฏิรูปสังคม และทำให้ประเทศเกิดการเปลี่ยนแปลงได้
ท่ามกลางกระแสของวัยทีนที่กำลังเป็นที่พูดถึงในประเทศไทย บวกกับกลุ่มนักเรียนในสหรัฐฯ ที่กำลังปลุกประชาชนในประเทศให้สนใจเรื่องกฎหมายการครอบครองปืนได้ ทำให้พลังของคนรุ่นใหม่เป็นเรื่องที่น่าจับตาอีกครั้ง
The MATTER จึงอยากพาไปดู 6 ขบวนการเคลื่อนไหวของเหล่านักเรียน นักศึกษาวัยทีน ที่ออกมาขับเคลื่อน ต่อต้าน หรือเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปในประเทศของตัวเองกัน ว่าพลังของพวกเขาสร้างอิมแพ็ค และความเปลี่ยนแปลงในสังคมของพวกเขาอย่างไร
USA – เรียกร้องกฎหมายคุมเข้มอาวุธปืน (2018)
สหรัฐฯ ประเทศที่มีกฎหมายให้ครอบครองปืน และมีประชาชนในประเทศครอบครองปืนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ซึ่งการครอบครองปืนได้อย่างเสรีนี้ ก็มักนำมาสู่โศกนาฎกรรมการกราดยิงในที่สาธารณะ และโรงเรียนก็กลายเป็นสถานที่ที่มักเกิดเหตุการณ์นี้ ซึ่งก็มีกลุ่มนักเรียน นักศึกษาคอยเคลื่อนไหวต่อต้านกฎหมายการครอบครองปืนของสหรัฐฯ มาโดยตลอด แต่ก็มักพ่ายแพ้กับอำนาจของล็อบบี้ยิสต์ที่มีอิทธิพลอย่าง สมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ (NRA) ซึ่งสนับสนุนรัฐบาลในการหนุนกฎหมายนี้อยู่เบื้องหลัง
แต่การกราดยิงครั้งล่าสุด ที่เกิดในโรงเรียน Douglas High School ในรัฐฟลอริดา ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 ราย มีนักเรียนผู้รอดชีวิตและผู้ปกครองรวมตัวก่อตั้งกลุ่มที่ชื่อว่า ‘Never Again’ ที่หวังว่าการกราดยิงจะไม่เกิดขึ้นอีก โดยตั้งเป้าหมายใหญ่คือ เปลี่ยนแปลงนโยบายการครอบครองปืน ให้มีการตรวจเช็กพื้นเพและประวัติของผู้ซื้อปืนแต่ละรายอย่างเข้มงวด เดินขบวนจากฟลอริดา ไปยังวอชิงตันเพื่อให้รัฐบาลเห็นถึงความสำคัญของนักเรียนและผู้ปกครอง
นอกจากนี้พวกเขายังออกรายการทีวีต่างๆ ชูแคมเปญรณรงค์ให้รัฐบาลดำเนินการ รวมถึงขึ้นโต้วาทีกับสมาคมไรเฟิลฯ และตั้งคำถามกับวุฒิสภารัฐฟลอริดา กดดันให้เลิกรับสนับสนุนจากสมาคมไรเฟิลฯ ซึ่งนักเรียนกลุ่มนี้ต่างก็ได้รับการสนใจจากประชาชน ให้หันมาจับตาดูรัฐบาลและการแก้ไขกฎหมายนี้อีกครั้ง
ทั้งล่าสุดก็เริ่มมีบริษัทใหญ่หลายแห่งเช่นสายการบิน United Airlines และ Delta Airlines ที่ตัดความสัมพันธ์สมาคมไรเฟิลฯ แล้ว รวมถึงบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Apple, Google และ Amazon ก็เริ่มถูกกดดันและคว่ำบาตรเพราะยังออกอากาศรายการของสมาคม หรือ NRATV ด้วย และนอกจากนี้ร้านขายปลีกชื่อดังของสหรัฐฯ อย่าง Dick’s Sporting Goods และ Walmart ก็ออกมาประกาศว่าจะยกเลิกการขายปืนไรเฟิลแบบจู่โจม และจะห้ามขายปืนทุกชนิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 21 ปีด้วย
การประท้วงและเคลื่อนไหวของนักเรียนในครั้งนี้ยังไม่จบ และมีท่าทีว่าพวกเขาจะได้รับการสนับสนุนจากชาวอเมริกันมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นไปได้ว่าการกดดันของภาคประชาชนที่เกิดจากพลังของคนรุ่นใหม่ในครั้งนี้ อาจทำให้กฎหมายครอบครองปืนของสหรัฐฯ ที่ว่ากันว่าเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข เปลี่ยนแปลงไปก็ได้
Hongkong – ต่อต้านการควบคุมระบบการศึกษาจากจีนแผ่นดินใหญ่ (2012)
พูดถึงฮ่องกง หลายคนคงนึกถึงการปฏิวัติร่ม ที่ในตอนนั้นมีแกนนำเป็นนักเรียนอายุ 17 ปี อย่าง ‘โจชัว หว่อง’ และกลุ่มเพื่อนๆ สหพันธ์นักศึกษาฮ่องกงและคนรุ่นใหม่ เป็นผู้นำการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยจากจีน และให้สิทธิชาวฮ่องกงเลือกตั้งได้อย่างเสรี แต่ก่อนจะมีการปฏิวัติในครั้งนั้น กลุ่มนักเรียนฮ่องกงเคยแสดงพลังในการเคลื่อนไหวและสำเร็จมาก่อนแล้วครั้งหนึ่ง
การประท้วงในครั้งนั้น เกิดขึ้นในปี 2012 เมื่อโจชัว หว่อง และเพื่อนๆ กลุ่มนักเรียน ‘Scholarism’ ออกมาเป็นแกนนำต่อต้านระบบการศึกษาแบบใหม่ ที่จะเพิ่มวิชา และบทเรียนให้นักเรียนประถมและมัธยมซึมซับความภูมิใจรักชาติจีน ซึ่งถูกมองว่าเป็นกระบวนการล้างสมองจากจีนแผ่นดินใหญ่ โดยการประท้วงในครั้งนี้มีนักเรียนจากทั่วฮ่องกง และประชาชนมาร่วมกันมากถึง 100,000 คน ทั้งยังมีนักศึกษามหาวิทยาลัย ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ไปยันศาสตราจารย์ที่เข้าร่วม และใช้วีธีการอดอาหารในการประท้วงด้วย
หลังการประท้วงกินเวลากว่า 2 เดือน ที่มีประชาชนเข้าร่วมจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายรัฐบาลฮ่องกงยอมยกเลิกบทเรียนภาคบังคับจากประเทศจีน ให้แต่ละโรงเรียนตัดสินใจว่าให้มีวิชานี้ไหม ซึ่งการประท้วงในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดฉากพลังคนรุ่นใหม่ในฮ่องกง รวมถึงพลังการเรียกร้องประชาธิปไตย และไม่ยินยอมต่อการปกครองจากจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้เกิดการปฏิวัติร่มในอีก 2 ปีต่อมา
Chile – ปฏิรูประบบการศึกษา (2011-2013)
มาถึงอีกประเทศ ที่นักเรียน นักศึกษาได้รวมตัวกันชุมนุมเรื่องการศึกษา นั่นคือประเทศชิลี ในแถบลาตินอเมริกา ที่ในช่วงปี 2011-2013 พวกเขาได้รวมตัวประท้วง ต่อสู้และเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการศึกษาในระดับมัธยม และมหาวิทยาลัย
การเรียกร้องนี้เกิดขึ้นมาจากในช่วงรัฐบาลเผด็จการของ พลเอก ออกุสโต ปิโนเชต์ ที่ปกครองประเทศในช่วงปี 1973-1990 ระบบการศึกษาของชิลีถูกแปรรูปเป็นของเอกชน ทำให้มีค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น และแม้จะมีจำนวนเด็กที่ได้เข้ารับการศึกษาในมหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อยๆ แต่กลับไม่มีมหาวิทยาลัยของรัฐเกิดขึ้นใหม่เลยหลังปี 1990 ซึ่งมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ในปัจจุบันยังเป็นของเอกชน ที่มีค่าใช้จ่ายสูง มีนักเรียนสัดส่วนประมาณ 45% เท่านั้นที่ได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐบาล
นักเรียนชิลี ประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูปการศึกษาในระดับมัธยม และมหาวิทยาลัย ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกัน เพราะค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่มากเกิน รวมถึงระบบกู้เงินด้านการศึกษาก็มีดอกเบี้ยสูง ทำให้เยาวชนบางส่วนไม่สามารถเข้าถึงได้ พวกเขายังต้องการให้รัฐบาลเพิ่มเงินสนับสนุนด้านการศึกษา จากที่มีงบด้านนี้เพียงแค่ 4.4% ของ GDP ซึ่งถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานที่ UN กำหนดไว้ที่ 7%
กลุ่มนักเรียนใช้วิธีประท้วงทั้งการชุมนุม บุกยึดโรงเรียน และมหาวิทยาลัย ตั้งแฟลชม็อบ รณรงค์ในอินเทอร์เน็ต อดอาหาร และตั้งเครื่องกีดขวางตามบริเวณสาธารณะต่างๆ จนเกิดกระประทะรุนแรงกับเจ้าหน้าที่หลายครั้ง จนมีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกหลายร้อยคน
ในช่วงปีแรกของการชุมนุมรัฐบาลได้ยอมทำตามคำเรียกร้องของกลุ่มนักเรียนตั้งกองทุนการศึกษา และเปลี่ยนรัฐมนตรีกระทรวงศึกษา แต่ข้อเรียกร้องอื่นๆ ยังถูกเพิกเฉย ทำให้ยังมีการชุมนุมต่อเรื่อยมา จนในปี 2013 เมื่อมิเชล บาเชเลท ขึ้นเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ และสัญญาว่าจะนำเงินภาษีนิติบุคคล 25% หรือเพิ่มงบประมาณ 5 พันล้านดอลล่าร์ให้กับโครงการการศึกษาฟรี และสัญญาว่า 60% ของชาวชิลีจะได้รับการศึกษาในรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ในปี 2016 และทั้งหมด 100% จะได้รับโอกาสนี้ในปี 2020 แต่ถึงอย่างนั้นรัฐบาลก็ยังไม่สามารถทำได้ จึงทำให้นักศึกษาออกมาประท้วงอีกเรื่อยๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามสัญญา
Iran – ต่อต้านคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์หัวก้าวหน้า และสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา (1999)
กลุ่มนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเตหะราน ในอิหร่านได้เริ่มรวมตัวประท้วงในวันที่ 7 เดือนกรกฎคมปี 1999 หลังศาลออกคำสั่งปิดหนังสือพิมพ์แนวหัวก้าวหน้า ‘Salam’ ที่มักตีพิมพ์ถึงเรื่องการสอบสวนเกี่ยวกับการเงินของรัฐบาล และเป็นหนังสือพิมพ์ฉบับแรกของประเทศที่พูดถึงเรื่องความไม่ยุติธรรมและการคอร์รัปชั่น ทั้งยังมีส่วนที่ให้ผู้อ่านได้ตั้งคำถาม คอมเมนต์และสนทนากันด้วย
แต่หลังการชุมนุมของนักศึกษา ที่ไม่พอใจต่อการลิดรอนเสรีภาพสื่อเกิดขึ้นได้เพียงวันเดียวเท่านั้น ในคืนก่อนวันที่ 8 กรกฎาคม ตำรวจและทหารได้บุกเข้าไปในหอพักนักศึกษากลางดึกเพื่อหวังให้นักศึกษาหยุดการชุมนุม โดยพวกเขาเผา ทำลายหอพัก และทำร้ายนักเรียนจนได้รับบาดเจ็บ และถึงขึ้นเสียชีวิต 1 ราย แต่หลัังจากนั้นนักศึกษากลับไม่หยุดชุมนุมตามที่เจ้าหนี้ที่หวัง แต่ยังขยายการชุมนุมที่ก่อนหน้านี้อยู่แค่ในมหาวิทยาลัย ให้ออกไปยังพื้นที่สาธารณะ และยังมีประชาชนที่เป็นผู้สนับสนุนเพิ่มมากขึ้น จากตอนแรกที่เป็นแค่การชุมนุมเรื่องเสรีภาพสื่อ ก็ได้ขยายไปถึงเรื่องสิทธิของนักศึกษาด้วย
ตลอดการชุมนุมในครั้งนั้น เจ้าหน้าที่ได้เข้าปราบปรามด้วยความรุนแรง จนตลอด 5 วันนี้เมืองเตหะรานกลายเป็นสภาพของสนามรบ มีการเผารถบัส ร้านค้าต่างๆ จำนวนผู้เสียชีวิตจากการปราบปรามเพิ่มถึงเกือบ 20 คน และบาดเจ็บกว่าหลายพันคน นอกจากนี้ยังมีการรายงานว่ารัฐบาลได้เข้าจับกุมนักศึกษาและประชาชนพันกว่าคน รวมถึงนักศึกษาที่สูญหายด้วย แต่อย่างไรก็ดี เหตุการณ์นี้เป็นรากฐานการเคลื่อนไหวของนักศึกษาที่มีเสรีภาพในอิหร่านซึ่งเริ่มมีบทบาทในประเทศตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
South Africa – ต่อต้านสัญลักษณ์ของการล่าอาณานิคมและการเหยียดผิว (2015)
การประท้วงของนักศึกษามหาวิทยาลัยเคปทาวน์ในแอฟริกาใต้ รวมตัวกันรณรงค์แคมเปญชื่อ #RhodesMustFall เรียกร้องให้ล้มรูปปั้นของ Cecil Rhodes อดีตนายกรัฐมนตรีของอาณานิคมเคปในทศวรรษ 1890 หรือแอฟริกาใต้ในช่วงที่เป็นรัฐอาณานิคมของอังกฤษ ซึ่งเขามีบทบาทผูกขาดอุตสาหกรรมค้าเพชรในแอฟริกาในอดีต
กลุ่มนักศึกษาที่รวมตัวกันเพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านการเหยียดผิวในมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ และโค่นล้มรูปปั้นของ Cecil Rhodes ในมหาวิทยาลัย ที่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ของการกดขี่และการล่าอาณานิคมของอังกฤษในอดีต ทั้งยังรวมถึงความสูงส่งของคนผิวขาว และสิทธิพิเศษต่างๆ ในมหาวิทยาลัยด้วย โดยนักศึกษาคิดว่ามหาวิทยาลัยยังมีการปฏิรูปเรื่องการเหยียดเชื้อชาติที่ไม่เพียงพอ และเรียกร้องให้นักเรียนทุกคนได้เข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการศึกษาอย่างเท่าเทียม
วิธีการประท้วงของนักเรียนในครั้งนี้ มีทั้งการยึดสถานที่ อารยะขัดขืน และใช้ความรุนแรง ในการปาอุจจาระใส่รูปปั้น เผางานศิลปะ และยานพาหนะ รวมถึงยังใช้สื่อออนไลน์ในการเรียกร้องการสนับสนุน ด้วยการติดแฮชแทก ‘#RhodesMustFall’ ในทวิตเตอร์ รวมถึงตั้งเพจในเฟสบุ๊ค
หลังจากการชุมนุมประมาณ 1 เดือน ทางมหาวิทยาลัยเคปทาวน์ก็ได้ยอมถอดรูปปั้นของ Rhodes ซึ่งถึงแม้การรณรงค์และชุมนุมจะเริ่มที่แอฟริกาใต้ แต่มันก็ยังลามมาถึงในอังกฤษที่ประท้วงให้ถอดรูปปั้นของ Rhodes ที่อยู่ในมหาลัย Oxford ด้วย
THAILAND – เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในการศึกษา (2013-ปัจจุบัน)
ประเทศไทย มีการเคลื่อนไหวที่แสดงพลังของนักเรียน นิสิตนักศึกษามาตั้งแต่อดีต ที่พูดถึงกันมากๆ คือยุค 14 ตุลา ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในสังคมไทยมาแล้ว
ในยุคปัจจุบัน หลายปีที่ผ่านมาก็มีเหล่านักเรียนที่ตั้งกลุ่ม ‘การศึกษาเพื่อความเป็นไท’ ที่เคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนในการศึกษาไทย ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ทำร้ายเด็ก หรือล่วงละเมิดทางเพศ ไปจนถึงการใช้อำนาจของรัฐบาลอย่างม.44 ในการแทรกแซงระบบการศึกษา ซึ่งทางกลุ่มมักใช้วิธีการออกแถลงการณ์, รวบรวมรายชื่อผู้สนับสนุน หรือชวนทำแคมเปญติดแฮชแทคต่างๆ ในโซเชียลเน็ตเวิร์ก
และแม้ว่ากลุ่มนี้จะไม่ได้ผลักดันเรื่องการเมืองโดยตรง แต่นักเรียนที่จบจากการเป็นสมาชิกกลุ่มนี้ไป ก็มีส่วนในการร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง เรียกร้องประชาธิปไตยในปัจจุบัน เช่น เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล
อ้างอิงข้อมูลจาก