เรารู้จักฮายาโอะ มิยาซากิ (Hayao Miyazaki) คุณปู่ท่าทางใจดีที่มีเรื่องราวยอดเยี่ยมมากมายมาเล่าให้เราฟัง ไม่สิ…ไม่ใช่แค่เล่า แต่มิยาซากิแห่งสตูดิโอจิบลิได้ ‘สร้าง’ โลกและเรื่องราวต่างๆ ให้มีชีวิตขึ้นมา เรื่องราวของภูติตัวอ้วนโทโทโร่ โรงอาบน้ำเหนือจินตนาการ ปราสาทเดินได้ โดยที่ความมหัศจรรย์ทั้งหลายมาพร้อมกับเรื่องราวให้ชวนขบคิด
ช่างเป็นชายชราที่น่ามหัศจรรย์ และที่สำคัญ น้อยคนนักที่อายุมากขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วยังรักษาความเป็นเด็กไว้ในหัวใจได้
นั่นสิ คุณลุงฮายาโอะเขามีวัยเด็กแบบไหนนะ ถึงได้ยังคงมีชีวิตชีวาจนสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่สนุกสนานแถมยังลุ่มลึกได้มากมายไม่รู้จักจบสิ้นแบบนี้
ในการรับรางวัลออสการ์ปี 2009 ฮายาโอะตอบคำถามเด็กน้อยวัย 11 ปีว่าตอนที่ฮายาโอะเองอายุ 11 เขาสนใจอะไรบ้าง คำตอบของฮายาโอะก็ไม่น่าแปลกใจ แกบอกว่าตอนนั้น ด้วยความที่แกเป็นเด็กที่ค่อนข้าง ‘ร่างกายอ่อนแอ’ จึงใช้เวลาไปกับ ‘การจินตนาการ’ เช่น อ่านการ์ตูน อ่านหนังสือไปซะส่วนใหญ่ พออ่านเสร็จก็จินตนาการว่าตัวเองอยากจะเป็นฮีโร่ที่แข็งแกร่งกับเขาบ้าง
ฟังดูเข้าท่า เด็กชายที่เติบโตขึ้นในญี่ปุ่นยุคหลังสงคราม เด็กชายที่อ่อนแอและใช้เวลาไปกับโลกอีกใบเพื่อหลบหนีออกจากโลกแห่งความจริง ในที่สุดก็สามารถสร้างดินแดนในจินตนาการของตัวเองได้ แต่ว่าฮายาโอะพูดถึงการอ่านหนังสือ แล้วหนังสือแบบไหนล่ะที่เขาชอบ
ฮายาโอะได้เลือกหนังสือวรรณกรรมเด็กไว้ 50 เล่มสำหรับนิทรรศการในปี 2010 ของสำนักพิมพ์ Iwanami Shoten เพื่อเป็นการเข้าใจโลกในจินตนาการบางส่วนของลุงฮายาโอะ The MATTER จึงชวนพบกับบางส่วนของหนังสือวรรณกรรมที่ลุงฮายาโอะชื่นชอบ แล้วเราจะไม่แปลกใจเลยว่าวรรณกรรมส่งพลังให้สร้างงานที่สวยงามและซับซ้อน ทำให้เรื่องของเด็กไม่เด็กอีกต่อไป
1. The Borrowers ของ Mary Norton
แค่ชื่อก็รู้แล้วว่าเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเรื่องที่ประทับใจจนกระทั่งคุณปู่เอามาสร้างเป็นอนิเมชั่นเรื่อง The Secret World of Arrietty (2010) นวนิยายเรื่อง The Borrower เป็นผลงานของ Mary Norton นักเขียนชาวอังกฤษ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1952 เล่าเรื่องราวของตัวจิ๋วที่แอบอาศัยอยู่ในบ้านและหยิบยืมข้าวของจากคนขนาดปกติเพื่อใช้ชีวิตในแต่ละวัน ความคิดที่ว่าหรือจริงๆ แล้วในบ้านเราเองอาจจะมีบ้านหรือครอบครัวอื่นๆ อาศัยอยู่กับเราโดยที่เราไม่รู้ตัว (ไม่นับพวกมด หนู แมลงสาบ) ก็น่าตื่นเต้นดี
2. The Little Prince ของ Antoine de Saint-Exupéry
อย่าเพิ่งเบื่อกันเพราะพูดถึงวรรณกรรมเด็กทีไร เจ้าชายน้อย โผล่ขึ้นมาทุกที เอาเป็นว่าเล่มนี้ก็ถือเป็นวรรณกรรมเด็กที่ไม่ได้พูดแค่กับเด็กๆ แต่พูดกับผู้ใหญ่อย่างเราๆ ด้วย เจ้าชายน้อยพูดถึงความเป็นเด็กและการเติบโตผ่านการเดินทางและพบปะผู้คนและเรื่องราวต่างๆ ของเจ้าชายน้อย งานเขียนชิ้นนี้เป็นหนึ่งในงานเขียนสำคัญที่บอกกับเราว่าเรื่องราวของเด็กๆ อาจจะไม่ได้เล็กเสมอไป แต่เกี่ยวข้องกับเรื่องใหญ่ๆ ในหัวใจของเรา เช่น เรื่องความรัก ความไว้เนื้อเชื่อใจ ความเจ็บปวด และการเติบโต
3. The Children of Noisy Village ของ Astrid Lindgren
เด็กน้อยแห่งหมู่บ้านอึกทึกครึกโครม The Children of Noisy Village เป็นผลงานของ Astrid Lindgren นักเขียนชาวสวีเดนเจ้าของผลงานวรรณกรรมที่ส่งอิทธิพลไปทั่วโลกอย่าง ปิ๊ปปี้ ถุงเท้ายาว ส่วนเรื่องหมู่บ้านอึกทึกนี้พูดถึงเรื่องราวของเด็กหกคนในหมู่บ้านชนบทห่างไกล แน่ล่ะชีวิตชาวไร่ในชนบทออกจะเงียบสงบ แต่ด้วยเรื่องราวของเหล่าเด็กน้อยทั้งหกนั้นก็ทำให้หมู่บ้านที่เงียบๆ กลับครึกครื้นมีชีวิตชีวาขึ้นมา ถ้าอยากอ่านเรื่องราวชีวิตในฟาร์มเช่นการไปตกกุ้ง ไปเก็บถั่วสำหรับเทศกาลที่กำลังจะมาถึงกับเด็กน้อยทั้งหลาย เล่มนี้เป็นอีกเล่มที่น่าอ่าน ฉบับภาษาไทยเคยมีแปลไว้ในชื่อว่า เด็กๆ แห่งหมู่บ้านอลวน ของสำนักพิมพ์ดอกหญ้า
4. When Marnie Was There ของ Joan G. Robinson
อีกหนึ่งวรรณกรรมเด็กที่ได้รับการดัดแปลงเป็นอนิเมชั่นของจิบลิ When Marnie Was There โดย Joan G. Robinson ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1967 เป็นนวนิยายสำหรับเด็กที่แสนจะซับซ้อนและพูดถึงประเด็นทางจิตวิทยา คำที่ว่า ‘ตอนที่มาร์นียังอยู่ตรงนั้น’ เล่าถึงแอนนา เด็กหญิงผู้โดดเดี่ยวที่พบกับมาร์นีเด็กหญิงปริศนาบริเวณบึงห่างไกลแห่งหนึ่ง
มาร์นีเป็นใคร มีตัวตนไหม ภายใต้เรื่องราวที่ดูพร่ามัวของเด็กหญิงสองคนเล่าถึงเรื่องราวของมิตรภาพ ความเดียวดาย และความเป็นครอบครัว เรื่องราวอันเหนือจินตนาการและละเอียดอ่อนนี้ได้รับการนำไปสร้างเป็นฉบับอนิเมชั่นโดยสตูดิโอจิบลิภายใต้ชื่อเดียวกันเมื่อปี 2014 รับรองการเรียกน้ำตาแน่นอน
5. Swallows and Amazons ของ Arthur Ransome
ตอนเด็กๆ ใครๆ ก็คงเคยจินตนาการถึงการเดินเรือผจญภัย Swallows and Amazons เป็นเล่มแรกของชุดนวนิยาย 12 เล่มในชื่อเดียวกัน เรื่องราวหลักๆ พูดถึงพี่น้องตระกูล Walker ที่ออกไปพักผ่อนช่วงหน้าร้อนกับครอบครัวพร้อมกับเรือลำเล็กๆ ที่ตั้งชื่อว่า Swallow และในที่พื้นที่พักผ่อนนั้นเองพวกเขาก็ได้ไปเจอกับอีกครอบครัวที่มีเรือเหมือนกันชื่อ Amazon เรื่องราวความสนุกสนานของเรื่องนี้หลักๆ พูดถึงการใช้เวลาว่างในการไปพักผ่อนของคนอังกฤษ พูดถึงการตั้งแคมป์ การล่องเรือ และการผจญภัยของเด็กๆ ที่บริเวณทะเลสาบ
6. The Flying Classroom ของ Erich Kästner
The Flying Classroom เป็นผลงานของ Erich Kästner ผู้เขียน เอมิล ยอดนักสืบ ที่หลายคนอาจจะเคยอ่านมาบ้าง The Flying Classroom ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1933 เป็นนวนิยายที่พูดถึง ‘เรื่องราวในโรงเรียน’ ที่มีฉากหลังเป็นสังคมเยอรมัน เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงใกล้คริสมาสต์และเด็กๆ กำลังจะปิดเทอม สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย มีทั้งสงครามหิมะ การลักพาตัว และชายปริศนาที่เรียกว่า ‘non-smoking’ และ ‘The Flying Classroom’ ละครที่เด็กๆ เตรียมไว้แสดงในโรงยิม แน่ล่ะ เรื่องราวในโรงเรียนช่วงใกล้ปิดเทอมมันก็ต้องยุ่งเหยิงแบบนี้แหละเนอะ สิ่งที่เราจะเรียนรู้ได้จากความวุ่นวายในโรงเรียนคือรสชาติของมิตรภาพ ความสนุกสนาน และความกล้าหาญในยามที่เรากำลังกลัวสุดขีด
7. There Were Five of Us ของ Karel Poláček
There Were Five of Us เป็นผลงานของนักเขียนชาวยิวสัญชาติเช็ก Karel Poláček ซึ่งจะว่าไปถ้าพูดถึงวรรณกรรมที่เล่าเรื่องราวของเด็กๆ ในภูมิหลังของยุโรปตะวันออกดูจะเป็นอะไรที่ไม่ค่อยคุ้นสำหรับเราเท่าไหร่ แต่เรื่องนี้ถือเป็นอีกเรื่องที่น่าสนใจและอยู่ในรายชื่อวรรณกรรมเด็กที่ลุงมิยาซากิแนะนำ Karel Poláček เป็นนักเขียนที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขัน แต่ชีวิตของเขาจบลงที่ค่ายกักกันชาวยิวของพวกนาซี There Were Five of Us เป็นหนังสือที่ได้รับการเผยแพร่หลังจากที่ผู้เขียนเสียชีวิตลงแล้ว ตัวเรื่องเล่าถึงชีวิตวัยเด็กผ่านสายตาของเด็กชายวัย 10 ขวบ ประเด็นหลักๆ คือการปะทะกันของสายตาเด็กน้อยกับภาษาและเรื่องราวของผู้ใหญ่ในมุมมองที่ค่อนไปทางตลกขบขัน งานเขียนชิ้นนี้ได้รับการนิยามว่า ‘ตลกอย่างเหลือรับประทาน’
8. Hans Brinker, or The Silver Skates ของ Mary Mapes Dodge
ชื่อเรื่องพูดถึง สเก็ตสีเงิน หรือ Hans Brinker, or The Silver Skates เป็นเรื่องราวที่มีฉากเป็นสังคมดัดช์ในช่วงศตวรรษที่ 19 ฮาน บริงเกอร์เป็นเด็กในครอบครัวยากจน พ่อก็ป่วย ในแต่ละปีจะมีการจัดแข่งสเก็ตน้ำแข็งที่มีรางวัลเป็นสเก็ตสีเงินแสนสวย แต่ด้วยสเก็ตไม้เก่าๆ เด็กน้อยผู้ยากไร้ย่อมแทบไม่มีโอกาสที่จะชนะการแข่งความเร็วประจำปีในครั้งนี้ได้ ฮานและน้องสาวเป็นเด็กยากจนแต่ก็ขยัน ทั้งสองมีความฝันที่จะเข้าแข่งขันและครอบครองสเก็ตสีเงินให้ได้ แต่ด้วยเงื่อนไขความเจ็บป่วยของพ่อเด็กน้อยก็ต้องยอมเสนอเงินที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาเพื่อรักษาพ่อ แต่เรื่องราวก็ไม่ได้เลวร้ายเหมือนในชีวิตจริง ด้วยความซื่อสัตย์และอดทนของเด็กๆ สุดท้ายก็มีความช่วยเหลือกันไปช่วยเหลือกันมา และรางวัลสูงค่าก็อยู่ไม่ไกลจากที่คาดหวัง
9. The Secret Garden ของ Frances Hodgson Burnett
วรรณกรรมเด็กที่เรารู้จักกันดีในชื่อ ในสวนศรี หรือ The Secret Garden เป็นหนึ่งในวรรณกรรมคลาสสิกสำหรับเด็กๆ ที่ได้รับการดัดแปลงเป็นหนังและละครหลายต่อหลายครั้ง เรื่องราวพูดถึงเด็กหญิงมีปัญหา อ่อนแอ ขี้โรค และไม่มีใครรัก (เศร้าเว่อร์) แถมเธอยังเป็นเด็กที่ถูกตามใจจนกลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ เรื่องราวของเธอแสนเศร้าระดับไปออกรายการตีสิบได้ เธอเป็นลูกเศรษฐีอังกฤษที่อยู่อินเดียอยู่ดีๆ ก็เกิดอหิวาต์ระบาด ครอบครัวและคนรับใช้ในบ้านเสียชีวิตหมดเธอจึงกลายเป็นเด็กกำพร้าต้องระหกระเหินมาอยู่ในบ้านใหญ่โตที่เธอไม่ชอบใครเลย แต่ภายในอาณาเขตบ้านอันไพศาลนั้นก็มีสาวใช้ใจดีและสวนสวยในกำแพงที่สาวน้อยได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็งทั้งกายและใจ