ฝรั่งเศสได้แชมป์บอลโลกไปเรียบร้อย นอกจากฟุตบอลแล้ว The MATTER ขอฉลองการเป็นดินแดนที่ทรงอิทธิพลระดับโลกไปกับ 9 นักปรัชญาผู้เป็นรากฐานทางความคิดและวิชาการของโลกสมัยใหม่
ประเทศฝรั่งเศสถือเป็นดินแดนแห่งการคิด เป็นประเทศที่เด็กนักเรียนเรียนวิชาปรัชญาและต้องผ่านข้อสอบเชิงปรัชญาเมื่อจบการศึกษาก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย วงวิชาการของฝรั่งเศสก็มีความเข้มแข็ง มีวัฒนธรรมการครุ่นคิดขบคิดมาอย่างยาวนาน เช่นวัฒนธรรมของเหล่านักศึกษาที่ไปนั่งถกเถียงพูดคุยกันที่ร้านกาแฟใกล้ๆ มหาวิทยาลัย วิทยาลัย Collège de France ถือเป็นอีกหนึ่งสถาบันความรู้และสถาบันทางการวิจัยชั้นแนวหน้าของโลก
ในวงวิชาการไปจนถึงองค์ความรู้ทั่วไปของโลกสมัยใหม่ นักคิดฝรั่งเศสจำนวนไม่น้อยถือว่าเป็นคนที่วางรากฐานความคิดให้กับโลกยุคปัจจุบัน ตั้งแต่กระแสโครงสร้างนิยม สู่การรื้อสร้าง (deconstructionism) เช่น Claude Lévi-Strauss, Roland Barthes และ Jacques Derrida ไปจนถึงนักคิดสายสตรีนิยมที่ส่งอิทธิพลถึงการต่อสู้เรื่องความเท่าเทียมต่อมาเช่น Simone de Beauvoir หรือนักคิดที่สนใจเรื่องทุนนิยม ชนชั้น และการกดขี่อย่าง Louis Althusser และ Pierre Bourdieu
Jean-Paul Sartre
ซาทร์เป็นนักคิดที่ส่งอิทธิพลอีกคนที่สำคัญของโลกสมัยใหม่ บริบทสมัยใหม่หนึ่งคือภาวะที่มนุษย์เริ่มสูญสิ้นศรัทธาและเสียหลักจากผลกระทบของสงครามโลก แนวคิดสำคัญของซาทร์ว่าด้วยแนวคิดอัตถิภาวนิยม (existentialism) พูดเรื่องอิสระของมนุษย์และการรับผิดชอบในการกระทำของของตัวเอง ซาทร์เป็นทั้งนักคิด นักเขียน และนักเขียนบทละคร ชีวิตส่วนตัวของซาทร์เองค่อนข้างเก๋ไก๋คือมีความสัมพันธ์และอยู่ร่วมกับ ซีมอน เดอ โบวัวร์ (Simone de Beauvoir) ในฐานะคู่ชีวิต ซึ่งเดอ โบวัวร์เองก็เป็นนักคิดทฤษฎีสายสตรีนิยมคนสำคัญอีกคนหนึ่งของโลก
Claude Lévi-Strauss
โคลด เลวี สเตราส์เป็นอีกหนึ่งตัวพ่อในสายโครงสร้างนิยมและในทางมานุษยวิทยา ตัวสเตราส์เองเป็นลูกหลานชาวยิวเชื้อสายฝรั่งเศสเกิดที่บรัสเซล สเตราส์เป็นนักคิดที่เอาแนวคิดของ แฟร์ดิน็อง เดอ โซซูร์ ( Ferdinand de Saussure) ที่พูดเรื่องโครงสร้างทางภาษามาหาโครงสร้างที่เป็นสากลของวัฒนธรรมมนุษย์ สเตราส์เสนอกรอบความคิดเรื่อง ‘ความป่าเถื่อน’ (savage) และ ‘ความเป็นอารยะ’ (civilize) ว่าเป็นโครงสร้างที่เป็นสากลของวัฒนธรรมต่างๆ ทั่วโลก
Roland Barthes
รอล็อง บาร์ต ถือเป็นอีกหนึ่งนักปรัชญาระดับป็อบสตาร์ บาร์ตเองก็เอาความเรื่องโครงสร้างทางภาษาของโซซูร์มาอธิบายต่อในระดับความคิดและความเชื่อ คือนอกจากภาษาจะสื่อถึงระดับความหมายแล้ว ความหมายต่างๆ ยังมีนัยของตัวเองซ้อนลงไปอีกชั้น เช่นสีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ ข้อเสนอสำคัญของบาร์ตคือการบอกว่าความคิดและความเชื่อ – มายาคติต่างๆ – มีที่มาจากกลุ่มคนหรือชนชั้นโดยเฉพาะชนชั้นกลาง งานสำคัญของบาร์ตคือ Mythologies ที่เขียนถึงวัฒนธรรมต่างๆ ของฝรั่งเศส เช่น มวยปล้ำ ปกนิตยสาร ของเล่นเด็ก โดยบาร์ตมีบทความสำคัญที่สรุปแนวคิดเรื่องมายาคติไว้ในบทที่ชื่อว่า ‘Myth Today’
Jacques Derrida
แดร์ริดาเป็นอีกหนึ่งคุณพ่อที่ใครๆ ก็ต้องรู้จักและอ้างอิง แดร์ริดาเสนอความคิดที่เป็นรากฐานของวิธิการแบบ ‘รื้อสร้าง’ (deconstruction) คือหลังจากที่เราพยายามหาโครงสร้างและวิเคราะห์โครงสร้างต่างๆ ตั้งแต่ภาษา วัฒนธรรม ไปจนถึงมายาคติแล้ว แดร์ริดาเสนอว่าในโครงสร้างความหมายที่ถูกสร้างขึ้นนั้น ความหมายที่เราคิดว่าแน่นิ่งและแน่นอนกลับสามารถเปลี่ยนแปลงได้ (defer) แดร์ริดาพูดถึงคำว่า Pharmakon ที่หมายถึงยาที่ในตัวเองหมายถึงยาพิษหรือยารักษาก็ได้
Louis Althusser
อัลตูแซร์เป็นนักคิดสายมาร์กซิสที่ให้ความสนใจเรื่องการกดขี่และควบคุมผู้คนของรัฐด้วยกระบวนการที่ซับซ้อน แนวคิดเรื่องอุดมการณ์ (ideology) เป็นหนึ่งในความคิดสำคัญที่ทำให้อัลตูแซร์เป็นที่รู้จัก ในงานเขียนชื่อ ‘Ideology and Ideological State Apparatuses’ อัลตูแซร์อธิบายกลไกของรัฐที่ใช้ควบคุมคนในสังคมที่ไม่ได้ใช้แค่กำลังปราบปรามแต่ใช้กลไกทางอุดมการณ์ เช่น การศึกษา วรรณกรรม หรือมิติทางวัฒนธรรมต่างๆ ในการหล่อหลอมความคิดความเชื่อของผู้คนด้วย
Michel Foucault
อีกหนึ่งนักปรัชญาฝรั่งเศสที่แสนจะป๊อปปูล่าในบ้านเราด้วยแนวคิด ‘วาทกรรม’ (discourse) ฟูโกต์เป็นนักคิดที่กลับไปสำรวจที่มาและความหมายของความรู้ – ความเชื่อต่างๆ ในสังคม – แนวคิดสำคัญที่ฟูโกต์เสนอคือแนวคิดเรื่องการควบคุมบงการในโลกสมัยใหม่ที่เกิดจากการควบคุมตนเองผ่านการออกแบบ ทั้งจากสถาปัตยกรรมและระบบระเบียบต่างๆ ในสังคม งานเขียนสำคัญของฟูโกต์คือ Discipline and Punish ที่พูดเรื่องการควบคุมในโลกสมัยใหม่ วิธีการสำคัญของฟูโกต์คือการไปขุดคุ้ยที่มาของความคิดและความรู้ต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่คือความรู้ที่เกิดขึ้นในโลกสมัยใหม่ ใน The History of Sexuality ก็พูดเรื่องที่มาของ ‘ความปกติทางเพศ’
Pierre Bourdieu
เราอยู่ในโลกทุนนิยมและเราต่างก็ต้องสะสมทุน บูร์ดิเยอเป็นนักสังคมวิทยาที่พาเราไปเห็นมิติของระบบทุนนิยมที่แฝงอยู่ในมิติทางวัฒนธรรม แนวคิดสำคัญของบูร์ดิเยอคือข้อเสนอเรื่อง ‘ทุนทางวัฒนธรรม’ (cultural capital) บูร์ดิเยอบอกว่าทุนไม่ใช่แค่เรื่องเงินเท่านั้น และในโลกทุนนิยมเราต่างกำลังสะสมทุนกันอย่างซับซ้อนอยู่เสมอ เราไม่ได้แค่แสดงความร่ำรวยเท่านั้น แต่เรากำลังแสดงออกทางรสนิยมเป็นสำคัญ ซึ่งรสนิยมนั้นก็เป็นการหล่อหลอมที่ต้องอาศัยทุนอื่นๆ เช่น เราจะมีกิริยามารยาท มีทักษะทางภาษา เล่นเครื่องดนตรีได้ ทั้งหมดนั้นล้วนเกิดจากภูมิหลังของครอบครัวและทุนทางเศรษฐกิจที่ครอบครัวนั้นๆ ครอบครอง
ในที่สุดแล้วสิ่งที่บูร์ดิเยอชี้ให้เราเห็นคือกระบวนการการรักษาและส่งต่อสถานะทางชนชั้นที่เต็มไปด้วยความซับซ้อน เมื่อคนในชนชั้นหนึ่ง มีรสนิยมแบบหนึ่ง ก็มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความสัมพันธ์กับชนชั้นเดียวกันและสามารถส่งต่อสืบทอดสถานะทางสังคมต่อไปได้
Simone de Beauvoir
พูดถึงนักคิดฝรั่งเศสจะขาดคุณแม่ ซีมอน เดอ โบวัวร์ ผู้หญิงทันสมัยแห่งยุคและตัวแม่เฟมินิสต์ ‘The Second Sex’ ของโบวัวร์ถือเป็นตำราสำคัญที่นักคิดทั้งเฟมินิสต์และไม่เฟมินิสต์ต่างต้องอ่านและอ้างอิงกันไปทั่วโลก “One is not born, but rather becomes, a woman” ถือเป็นคำพูดสำคัญที่โบวัวร์ชี้ให้โลกเห็นว่าเพศเป็นประเด็นที่ซับซ้อน การเป็นผู้หญิงไม่ได้เกี่ยวแค่กับเพศหรืออวัยวะร่างกายโดยกำเนิด แต่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่สังคมได้กำหนดกฎเกณฑ์ของความเป็นผู้หญิงขึ้นมาด้วย ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดการแยกระหว่าง sex และ gender ขึ้น ระหว่างเพศกำเนิด และเพศในมิติที่เกี่ยวข้องกับสังคม
Henri Lefebvre
เฮนรี่ เลอเฟบเรอร์ เป็นนักทฤษฎีที่พูดถึงพื้นที่ ถึงเมือง และชีวิตประจำวัน หลักๆ แล้ว เลอเฟบเรอร์ก็คล้ายกับนักคิดสายมาร์กซิสคนอื่นๆ ที่พยายามชี้ให้เห็นอิทธิพลและวิธีการที่ระบบทุนนิยมผลิตซ้ำและส่งผลกระทบต่อพวกเราในสังคมทุนนิยมที่เรากำลังดิ้นรนกันอยู่ เลอเฟบเรอร์เป็นอีกหนึ่งนักปรัชญาที่ได้รับการขนานนามว่ายิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของยุคปัจจุบัน หนึ่งในงานเขียนสำคัญคือ The Production of Space ว่าด้วยความซับซ็อนของพื้นที่พื้นที่หนึ่งที่มีทั้งมิติทางกายภาพและมิติทางปรัชญา