“เราจะสนับสนุนสมรสเท่าเทียม อัตลักษณ์ของ LGBTQIAN+ รวมถึงยกเลิกการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี” เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าว
เมื่อ 3 มีนาคม ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ และ รมว.คลัง แถลงว่า รัฐบาลได้อนุมัติงบกลางให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เพื่อไปประมูลสิทธิการจัดงานไพร์ดนานาชาติ ปี 2028 (World Pride) ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมความหลากหลายทางเพศระดับโลก
“งานนี้เปรียบได้กับงาน World Cup ของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไทยเราพร้อมที่จะเข้าท้าชิงในการจะเป็นเจ้าภาพ และยังเป็นการแสดงจุดยืนของรัฐบาลในการสนับสนุนความเท่าเทียม เราพร้อมที่จะยกระดับให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของชาวไพร์ด” นายกฯ ระบุ
และ Bangkok Pride ปีนี้จะถือเป็นปีแรกที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ ส่วนปีถัดไปก็มีมติเห็นว่าควรเพิ่มประมาณให้มากขึ้นกว่าเดิมประมาณ 3 เท่า
อาจพูดได้ว่ารัฐบาลชุดนี้ให้ความสำคัญกับสิทธิ LGBTQIAN+ มากขึ้น เพราะพยายามที่จะผลักดันให้ไทยเป็นเจ้าภาพงานไพร์ดระดับโลกประเทศแรกของภูมิภาคนี้ แต่คำถามสำคัญคือเราพร้อมแค่ไหน? ดังนั้น The MATTER จะพาทุกคนไปหาคำตอบพร้อมๆ กัน
สมรสเท่าเทียมที่ยัง ‘รอ’ ไฟเขียวอยู่
แกนหลักของไพร์ดปี 2024 คือ การสนับสนุนและผลักดันให้มีการออกกฎหมายสมรสเท่าเทียมในสังคมไทย ให้มีผลบังคับใช้ก่อนสิ้นปี 2567 นี้ ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงไทยจะเป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อนุญาตให้บุคคลหลากหลายทางเพศแต่งงานกันได้อย่างถูกกฎหมาย
และเมื่อ 21 ธันวาคม 2023 รัฐสภามีมติรับหลักการร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม 4 ฉบับ ในวาระที่ 1 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วยถึง 369 เสียง โดยแต่ละร่างประกอบด้วย ร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างของพรรคก้าวไกล ร่างของภาคประชาชน และร่างของ สรรเพชญ บุญญามณี และคณะจากพรรคประชาธิปัตย์
โดยทุกร่างล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันก็คือ การขยายสิทธิการสมรสให้ครอบคลุมกับทุกเพศ นอกจากนี้ ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตามล้วนมีสิทธิในการจัดการทรัพย์สิน หรือมีสิทธิในการตัดสินใจเรื่องรักษาพยาบาลของคู่ครอง
อย่างไรก็ดี ตอนนี้กรรมาธิการวิสามัญที่ถูกจัดตั้งขึ้นกำลังปรับปรุงและแก้ไขรายละเอียดของ ร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมอยู่ และร่างฉบับนี้ยังต้องผ่านวาระที่ 2 และ 3 ในรัฐสภาก่อน รวมถึงยังต้องรอลุ้นอีกว่าจะถูกไฟเขียวให้เป็นกฎหมายได้เลยหรือไม่
เนื่องจากร่างของภาคประชาชนระบุให้สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ทันที แต่ร่างของรัฐบาลและพรรคก้าวไกลเขียนไว้ที่ 180 วัน หรือ 6 เดือน เพราะมีการเขียนบทบัญญัติให้รอหน่วยงาน เช่น ข้าราชการ แก้กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องก่อน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อถกเถียงว่าทั้ง 3 ร่างมีเนื้อในบางอย่างที่แตกต่างกัน เช่น ภาคประชาชนเสนอการแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งฯ (ป.พ.พ.) ที่ให้เพิ่มถ้อยคำที่ครอบคลุมทุกเพศอย่างคำว่า บุพการี นอกเหนือจากบิดามารดา ดังนั้นต้องรอดูผลพิจารณาของกรรมาธิการอีกที
อนาคตของ ‘กฎหมายคำนำหน้าชื่อ’
เมื่อ 21 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา รัฐสภาโหวตคว่ำร่าง พ.ร.บ.การรับรองเพศตามคำนำหน้าในเอกสารราชการ เช่น บัตรประชาชน พาสปอร์ต ซึ่งธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สส.พรรคก้าวไกล และคณะเป็นผู้เสนอ โดยหลักการสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้คือ ‘การมีสิทธิกำหนดเพศด้วยตัวเอง’
ที่ไม่ได้เน้นแต่เพศสภาพหรือกายภาพภายนอกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอัตลักษณ์ที่อยู่ในทั้งระบบแบบ 2 เพศ และ นอกเหนือระบบ 2 เพศ เช่น นอนไบนารี่ (Non-binary) ที่มีการเรียกร้องให้สามารถเลือกใช้เครื่องหมาย X ในเอกสารราชการแทนการระบุเพศชาย-หญิง
“รัฐธรรมนูญรับรองสิทธิเสรีภาพและความเสมอภาคของมนุษย์ แต่ปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายรับรองผู้มีความหลากหลายทางเพศ และเอกสารของไทยยังกำหนดให้ใช้คำนำหน้านามที่ถือตามเพศกำเนิดเท่านั้น ได้แก่ เด็กชาย เด็กหญิง นาย นางสาว และนาง ส่งผลให้กลุ่มคนเพศหลากหลายประสบกับปัญหาในการแสดงตัวตน” อย่างไรก็ดี สภาฯ ได้มีมติไม่รับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวไปในที่สุด
กฎหมายที่รับรองอาชีพ Sex Worker ก็สำคัญเช่นกัน
กฎหมายพนักงานบริการ (Sex Worker) กำลังกลายเป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องแค่กับเพศหญิง-ชาย แต่ยังรวมถึงคนหลากหลายทางเพศอีกด้วย
“ความเป็นกะเทยนั้นถูกกดทับในสังคมอยู่แล้ว และด้วยอาชีพ Sex Worker นั้นก็ไม่ถูกกฎหมาย จึงทำให้ไม่สามารถเรียกร้องความเป็นธรรมจากด้านใดได้เลย ไม่ว่าจะถูกเอาเปรียบจากผู้ใช้บริการนายจ้าง” คำพูดของ ธัญวัจน์ สส.พรรคก้าวไกล ต่อกรณีกะเทยไทยปะทะกับกะเทยฟิลิปปินส์ที่บริเวณซอยสุขุมวิท 11 เมื่อ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา
ร่างกฎหมายนี้ทางพรรคก้าวไกลได้ร่างขึ้นมาแล้ว แต่ยังไม่ยื่นเข้าสู่รัฐสภา เนื่องจากร่างกฎหมายคำนำหน้าตามความสมัครใจเพิ่งถูกปัดตกไป จึงจะรอยื่นร่างกฎหมายฉบับนี้พร้อมกับร่างของคณะรัฐมนตรี เพราะเกรงว่าร่างดังกล่าวจะถูกปัดทิ้งไป
สิทธิการข้ามเพศยังไม่อยู่ในรัฐสวัสดิการ
กลุ่มคนหลากหลายทางเพศก็กำลังรอคอยการเข้าถึงการบริการและสวัสดิการทางสังคมต่างๆ อย่างเท่าเทียมเหมือนกับเพศหญิงและชาย ซึ่งอาจจะพูดได้ว่าสังคมไทยยังไม่ยอมรับสิทธิเพศหลากหลายอย่างแท้จริง เพราะยังก้าวไปไม่ถึงการยอมรับและส่งเสริมเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน ส่งผลให้คนเหล่านี้จำเป็นต้องเสียค่าใช้จ่าย เพื่อที่ได้รับการปรึกษา วินิจฉัย การให้ฮอร์โมน ซึ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการแปลงเพศ เนื่องจากบริการนี้ไม่ครอบคลุมทั้งระบบสาธารณสุขหรือระบบประกันสุขภาพ
แนวทางต้นแบบการให้บริการสุขภาพ ที่ครอบคลุมแก่บุคคลข้ามเพศและชุมชนบุคคลข้ามเพศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระบุว่า อีกประเด็นที่สำคัญคือ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังขาดผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการที่จะให้บริการสุขภาพแก่ LGBTQ+ ดังนั้นสิทธิการเข้าถึงพยาบาลเพื่อการแปลงเพศนั้นจำเป็นต้องถูกเคลื่อนด้วยการเมือง
ทั้งนี้ ทวีชัย วงศ์ไพโรจน์กุล รองโฆษกพรรคไทยสร้างไทยเคยพูดคุยกับเราถึงนโยบายสวัสดิภาพสุขภาพของคนข้ามเพศ (การเทคฮอร์โมนและการผ่าตัดแปลงเพศ) ว่า นโยบายสวัสดิการข้ามเพศเริ่มเป็นที่พูดถึงตั้งแต่ปี 2011 แล้ว แต่จนถึงปัจจุบันภาครัฐก็ยังไม่ทราบว่า ต้องใช้งบเท่าไหร่ในการส่งเสริมสวัสดิการข้ามเพศ
สาเหตุสำคัญอาจจะเกิดจากการกีดกันจากชุดความคิดที่ว่า ‘การข้ามเพศถือเป็นการรักษา ไม่ใช่การส่งเสริมสุขภาพ’ จนก่อให้ไม่มีการเก็บข้อมูลหรือผลักดันนโยบายดังกล่าวสักที ซึ่งทวีชัยมองว่า ถ้างบประมาณประเทศเพียงพอ อย่างน้อยก็เริ่มสนับสนุนสวัสดิการเทคฮอร์โมนก่อนได้
แต่ถ้าในอนาคตสามารถทำให้เกิดสวัสดิการผ่าตัดแปลงเพศได้แล้ว ก็ควรจะให้มีสวัสดิการวันลาด้วยเช่นกัน เพราะคิดว่าการลาหยุดดังกล่าวไม่ต่างกับการลาบวช ลาคลอด
การยอมรับ LGBTQ+ ในสังคมไทย
ข้างต้นล้วนเป็นการยกตัวอย่างทางกฎหมายที่สำคัญต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นการเลือกปฏิบัติอีกมากมายที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายจะไม่สามารถบริจาคโลหิตได้ ด้วยเหตุผลที่ว่าคนกลุ่มนี้มีสถิติการติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าประชากรกลุ่มอื่นๆ
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแสดงความเห็นว่า กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศไม่ควรถูกปิดกั้นในการบริจาคโลหิต รวมถึงแนะนำให้สภากาชาดไทยคัดกรองความเสี่ยงให้เข้มข้นแทน เพื่อลดการตีตราและจำกัดสิทธิของ LGBTQ+
ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพประเทศแรกในภูมิภาคนี้
งานไพร์ดนานาชาติถูกจัดขึ้นโดยองค์กร อินเตอร์ไพร์ด (InterPride) ซึ่งงานดังกล่าวเริ่มจัดครั้งแรกในปี 2000 ที่ประเทศอิตาลี และเมื่อปี 2023 งานถูกจัดขึ้นที่ประเทศออสเตรเลีย โดยตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เมืองที่ได้รับการคัดเลือกล้วนเป็นพื้นที่ที่มีความเป็นมิตรต่อกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะมีกฎหมายที่รองรับสิทธิให้แก่พวกเขาในหลายด้าน
ดังนั้น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ LGBTQ+ โดยเฉพาะสมรสเท่าเทียม ถือเป็นหลักสำคัญที่จะทำให้ไทยมีโอกาสในการเป็นเจ้าภาพงานนี้ได้ ซึ่งกิจกรรมนี้จะช่วยผลักดันตัวเลข GDP ทั้งด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ภาพยนตร์และซีรีส์ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเห็นได้ชัด
“คุณสมบัติแรกที่ InterPride จะนำไปใช้ลงความเห็นว่าประเทศนั้นๆ มีความพร้อมแล้วหรือไม่นั้น คือการที่รัฐบาลออกกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงกฎหมายอื่นๆ ที่สนับสนุนพลเมือง LGBTQIAN+ ในประเทศอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่การประชาสัมพันธ์เพื่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว” ชุมาพร แต่งเกลี้ยง ประธานและผู้ก่อตั้งนฤมิตไพร์ด กล่าว
อ้างอิงจาก