บางทีเราก็อยากรู้เนอะว่า เอ๊ะ เด็กนักเรียนในประเทศต่างๆ เนี่ย ต้องอ่านหนังสืออะไร แน่ล่ะว่าแต่ละชาติย่อมมีประวัติศาสตร์ มีวัฒนธรรม มีนักเขียนเป็นของตัวเอง การที่เรารู้จักหนังสือที่ต้องอ่านในโรงเรียนก็เป็นอีกทางหนึ่งที่เราจะได้รู้จักและเข้าใจเรื่องราวความคิดของชาตินั้นๆ มากขึ้น
อนึ่ง รายชื่อหนังสือและประเทศต่างๆ มาจากการรวบรวมของ TED-Ed ในขณะเดียวกันของบ้านเราก็มีสิ่งที่เรียกว่า ‘หนังสืออ่านนอกเวลา’ อันเป็นเหมือนหนังสือเสริมนอกตำราเรียนที่ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกาศเป็นรายชื่อหนังสือเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ในด้านอื่นๆ
1. Afghanistan – Quran
สำหรับประเทศอัฟกานิสถาน แน่ล่ะว่าเป็นประเทศมุสลิม Farokh Attah บอกกับ Ted-Ed ว่าด้วยความที่ประเทศตนไม่มีวัฒนธรรมการอ่านนวนิยาย สิ่งที่เด็กๆ ในโรงเรียนต้องอ่านกันทุกคนก็คือคัมภีร์อัลกุรอาน พระคัมภีร์อันเป็นหัวใจหลักของศาสนาอิสลาม และยังเป็นแกนกลางสำคัญของกลุ่มวรรณคดีภาษาอาหรับด้วย
2. Albania – Chronicle in Stone (Kronikë në gur) (1971)
by Ismail Kadare
สาธารณรัฐแอลเบเนียเป็นประเทศในทวีปยุโรปแถบเมดิเตอร์เรเนียน Chronicle in Stone เป็นนวนิยายของ Ismail Kadare หนึ่งในนักเขียนชาวอัลบาเนียที่ได้รับการเสนอชื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม นวนิยายดังกล่าวใช้สายตาของเด็กในการเล่าเรื่องราวและผลกระทบของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่แอลเบเนียต้องเผชิญ ในเรื่องพูดถึงการสู้รบกันของกรีซและอิตาลีที่แย่งชิงกันยึดครองแอลเบเนีย งานเขียนมีความโดดเด่นที่การใช้ลักษณะของนวนิยายในการเล่าเรื่องราวอย่างมีสีสันและผสานเข้ากับจินตนาการจากการเล่าด้วยมุมมองของเด็กที่มีนัยของการมองโลกในแง่ดีแฝงอยู่ด้วย
3. Australia – Tomorrow, When the War Began (1993)
by John Marsden
งานเขียนที่เด็กๆ ชาวออสซี่ต้องอ่าน พูดถึงเรื่องราวของการถูกรุกรานโดยกองกำลังต่างชาติที่เข้ามาในออสเตรเลีย เรื่องราวเล่าผ่านเด็กวัยรุ่นหญิงและเพื่อนๆ ที่กลับมาจากการไปแคมปิ้งแล้วก็เจอกองกำลังดังกล่าวโดยบังเอิญ ใจความหนึ่งที่หนังสือเรื่องนี้พูดถึงคือความกลัวจากการรุกรานและพลังในการต่อสู้ นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นความสวยงามของธรรมชาติอันว่างเปล่าและอุดมสมบูรณ์ของออสเตรเลียเอง
4. Austria – Faust (1787)
by Johann Wolfgang von Goethe
Faust เป็นต้นกำเนิดเรื่องแนว ‘ทำสัญญากับปีศาจ’ พูดถึงนักวิชาการชื่อ Faust ที่ไม่พอกับชีวิตแล้วยอมทำสัญญากับปีศาจโดยแลกกับการเป็นทาสไปตลอดกาล งานเขียนของเกอเต้เขียนเป็นบทละครโศกนาฏกรรมที่ แน่ล่ะ…คนที่ทำสัญญากับปีศาสมันจะจบดีได้ยังไง เรื่องราวดังกล่าวทำให้เกิดประเด็กถกเถียงทางปรัชญามากมาย ด้วยสมัยที่เกอเต้เขียนขึ้นเป็นช่วงที่โลกตะวันตกกำลังเข้าสู่สมัยใหม่ เป็นการถกเถียงกันระหว่างวิทยาศาสตร์และจิตวิญญาณ เหตุผลกับอารมณ์ งานเขียนดังกล่าวเป็นงานที่สามารถตีความได้หลากหลายและส่งอิทธิพลต่องานอื่นๆ ต่อมา
5. Bosnia และ Serbia – The Bridge on the Drina (1945)
by Ivo Andrić
The Bridge on the Drina เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่พูดถึงประวัติศาสตร์ 4 ทศวรรษโดยมีสะพานเหนือแม่น้ำ Drina เป็นศูนย์กลาง เรื่องราวเล่าถึงสะพานตั้งแต่ที่ถูกสร้างโดย Ottomans ในช่วงกลางศตวรรษที่ 16 จนกระทั่งถูกทำลายลงในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 งานเขียนดังกล่าวเล่าเรื่องราวอันยาวนานที่ในที่สุดไม่ได้จำกัดแค่เรื่องราวประวัติศาสตร์ของพื้นที่ แต่เป็นความเข้าใจความเป็นมนุษย์และมนุษยชาติ ทั้งนี้ในระดับภูมิภาคนวนิยายเรื่องบรรจุเรื่องราวของคนพื้นถิ่นทั้งพวกเซิร์บและบอสเนียนที่เป็นมุสลิม
6. Brazil – The Death of a Severino (Morte e Vida Severina) (1955)
by João Cabral de Melo Neto
บทละครที่เด็กๆ ชาวบราซิลต้องอ่าน ว่าด้วยชีวิตและการผจญภัยของชายหนุ่มที่หนีความแห้งแล้งและความยากจนจากพื้นที่ทุรกันดารในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล บทละครเรื่องนี้ฉายให้เห็นภาพของประเทศที่มีสองด้านเสมอ คือในความมั่งคั่งอีกด้านมักเป็นภาพของความยากจน ความไม่เสมอภาคและเหล่าผู้คนที่เงียบงัน ตรงข้ามกับพื้นที่เมืองที่เต็มไปด้วยความฟู่ฟ่า
7. Bulgaria – Under the Yoke (1894)
by Ivan Vazov
Under the Yoke พูดถึงหมู่บ้านแห่งหนึ่งในบัลแกเรียภายใต้การควบคุมของ Ottoman งานเขียนชิ้นนี้ได้รับการพิจารณาให้เป็นหนึ่งในวรรณคดีคลาสสิกที่มีชื่อเสียงที่สุดของบัลแกเรียและได้รับการแปลออกไปกว่า 30 ภาษา เรื่องราวของหมู่บ้านที่ดูสงบเงียบภายใต้การปกครองดังกล่าวที่แท้จริงแล้วกำลังนำไปสู่การลุกฮือขึ้นต่อสู้ของชาวบ้าน
8. Canada – The Wars (1977)
by Timothy Findley
สำหรับประเทศที่ดูโดดเด่นในการผลิตประธานาธิบดีที่มีความก้าวหน้า งานเขียนที่เด็กๆ ต้องอ่านเป็นนวนิยายที่ว่าด้วยสงคราม พูดถึง Robert Ross ผู้ซึ่งสูญเสียน้องสาวไปและตัดสินใจหลีกหนีความเศร้าของตนด้วยการไปร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 1 ด้วยสายตาของชายหนุ่มอายุแค่ 19 ที่ต้องไปรับรู้ความโหดของสงคราม นวนิยายชิ้นนี้จึงให้ภาพความสลดโหดร้ายที่มนุษย์ทำต่อกันได้ภายใต้สิ่งที่เรียกว่า ‘สงคราม’
9. Chile – Sub Terra (1904)
by Baldomero Lillo
Sub Terra เป็นรวมเรื่องสั้นพูดถึงคนงานในเหมืองทางตอนใต้ในช่วงศตวรรษที่ 19 (คล้ายๆ ‘เหมืองแร่’ ของอาจินต์ ปัญจพรรค์เลยเนอะ) เรื่องสั้นชุดนี้ให้ภาพของการทำงานหนักและอันตรายของอุตสาหกรรมเหมืองที่คนงานต้องเผชิญ ภาพของกลุ่มคนที่ยากลำบากและแน่นอนว่าเป็นส่วนสำคัญของประวัติศาสตร์ชิลี
10. China – Analects by Confucius
ถ้าเป็นรากฐานของแดนมังกร จะไม่อ่านขงจื่อก็คงไม่ได้ Analects ภาษาไทยเรียกว่า ‘หลุน-อฺวี่’ เป็นคัมภีร์พื้นฐานที่รวมบทสนทนาที่ศิษย์สำนักขงจื่อรวบรวมขึ้นหลังขงจื่อเสียชีวิต คัมภีร์ดังกล่าวบรรจุบทสนทนาของขงจื่อกับบุคคลในทุกระดับทั้งลูกศิษย์ เจ้าเมือง ขุนนาง ไปจนถึงคนบ้า ตำราชุดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ก่อร่างสังคมและค่านิยมแบบจีน ไม่ว่าจะเป็นการเคารพผู้ใหญ่ การเรียนรู้จากบุคคลต่างๆ โดยไม่สนใจสถานะ ไปจนถึงการใช้ความคิดในการสนทนาโต้แย้ง
11. Colombia – 100 Years of Solitude (1967)
by Gabriel García Márquez
สำหรับโคลอมเบีย เด็กๆ จะได้อ่านงานเขียนชื่อดังอย่าง 100 Years of Solitude หรือ 100 ปีแห่งความโดดเดี่ยว วรรณกรรมแนวสัจนิยมมหัศจรรย์ที่เล่าเรื่องราวของคนห้าชั่วคนในดินแดนโคลอมเบียในจินตนาการ งานเขียนดังกล่าวสะท้อนประวัติศาสตร์ที่ชาวโคลอมเบียต้องเผชิญไม่ว่าจะเป็นการคอร์รัปชันและความทุกทรมาน ที่ในที่สุดผู้คนก็ไม่ได้ยอมแพ้ต่อสภาพเลวร้ายที่ต้องเผชิญ
12. Cyprus – The Murderess (1903)
by Alexandros Papadiamantis
สำหรับไซปรัส ประเทศเล็กๆ ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เด็กๆ จะต้องอ่าน The Murderess ซึ่งก็ตามชื่อคือเป็นนิยายขนาดสั้นที่พูดถึงหญิงชราที่ลงมือสังหารเด็กหญิง การฆาตกรรมดังกล่าวเป็นการฆ่าที่ซับซ้อนเพราะหญิงชราลงมือเพราะความปรารถนาดี เป็นการฆ่าด้วยความกรุณา งานเขียนชิ้นนี้พูดถึงประเด็นของผู้หญิงและสถานะของแต่ละเพศอย่างซับซ้อน และนำไปสู่การถกเถียงถึงการกระทำต่างๆ ในเรื่องว่าถูกต้องหรือถูกศีลธรรมหรือไม่
13. Egypt – The Days (1935)
by Taha Hussein
The Days เป็นอัตชีวประวัติของ Taha Hussein นักคิดและนักเขียนคนสำคัญของอียิปต์ ชายผู้เป็นเหมือนตำนานที่มีชีวิต เป็นคนตาบอดตั้งแต่อายุ 3 ขวบและเติบโตขึ้นจนกลายเป็นรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการของประเทศ หนังสือเล่มนี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นของการขบถต่อกฏเกณฑ์ของประเพณีและอวิชชาจากผู้คนในสังคม
14. Finland – Seven Brothers (1870)
by Aleksis Kivi
ฟินแลนด์ หนึ่งในดินแดนสงบสุขและธรรมชาติที่ตระการตา Seven Brothers เป็นเรื่องราวของพี่น้อง 7 คนตามชื่อเรื่อง ที่ต้องไปดิ้นรนอยู่ในพื้นที่ชนบทของประเทศ สุดท้ายเด็กๆ ก็ได้เรียนรู้และเติบโตขึ้นเป็นสมาชิกในสังคม งานเขียนชิ้นนี้เป็นงานเขียนภาษาฟินนิชที่พูดถึงคนฟินแลนด์ธรรมดาๆ และถือว่าเป็นนวนิยายประจำชาติ ที่พูดถึงนัยของความดื้อรั้นของชาวฟินแลนด์
15. Germany – The Diary of Anne Frank (1947)
เป็นหนังสือบังคับที่น่าสนใจ เพราะสำหรับเยอรมันที่อาจจะพูดได้ว่าเป็นชาติที่เป็นผู้กระทำในการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว แต่หนังสือที่เด็กๆ ต้องอ่านกลับเลือกงานเขียนที่แสดงถึงการกระทำที่โหดร้ายและผิดพลาดของชาติตนเอง บันทึกของแอนน์ แฟรงค์เป็นบันทึกของเด็กน้อยที่หลบซ่อนเพื่อเอาชีวิตรอดจากนาซี งานเขียนดังกล่าวแสดงให้เห็นและเป็นการเรียนรู้จากปัญหาและผลของการกระทำจากคนที่มีจิตใจคับแคบ
16. Ghana และ Nigeria – Things Fall Apart (1958)
by Chinua Achebe
Things Fall Apart เป็นงานเขียนสำคัญของวรรณกรรมแอฟริกันที่มีฉากเป็นประเทศไนจีเรียตั้งแต่ยุคดั้งเดิมก่อนที่จะได้รับผลกระทบของการล่าอาณานิคมจากตะวันตกจนกระทั่งได้ถึงยุคอาณานิคม โดยเนื้อเรื่องพูดถึงผู้นำหมู่บ้านที่เป็นนักสู้ที่ในที่สุดต้องต่อสู้กับการล่าอาณานิคมของคนผิวขาว
17. India – Autobiography : The Story of My Experiments with Truth (1927-1929)
by Mohandas K. Gandhi
อินเดียก็ต้องเรียนรู้จากมหาบุรุษคนสำคัญผู้ที่นำอินเดียต่อสู้กับการครอบงำของอังกฤษ หนังสือเล่มนี้เป็นบันทึกของคานทีตั้งแต่วัยเด็กจนกระทั่งถึงช่วงอายุ 50 ปี แกนของเรื่องพูดถึงการใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีที่ทำผ่านสัจจะและสันติ
18. Indonesia – Rainbow Troops (2005)
by Andrea Hirata
Rainbow Troops เป็นเรื่องแนวฟีลกู้ดคล้ายๆ แนวหนังบ้านเรา คือเป็นนวนิยายที่สร้างจากเรื่องจริงของเด็กนักเรียนสิบคนในหมู่บ้านอันห่างไกลของอินโดนีเซีย กลุ่มนักเรียนที่ร่วมมือกับคุณครูเพื่อลุกขึ้นต่อสู้และทำเพื่อตัวเองและชุมชน
19. Iran – Poems
by writers such as Hafiz, Sa’Addi, Ferdowsi, Rumi and Khayyam
สำหรับอิหร่าน สิ่งที่เด็กๆ ต้องอ่านคือบทกวีของกวีคนสำคัญต่างๆ ในอิหร่านถือว่านวนิยายยังเป็นสิ่งที่ใหม่สำหรับการเป็นวรรณคดี ดังนั้นวรรณคดีคลาสสิกสำหรับอิหร่านจึงประกอบด้วยบทกวี บทกวีแต่ละชุดจะบรรจุประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความงาม ความสุข และอื่นๆ อีกมากมาย
20. Ireland – Ice Man : the Adventures of an Irish Antarctic Hero (2010)
by Michael Smith
Ice Man เป็นชีวประวัติของ Tom Crean เด็กหนุ่มไอริสที่หนีออกจากบ้านตอนอายุ 15 เพื่อไปร่วมคณะสำรวจขั้วโลกเหนือของกัปตัน Robert Falcon Scott งานเขียนชิ้นนี้พูดถึงการเป็นนักสำรวจที่สามารถเอาชนะอุปสรรคต่างๆ ผ่านการทำงานหนักและความทุ่มเท แสดงให้เห็นถึงความเป็นไปได้ของทุกๆ อย่าง
21. Italy – The Betrothed (1827)
by Alessandro Manzoni
The Betrothed เป็นนวนิยายที่พูดถึงอิตาลีสมัยต้นศตวรรษที่ 17 ยุคที่อิตาลียังไม่ก่อร่างเป็นชาติที่เป็นปึกแผ่น ฉากของเรื่องพูดถึงการใช้ชีวิตของชาวบ้านที่อยู่ใต้การกดขี่ของพวกสเปน ตลอดจนความยากลำบากในการต่อสู้กับกาฬโรค งานเขียนดังกล่าวถือว่าเป็นหนึ่งในสองวรรณคดีสำคัญของอิตาลี และถือว่าเป็นรากฐานของวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์
22. Pakistan – The Reluctant Fundamentalist (2007)
by Mohsin Hamid
สำหรับปากีสถาน เลือกใช้วรรณกรรมที่ค่อนข้างร่วมสมัย เป็นงานเขียนขายดีระดับนานาชาติที่พูดถึงชายหนุ่มชาวปากีสถานที่เล่าและคิดคำนึกถึงช่วงเวลาของเขาในสหรัฐ ทั้งในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ก่อการร้าย 9/11 ในปี 2001 โดยรวมแล้วแสดงให้เห็นถึงตัวตนของความเป็นปากีสถานที่ต้องต่อสู้กับความคิดแบบหัวรุนแรง และเป็นการหาจุดยืนและตัวตนของตัวเอง
23. Philippines – Touch Me Not (1887)
by Jose Rizal
Touch Me Not เป็นงานเขียนที่นำไปสู่การปฏิวัติของฟิลิปปินส์ งานเขียนดังกล่าวเล่าและปลุกเร้าผู้คนจากการปกครองอันทารุณ กดขี่ และตามอำเภอใจในการตกเป็นอาณานิคมของสเปน วรรณกรรมชิ้นนี้ถูกพิจารณาให้เด็กๆ อ่านเพื่อเรียนรู้ถึงความพยายามของบรรพชนในการก่อร่างและนำมาสู่การประกาศอิสรภาพต่อมา
24. Russia- War and Peace (1869)
by Leo Tolstoy
งานเขียนที่นักเรียนต้องอ่านมักจะเป็นงานคลาสสิก สำหรับรัสเซียเองก็เลือกงานระดับขึ้นหิ้งเรื่อง War and Peace งานเขียนยาวมหากาพย์ที่ครอบคลุมทุกแง่มุมในชีวิตให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ ซึ่งแน่ล่ะ โดยเรื่องราวพูดถึงการรุกรานรัสเซียที่ไม่สำเร็จของนโปเลียนแห่งฝรั่งเศส
25. US – To Kill A Mockingbird (1960)
by Harper Lee
อเมริกาก็เลือกงานเขียนคลาสสิกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งของประวัติศาสตร์ชาติตัวเอง To Kill A Mockingbird แสดงภาพของการเหยียดผิว เหยียดเพศ และความอยุติธรรมที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์และยังคงเป็นสิ่งที่ก่อปัญหาแม้แต่ในปัจจุบัน เป็นเรื่องที่ดีในการเรียนรู้เรื่องราวของชาติตนเองผ่านปัญหาและความผิดพลาด ที่หวังได้ว่าอาจจะนำไปสู่สำนึกและความเข้าใจ ไม่ได้จำเป็นต้องเรียนรู้จากความสวยงามหรือการเชิดชูเพียงอย่างเดียว
26. Vietnam – Truyện Kiều (1820)
by Nguyễn Du
The Tale of Kiều เป็นวรณคดีประเภทกวีนิพนธ์ของเวียดนาม เล่าถึงเรื่องราวมหากาพย์ของหญิงสาวเยาว์วัยชื่อ Thuý Kiều ผู้ซึ่งยอมสละตัวเองเพื่อรักษาครอบครัวของเธอไว้ มหากาพย์ดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความเป็นมนุษย์และความสวยงามของเวียดนาม ทั้งยังแสดงให้เห็นถึงความยากลำบากด้วย
27. ไทย – มิตรภาพต่างสายพันธุ์ โดย ม.ล. ปริญญากร วรวรรณ , เจ้าน้อยฟอนเติลรอย โดย เบอร์เนต์ ฟรานเซส ฮอดจ์สัน ผู้แปล แก้วคำทิพย์ ไชย, สองแขนที่กอดโลก โดย วินทร์ เลียววาริณ, เรไร ไลลา โดย ศักดิ์สิริ มีสมสืบ
บ้านเราเองก็มีหนังสืออ่านนอกเวลา ถ้าเป็นเรื่องที่เราคุ้นหูก็อย่าง ‘แมงมุมเพื่อนรัก’ ‘ความสุขของกะทิ’ หรือ ‘อัวรานางสิงห์’ ในปี 2554 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกาศรายชื่อหนังสืออ่านนอกเวลาสำหรับชั้นประถมถึงมัธยมทั้งสิ้น 44 เล่ม สำหรับมัธยมศึกษาตอนปลายก็มีหนังสือเช่น ‘มิตรภาพต่างสายพันธุ์’ ที่พูดถึงเรื่องเล่าชีวิตในธรรมชาติ ให้ภาพความสัมพันธ์ของทั้งคนกับธรรมชาติและความสัมพันธ์ของสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ‘เจ้าน้อยฟอนเติลรอย’ หนังสือแปลที่เล่าถึงเรื่องราวของเด็กน้อยที่บริสุทธิ์ผู้ที่แม้จะมีฐานันดรสูงส่ง ‘สองแขนที่กอดโลก’ หนึ่งในหนังสือแนวให้กำลังใจของ วินทร์ เลียววาริณ ‘เรไร ไลลา’ บทกวีที่เล่าถึงเรื่องราวสวยงามทั้งความผูกพันของครอบครัวและธรรมชาติ โดยรวมแล้วหนังสือที่เด็กๆ (จริงๆ ก็ไม่เด็กแล้วเนอะ เพราะเตรียมเข้ามหาวิทยาลัยแล้วล่ะ) บ้านเราจะได้อ่านเน้นไปที่ความสดใส สวยงาม