“เดี๋ยวสักวันก็ได้ใช้”
“อันนี้ทิ้งไม่ได้ เดี๋ยวคนให้เสียใจ”
“ไม่รกเท่าไหร่ ไว้เก็บพรุ่งนี้แล้วกัน”
สารพัดเหตุผลที่มีน้ำหนักบางไม่มีน้ำหนักบ้าง ต่อคิวเข้ามาในหัวยามจับของชิ้นนู้นชิ้นนี้ เพื่อดูว่าอะไรที่เราพอจะทิ้งไปได้บ้าง ตอนมันอยู่ของมันเฉยๆ ก็ไม่ได้ใช้ แต่พอจะทิ้งขึ้นมาดันจะได้ใช้เสียอย่างนั้น เลยพาให้ทั้งห้องเต็มไปด้วยของที่ใช้จริงๆ และได้ใช้ในภายภาคหน้าปะปนกันอยู่เต็มไปหมด ของจุกจิกพวกนั้นเราอาจจะคิดว่ามันมีแค่ของเป็นชิ้นๆ ที่มือเราจับได้ ที่ตาเรามองเห็น แต่ของจุกจิกที่อยู่ในหัวของเราก็มีเหมือนกัน และส่งผลกับสุขภาพใจของเราได้เช่นเดียวกับของรกๆ บนโต๊ะที่ไม่ได้เก็บเลยล่ะ มาดูกันว่าของจุกจิกเหล่านั้น ทั้งของที่จับได้และในความคิดของเรา มันส่งผลยังไงกับเราบ้าง?
ของจุกจิก ที่เรากำลังจะพูดถึงอยู่นี้ เรากำลังหมายถึงของชิ้นเล็กชิ้นน้อย ที่อยู่กระจัดกระจายอย่างไม่เป็นระเบียบ ถูกเก็บไว้อย่างไม่ตั้งใจ หลายอย่างเป็นของที่มีคุณค่าทางจิตใจ หลายชิ้นเป็นของที่บรรจุเอาความทรงจำ ความรู้สึก ของเราไว้ในนั้น เวลาหยิบขึ้นมาแล้วถามตัวเองว่าจะได้ใช้ไหม คำตอบคือไม่ได้ใช้หรอก แต่ไม่อยากทิ้ง เพราะหากไม่มีของสิ่งนี้ ที่เรามีความรู้สึกผูกพันกับมัน ทั้งความเสียใจและความเสียดายจะตามมา แม้ของหลายชิ้นจะมีคุณค่าทางจิตใจจนทิ้งไม่ลง แต่ไม่ใช่ว่าการไม่ทิ้งอะไรเลยจะเป็นผลดีกับเรา
อยู่ท่ามกลางอะไรรกๆ ไม่ดีต่อจิตใจ
งานวิจัยจาก Princeton University เวลาเราใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางของรกๆ ไม่เป็นระเบียบเนี่ย ทำให้เราไม่ค่อยมีสมาธิกับสิ่งที่ต้องทำเท่าไหร่นัก จนอาจทำให้เกิดความสับสนไปจนถึงความเครียด ในขณะที่สภาพแวดล้อมที่ถูกจัดระเบียบเนี่ย จะให้พลังบวก ให้ความรู้สึกสงบ และเข้าใกล้ well-being มากกว่า เพราะสมองของเรามักจะประมวลผลว่า อะไรที่มันรกๆ วางอยู่ตรงนั้นตรงนี้เนี่ย มันคือสิ่งที่ยังทำไม่เสร็จ ยังไม่เข้าที่ พอมันมีอยู่รอบตัวมากๆ เลยเกิดความเครียดหรือความกังวลขึ้นมาได้ ลองมาดูงานวิจัยจาก University of California ที่ตีพิมพ์ใน Personality and Social Psychology Bulletin ในหัวข้อ ‘No Place Like Home: Home Tours Correlate With Daily Patterns of Mood and Cortisol’ พูดถึงเรื่องความเป็นระเบียบในบ้านที่สะท้อนออกมาทางอารมณ์ โดยพบว่าคนที่บอกว่าตัวเองบ้านรกเนี่ย มีฮอร์โมนคอร์ติซอล (cortisol) ในระดับสูง ซึ่งฮอร์โมนคอร์ติซอล ส่งผลกับความเครียดโดยตรง
แม้เราจะมีข้าวของมากมาย แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะรกเสมอไป พอรู้ว่าบ้านรกแล้วแย่ขนาดไหนหลายคนอยากจะเปิด Netflix ดูสารคดี ‘Tidying Up’ เพื่อสวมวิญญาณ มาริเอะ คนโดะ (Marie Kondo) จัดแจงหาข้าวของที่สปาร์กจอยในบ้านขึ้นมาทันที แต่ช้าก่อน ยังไม่ถึงขนาดต้องลุกไปในตอนนี้ แค่ของเยอะแต่ถ้าหากมันถูกจัดอย่างเป็นระเบียบ อยู่ในที่ทางที่ควรจะเป็นของมัน เราก็จะอยู่ในหมวดของเยอะ ไม่ใช่ของรก เพราะของรกนั้น ให้ของที่บ้านน้อยแค่ไหนก็สามารถรกได้ ถ้าหากมันอยู่อย่างกระจัดกระจาย ไม่เป็นระเบียบ
แต่ใช่ว่าของจุกจิกจะมีอยู่แค่ที่ตาเห็นหรือมือสัมผัสได้เท่านั้น ในหัวของเราก็ยังมีสิ่งที่สามารถเป็นของจุกจิก ขวางทางเดินของความคิดได้เหมือนกัน อย่างนิสัยเก่าๆ ที่เลิกไม่ได้ ไอเดียที่คั่งค้างไว้ไม่ได้ทำเสียที ความยุ่งเหยิงในชีวิตประจำวัน รถติดอีกแล้ว เดือนนี้เงินพอใช้ไหมนะ แฟนงอนหรือเปล่าที่ไม่ได้ไปกินข้าวด้วย และอีกสารพัดความกังวลที่ติดอยู่ในหัว ล้วนเป็นเหมือนของจุกจิกที่ทำให้เราไม่มีสมาธิกับงานที่ต้องทำเช่นกัน อย่ามัวเสียเวลาชีวิตไปกับการหากุญแจที่ไม่เคยอยู่เป็นที่ ถุงเท้าที่ไม่เคยอยู่ครบคู่ เดินหลบของบนพื้นที่แทบจะไม่มีที่ให้เดิน หากสิ่งของเหล่านี้มันสร้างความลำบากในการใช้ชีวิต เช่นเดียวกับความกังวลต่างๆ ในใจ ที่ทำให้เราไม่มีสมาธิกับอะไรเอาเสียเลย มาจัดระเบียบทั้งสิ่งของที่จับต้องได้และความกังวลต่างๆ ในความคิดของเรากัน
จัดระเบียบแล้วมันดียังไง?
เวลาเครียดๆ หลายคนเลือกที่จะลุกขึ้นมาหยิบนู่นจับนี่ให้เข้าที่เข้าทาง อย่างเราเองก็ชอบล้างจานขึ้นมาเฉยๆ ทั้งที่ปกติไม่ค่อยพิศวาสการล้างจานเท่าไหร่นัก อาการเหล่านี้สามารถอธิบายได้ด้วยนะ งานวิจัยจาก University of Connecticut ในหัวข้อ ‘Effects of Anxiety on Spontaneous Ritualized Behavior’ เล่าถึงความเครียดที่มักจะผลักดันให้เราทำอะไรสักอย่างเหมือนเป็นพิธีกรรมโดยธรรมชาติ (เช่น ลุกไปล้างจาน) โดยเฉพาะเวลาเราเครียดเนี่ย คนเรามักจะลุกขึ้นไปทำความสะอาดซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น เพราะท่ามกลางสถานการณ์ที่วุ่นวาย มันทำให้รู้สึกว่าเราสามารถควบคุมอะไรบางอย่างได้ ควบคุมสิ่งแวดล้อมได้ ควบคุมข้าวของเครื่องใช้พวกนี้ได้นั่นเอง
รวมถึงงานวิจัยหัวข้อ ‘No Place Like Home: Home Tours Correlate With Daily Patterns of Mood and Cortisol’ ที่พูดถึงไปข้างต้นว่าคนที่อยู่ท่ามกลางของรกๆ เนี่ย มีฮอร์โมนคอร์ติซอลมากกว่าอย่างเห็นๆ ดังนั้น ความรกในบ้านจึงไม่ได้สร้างแค่ความรำคาญเวลาหาของไม่เจอ เดินชนนู่นนี่ แต่ส่งผลกับฮอร์โมนความเครียดในร่างกายโดยตรงเลยล่ะ
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าการอยู่ท่ามกลางของรกๆ จะทำให้เราเกิดความเครียดได้ง่าย ขาดสมาธิที่จะทำอะไร การจัดข้าวของคือสิ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้าม มันคือการสร้างความสงบ สร้างสมาธิ ลองนึกถึงบ้านที่ถูกจัดไว้อย่างเป็นระเบียบ เราไม่ต้องเดินหลบนู่นไปชนนี่ ของจะอยู่ที่เดิมของมันเสมอ ไม่ต้องพลิกห้องหา จะดีกับสุขภาพใจของเราแค่ไหน ‘cluttercore’ คือการตกแต่งบ้านด้วยข้าวของที่มากชิ้นเข้าไว้ ถูกวางอย่างตั้งใจว่าให้มันเหมือนไม่ตั้งใจ ตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง แต่ภายใต้ของมากมายนั้น มันซ่อนความเป็นระเบียบเอาไว้อยู่ ของเยอะ ไม่เท่ากับ ของรก เพราะฉะนั้นลุกมาจัดระเบียบของให้มันเข้าที่เข้าทางกันเถอะ
เก็บทุกวันอย่างปล่อยไว้
ขยะชิ้นเล็กชิ้นน้อย อย่าวางทิ้งไว้ รอลงถังขยะทีเดียวในวันที่มันเยอะขึ้น ของที่หยิบออกมาใช้ประเดี๋ยวประด๋าว อย่าลืมเก็บเข้าที่ทันทีที่ใช้เสร็จ ไม่งั้นมันจะอยู่อย่างนั้นจนกว่าเราจะใช้มันอีกรอบ ซึ่งอาจจะหาไม่เจอแล้วก็ได้ อย่าปล่อยให้ความรกเล็กน้อยพวกนี้ สะสมมากขึ้นทุกวันจนกลายเป็นความรกแบบเต็มพิกัด เต็มพื้นที่ ในสักวัน พอถึงวันนั้น เราอาจจะจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าต้องเริ่มเก็บตรงไหน จัดการอะไรก่อนดี จนรู้สึกว่ามันเกินกว่าจะจัดการได้ภายในเวลาที่มี และต้องเสียเวลาที่จะได้ทำอย่างอื่นมาจัดการเรื่องยุ่งๆ ตรงนี้แทน
ไม่ทิ้งได้ แต่ต้องจัดให้เป็นระเบียบ
มีคุณค่าทางใจ เสียดายไม่อยากทิ้ง เดี๋ยวก็ได้ใช้แหละน่า หากมีเหตุผลมาสนับสนุนขนาดนี้แล้ว ไม่ทิ้งก็ไม่ทิ้ง แต่มาจัดสิ่งของเหล่านี้ให้เป็นระเบียบกันเถอะ นอกจากของใช้ในบ้านที่ถูกจัดเก็บตามหมวดหมู่ของมันแล้ว เรามักจะมีของจิปาถะที่ไม่รู้จะเอาไปลงที่หมวดไหนดี ห้องน้ำ ห้องนอน ห้องนั่งเล่น ไม่ได้สักห้อง
ลองมาแบ่งของที่ทิ้งไม่ได้ตามประเภทการใช้งานของมันกันดีกว่า อย่างเราจะจัดการของจิปาถะพวกนี้ด้วยการเลือกแบ่งเป็น เอกสารสำคัญ อย่างนิติกรรมสัญญา สลิปเงินเดือน สำเนาเอกสารสำคัญ ต่อมาเป็น ของที่มีคุณค่าทางใจ อย่างของขวัญที่ได้จากโอกาสต่างๆ ของที่เป็นตัวแทนใครสักคน และสุดท้าย ของที่จะได้ใช้ในสักวัน ไม่ได้ใช้วันนี้ก็ต้องมีสักวันแหละน่า เก็บเอาไว้รวมกัน หวังว่าสักวันเราจะได้พบกันอีก อาจจะไม่ต้องเลือกประเภทตามนี้เป๊ะ ลองเอาไปปรับใช้กันได้
สิ่งที่ค้างอยู่ในใจ จดมันออกมา
เวลาเรามีเรื่องกังวลใจมากเสียจนมันกระทบกับชีวิตประจำวัน ไม่มีสมาธิทำงาน ไม่อยากลุกไปทำอะไร เหมือนมีเมฆหมอกปกคลุมในความคิดตลอดเวลา ที่มันคอยกังวลอยู่ตลอดแบบนั้น นั่นเพราะเราเครียดกับมันเฉยๆ โดยที่ไม่ได้ให้ทาออกให้มันอย่างเป็นจริงเป็นจัง ลองจดมันออกมาเป็นข้อๆ ว่าอะไรกำลังทำให้เราเป็นกังวลอยู่ตอนนี้
หากมีเวลามากพอ ลองหาทางออกให้มันเป็น 2 สเต็ป ขั้นแรก ตอนนี้เราพอทำอะไรกับมันได้ แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้อย่างไรบ้าง ขั้นต่อมา คือ การแก้ไขแบบเต็มรูปแบบว่าจริงๆ แล้ว หากจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างหมดจด เราต้องทำอย่างไร อย่างน้อยให้เราได้สบายใจว่าเรามีทางออกให้กับเรื่องที่เรากังวล มีการเตรียมตัวรับมือปัญหา ทั้งแพลนเอ แพลนบี จะได้ลดความกังวลลอยๆ ในหัวที่ไม่ได้รับการแก้ไขสักที
ชีวิตคนเรามันสั้น อย่าเสียเวลากับของที่ไม่อร่อยและหัวหมุนไปกับการหากุญแจอย่างเร่งรีบในทุกเช้า
อ้างอิงข้อมูลจาก
Verywellmind #2