วิชาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์มักมีภาพลักษณ์ที่ดูเหมือนเป็นเรื่องยากมากๆ และมักถูกมองว่าความรู้เฉพาะของเด็กสายวิทย์ หากแต่ ‘วิทยาการคำนวณ’ ซึ่งวิชาบังคับพื้นฐานใหม่ล่าสุดในโรงเรียน ที่เปิดเทอมที่ผ่านมาเด็กๆ ในชั้น ป.1, ป.4, ม.1 และ ม.4 ต้องเริ่มเรียนกันแล้ว
แต่หลายคนคงยังสงสัยว่า วิชานี้มันคืออะไร ต่างจากวิชาคอมพิวเตอร์ตรงไหน ทำไมต้องเรียน ?
The MATTER จึงไปคุยกับ อ.ผนวกเดช สุวรรณทัต จากสถาบันการเรียนรู้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้ร่วมปรับปรุงหลักสูตรและร่างแบบเรียนวิชาวิทยาการคำนวณระดับประถมศึกษาว่าโค้ดดิ้งสำคัญอย่างไร ทำไมถึงสำคัญกับคนทุกคน?
อาจารย์คิดว่าเพราะอะไรการเรียนเขียนโปรแกรมถึงสำคัญ
หลายคนอาจจะไม่เห็นความสำคัญของโค้ดดิ้ง แต่ถ้าบอกว่าคอมพิวเตอร์สำคัญกับชีวิตประจำวันมากแค่ไหน ตอนนี้ไม่มีใครปฏิเสธ มันแทรกซึมไปอยู่ในทุกอณูของชีวิต ไม่ว่าจะสาขาอาชีพอะไร ต้องใช้คอมพิวเตอร์ทั้งนั้น แต่ถามว่าโค้ดดิ้งสำคัญอย่างไร ต้องมองให้ลึกลงไปว่า คอมพิวเตอร์มันทำงานแทนเรา ช่วยเหลือเรา และตัดสินชีวิตเราด้วย เช่น จะได้คิวในการดูคอนเสิร์ต หรือคิวในการรักษา ในการเปลี่ยนไตหรือไม่่ โดยการใช้อัลกอริทึม โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ถ้าเราเข้าใจเพียงแค่วิธีการกดปุ่มเพื่อสั่งงานบางทีมันไม่พอ ถ้าเราอยู่ในระดับนโยบายของชาติที่จะต้องตัดสินว่า จะใช้วิธีการอะไรในการตัดสินใจว่าจะเข้าถึงทรัพยากรใดได้ เราต้องรู้ถึงหลักการการทำงานของมัน และไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นนักคอมพิวเตอร์เท่านั้น หรือเข้าใจภาษาคอมพิวเตอร์ แต่ต้องพอเข้าใจว่าอันนี้มันทำได้หรือทำไม่ได้ อันนี้เป็นจุดที่อันตรายหรือจุดที่คอมพิวเตอร์ทำงานแทนเราได้
ตัวของการเขียนโค้ดเป็นแค่การฝึก เป็นแค่การทดลองเข้าไปสัมผัส ความเข้าใจที่ได้จากการเขียนโค้ดจะทำให้เราเข้าใจการทำงานของคอมพิวเตอร์และระบบของมันได้ดีขึ้น ทั้งจะทำให้ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ในชีวิตได้ดีขึ้น ปลอดภัย และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
เด็กส่วนใหญ่จะคุ้นชินกับวิชาคอมพิวเตอร์ พอเมื่อวิชานี้เปลี่ยนเป็นวิชาวิทยาการคำนวณ มันจะต่างจากเดิมยังไงบ้าง
เดิมจะเป็นวิชาเทคโนโลยี หรือวิชาคอมพิวเตอร์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี การมองแบบเดิม ก็ไม่ผิดที่มองคอมพิวเตอร์เป็นสาขาอาชีพหนึ่ง แต่ตอนนี้เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป คอมพิวเตอร์ ไม่ใช่แค่อาชีพนักคอมพิวเตอร์ มันคือทุกอาชีพ คือพื้นฐานของการคิด ไม่ต่างอะไรกับกระบวนการวิทยาศาสตร์ ดังนั้น การย้ายวิชาเข้ามาอยู่ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์เป็นการตอกย้ำให้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า เรื่องกระบวนการคิด การสอน และการเรียนรู้เป็นแบบวิทยาศาสตร์ ใช้เหตุผลมากกว่าการท่องจำ, การฝึกฝน, ทำอะไรซ้ำๆ ทำตามครู นั้นคือการฝึกอาชีพให้คล่อง
วิชาใหม่นี้เราจะปรับหลายอย่าง เดิมไม่มีการสอนโค้ดดิ้งอย่างเป็นระบบความคิด มีแต่จะเน้นไวยากรณ์ เช่น เซมิโคลอน วงเล็บเปิด วงเล็บปิด ปีกกาเปิด ปีกกาปิดอยู่ตรงไหน แต่เราจะไม่เน้นพวกนั้นเลย ไม่เน้นท่องจำไวยากรณ์ แต่จะเน้นการคิดว่าคอมพิวเตอร์ต้องทำตามคำสั่งอย่างไร ถึงจะได้ผลลัพธ์ออกมาได้ และถ้าไม่ใช่คอมพิวเตอร์แต่เป็นมนุษย์ทำตามคำสั่ง เราจะได้ผลลัพธ์ออกมาไหม ความผิดพลาดตรงนี้เกิดขึ้นจากตรงไหน ไม่ใช่แค่จำวิธีการแก้ แต่ต้องรู้เหตุผลด้วย
แต่เดิมวิชาการงานพื้นฐาน เน้นการสอนซอฟต์แวร์ ในฐานะผู้ใช้ แต่ตอนนี้เราเปลี่ยน จากการเน้นเป็นผู้ใช้ เป็นผู้สร้างสรรค์มากขึ้น เมื่อใดที่เห็นคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน แล็บท็อป จะต้องมองว่ามันเป็นอุปกรณ์สำหรับสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะงานศิลปะหรือ งานวิทยาศาสตร์
จุดที่หลักสูตรเน้นคือคำว่า ‘ข้อมูล’ เห็นคอมพิวเตอร์แล้วจะต้องรู้ว่าอุปกรณ์นี้สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนมาก นำข้อมูลมาใช้ หาผลของข้อมูลโดยที่ไม่ต้องมาทำเอง และเอาข้อมูลนี้มาใช้ในการประมวลผลและนำมาตัดสินใจโดยมีฐานจากข้อมูลเป็นสำคัญ
และอีกจุด ซึ่งหลักสูตรเดิมก็มีอยู่ แต่หลักสูตรใหม่จะปรับให้เขากับยุคสมัยมากขึ้นก็คือ Digital Media Literacy หรือการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล ซึ่งสำคัญมากๆ ที่จะทำให้เด็กใช้ดิจิทัลได้อย่างปลอดภัย และไม่โดนหลอก และไม่ไปหลอกเขาด้วย
แล้ววิชาโค้ดดิ้งนี้ทำไมเด็กต้องเรียน และเรียนถึง 12 ปี
เดิมโค้ดดิ้งบางโรงเรียนก็สอน บางโรงเรียนก็ไม่สอน โรงเรียนที่สอนจะสอนตามหลักสูตรที่กำหนด เรียนตามตัวอย่าง เน้นการเรียนรู้ไวยากรณ์ภาษา แต่ตอนนี้เราเน้นที่กระบวนการคิด
ถามว่าทำไมต้องเรียน 12 ปี คำตอบคือ หลักสูตรกำหนด แต่เราให้อิสระเล็กน้อยในการจัดการหลักสูตรว่า จะจัดจำนวนชั่วโมงในช่วงปีไหน เช่นใน ม.ปลาย หลักการกำหนด 40 ชั่วโมงต่อปี แต่จะจัดสรรอย่างไรก็ได้ ไม่ได้บังคับ ที่บังคับคือตัวชี้วัดของหลักสูตร ที่ต้องสอนให้ครบ
ส่วนการกระจายสอนในหลายช่วงชั้นปีมีประโยชน์อย่างไร เพราะจะทำให้แต่ละปีเรียนไม่หนักเกินไป เราสามารถค่อยๆ ส่งเสริมให้เขาได้ค่อยๆ เจริญเติบโตทางความคิดไปได้เรื่อยๆ ไม่ใช่แค่เห็นตัวอย่างแล้วทำตามได้ แต่เห็นปัญหาแล้วเห็นทางแก้ และมีเวลาจะสร้างสรรค์จินตนาการของตัวเองว่าจะลองแก้แบบอื่นได้ไหม ซึ่งมุมมองของผม ถ้าเราอัดเนื้อหาไปแค่ในไม่กี่ปีชั้นปี เด็กจะไม่ได้มีเวลาคิดตรงนั้น และจะรู้สึกว่าทุกอย่างมันรีบเร่ง
เร็วไปมั้ย ที่ให้ป.1 เริ่มเรียนวิชานี้แล้ว
ช่วงประถมต้น หลักสูตรแนะนำให้เรียน 20 ชั่วโมง และมี 9 บท ซึ่งเนื้อหาแต่ละบทไม่ได้ยากเลย เพราะว่าแรกๆเด็กจะไม่ได้รู้จักคำว่าโค้ดดิ้งหรือเขียนโปรแกรม แต่อันดับแรกคือการเปรียบเทียบ โดยเด็กจะได้รู้จักว่าหุ่นยนต์แบบไหนมีส่วนแตกต่างกัน เป็นการฝึกการสังเกต โดยที่เราไม่ได้สอนทฤษฎีการสร้างหุ่นยนต์
อันดับถัดไปคือการสอนการลำดับขั้นตอน เช่น ระหว่างการแปรงฟัน, การแต่งตัว และการเข้าแถวเคารพธงชาติที่โรงเรียน นักเรียนทำสิ่งใดก่อน นี่เป็นชีวิตประจำวันเขาเลย เขาอาจจะไม่ได้คิด แต่ถ้าเราฝึกให้เขาคิดซ้อนเข้าไปกับสิ่งที่เป็นกิจวัตรอยู่แล้ว เขาจะเคยชินกับการคิดเป็นลำดับขั้นตอน จากนั้นแบบฝึกหัดก็อาจจะถามว่า ในนิทานราชสีห์กับหนู ภาพใดเกิดก่อน เกิดหลัง เขาจะรู้ว่าลำดับขั้นตอนมีผลต่อเนื้อเรื่อง ถ้าทำผิดขั้นตอน เล่าผิดก็จะทำให้เกิดเรื่องที่แตกต่างออกไป
การเขียนโปรแกรม จะเริ่มสอนในบทที่ 4 ซึ่งเป็นแค่การเดินไปที่ร้านไอศกรีมเท่านั้นเอง และคำสั่งในการเขียนโปรแกรมก็ไม่ใช่ภาษาคอมพิวเตอร์ แต่เราเรียกว่า ‘บัตรคำสั่ง’ เป็นกระดาษ ซึ่งมีลูกศรชัดเจน เด็กจะเข้าใจลูกศร แล้วเลือกเดินขึ้นบน ซ้าย ขวาไปจนถึงร้านไอศกรีมและกลับบ้าน ซึ่งเป็นการคิดแบบลำดับขั้นตอน เป้าหมายของเรา ไม่ได้จะสอนภาษาการเขียนโปรแกรม แต่เราเอาการเขียนโปรแกรมเข้ามาเพื่อเป็นเครื่องมือให้เด็ก เหมือนเป็นเกมให้เล่น เพื่อฝึกให้เด็กมีกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบขั้นตอนก่อน แล้วต่อมาในระดับชั้นที่สูงขึ้นก็เริ่มมีเหตุผลตามไป หลายคนเป็นห่วงว่านี่เป็นวิชาใหม่ ที่จะยัดเยียดอีกแล้ว แท้จริงแล้วเราไม่ได้ยัดเยียด แต่ดึงสิ่งที่ยัดเยียดออกไป คือเนื้อหาท่องจำ และแทนด้วยการคิดแทน
สำหรับเด็กเล็กๆ ต้องมีสื่อการสอนอย่างไรให้เด็กสนใจ
จากการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญพัฒนาการของเด็ก เราพบว่า เด็กประถมต้นควรเน้นให้เขาได้สัมผัสกับของจริงในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ ต้นไม้ ใบหญ้า เวลาที่อยู่กับหน้ากระดาษควรจะน้อย เวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ควรจะน้อยหรือไม่มีเลย แต่ควรอยู่กับเพื่อนมนุษย์ ดังนั้นกิจกรรมที่สอนให้เด็กป.1 ได้ลองเขียนโปรแกรม ต้องให้มีการเคลื่อนไหวทางกายภาพ เช่น การเดินไปซื้อไอศกรีม หรือออกแบบพื้นห้องเรียนให้เหมือนในหนังสือ และให้เด็กเขียนโปรแกรม เดินตามด้วยบัตรคำสั่ง เด็กๆ จะรู้ว่าสิ่งที่เขาเขียนลงกระดาษมีผลจริง และจับต้องได้ หรือที่เรียกว่าเรียนรู้แบบ Unpluged
พอต่อมา เด็กชั้นป.4 จะได้เริ่มอยู่หน้าคอมพิวเตอร์บ้าง ก็จะเริ่มให้ Plug In โดยที่โปรแกรมเป็น ฺblock-based programming จะมีบล็อคบัตรคำสั่งที่เป็นสี เอาเม้าส์ลากบล็อคมาต่อกันได้ สั่งตัวละครให้เดินตาม เด็กก็จะรู้สึกว่านี้เป็นภาคต่อของสิ่งที่เขาจับต้อง และมันแค่ขึ้นไปอยู่บนจอเท่านั้นเอง โฟกัสอยู่ที่การคิด ไม่ได้โฟกัสที่การท่องจำ
แต่บางคนอาจมองว่า วิชานี้เรียนจบไปเพื่อเป็นโปรแกรมเมอร์
เป้าหมายของหลักสูตรไม่ได้ต้องการสร้างโปรแกรมเมอร์ที่พร้อมใช้งาน แต่เราสร้างบุคลากรที่จะเป็นพลเมืองที่มีความพร้อมในยุคดิจิทัลของประเทศไทย ซึ่งต่อไปถ้าเขาจะไปเป็นโปรแกรมเมอร์ ก็จะมีฐานที่เอาไปต่อยอดได้ แต่ถ้าถามว่าเขาทำอะไรได้ เขาจะสามารถเขียนโปรแกรมอย่างง่ายได้ เพื่อแก้ปัญหาที่บูรณาการกับวิชาอื่นหรือชีวิตประจำวันได้ เช่นเห็นโจทย์เลขแบบนี้ แทนที่จะลองคิดในกระดาษอย่างเดียว ก็จะลองคิดว่าถ้าจะให้คอมพิวเตอร์คิดตามต้องทำอย่างไร และสามารถเขียนโปรแกรมให้มันทำแทนเรา พูดง่ายๆว่า ไม่ใช่แค่คนที่แก้ปัญหาทั่วๆ ไปได้ แต่ยังมองเห็นโอกาสในการเอาอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มาใช้การแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ นั้นคือส่วนของ computational thinking หรือการคิดเชิงคำนวณ
ส่วนของ ICT เด็กจะมองว่าคอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์ในการสร้างสรรค์และมองทุกอย่างเป็นข้อมูล เห็นทุกอย่างแล้วถ้าจะตัดสินใจอะไร จะคิดถึงข้อมูลก่อนเป็นอย่างแรก และก็จะรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัลทุกอย่าง นั้นคือสิ่งที่เด็กจะทำได้
คนจะชอบคิดว่าวิชาพวกนี้มันสำหรับเด็กสายวิทยาศาสตร์ แต่ตอนนี้วิชานี้อยู่ในทุกสาย จึงมีคำถามว่าทำไมเด็กสายศิลป์ถึงต้องเรียน
มันไม่ได้ยากที่จะเรียน เพราะสายวิทย์-ศิลป์เพิ่งมาแยกกันตอนโต ทั้งไม่สำคัญว่าเขาอยู่สายไหน เมื่อเขาเรียนจบหรือยังเรียนไม่จบ เขาหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสัมผัสกับเทคโนโลยีดิจิทัล สมาร์ทโฟน รถยนต์หรือตู้ ATM ที่ควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ และเมื่อเขาประกอบอาชีพไม่ว่าจะเป็นศิลปินวาดรูป เขาก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการโปรโมทผลงาน บางทีใช้คอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์สีด้วย ถ้าเป็นตำรวจ ก็ต้องใช้คอมพิวเตอร์ในการติดตามอาชญากร รวบรวมหลักฐาน และต้องใช้การคิดเชิงคำนวณ คิดแบบเป็นขั้นเป็นตอนในการเชื่อมโยงเหตุผลต่างๆ เข้าด้วยกัน ทุกสาขาอาชีพหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะใช้การคิดแบบเป็นเหตุเป็นผล และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะสัมผัสกับเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้นจำเป็นที่ทุกคนจะต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยีเหล่านี้
วิชานี้ก็เป็นวิชาที่ใหม่สำหรับครู แล้วครูที่สอนวิชานี้มีความพร้อมหรือยัง
คุณครูได้มีการฝึกอบรมแบบที่พบหน้า โดย สสวท. (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) มีเครือข่ายครูที่เรียกว่า ครูวิทยากรแกนนำเป็นเทรนเนอร์ของครูคนอื่นอยู่ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้เชิญครูเหล่านี้จำนวนหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว และอบรมหลักสูตรนี้ไปเพื่อนำไปอบรมครูคนอื่นๆ ต่อ การอบรมแบบพบหน้าจะมีการจัดอีกเรื่อยๆ
สถาบันอื่นๆ ก็มีการอบรมตามโครงการคูปองครู ที่ครูทุกคนสามารถเข้าอบรมได้ปีละ 10,000 บาท มีโครงการพวกนี้เยอะแยะและเราก็ได้รวบรวมไว้ ครูก็จะมีเครือข่ายกันเอง นอกจากนั้นสสวท.ก็กำลังมีโครงการฝึกอบรมครูออนไลน์ฟรี ซึ่งในรอบแรกมีเป็นพันคน และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และถ้าครูเรียนไปตามงวดจนจบก็จะได้ประกาศนียบัตรด้วย ซึ่งก็แบ่งจะเป็นหลักสูตรของประถมและมัธยม
แม้จะมีการผลักดันกันมากขึ้น อาจารย์คิดว่ายังมีอะไรเป็นอุปสรรคของวิชานี้บ้าง
มันคืออุปสรรคเดิมๆ เลยนะ คนมักจะมองว่าวิชาโค้ดดิ้งสามารถไปติวกันก่อนสอบได้ แต่จริงๆ คือไม่ได้เลย แม้ว่าจะติวหนักแค่ไหนก็ตาม มันไม่ใช่สิ่งที่สามารถท่องจำแล้วไปสอบได้ นั้นคือมุมมองที่ผิดอย่างหนึ่ง แต่มันอยู่ที่การเข้าใจเหตุผล อุปสรรค
คนมักเข้าใจว่าภาษาคอมพิวเตอร์ดูเป็นสิ่งที่ห่างไกลจากเราเหลือเกิน คนส่วนใหญ่มองว่ามันเป็นสิ่งที่แปลกปลอมมากๆ แค่เห็นก็รู้สึกขยะแขยงแล้ว นั้นเป็นปัญหาที่จะหมดไป เพราะการสอนโค้ดดิ้งต้องไม่เน้นไปที่ไวยากรณ์ และไม่สอนว่านี่คืออุปกรณ์ แต่ต้องกลืนไปกับชีวิต การคิด การใช้เหตุผล และการวางแผนมีขั้นมีตอน เด็กที่เรียนจะได้เห็น และเติบโต ด้วยความรู้สึกว่าโค้ดดิ้งสอดคล้องกับแนวคิดที่เขาถูกฝึกมาอยู่แล้ว นำไปใช้ต่อได้ และไม่รู้สึกว่าสิ่งนี้เป็นของแปลกปลอม
คิดว่าคนไทยยังมีความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับวิชาลักษณะนี้อยู่ไหม
มีอยู่เยอะมาก จุดที่สำคัญที่สุดคือคนเชื่อว่า คนเขียนโปรแกรมมักจะเป็นผู้ชาย แว่นหนาๆ เนิร์ดๆ ผมเผ้าไม่สระ ชอบกินพิซซ่า และก็พูดคุยกับคนไม่รู้เรื่อง มองว่าโค้ดดิ้งไม่ใช่เรื่องของเด็ก หรือผู้หญิง นั่นเป็นการมองแบบ stereotype หรือ มายาคติที่ผิด และเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งที่ทำให้วงการโค้ดดิ้งของทั้งประเทศไทยและทั่วโลกมีความเลื่อมล้ำทางเรื่องวัย เพศ และสีผิวต่างๆ มากมาย
และความเหลื่อมล้ำนี้เริ่มสร้างปัญหาแล้ว ทั้งในแง่โครงสร้างรายได้ของประชากรแต่ละกลุ่ม อัลกอลิทึม หรือการแก้ไขปัญหาของคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะอัลกอลิทึมที่เกี่ยวกับการตัดสินชีวิตคน เช่น เงินกู้กองทุนนี้ใครจะได้รับ ตัดสินคดีว่าจำเลยมีความเสี่ยงที่จะหลบหนีมากแค่ไหน จะให้โอกาสเขาในการปล่อยตัวชั่วคราวหรือเปล่า ตรงนี้เกิดเป็นอคติ ความลำเอียงของระบบคอมพิวเตอร์ เพราะคนที่สร้างมันขึ้นมา โดยอาจจะรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวเพราะว่าเขามีประสบการณ์ด้านเดียว แต่ไม่มีประสบการณ์ของเพศตรงข้าม, คนที่ฐานะแตกต่าง, คนที่อยู่ในชนบท หรือคนที่มีสีผิวต่างจากเขาเลย โค้ดของเขาจึงเต็มไปด้วยตรรกะที่มีความลำเอียงโดยที่ตัวเขาไม่ได้รู้ตัว นี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น และเราหวังว่าการให้ประชาชนได้เรียนโค้ดดิ้ง เรียนรู้หลักการการทำงานของคอมพิวเตอร์ อย่างเป็นเหตุเป็นผลตั้งแต่เด็กๆ โดยที่ให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน จะช่วยลดปัญหาการเหลื่อมล้ำตรงนี้ได้
เมื่อสักครู่อาจารย์พูดถึงเรื่องความเหลื่อมล้ำ มันก็น่าสนใจว่า วิชาโค้ดดิ้งที่ต้องใช้อุปกรณ์ เทคโนโลยี จะมีปัญญาหาเรื่องความเหลื่อมล้ำกับโรงเรียนที่ไม่มีทรัพยากรเพียงรึเปล่า
สำหรับความเหลื่อมล้ำในอดีต มีจริง และมีหนักด้วย สมัยผมเด็กๆ คอมพิวเตอร์จะเขียนโปรแกรมต้องเป็นของดีและแพง ทั้งตำราที่ดี มักเป็นภาษาอังกฤษหรือหาไม่ได้ในเมืองไทย แต่สมัยนี้ตำราเป็นภาษาไทย อ่านง่ายขึ้น เข้าถึงง่ายมากขึ้น คอมพิวเตอร์ก็ไม่จำเป็นต้องเป็นของแพงๆ เป็นรุ่นราคาถูกๆ ก็สามารถใช้เรียนโค้ดดิ้งได้ ตัวโปรแกรมที่เอามาเขียนโปรแกรมก็สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีโดยที่ถูกลิขสิทธิ และหนังสือ สสวท. จะเน้นไปที่โปรแกรมที่ไม่มีค่าใช้จ่ายสูง อย่างเช่น ไพทอน หรือสแครช ที่เด็กป.4 จะเริ่มเรียน
อุปสรรคพวกนี้มันจะถูกกำจัดไปทีละน้อย ทีละน้อย ถามว่าความไม่เท่าเทียมระหว่างชนบทกับเมืองยังมีอยู่มั้ย ผมตอบได้ว่า ยังมีอยู่ และจะยังมีอยู่ตลอดไป และมีอยู่ในวิชาอื่นๆ ทุกวิชา และมีในแง่มุมอื่นของการพัฒนาสังคมทุกแง่มุม ปัญหาไม่ได้อยู่ที่มีอยู่หรือไม่มีอยู่
แต่ปัญหาที่เราต้องชวนกันขบคิดก็คือว่า จะทำอย่างไรถึงจะลดช่องว่างตรงนี้ยังไงให้ได้มากที่สุด และเรามองว่าวิชานี้เราออกแบบโดยเป็นวิชาที่พยายามลดความเลื่อมล้ำตรงนี้ให้มากที่สุดแล้ว
ในการออกแบบหนังสือเรียนระดับประถม เราวางแผนตั้งแต่แรกว่า ตัวละครเด่นของเราต้องเด่นเท่ากัน ทั้งน้องโป้งและน้องก้อย สองคนนี้เป็นฝาแฝดกัน บุคลิกไม่เหมือนกัน แต่ต้องเด่น และมีความฉลาดเท่ากัน โป้งสนใจทางด้านศิลปะมากกว่า ส่วนก้อยทำงานอะไรมักมีความรอบคอบกว่าน้องโป้ง ส่วนคุณพ่อเป็นเกษตรกร และคุณแม่เป็นโปรแกรมเมอร์ เราพยายามที่จะฉีกมายาคติเหล่านี้ และให้เด็กเห็นว่า นี้ก็เป็นสิ่งที่เราเล่นได้ เป็นสิ่งที่เราคิดได้เหมือนกัน และคนที่เข้ามามีบทบาทในชีวิตเด็กๆ ในเนื้อเรื่องก็ต้องมีอาชีพที่หลากหลาย อาจจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน อาจจะเป็นหมอ อาจจะเป็นครู อาจจะเป็นคนค้าขายก็ได้ และเด็กๆจะได้เห็นประโยชน์จากการใช้ทักษะเหล่านี้ในการคิดโจทย์ของสาขาอาชีพต่างๆ เหล่านี้ไม่ใช่แค่เฉพาะวิชาวิทยาศาสตร์
คนอาจคิดว่าเรียนโค้ดดิ้งไปแล้วทำให้เรากลายเป็น หรือคิดแบบหุ่นยนต์หรือเปล่า
จริงๆ เรียนแล้วเราเป็นเจ้าของหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควรจะเป็น เพราะว่าเราคงได้ยินหลายที่เตือนด้วยความหวังดีว่า ระวังนะ หุ่นยนต์และ AI จะครองโลก ซึ่งผมยอมรับว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ แต่เราก็เถียงกันได้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะการพัฒนาของเทคโนโลยีเป็นไปได้เรื่อยๆ
อย่าง ‘อิ่ม’ หุ่นยนต์ตัวขาวๆ ที่อยู่ในหนังสือเรียนวิชานี้ เป็นเพื่อนสนิทของโป้งกับก้อย แต่ในเรื่องนี้เรากำหนดไว้ตั้งแต่บทแรกจนบทสุดท้ายของ ป.6 เลยว่า โป้งกับก้อยต้องฉลาดและเก่งขึ้นเรื่อยๆ ส่วนอิ่มจะไม่มีวันฉลาดหรือโดดเด่นกว่าโป้งกว่าก้อย เราปลูกฝังค่านิยมในสมองของเด็กตลอดว่า หุ่นยนต์คือเครื่องมือที่จะให้เราใช้งานได้ เราเป็นเจ้านายของเขา เราไม่ใช่ทาสหรือไม่ต้องทำตามคำสั่งของเขา เขาเป็นสิ่งที่ต้องทำตามคำสั่งของเรา เรารักและเอ็นดูเขาได้ แต่จะไม่บูชาเขา เราจะไม่สอนให้เด็กบูชาคอมพิวเตอร์หรือ AI เรามองว่าเราเป็นเจ้าของมัน เราจะต้องใช้มันอย่างมีเกียรติอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อประโยชน์ของเราและของคนอื่นๆ
แล้วความรู้ที่เราได้จากวิชาแบบนี้ มันจะมาช่วยส่งเสริมเรื่องทางสังคม โดยเฉพาะประชาธิปไตยได้ไหม
ผมเคยนั่งฟังนักวิทยาศาสตร์ชั้นผู้ใหญ่ของไทยพูดถึงความสำคัญของการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ขอเอ่ยชื่อ ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ท่านระบุว่า ‘วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีช่วยส่งเสริมประชาธิปไตย’ โดยในหลายครั้งที่คนในสังคมถกเถียง ทะเลาะเบาะแว้งกัน บางครั้งถึงขั้นที่รุนแรง ใช้วาจาประหัตประหารกัน โดยที่ไม่ได้ใช้เหตุผล เพราะว่าเขาไม่ได้ถูกฝึกให้ใช้เหตุผล
ในมุมมองของอาจารย์ ท่านมองว่า วิทยาศาสตร์เป็นมากกว่าแค่เครื่องมือในการสร้างสิ่งประดิษฐ์ แต่มันเป็นสิ่งที่สร้างระบบความคิดในจิตใจให้มีเหตุมีผล และพยายามที่จะพิสูจน์ เก็บข้อมูล และถ้าข้อมูลที่ได้นั้นไม่สอดคล้องกับสมมติฐานของเราแต่แรก เราต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนข้อสรุปตามข้อมูลที่เราได้ ไม่ใช่เปลี่ยนข้อมูลตามข้อสรุปที่ตั้งไว้
ผมจึงมองว่าการคิดแบบ Computational Thinking ฝึกให้ประชากรสามารถคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล และเป็นลำดับขั้นตอน พูดคุยกันได้โดยที่ใช้ข้อมูลเป็นเครื่องมือในการตัดสินใจ และมีความรู้เท่าทันการเปลี่ยนเทคโนโลยีต่างๆ เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะทำให้ระบอบประชาธิปไตยก้าวหน้าได้ โดยไม่ได้หมายความแคบๆ ถึงการกาบัตรเลือกตั้ง แต่รวมถึงการพูดคุย ถกเถียงกันในสังคมด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางด้านประเด็นสังคมต่างๆ การทุจริต หรือนโยบายของประเทศควรจะเป็นทิศทางอย่างไร
และยิ่งถ้าประชาชนถกเถียงกันด้วยเหตุผล รักข้อมูล ไม่กลัวที่จะประมวลข้อมูลจำนวนมาก เพื่อดูว่าข้อสรุปจะเป็นอย่างไร ผมมองว่า การถกเถียงกันในบ้านเมือง จะมีความสร้างสรรค์มากขึ้น และจะทำให้ประชาธิปไตยเบ่งบานมากขึ้น
ผมเชื่อว่าการสอน coding หรือ วิทยาการคำนวณเป็นผลดีกับสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ทั้งในแง่ของการสร้างสรรค์สังคมให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และปกป้องประเทศให้ปลอดภัยจากภัยคุกคามภายนอก เพราะว่าประชาชนของเราจะมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง