“…บางทีเราไปก่อนเวลาอีก ไม่ได้โอทีสักชั่วโมงเดียว มันทำให้เรารู้สึกว่าทำไมเราทุ่มเทให้เขาขนาดนี้ แต่สิ่งที่เราได้รับกลับมาก็แค่พนักงานคนนึงที่ไม่ได้พิเศษอะไร ทั้งๆ ที่เราทำพิเศษกับเขามากๆ…”
หากวันนี้คุณทำงานหนัก จะแวะพักที่ไหนกันบ้าง…’ร้านสะดวกซื้อ’ คงเป็นหนึ่งในทางเลือกที่ผุดขึ้นมาในหัว เพราะที่นั่นแทบจะเต็มไปด้วยทุกสิ่งที่มองหา เราจึงเรียกมันว่าร้านสะดวกซื้อ แต่หลายคนคงไม่ลืมว่า ‘พนักงานร้านสะดวกซื้อ’ ก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้การซื้อสินค้าของเรานั้นสะดวกสบายยิ่งขึ้น
ว่าแต่การทำงานของพนักงานร้านสะดวกซื้อจะสบายและราบรื่นเหมือนที่เขาให้บริการเราด้วยไหมนะ The MATTER อยากพาคุณมาฟังเรื่องเล่าสั้นๆ ของคนกลุ่มนึงที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘พนักงานร้านสะดวกซื้อ’ มาดูกันว่าในวันนึงพวกเขาต้องทำอะไรบ้าง พักเบรกกันแบบไหน สวัสดิภาพเป็นอย่างไร แล้วอยากฝากทิ้งท้ายเรื่องไหนไปถึง ‘นายจ้าง’ ของร้านกันบ้าง
เอ็ม (นามสมมติ), อดีตพาร์ตไทม์และพนักงานประจำ
เอ็ม อดีตพนักงานที่เคยทำทั้งแบบพาร์ตไทม์และประจำของร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง เพิ่งลาออกมาไม่นาน โดยเอ็มเริ่มจากทำพาร์ตไทม์สมัยเรียนได้สามปี จากนั้นจึงมาสมัครทำแบบประจำ ซึ่งใช้เวลาประมาณ 4 เดือนจึงได้รับการบรรจุเป็นพนักงานของร้าน โดยเรตเงินเดือนตกอยู่เดือนละประมาณ 9,000 บาท
เอ็ม เริ่มต้นเล่าถึงสิ่งที่พนักงานร้านสะดวกซื้อต้องเจอในหนึ่งวันว่า “ทำแทบทุกอย่างในร้านเลย คิดเงิน ชงพวกเครื่องดื่ม กาแฟ จัดสต็อกด้วย ตอนทำพาร์ตไทม์จะตกขั้นต่ำ 4 ชม./วัน แต่ผู้จัดการจะให้เราทำเกินนั้น มีทำล่วงเวลาด้วย แต่ค่าจ้างจะได้แค่ 4 ชั่วโมง ตอนนั้นตกชั่วโมงละ 31 บาท ไม่ได้ค่าจ้างล่วงเวลา
“ตอนที่เรามาเป็นประจำและอยู่ในช่วงทดลองงาน เราได้อยู่กะกลางคืน คราวนี้ผู้ช่วยฯ ลาออก เราก็ต้องทำควบกะ ซึ่งเป็นทั้งพนักงานและทำหน้าที่ผู้ช่วยฯ ด้วย เพราะมันไม่มีคน เราเลยต้องทำแทนโดยที่ไม่ได้เงินด้วยนะ คือได้เงินเดือนพนักงานเหมือนเดิม แต่หน้าที่เพิ่มขึ้น
“ทีนี้พอทำกะกลางคืน ก็ต้องรอผู้จัดการอีกคนมาเปลี่ยน ซึ่งเขามาเปลี่ยนอีกทีตอนบ่ายโมง แต่เราเริ่มเข้ากะตั้งแต่ห้าทุ่ม ก็ต้องดึงยาวมาจนถึงบ่ายโมง โดยที่ไม่ได้ตังเพิ่ม”
เมื่อว่ากันถึงความท้าทายในการทำงาน ก็ดูจะมีไม่น้อยเช่นกัน เอ็ม เล่าว่า พนักงานต้องทำสิ่งที่เรียกว่า plus sale กับสินค้ากลุ่มโปรโมชั่น “เราก็ต้องพลัสเซลส์ ช่วยแนะนำและขายให้ลูกค้า บางทีถ้าขายไม่หมด ก็จะโดนผู้จัดการบังคับให้ซื้อ ช่วยเพิ่มยอด อย่างกาแฟลดราคาสิบบาท เราก็จะโดนให้ซื้อคนละ 1 แก้ว เพื่อยอดรวมของร้าน”
แต่ที่ยิ่งกว่านั้น ความท้าทายอีกอย่างอาจมาในรูปของการ ‘พัก’ ที่ไม่ได้พักจริงๆ “เราจะเดาแค่ว่าลูกค้าเริ่มซา ก็จะเปลี่ยนกันไปพัก พักคนละ 5-10 นาที คือกินข้าวนะ ไม่ได้พักนั่งชิลๆ ซึ่งต้องรีบกิน พอกินเสร็จก็มาเปลี่ยนอีกคนไปกิน บางครั้งตอนเรากินข้าวอยู่ มีลูกค้าเข้าแล้วโดนกดกริ่งเรียก ก็ต้องไปช่วยคิดเงิน คือเราไม่ได้กินข้าวในสภาพดีสักวันเลย”
ท้ายที่สุดในมุมของ เอ็มเห็นว่าสิ่งที่นายจ้างอาจทำได้ เพื่อซัพพอร์ตพนักงานคนนึงอาจเป็นเรื่องของค่าตอบแทนที่เหมาะสม “เขาควรเพิ่มเงินเดือนพนักงานมากกว่านี้ เพราะคนนึงทำหลายหน้าที่มาก แล้วเราไม่ได้ใช้แค่แรง เราใช้สมองด้วย เพราะเราต้องคิดเงิน เราต้องทำส่งยอด ยิ่งเป็นผู้ช่วยฯ เราต้องส่งยอดให้ตรงเวลาที่กำหนด เราต้องทำหลายอย่างไปพร้อมๆ กัน เงินแค่นั้นมันน้อยมากจริงๆ”
แก้ว (นามสมมติ), เด็กฝึกงานร้านสะดวกซื้อ
ปัจจุบัน แก้ว คือนักศึกษาฝึกงานในร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง การเข้ามาฝึกงานที่นี่ถือเป็นสิ่งที่อยู่ในหลักสูตรที่ต้องเรียนสามเดือนและฝึกงานสามเดือน แก้วเล่าถึงชีวิตเด็กฝึกงานร้านสะดวกซื้อในหนึ่งวัน ตั้งแต่เข้างานกะเช้าตอน 6.30 น. – 15.30 น. แต่บางวันก็เลิกสี่โมงเย็น รวมทำงานวันละ 8 ชั่วโมง ไม่รวมเวลาพัก 1 ชั่วโมง ส่วนวันหยุดผู้จัดการจะจัดให้สัปดาห์ละ 1 วัน โดยร้านที่ แก้วทำอยู่นั้นสามารถเลือกวันหยุดได้
“เราอยู่ผลัดเช้า พอกินข้าวเสร็จ ก็ไปยืนเครื่องคิดเงินปกติ ถ้ามีเดลิเวอรี่ก็จัดของแล้วไปส่ง ปกติก็ว่างไม่เกินครึ่งชั่วโมง เพราะผลัดเช้ามีลูกค้ามาตลอด
“ร้านที่ทำไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องล่วงเวลา ถ้าถึงเวลาก็กลับเลย เราแค่รีบทำงานของเราให้เสร็จ แต่ถ้าเป็นผลัดบ่ายอาจเลตกว่าผลัดเช้า เพราะต้องรับของที่มาส่ง ถ้ามาส่งสายก็เลทถึงเที่ยงคืน ซึ่งต้องเติมของให้เสร็จ”
เมื่อว่ากันถึงเรื่องค่าตอบแทนในฐานะเด็กฝึกงานนั้น แก้วเล่าว่า “ก็ได้รายชั่วโมงปกติตามพาร์ทไทม์ ไม่ได้โอที เพราะเราเป็นนักศึกษาฝึกงาน มันไม่มีโอทีอยู่แล้ว เรตชั่วโมงของการฝึกงานก็ไม่ใช่เรตพาร์ตไทม์ มันเป็นเรตนักศึกษา ประมาณ 36 หรือ 38 บาท”
“ส่วนสวัสดิการน่าจะเป็นของทางสถาบันมากกว่า ซึ่งได้แต่ประกันอุบัติเหตุ ส่วนยูนิฟอร์มไม่ฟรี เสียเงินตั้งแต่เดือนแรก หักจากเงินเดือนไป”
ถึงอย่างนั้น อีกช่องทางรายได้เสริมจากการเข้ามาฝึกงานที่ร้านสะดวกซื้อจึงอาจไปอยู่ที่การเก็บค่ารอบส่งของเดลิเวอรี่ของทางร้าน โดย แก้วเล่าว่า ตนวิ่งทำรอบเดลิเวอรี่เป็นประจำ โดยใช้มอเตอร์ไซค์ส่วนตัว ซึ่งไม่ได้ค่าน้ำมันในการวิ่งทำรอบ แต่จะได้เงินจากบิลของการวิ่งส่งของแทน
“ถามถึงความคุ้มไหม ก็ขึ้นอยู่กับร้านด้วยนะ เพราะร้านเรามียอดเดลิเวอรี่เยอะ วันนึงก็ตก 70 บิล ถือว่าคุ้มอยู่ อีกอย่างร้านที่ทำอยู่จะมีไรเดอร์ข้างนอก ซึ่งเป็นคนที่บริษัทจ้างมาสำหรับขับเดลิเวอรี่อย่างเดียว เขาก็อยู่ได้นะ ถ้าไรเดอร์ข้างนอกมาวิ่งให้ร้านเราได้ตอน 10 โมง ช่วงที่พนักงานร้านจะวิ่งส่งของเองได้ก็จะอยู่ประมาณช่วง 6-10 โมง ซึ่งได้ประมาณ 10 บิล ตกอยู่ที่ 150 บาท แต่ถ้าหักค่าน้ำมันก็ไม่เยอะเท่าไหร่”
แม้จะอยู่ในช่วงของการฝึกงาน แต่แก้วก็ได้มาสัมผัสการทำงานจริง และกล่าวถึงสิ่งที่นายจ้างอาจต้องหันมาฟังตนบ้างในฐานะ ‘ลูกจ้าง’ คนหนึ่ง นั่นก็คือ “กำหนดเวลาเลิกงานให้ชัดเจน เพราะว่ามีการส่งของเลตบ้าง มาส่งของไม่ตรงเวลาบ้าง บางวันก็มาบ่าย บางวันก็มาเกือบเที่ยงคืน มันเป็นปัญหาอย่างนึงและแก้ยากด้วย”
“ส่วนเรื่องปัญหาการทำงานอาจเป็นที่บางร้านบางสาขามากกว่า ส่วนใหญ่อาจเป็นกับร้านแฟรนไชส์ ขึ้นอยู่กับการบริหารร้านของเจ้าของร้านด้วย เขาอาจต้องลดต้นทุนพนักงานตามที่ทางบริษัทกำหนดมาว่าร้านขนาดเท่านี้ต้องมีพนักงานกี่คน ซึ่งจำนวนพนักงานอาจจะน้อยเกินไป ทำให้คนต้องทำงานล่วงเวลา แต่ร้านที่ทำอยู่ไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ เพราะว่าคนยังโอเคและเรายังเป็นนักศึกษาอยู่ แต่ถ้าจบไปแล้วต้องขึ้นเป็น ผู้ช่วยฯ ก็ไม่รู้ว่าจะโดนกดดันหรือเปล่า”
เอก (นามสมมติ), อดีตพาร์ทไทม์
เอก คืออีกหนึ่งอดีตพนักงานพาร์ทไทม์ ได้เล่าถึงตอนที่ตนได้ทำงานร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่งเมื่อประมาณ 5-6 ปีที่ผ่านมา โดยกล่าวว่าตอนนั้นตนกับเพื่อนได้ไปสมัครช่วงปิดเทอม
“ตอนคุยค่าแรง เขาบอกว่าให้เป็นรายชั่วโมง ซึ่งตอนนั้นตกประมาณชั่วโมงละ 42 บาท แต่ถ้าเราทำเกินหกชั่วโมง เขาจะไม่คิดเพิ่มให้ แต่จะคิดเป็นวัน เท่ากับ 220 บาท/วัน ส่วนตัวรู้สึกว่าน้อย แต่ก็ไม่มีทางเลือกมาก เลยตกลงทำไป แต่พอทำตั้งแต่วันแรกยาวไป มันไม่มีคำว่าหกชั่วโมง เราเข้าผลัดไหน ก็จะให้เราอยู่ยาวจนมีคนรับผลัด สมมติว่า เราเข้ากะดึกตอนสามทุ่ม ต้องเลิกประมาณหกโมงเช้า ทีนี้พอหกโมงเช้าซึ่งมีคนมารับผลัดแล้ว เขาจะให้เราอยู่ช่วยต่อ เขาจะไม่บอกให้เรากลับบ้านนะ เราต้องรอให้เขาบอกกลับบ้าน เราถึงจะกลับได้”
หลายคนคิดว่าการเข้างานร้านสะดวกซื้อช่วงดึกอาจไม่วุ่นวายเท่าช่วงเช้า ถึงอย่างนั้น เอกได้แบ่งปันเรื่องเล่าตอนทำงานร้านสะดวกซื้อช่วงดึกให้ฟังไว้อย่างน่าสนใจ “เราเข้ากะดึก จะมีรถสินค้ามาลงทุกคืน เขาจะแบกสินค้ามาให้เราแกะลังและเติมใส่เชลฟ์ให้เต็ม
“สำหรับกะดึก จะมีพนักงานสองคน โดยคนนึงอยู่ที่แคชเชียร์ คนนึงช่วยเติมของ แล้วผู้จัดการหรือผู้ช่วยฯ เป็นหัวหน้าผลัดหนึ่งคน ทีนี้พอผลัดบ่ายกลับบ้าน ผลัดดึกก็จะเริ่มประมาณสี่ทุ่ม เราต้องไปล้างตู้กาแฟ อีกคนอยู่แคชเชียร์ดูแลหลังเคาน์เตอร์และทำหลายอย่าง ทั้งทำแซนด์วิช หั่นผัก ปอกไส้กรอก สลับกับคิดเงินไปด้วยทั้งคืนจนถึงเช้า
“ทำเลที่เราทำเป็นสาขาที่ใกล้โรงเรียนด้วย ก็จะมีเด็กเข้ามาซื้อของตอนเช้าเยอะ กะดึกจึงต้องอยู่ต่อไปยาวๆ จะได้กลับบ้านช่วง 10.00 – 10.30 น. บางทีลากยาวไปถึง 11 โมงหรือเที่ยง ถ้าคนเยอะก็ยังไม่ให้กลับ”
เมื่อถามถึงเรื่องความกดดันของการทำงาน เอกกล่าวว่าปัญหาของพนักงานที่ทำช่วงดึกนั้นคือ จำนวนพนักงานที่น้อยแต่ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง “เราก็เข้าใจว่าตอนกลางคืนลูกค้าไม่เยอะหรอก แต่ว่ามันไม่ควรสลับหน้าที่กันไปมา อย่างต้องทำอาหารที่ต้องใส่ถุงมือ แล้วพอต้องมาคิดเงินก็ต้องถอดถุงมือออก เพื่อทำส่วนนี้ให้สะดวก หรือบางทีตอนเช้าคนเยอะมากๆ พอเตรียมของไม่ทันก็จะโดนด่า เพราะของไม่มีขาย แต่เดี๋ยวนี้น่าจะไม่แล้วแหละ เพราะพวกแซนด์วิชอะไรแบบนี้ก็มีแบบสำเร็จรูปแล้ว แต่อาจมีหน้าที่อะไรอย่างอื่นเพิ่มขึ้นมาแทน”
ท้ายที่สุด สิ่งที่พนักงานร้านสะดวกซื้อคนหนึ่งหวังว่านายจ้างอาจทำให้เป็นไปได้นั้น ก็คงเป็นเรื่องเวลาทำงานที่ชัดเจน “เรื่องของการปรับเปลี่ยนผลัดควรให้เข้าออกตรงตามเวลาที่ควรจะเป็น ไม่ใช่ลากไปเรื่อยๆ แล้วก็แบ่งหน้าที่ให้พนักงานได้แบ่งเบากันหน่อย เพราะบางอย่างดูแลกันแค่สองคนก็ไม่ไหว ผู้ช่วยฯ ไม่ได้ช่วยอะไรเยอะ เขาสั่งอย่างเดียว ก็อาจจ้างพนักงานเพิ่มขึ้น แบ่งให้ชัดเจนเลยว่าหน้าที่แต่ละวันๆ ทำอะไรบ้าง”
โจ (นามสมมติ), พนักงานปัจจุบัน ณ ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง
โจ ถือเป็นคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ทำงานร้านสะดวกซื้อมานานพอสมควร เริ่มตั้งแต่เป็นเด็กฝึกงานที่ทำงานเหมือนพาร์ตไทม์ จนเพิ่งรับตำแหน่งขยับมาทำในส่วนของสำนักงาน ซึ่งเน้นเรื่องซัพพอร์ตฝ่ายลุยหน้างานอย่างพนักงานสะดวกซื้อ
“สมัยทำงานที่ร้านเข้างานห้ามเกินหกโมงครึ่ง เอาเงินเข้าเงินออก มาไล่ดูวันหมดอายุของสินค้า หลังจากนั้น เข้าไปรับเครื่อง (ไปยืนในเคาน์เตอร์) ยืนอยู่อย่างนั้นจนเที่ยง พอบ่ายก็ออกมาเติมของภายในร้านตามเชลฟ์ที่ได้รับผิดชอบ บางร้านที่ไม่มีการวางแผนเชลฟ์ประจำตัวก็เติมทั้งร้านเลย
“ออกจากงานตามตารางมันต้องออกบ่ายสามครึ่ง แต่ได้ออกจริงๆ ประมาณห้าโมงเลย ส่วนใหญ่ก็ประมาณนั้น ซึ่งส่วนมากเราต้องเติมของให้เสร็จจึงจะได้กลับ”
สำหรับเรื่องค่าตอบแทนของเด็กฝึกงานนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละปี โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1 ได้ค่าตอบแทนชั่วโมงละ 33 บาท เพิ่มขึ้น 3 บาทตามลำดับชั้นปีที่สูงขึ้น นอกจากนี้ สมัยที่โจ มาทำในฐานะเด็กฝึกงานของร้านจะได้ค่าเดินทางประมาณ 100 บาท ด้วย
“ถ้าเด็กที่เรียนจบและได้บรรจุเป็นพนักงานแล้วก็จะมีประกันสังคมให้ แต่เด็กฝึกงานยังไม่มี มีแต่ประกันของมหาลัยอย่างเดียว
“ส่วนค่าจ้างล่วงเวลาตอนนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละร้าน แต่ส่วนมากจะไม่ได้เพิ่ม แต่ร้านไหนที่ผู้จัดการขอร้องให้อยู่ จะให้ค่าโอทีหรือล่วงเวลาพิเศษอย่างนี้ ก็จะปล่อยเวลาให้เลย”
ถึงอย่างนั้น โจเล่าว่าผู้จัดการมักปรับเวลาเอง โดยปรับเวลาออกงานเป็นบ่ายสามโมง แต่ให้พนักงานออกงานจริงตอนห้าโมงเย็น ซึ่งสาเหตุมีทั้งสองกรณี กรณีแรกคือหากพนักงานทำล่วงเวลาก็สมควรได้เพิ่มตามส่วนนั้น แต่บางรายที่ต้องปรับเวลาออกงานเช่นนี้ เพราะพนักงานทำงานช้าเกินไป พักเกินเวลา ทำงานไม่ตรงตามตารางเวลาที่วางไว้ หรือทำงานไม่สื่อสารกันจนล่วงเวลาไป เลยจำเป็นต้องตัดเวลาออกงานในแบบบันทึกให้สั้นกว่าเวลาออกงานจริง “หรือร้านนั้นกำไรไม่ได้จริงๆ ค่าใช้จ่ายเกิน ก็เลยต้องควบคุมค่าใช้จ่าย แต่ความเป็นจริงก็คือ ถ้าเราต้องทำงานล่วงเวลาก็สมควรให้เงินตามจริง”
หากถามถึงเรื่องความกดดันในการทำงาน จากประสบการณ์ของโจอาจจะเป็นเรื่องของคำพูดของหัวหน้าที่ทำงานด้วย “ผมว่าความกดดันมาจากการสื่อสารครับ อย่างเช่น ผู้จัดการอาจใช้คำพูดรุนแรงต่อจิตใจเด็กคนนึง เรารู้ว่าเขาอาจได้รับแรงกดดันมาอีกต่อนึง แต่ควรใช้จิตวิทยาในการพูดให้พนักงานช่วยทำ ไม่ใช่พูดว่า “ทำอันนี้หน่อย” “ทำไมยังไม่เสร็จ” “ทำไมยอดขายยังไม่ได้” แต่เปลี่ยนมาเป็น “ช่วยขายหน่อยได้ไหม” “ช่วยกันผลักดัน เพื่อจะให้ขายได้” มันก็จะให้ความรู้สึกอีกแบบในการทำงานไปเลย ”
และนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงสะท้อนจากพนักงานร้านสะดวกซื้อคนหนึ่ง ซึ่งหวังอยากให้คนเป็นนายจ้างหันกลับมาให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะจ้างมาในรูปแบบพาร์ตไทม์ พนักงานประจำ หรือเด็กฝึกงาน “อย่างแรก อยากให้ซัพพอร์ตส่วนของนักศึกษาฝึกงาน เพราะว่า พนักงานร้านใน กทม. และปริมณฑล ส่วนมากเป็นเด็กฝึกงาน เราอยากให้ซัพพอร์ตเรื่องประกันสังคม เพราะบางทีอาจต้องไปส่งเดลิเวอรี่ข้างนอก หรือเกิดอุบัติเหตุในที่ทำงาน บางครั้งประกันของมหาลัยก็ไม่ได้ช่วยขนาดนั้น
“แล้วก็เรื่องของเวลาการทำงาน วันไหนที่พนักงานเหนื่อยก็ควรปล่อยโอทีให้น้อง อยากให้ผู้จัดการส่งฟีดแบ็กถึงหัวหน้าผู้จัดการว่า วันนี้พนักงานทำงานเหนื่อยจริงๆ อยากขอโอทีมาจ่าย เพื่อให้เขาได้ค่าตอบแทนที่ทำจริงๆ
“บางทีเราไปก่อนเวลาอีก ไม่ได้โอทีสักชั่วโมงเดียว มันทำให้เรารู้สึกว่าทำไมเราทุ่มเทให้เขาขนาดนี้ แต่สิ่งที่เราได้รับกลับมาก็แค่พนักงานคนนึงที่ไม่ได้พิเศษอะไร ทั้งๆ ที่เราทำพิเศษกับเขามากๆ แต่เขาให้เราเท่าเดิม เขาสมควรให้อะไรพิเศษกับเราครับ”