ตอนนี้หลายคนคงเริ่มเตรียมความพร้อมรับมือกับ COVID-19 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการกักตุนอาหาร หรือการทำ Social distancing เพื่อหลีกเลี่ยงการสัมผัสเชื้อจากภายนอก
แต่อย่างไรก็ตามก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่ทำเช่นนั้นไม่ได้ ก็คึอ คนจน ซึ่งดูเหมือนจะได้รับผลกระทบจากคนอื่นมากที่สุด นอกจากนี้งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาดและภาวะทางเศรษฐกิจสังคม ยังแสดงให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการยกระดับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส
คนจนได้รับผลกระทบจาก COVID-19 มากกว่าคนกลุ่มอื่นอย่างไร
เมื่อรัฐบาลของประเทศต่างๆ ได้มีวิธีในการรับมือการแพร่ระบาดของ COVID-19 โดยการสั่งยกเลิกกิจกรรมรวมตัวของคนจำนวนมาก รวมไปถึงการสั่งปิดสถานที่ต่างๆ เช่น ออฟฟิศ หรือ โรงเรียน ผู้ที่มีรายได้น้อยจะได้รับผลกระทบมากจากมาตรการเหล่านี้
เนื่องจาก ผู้ที่ประกอบอาชีพรายได้น้อยส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้านไม่ได้ และได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน อาทิ คนทำความสะอาด เมื่อพวกเขาต้องหยุดงาน ก็สูญเสียรายได้ แตกต่างจากผู้ที่มีรายได้ปานกลาง – สูง ส่วนใหญ่ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน
นอกจากนี้ แรงงานส่วนใหญ่ไม่สามารถทำงานจากบ้านได้ อ้างอิงสถิติจากสำนักแรงงานของสหรัฐฯ เผยว่า มีแรงงานจำนวนน้อยกว่า 1 ใน 3 ของทั้งหมดเท่านั้น ที่สามารถทำงานจากที่บ้านได้ โดยคนเหล่านั้นมักจะทำงานในภาคส่วนธุรกิจ การบริหารจัดการ และการเงิน และแรงงานเกือบ 70% ประกอบอาชีพที่ไม่สามารถทำงานจากบ้านได้ ประกอบไปด้วย คนที่ทำงานในโรงพยาบาล คนที่ทำงานด้านขนส่งสาธารณะ คนที่ทำงานก่อสร้าง และอื่นๆ ที่ต้องทำงานข้างนอก มีความเสี่ยงที่จะติด COVID-19 สูง และเป็นผู้แพร่เชื้อในที่สุด
เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยก็ประสบปัญหาเช่นกัน เพราะบางคนต้องพึ่งพาอาหารฟรีจากโรงเรียน อย่างประเทศไทย รัฐบาลก็มีโครงการช่วยเหลือด้านอาหารกลางวัน แก่เด็กในโรงเรียนกว่า 46,000 แห่งทั่วประเทศ เมื่อโรงเรียนปิด อาจทำให้เด็กในโรงเรียนเหล่านั้นเจอปัญหาเรื่องอาหารได้
นอกจากนี้เด็กจากครอบครัวที่มีรายได้น้อยอาจเข้าถึงการศึกษาได้น้อยกว่าคนอื่น เมื่อการเรียนออนไลน์ ต้องใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง งานวิจัยจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ในปี ค.ศ.2017 เผยว่า คนทั่วโลกเกินครึ่งเข้าไม่ถึงอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะชาวแอฟริกันและเอเชีย มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตต่ำที่สุด
ในด้านการกักตุนสินค้า สำหรับอยู่บ้าน คนจนเอง ก็เป็นกลุ่มคนไม่มีเงินก้อนใหญ่ และซื้อของมากักตุนไว้ที่บ้านครั้งละมากๆ ไม่ได้ อย่างในสังคมอเมริกัน งานวิจัยของรัฐบาลสหรัฐฯ ในปี ค.ศ.2019 พบว่า ชาวอเมริกันจำนวนกว่า 40% ไม่สามารถสำรองเงิน 400 เหรียญสหรัฐฯ (ราว 12,000 บาท) เพื่อใช้ในยามฉุกเฉินได้
นอกจากนี้ ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยอาจประสบปัญหาในเรื่องของการกักตัว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัด อาศัยอยู่ในบ้านหลังเล็กๆ ร่วมกับคนหลายคน และต้องใช้หลายพื้นที่ในบ้านร่วมกัน ไม่สามารถกักตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่ากับครอบครัวที่อาศัยอยู่ในบ้านที่มีขนาดใหญ่กว่า และมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า
ในช่วงที่ไวรัสระบาด คนจนมีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยมากกว่าคนอื่น
งานวิจัยหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นว่าในช่วงที่มีโรคระบาดเกิดขึ้น คนจนจะมีแนวโน้มเจ็บไข้ได้ป่วยมากกว่าคนกลุ่มอื่นๆ ในสังคม
งานวิจัยจากศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (Centers for Disease Control and Prevention) เมื่อปี ค.ศ.2016 พบว่า ในช่วงฤดูไข้หวัดใหญ่ ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านที่ยากจนกว่า จะมีอัตราการเข้ารับการรักษาอาการป่วยในโรงพยาบาลที่สูงกว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านที่ร่ำรวยกว่า
งานวิจัยชิ้นหนึ่งเผยว่า คนที่มีรายได้น้อยมีแนวโน้มที่จะพัฒนาภาวะสุขภาพเรื้อรัง ก่อนคนอื่น 5 ปี ถึง 15 ปี และงานวิจัยหลายชิ้นได้แสดงให้เห็นว่า รายได้ขั้นต่ำที่เกี่ยวข้องกับคนในสังคมทั้งหมด มีความสัมพันธ์กับอัตราการเกิดภาวะสุขภาพเรื้อรังที่สูงขึ้น เช่น เบาหวาน หรือ โรคหัวใจ
ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น สร้างความแตกต่างด้านสุขภาพมากขึ้น โดยผู้ที่มีการศึกษาและคนรวยสามารถเข้าถึงความรู้ด้านสุขภาพและการป้องกันโรคได้มากกว่าคนจน ส่งผลให้ คนระดับล่างในสังคมดูจะมีโอกาสมีภาวะสุขภาพเรื้อรังมากกว่าคนกลุ่มอื่น และได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจาก COVID-19 มากกว่าคนกลุ่มอื่นหลายเท่าเช่นกัน
ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาของคนทุกระดับ
อย่างไรก็ตามปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนจนเพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น
งานวิจัยในปี ค.ศ.2015 ที่ทำในช่วงไข้หวัดใหญ่ระบาดในเมืองนิวเฮเวน ประเทศสหรัฐฯ พบว่า ในพื้นที่ที่มีสัดส่วนของผู้ที่อยู่ใต้เส้นแบ่งความยากจนอาศัยอยู่จำนวนมาก มีอัตราการติดเชื้อมากกว่าที่อื่นเกือบ 2 เท่า
และอาจกล่าวได้ว่ายิ่งคนจนได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสมาก คนอื่นๆ ก็ยิ่งได้รับผลกระทบมากขึ้น เช่นกัน โดยงานวิจัยจาก เมืองเดลี ประเทศอินเดีย พบว่า ชุมชนสลัมเป็นตัวเร่งให้เกิดการระบาดของไข้หวัดใหญ่ไปทั่วเมือง
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากสถาบันวิจัยการทำงานนอร์วีเจียน เมื่อปี ค.ศ.2018 โดย สเวนน อีริค มามีลันด์ ( Svenn‐Erik Mamelund) ที่พบว่า ภาวะเศรษฐกิจสังคมที่แตกต่างกันของผู้ที่ติดไข้หวัดใหญ่สเปนปี ค.ศ.1918 เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่ออัตราการรอดชีวิต โดย มามีลันด์ ได้สรุปงานวิจัยของเขาว่า คนจนเป็นโรคไข้หวัดใหญ่ก่อน ในขณะที่คนรวยที่เสี่ยงน้อยกว่าในการระบาดระลอกแรก จะมีอัตราการป่วยสูงที่สุดในระลอกสอง
ดังนั้นการแก้ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ จึงมีความสำคัญต่อชีวิตความเป็นอยู่ของทุกคน เมื่อทุกคนสามารถเข้าถึงบริการและความรู้ด้านสุขภาพ รวมไปถึงการป้องกันโรคที่มีคุณภาพได้ การป้องกันโรคระบาดก็จะดีขึ้นตามมาเอง
อ้างอิง