โรคระบาด COVID-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง ทำให้หลายธุรกิจและอุตสาหกรรมต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คืออาชีพที่ขึ้นอยู่กับแบรนด์ธุรกิจสินค้า อย่าง ‘อินฟลูเอนเซอร์’ หรือผู้มีอิทธิพลทางการตลาด
อินฟลูเอนเซอร์ (influencer) คือบุคคลที่ขาดไม่ได้เลยสำหรับการทำการตลาด หรือที่เรียกว่า influencer marketing เพราะพวกเขาคือผู้ชักจูง ผู้สร้างแรงบันดาลใจ และผู้สร้างการรับรู้ให้แก่แบรนด์สินค้าหรือองค์กร โดยการคิดค้นสรรสร้างคอนเทนต์ผ่านทางแพลตฟอร์มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ยูทูป, อินสตาแกรม, เฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ ซึ่งปัจจุบัน หลายธุรกิจเลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์เป็นเครื่องมือหลัก เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ไม่สูงมากนัก แต่ได้ผลตอบรับจากผู้ใช้งานบนออนไลน์เป็นอย่างดี
แต่ตอนนี้ พวกเขากำลังได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เนื่องจากหลายธุรกิจเริ่มปิดตัวลงจากพิษเศรษฐกิจ ส่งผลให้พวกเขาถูกยกเลิกการจ้างงานที่ตกลงไว้ก่อนหน้านี้ เช่น งานอีเวนท์ หรือการรีวิวสินค้า โดยเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์สายท่องเที่ยวและอินฟลูเอนเซอร์ที่มีไลฟ์สไตล์ที่ชอบออกไปข้างนอกบ่อยๆ
มีรายงานจาก Izea บริษัทที่เชื่อมโยงนักการตลาดกับอินฟลูเอนเซอร์ ที่ศึกษาถึงผลกระทบจากโรคระบาด COVID-19 ที่มีต่ออุตสาหกรรมอินฟลูเอนเซอร์พบว่า ราคาต่อโพสต์อาจลดลงอย่างมากในระยะสั้น และลดลงอย่างต่อเนื่องหากโรคระบาดยังคงเดินหน้าต่อไป สาเหตุมาจากแบรนด์ต่างๆ เริ่มตระหนักถึงการลงทุนในช่วงนี้ เพราะเมื่อพวกเขาว่าจ้างอินฟลูเอนเซอร์ อินฟลูเอนเซอร์จะนำผลิตภัณฑ์ หรือสินค้ามานำเสนอในบริบทของตัวเอง แต่ในขณะนี้ อินฟลูเอนเซอร์เหล่านั้นมีเพียงแค่บริบทเดียว นั่นก็คือ การติดอยู่แต่ในบ้าน
อินฟลูเอนเซอร์ไม่ได้ตาย แต่จะเฉิดฉายได้ถ้าปรับตัว
จากผลกระทบดังกล่าว ไม่ได้หมายความว่าอาชีพนี้กำลังมาสู่จุดจบ เพราะถึงแม้เคมเปญจากแบรนด์ต่างๆ จะถูกเลื่อน หรือถูกยกเลิกไป แต่นักการตลาดกลับสังเกตเห็นว่ายอดการมีส่วนร่วมต่อโพสต์ต่างๆ ‘สูงขึ้น’ กว่าช่วงปกติ เนื่องจากผู้คนมีเวลาสนใจคอนเทนต์มากขึ้นจากการกักตัวอยู่ในบ้าน
ตั้งแต่การกักตัวในบ้านได้เริ่มขึ้น มีผู้คนจำนวนหนึ่งหันมาสนใจการออกกำลังกายที่บ้าน ด้วยเหตุที่ว่าฟิตเนสและยิมถูกสั่งปิด แต่นั่นกลับทำให้คอนเทนต์ครีเอเตอร์สายออกกำลังกายเห็นว่า ยอดขายและยอดการมีส่วนร่วมบนออนไลน์สูงขึ้น โดยส่วนใหญ่เป็นยอดการเข้าถึงแบบ ‘ออร์แกนิค’ อีกด้วย
นอกจากนี้ แบรนด์ต่างๆ เริ่มไม่มีงบเพียงพอต่อการลงโฆษณาในสื่อกระแสหลัก ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์และไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (อินฟลูเอนเซอร์ที่มีผู้ติดตามไม่มาก แต่เรียกผลตอบรับได้ดี) อาจเป็นทางเลือกใหม่ให้กับพวกเขาได้ แครีน สเปนเซอร์ (Karyn Spencer) รองประธานอาวุโสของ Whalar เอเจนซี่เกี่ยวกับ influencer marketing เผยว่า “นี่เป็นครั้งแรกที่แบรนด์ใหญ่ๆ ไม่สามารถผลิตโฆษณาทางโทรทัศน์ได้ ซึ่งจริงๆ พวกเขาไม่ต้องพึ่งการผลิตที่เต็มรูปแบบแบบนั้นเสมอไปก็ได้”
เหล่านักโฆษณาจึงมองสถานการณ์ตอนนี้ว่าเป็น ‘โอกาสที่ดี’ ที่โมเดลการตลาดแบบอินฟลูเอนเซอร์จะเริ่มปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด โดยเน้นไปการโฆษณาแบบ DIY เช่น ถ่ายทำที่บ้าน หรือประยุกต์นำสิ่งต่างๆ รอบตัวมาสร้างเป็นคอนเทนต์ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการทำงานที่ยังคงเดินหน้าต่อไป แม้การถ่ายภาพสินค้าเชิงพาณิชย์ (เช่น การออกกอง หรือการถ่ายทำในสตูดิโอ) จะถูกปิดตัวก็ตาม รวมไปถึงอินฟลูเอนเซอร์บางคน ที่เริ่มมองถึงการเดิมพันในระยะยาว อย่างการหาหนทางสำรอง เช่น อาชีพ หรือคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับช่วงกักตัวและการใช้ชีวิตในวิกฤตโรคระบาด
Zefmo แพล็ตฟอร์มด้านการตลาดในประเทศอินเดีย เผยว่า วิธีการจัดการของอินฟลูเอนเซอร์ส่วนใหญ่ 92% คือการประเมินกลยุทธ์การสร้างคอนเทนต์ของตัวเองใหม่ 80% มีการวางแผนสร้างคอนเทนต์ออร์แกนิค ที่มีความเกี่ยวข้องกับสถานกาณ์โรคระบาด 77% มุ่งเป้าไปที่การทำคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับโรคระบาด และ 64% ลองเปลี่ยนไปทำคอนเทนต์ใหม่ๆ
เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แค่จะต้องปรับตัวกับงานที่มาๆ หายๆ เท่านั้น แต่พวกเขายังต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานบางอย่างในอนาคต อันเนื่องมาจากพฤติกรรมการเสพสื่อของผู้คนในช่วง COVID -19 ได้ค่อยๆ เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา หรือระยะเวลาในการสนใจเนื้อหานั้นๆ เช่น เราจะสังเกตเห็นว่าผู้คนที่กำลังกักตัว เริ่มหันมาสนใจในการทำอาหาร ตกแต่งห้อง ออกกำลังกาย ซึ่งพวกเขาก็ต้องการผู้มีอิทธิพลมาเป็นผู้แนะนำในด้านนั้นๆ และยังต้องการเสพเนื้อหาที่เบาสมองอีกด้วย เพื่อหลีกเลี่ยงความเครียดจากการ work from home และข่าวโรคระบาด ทำให้แอพพลิเคชั่น TikTok เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วงนี้
ว่านไฉ หรือ อคิร วงษ์เซ็ง หนึ่งในคอนเทนต์ครีเอเตอร์ เจ้าของรายการ ‘อาสาพาไปหลง’ กล่าวว่า “จริงๆ แล้วการที่ช่วงนี้คนชอบดู TikTok หรือคลิปตลกๆ สั้นๆ มันทำให้สมาธิและการจดจ่อของพวกเขาสั้นลง ซึ่งมันยากต่อการทำงานของในอนาคตตรงที่ เราจะต้องทำคลิปให้มันสั้นขึ้น กระชับขึ้นที่สุด” และเพื่อให้ชื่อของรายการไม่หายไปจากสายตาของแบรนด์และผู้ติดตาม ว่านไฉกับทีมงานจึงต้องช่วยกันคิดคอนเทนต์ใหม่ๆ ที่แม้จะไม่ได้ออกไปเหยียบสถานที่ท่องเที่ยวข้างนอก แต่ก็ทำให้ผู้ติดตามรู้สึกเหมือนว่าไม่ได้อยู่กับที่ หรือรู้สึกเบื่อๆ เหงาๆ ไปวันๆ โดยได้ชื่อโปรเจกต์ออกมาว่า travel from home
ส่วนในด้านรูปแบบเนื้อหา ที่มีแนวโน้มว่าอินฟลูเอนเซอร์จะนำไปทำคอนเทนต์มากขึ้นในช่วงนี้ ก็ได้แก่ สุขภาพและความเป็นอยู่ อาหารและโภชนาการ ตลกและการเสียดสี ทำของ DIY ดนตรีและการเต้นรำ การศึกษาและอบรม แฟชั่นและการแต่งหน้า อาชีพและการเงิน แรงจูงใจ และสุขภาพจิต
อาชีพอินฟลูเอนเซอร์ไม่ใช่อาชีพที่มาถึงทางตัน แต่อาจจะต้องใช้เวลาในการหาเส้นทางใหม่ๆ เพื่อที่จะสามารถไปต่อได้ในช่วงวิกฤตนี้
อ้างอิงข้อมูลจาก