ลองนึกภาพว่าคุณเดินเข้าไปในค่ายกักกัน ในนั้นเต็มด้วยซากศพ แล้วคุณก็บอกว่า ดอกไม้ที่บานอยู่ซากศพนั้นสวยงามเหลือเกิน
หรือคำถามที่พี่อ้อยพี่ฉอด รวมถึงเหล่าที่ปรึกษาหัวใจมักจะให้คำตอบเราเมื่อเราควรทิ้งความรักที่ทำร้ายตัวเรา แต่เราเองก็ไม่อาจทิ้งมันไปได้
การทอดน่องในฉากซากศพในยุคฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มองหาภาพความสวยงามเล็กๆ โดยไม่ทำอะไร หรือการยังเชื่อว่าความรักที่ซ้ำเติมซ้ำๆ อาจจะมีเรื่องดีๆ อยู่ปลายทาง หลายครั้งการมองหาแง่มุมดีๆ นั้นกลับกำลังทำร้ายเราอยู่—และมีแนวคิดที่อธิบายว่าแท้จริงแล้ว ปลายทางดีๆ เรื่องราวดีๆ ที่เราเก็บรวบรวมอยู่นั้น อาจกำลังทำร้ายและขัดขวางเราอยู่
การมองหาเรื่องราวดีๆ นั้น ก็ดูจะอยู่ในนิยามของคำว่า ‘การมองโลกในแง่ดี’ สถานการณ์จะเลวร้ายแค่ไหนมันก็มีเรื่องราวดีๆ ให้เราชุบชูหัวใจได้เสมอ ดังนั้นก็อาจจะพอพูดได้ว่า การมองโลกในแง่ดี เป็นกระบวนการรับมืออย่างหนึ่งที่มนุษย์มีต่อสภาวะอันเลวร้าย เป็นการปรับสายตา ปรับมุมมอง และที่สำคัญ คือ เป็นการ ‘มองไปข้างหน้าด้วยความหวัง’ ว่าเหตุการณ์ที่ทนอยู่นั้นคงจะคลี่คลายได้ในไม่ช้า
การมองโลกในแง่ดีอันที่จริงตัวมันเองก็มีหลายระดับและมีเงื่อนไขของมันเอง เราจะมองโลกในแง่ดีไหวมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการใช้ชีวิต ถือเป็นจังหวะที่พอดีเมื่อปลายเดือนที่ (28 มิถุนายน ค.ศ.2021)แล้ว ลอเรน เบอร์แลนต์ (Lauren Berlant) นักวิชาการเจ้าของคอปเซปต์ที่เข้ากับช่วงนี้คือ ‘cruel optimism’ เพิ่งจะเสียชีวิตลงด้วยวัย 63 ปี
อันที่จริง ชื่อคอนเซปต์ฟังดูรุนแรง คือการมองโลกในแง่ที่ดีประกอบขึ้นบนความใจทมิฬหินชาติ แต่ว่าโดยตัวคอนเซปต์เองไม่เชิงว่าจะโจมตีการมองโลกในแง่ในเชิงบุคคลขนาดนั้น ซึ่งเราเองก็อาจจะพอเอามาร่วมอธิบายปรากฏการณ์ ‘การปรับตัวเข้ากับวิกฤติ’ ว่า ไอ้การมองโลกในแง่ดีนั้น มันมีการ ‘ทำลายตัวเอง’ หรือส่งผลร้ายต่อตัวเราเองอย่างไร โดยรวมแล้วแนวคิดนี้จะเน้นย้ำว่าทำไมเรายังถึงจ่อมจมกับเรื่องแย่ๆ และยังพยายามมองโลกดีๆ จนทุกอย่างค่อยๆ สลายไปจนไม่เหลืออะไรในท้ายที่สุด
ความร้ายกาจของการมองโลกในแง่ดี
ต้องออกตัวก่อนว่ายังไงคอนเซปต์ cruel optimism นั้นมีความเป็นวิชาการ คือเป็นทฤษฎีที่ค่อนข้างซับซ้อน โดยแนวความคิดถือเป็นส่วนหนึ่งทฤษฎีที่เรียกว่า affect theory กระแสความคิดค่อนข้างล่าสุดในทางทฤษฎีวิพากษ์และวงการมนุษยศาสตร์ หลักๆ แล้วเน้นศึกษาอารมณ์ความรู้สึกที่ตอบสนองกับเงื่อนไขอื่นๆ บรรยากาศของสังคม ความรู้สึกที่ล่องลอยอยู่
กรณีของ cruel optimism ก็จะว่าด้วยความสัมพันธ์—เงื่อนไขของสังคมร่วมสมัยที่มันส่งผลกับความรู้สึกนึกคิด ในกรณีนี้คือความหวัง และภาพชีวิตที่ดี
ความเหี้ยมโหดที่เบอร์แลนต์นิยามนั้น ไม่ได้หมายถึงแค่ตัวบุคคลที่ เอ้อ ตั้งใจปิดตาและมองโลกในแง่ดีโดยจงใจ แต่เธอกำลังพยายามอธิบายภาพรวมของสังคมว่า สังคมที่นิยามชีวิตที่ดีไว้เป็นภาพอันไกลนี้แหละ ความหวังทั้งหลายที่เราฝันไว้ ในที่สุดเงื่อนไขพวกนี้กลับกำลังบ่อนทำลายชีวิตเราอย่างเลือดเย็นอยู่ เป็นสิ่งที่ทำให้เรายินดีที่จะจ่อมจมอยู่กับปัจจุบันที่ค่อยๆ พังทลายลง เพราะยึดภาพอนาคตหรือเงื่อนไขบางอย่างเอาไว้
เงื่อนไขของการมองโลกในแง่ดีตามนิยามที่ว่าโหดร้ายนั้น จริงๆ ไม่เชิงว่าเลวทราม แต่ทว่ามันคือความน่าเศร้าหรือโศกนาฏกรรมของผู้คน (ตามที่เบอร์แลนต์ให้สัมภาษณ์ในพ็อดแคสต์ของมหาวิทยาลัยชิคาโก) การมองโลกในแง่ดีหมายถึง ‘การต่อรอง’ (negotiate) เพื่อทำให้เราพอจะทนทานและใช้ชีวิตต่อไปได้ในปัจจุบัน ดังนั้นตรงนี้เลยมีความยอกย้อนขึ้นมา คือ การตอบสนองต่อสิ่งต่างๆ ของเราในปัจจุบันจึงยึดโยงอยู่กับภาพอนาคตบางอย่างที่เรายึดเกาะเอาไว้ ความคิดความอ่านและการตัดสินใจในโลกจริงจึงเชื่อมโยงอยู่กับมิติทางจินตนาการ และความกลัวที่จะสูญเสียอนาคต—ชีวิตที่ดีของเราไป
อนาคตที่ล่อลวง จากความรักห่วยๆ ถึงระบบเลวๆ
คำอธิบายที่เบอร์แลนต์พูดถึงบ่อยๆ คือความรัก ทำไมเราถึงไม่ทิ้งความรักแย่ๆ ความรักที่มันรบกวนหัวใจเราตลอดเวลา เธอบอกว่าในเงื่อนไขของความรัก ไม่ว่าจะรักที่เป็นพิษ รักที่ทำลายความมั่นใจและสุขภาพจิตของเรา ทั้งๆ ที่รู้นะว่ารักนั้นร้าย แต่เธออธิบายว่าการทิ้งความรักมันคือการทิ้งรากฐานหนึ่งของภาพอนาคตที่ดีที่เราวาดหวังไว้ ดังนั้นเราจึงยังทนอยู่ต่อไปทั้งๆ ที่ไม่มีความสุข เพราะกลัวที่จะสูญเสียจินตนาการที่ยึดมั่นเอาไว้
วลีฮิตของแนวคิดนี้ คือ ในที่สุด ภาพจินตนาการของการมีชีวิตที่ดี คำมั่นสัญญาของโลกสมัยที่ให้ภาพชีวิตอันอุดมสมบูรณ์นั้นมันค่อยๆ ทำลายเราอย่างเลือดเย็น เป็นสิ่งที่ขัดขวางชีวิตที่ดีในตัวมันเอง ในทางกลับกันพวกภาพชีวิตที่ดี (เบอร์แลนต์จะวิเคราะห์ไปที่บริบทความฝันแบบอเมริกัน) ความฝันของทุนนิยมค่อยๆ กลายเป็นแค่ภาพจินตนาการที่ไม่มีวันเป็นจริง แต่ทว่าภาพที่เราก็รู้ว่าเป็นภาพลวงนั้นกลับทำให้เราทนกับเงื่อนไขต่างๆ ได้อย่างยอดเยี่ยม
แนวคิดเรื่องการมองโลกในแง่ดีที่แสนร้ายนี้จึงเป็นคำอธิบายแรงผลักดัน ความรู้สึก และท่าทีของผู้คนในแทบจะทุกแง่มุม cruel optimism อธิบายการจ่อมจมอยู่กับเรื่องเลวร้ายและบอกตัวเองว่ามีอนาคตที่ดีอันแสนไกลรออยู่ ทำให้เราเชื่อในเรื่องเรื่องดีเล็กๆ น้อย แต่ทว่าภาพใหญ่นั้นยังคงย่ำแย่ หรือกระทั่งค่อยๆ แหลกสลายไปจนลมหายใจสุดท้ายของเรา ที่เราเองก็อาจยังยึดอยู่กับโลกที่ดีที่ไม่มีวันมาถึง
cruel optimism จึงเป็นคำอธิบายที่ใช้ได้ตั้งแต่การยึดถือกับความรักร้ายๆ การอดทน อดออมโดยเชื่อว่าความสุขจะมาถึงในไม่ช้า ไปจนถึงภาพจินตนาการทางสังคม คิดว่าความเป็นธรรมของโลกและของระบบจะมีอยู่จริง ภาพความรักสมหวัง ชีวิตที่ประสบความสำเร็จ ไปจนถึงระบบที่ล้วนเป็นสิ่งไกลๆ ที่เราผูกมัดตัวเองไว้ด้วยความหวัง เราทำได้แค่รอหรือหลอกตัวเองไปกับสิ่งเล็กๆ ในระบบที่ฟอนเฟะไปเรื่อยๆ
เมื่ออธิบายถึงจุดนี้ทั้งความหวัง ทั้งการมองในแง่ดีที่ผกผันกับความเป็นจริงที่ค่อยๆ พังทลายลงไป ก็พอจะเข้าใจได้ว่าทำไมแนวคิดนี้ถึงถูกนิยามด้วยคำว่า ‘เลือดเย็น’ เพราะมันคือคำมั่นสัญญาที่กำลังทำลายตัวเองอยู่ตลอดเวลา
สุดท้ายเราก็อาจจะวนกลับมาที่ว่า ทำไมบางคนถึงยังเพิกเฉย และเลือกการมองไปที่อนาคตมากกว่าจะลืมตามองปัจจุบัน ความแตกต่างของมุมมองอาจสัมพันธ์กับเดิมพันของอนาคตที่หลายคนอาจยังยึดโยงอยู่ ทว่าในวิกฤติใหญ่นี้ก็ดูเหมือนว่า คำอธิบายสังคม การมองโลกในแง่ดี และความเลือดเย็นในคำสัญญาของชีวิตที่ดีนั้นเปราะบางและแหลกสลายอยู่ตลอดเวลา หลายที่ที่ลืมตาจากคำลวงของอนาคต ก็เพราะคนจำนวนไม่น้อยไม่อาจมีอนาคตที่ดีให้ยึดโยง ให้จินตนาการถึงได้อีกต่อไป
ทว่าในที่สุด ระบบที่ล่มสลาย ย่อมพังทลายมาจนถึงตัวได้ในท้ายที่สุด ไม่มีใครรักษาโลกอันอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่ของตัวเองได้ ตรงนี้ก็ยิ่งเน้นย้ำกรอบความคิดของเบอร์แลนต์ คือ ในที่สุดแล้วการอยู่กับอนาคตไม่ใช่ปัจจุบัน การอยู่กับจินตนาการไม่ใช่ความเป็นจริง ในโลกแห่งความจริงที่ไม่ว่าคุณจะรักษาโลกเล็กๆ ของคุณไว้แค่ไหน คุณจะหลอกตัวเองไปเรื่อยๆ ได้อย่างไร ถ้าสิ่งต่างๆ มันกำลังพังทลาย สุดท้ายมันต้องมาถึงตัวได้ในที่สุด
ไม่มีใครรอดเพียงลำพังบนซากปรักหักพัง
จนกว่าจะถึงวันที่ความหวังพังทลาย เราถึงจะลืมตามองโลกที่ขมขื่นได้อย่างแท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon