วันนี้ตกอีกแล้วอะ
เฮ้ย! วันนี้ขึ้นโว้ย
ซื้อวันนี้ พรุ่งนี้รวย
อ้าว ร่วงซะงั้น!
เห็นช่วงที่ผ่านมานี้ คนแห่มารุมมาเล่นในสนามของเงินดิจิทัลหรือ ‘Cyptocurrency‘ (เพื่อนบางคนถึงขั้นสถาปนาตัวเองเป็น ‘นักเลงคริปโตฯ’ แล้วด้วย!) ถึงอย่างนั้นก็ยังเห็นว่ามีข่าวสารหลายกระแสตั้งแต่บูมจนบึ้ม เอ้า ตกลงว่ามันยังไงกันแน่?
เอาล่ะ.. สำหรับใครที่สนใจอยากรู้ ลองอ่านความเห็นของ ‘วสันต์ ลิ่วลมไพศาล‘ ผู้ร่วมก่อตั้ง Blognone.com และผู้ศึกษาด้าน Cyptocurrency ดู เราได้ลองพูดคุยกับเขาเกี่ยวกับกระแสต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทำไมคนถึงหันมาสนใจสิ่งนี้ สถานการณ์ตอนนี้เป็นยังไงบ้าง มีการควบคุมดูแลแบบไหนบ้าง และมีความเสี่ยงอะไรยังไง รวมไปถึงแนวโน้มในอนาคตของสิ่งที่เรียกได้ว่าเป็นเรื่องป๊อปแห่งยุคสมัยอย่าง ‘Cyptocurrency’
Cryptocurrency มีความเป็น Crypto และความเป็น Currency ยังไง
เราเรียกมันว่า Cryptocurrency นะ แต่ความสำคัญของมันก็คือการ distribute คือความไร้ศูนย์กลางมากกว่า เวลาพูดถึง Cryptocurrency เนี่ย สิ่งที่สำคัญก็คือมันไม่มีใครควบคุมได้ ไม่มีธนาคารใดสามารถมาบอกว่า คนนี้ไม่ให้โอน คนนี้เงินจงหายไป ซึ่งในระบบธนาคารปกติทำได้ มีตำรวจไปอายัดบัญชี บอกว่าโอนเงินออกมาให้หมด ทำได้ แม้จะมีกระบวนการมากมาย แต่ Cryptocurrency คือทำไม่ได้ ไม่มีใครยอมให้ทำแบบนั้น โดยกฎของเงินคือโดนกำหนดไว้ด้วยกฎชุดนึงที่ทุกคนเข้าใจตรงกัน การกำหนดแบบนี้มันใช้กระบวนการทาง Cryptography การเข้ารหัสโน่นนี่นั่นมากมาย ซึ่งมีรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละสกุลเงิน โดยใช้เทคนิคต่างๆ กันไป คล้ายๆ การเข้ารหัสเว็บ
เมื่อก่อนพูดถึง Cryptocurrency คนก็จะนึกถึง Bitcoin เป็นหลัก แต่ตอนนี้มีสกุลอื่นๆ เข้ามามากมาย
จริงๆ เงินสกุลอื่นๆ มีมานานมากแล้ว หลังจาก Bitcoin สักปีสองปีก็มีแล้ว โดยที่มีความพยายามแก้ปัญหาบางอย่างกันมาเรื่อยๆ เช่นว่า Bitcoin ออกแบบให้การยืนยันเงิน อยู่ที่ประมาณ 10 นาทีต่อหนึ่งครั้ง กฎของมันก็คือบอกว่าต้องยืนยัน 6 รอบ ดังนั้นสำหรับ Bitcoin ก็คือหนึ่งชั่วโมง หนึ่งชั่วโมง ถ้าสำหรับการโอนเงินข้ามประเทศก็อาจจะโอเค แต่สำหรับการจ่ายเงิน คิดภาพยืนรอจ่ายเงินค่าก๋วยเตี๋ยว กว่าจะถึงคนปลายทาง หนึ่งชั่วโมงเราก็อาจจะไม่โอเคเท่าไหร่ ก็มีคนคิดว่ามันน่าจะสั้นลง ตอนหลังก็มีคนคิดถึงเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย
อย่างปีที่ผ่านมา จำนวนการโอนมันเยอะขึ้นมาก แล้ว Bitcoin ก็มีความสามารถในการรองรับปริมาณการโอนเงินได้ทุเรศมาก อันนี้เป็นสิ่งที่เราเพิ่งเจอกันเมื่อปีที่แล้ว ว่ามันเต็ม ทางทฤษฎี เท่าที่มีคนเคยวิเคราะห์ไว้คือมันรองรับได้ประมาณ 7 รายการ/วินาที ใช้ได้จริงประมาณ 4 รายการ/วินาที หมายถึงทั้งระบบ BTC เนี่ย คนโอนไปโอนมาทั้งโลกได้ 4 รายการ/วินาที เมื่อเทียบกับ VISA ที่รองรับการโอนได้ 65,000 รายการ/วินาที เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ITMX เพิ่งให้สัมภาษณ์ไปว่าพร้อมเพย์ของไทยให้บริการได้ 500 รายการ/วินาที ใช้จริงประมาณ 20-30 รายการ/วินาที นี่เฉพาะในประเทศไทย แต่ Bitcoin ที่พูดกันทั้งโลกน่ะ 4 รายการ/วินาที
ก็มีคนพยายามแก้อย่างอื่น ที่เด่นดังหน่อยก็คือ Ethereum ซึ่งแก้ปัญหาอย่างนึงก็คือ Bitcoin เรามีกติกาชุดเดียวก็คือ คนถือบัญชีสามารถสั่งโอนเงินได้ จะทำยังไงถ้าผมอยากสร้างบัญชีที่มีเงื่อนไขอย่างอื่น เช่นเราเคยเปิดบัญชีบริษัท มีเพื่อนสามคนอยากเปิดบัญชีบริษัทด้วยกัน บริษัทที่หนึ่งบอกว่าคนใดคนหนึ่งเซ็นก็ได้ ไว้ใจกัน บริษัทที่สองบอกว่าต้องสองคนเซ็น บริษัทที่สามบอกว่า ไม่ได้เว้ย ต้องเซ็นพร้อมกันสามคน แบบนี้ Bitcoin ดั้งเดิมทำไม่ได้ (มีการปรับปรุงเพิ่มเติมภายหลัง) ทุกคนถือกุญแจ ทุกคนโอนได้หมด วันนี้ทุกคนถือกุญแจร่วมกัน พรุ่งนี้เช้าคนหนึ่งเชิดเงินหนีไปเลยได้
Ethereum ก็มาแก้ปัญหาเรื่องนี้ บอกว่าโอเค Ethereum สนับสนุนเรื่องนี้เต็มที่ เราสามารถคิดวิธีการแปลกประหลาดอื่นๆ ในการโอนเงินได้ มีคนทำตัวอย่างไว้แรกๆ ก็คือแชร์ลูกโซ่ Ethereum ก็คือเป็นกติกาที่ตกลงร่วมกันอย่างเปิดเผยเลยว่านี่คือบัญชีแชร์ลูกโซ่ คนที่โอนเงินเข้าไป เมื่อมีดาวน์ไลน์ครบคน คุณก็จะได้เงินคืน
(สกุลเงินอื่นๆ ล่ะ) ตอนนี้ทั่วโลกน่าจะเป็นพันละนะ เอางี้ละกันว่า Ethereum เนี่ย ถ้าเราโหลดซอฟต์แวร์มาแล้วเปิด Node บน Public Node สัก 2-3 Node ใช้ Cloud Computing แล้วก็ซิงก์กันเอง สักครึ่งวันก็น่าจะได้เงิน Cryptocurrency สักหนึ่งสกุลขึ้นมาใช้เล่นๆ แต่ก็จะไม่มีใครมาใช้กับเรา
อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ทั่วโลกหันมาสนใจ Cryptocurrency
อย่างตอนแรก ปี 2009 คงเพราะมันแปลก คนเล่นก็คงเล่นเพราะความสงสัย ว่านี่มันอะไรวะ แล้วก็มาช่วงที่คนเริ่มใช้จริงจังมากขึ้น อย่างปี 2016 ก็พวก Ransomware, Silk Road หรือว่าตลาดเถื่อนอื่นๆ ก็มีการใช้ช่องทางจ่ายเงินอย่างจริงจัง เคยคุยกับเพื่อนบางคนว่า ด้วย property แบบนี้ พวกองค์กรใต้ดินจะหันมาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งก็เป็นจริงในบางระดับ เพิ่งมีข่าวการยึดเงินบัญชี Bitcoin ได้สักแสนล้านบาทไทยเมื่อสักเดือนสองเดือนก่อน ซึ่งหมายถึงองค์กรพวกนี้ดำเนินการด้วยเงิน Cryptocurrency กันอย่างหนักหน่วงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลัง ก็ทำให้ความนิยมมันสูงขึ้นมาในระดับหนึ่ง ช่วงหลังก็จะเป็นพวกนักลงทุนรายย่อย เห็นค่าเงินมันพุ่งเร็วจังเลย
อะไรที่กระตุ้นให้บริษัทใหม่ๆ ออก ICO (Initial Coin Offering – การเสนอขาย Token ในระบบบล็อกเชนเพื่อการระดมทุน) ของตัวเองอย่างเช่น Jaymart ที่เพิ่งมีข่าวไป (ที่มา)
ต้องแยกก่อนว่า ICO ไม่ใช่เงิน Cryptocurrency มันเป็น asset ของมันเอง
เข้าใจว่า ICO ส่วนมากอยู่บน Ethereum เพราะมันอนุญาตให้สร้างกติกาบางอย่างขึ้นมาได้ มันก็สามารถของอะไรบางอย่างหนึ่งล้านชิ้น อยู่ในบัญชีนี้ แล้วถ้าคนจ่ายเงินเข้ามา 1 Ethereum เราจะให้ของไป 1,000 ชิ้น แบบนี้ได้ แล้วของที่ไม่ใช่ Ethereum ก็สามารถโอนไปโอนมาระหว่างกันได้ มันทำให้สามารถสร้าง asset อื่นๆ ขึ้นมาบนแพลตฟอร์ม Ethereum ได้อีกชั้นหนึ่ง เข้าใจว่ามีแพลตฟอร์มอื่นด้วย แต่ Ethereum ทำได้แน่ๆ
มันก็จะมี API (Application Program Interface) กลาง คนที่จะทำ asset คล้ายๆ แบบนี้ก็จะมี API ชุดนึง ชื่อว่า ERC20 มันก็จะกำหนดวิธีการโอน ICO หรือ token ไปหาคนอื่น เพราะฉะนั้นจะมีความเข้าใจผิดเช่นว่าโอนช้า มีปัญหานี่นั่น ก็ไปสร้าง token สิ ซึ่งไม่เลย token นี่รันอยู่บนแพลตฟอร์ม Cryptocurrency อีกแพลตฟอร์มหนึ่ง
ซึ่ง ICO ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สร้างขึ้นมาด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป ส่วนใหญ่ก็คือการระบุว่าเราระดมทุนเพื่อทำธุรกิจบางอย่าง คล้ายๆ เปิดบริษัทที่เอาเข้าตลาดหุ้น ล้อๆ กันมา คือบริษัทที่เข้าตลาดหุ้นอาจจะมีกำไรอยู่แล้ว แต่อยากเปิดสาขาเพิ่มอีกพันสาขา ขอเงินอีกพันล้าน สาขาละหนึ่งล้านบาท ก็จะเป็นสัญญาไป ICO ก็จะคล้ายๆ กัน ก็จะบอกว่าเราจะทำซอฟต์แวร์ตัวหนึ่งที่เราคิดมาแล้วนะว่ามันน่าจะดี น่าจะรวย แต่ว่าเราไม่มีเงินทำ ใครให้เงินเรามา เดี๋ยวเราสัญญาว่าจะจ่ายคืน
เหมือนการซื้อหุ้นไหม? คือการซื้อหุ้นเป็นสิ่งที่มีกฎหมายรองรับ อันนี้เป็นสัญญาใจ คือการซื้อหุ้นเราสามารถไปฟ้อง บอกว่าผู้บริหารไม่ทำตามได้ แต่ ICO ทุกวันนี้ที่ออกๆ มาก็มีโกงไปเลย scam เยอะพอสมควร บางทีดูจะไม่ scam แต่ว่าซอฟต์แวร์ไม่เห็นออกมาสักทีนึง ทำเท่าไหร่ก็ไม่เสร็จ ทะเลาะกันเองโปรเจ็กต์ระเบิดตัวไปก็มี ทำอยู่แต่ว่าไม่เห็นหน้าตาซอฟต์แวร์ก็มี ยังนึกไม่ออกเลยว่า ICO ที่ได้เงินไปแล้ว แล้วมีโปรดักต์ออกมา ทำกำไรได้ และเริ่มสร้างผลตอบแทนจริงๆ ที่ไม่ใช่ค่าเงิน token เนี่ย เป็นตัวไหน นึกไม่ออกเลย
ถ้าพูดถึง Cryptocurrency คนก็จะแบ่งฝั่งค่อนข้างชัดเจนคือฝ่ายที่เชื่อกับฝ่ายที่ไม่ค่อยเชื่อ แล้วก็มีฝ่ายตรงกลางที่เชื่อในเทคโนโลยีแต่ไม่เชื่อในกระแสที่เกิดขึ้น คิดว่าตอนนี้สถานการณ์เป็นยังไง
ก็เป็นอย่างที่บอก ก็มีหลายฝ่าย ถ้าถามความเห็นก็คือ ก่อนหน้า Bitcoin มันจะราคาพุ่งขนาดนี้ มันได้พิสูจน์ตัวเองแล้ว ในช่วงปี 2016-2017 ว่าเงินที่ไร้ศูนย์กลาง ไม่มีใครเชื่อใจใคร ทุกคนเป็นโจร โจรเต็มเน็ตเวิร์กเลย คนรับก็โจร ตลาดมีดอย่าง Silk Road ก็โจร คนปลายทางก็ยิ่งโจรหนักเลย แต่ทุกคนสามารถอยู่ร่วมกันได้ในกฎข้อหนึ่ง เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเงิน Cryptocurrency ได้พิสูจน์ตัวเองในบางระดับไปแล้ว ว่ามันสามารถโอนถ่าย value ให้กันได้ในรูปแบบที่ไม่มีองค์กรที่ต้องการความเชื่อใจ ทุกวันนี้เราใช้เงินบาท เพราะว่าเราเชื่อใจแบงค์ชาติ ว่าพรุ่งนี้จะไม่สติแตกพิมพ์แบงค์ออกมาสองเท่าสามเท่าตัว หรือว่าแบงค์ชาติจะไม่ประกาศยกเลิกเงินทั้งหมดเลย เราจะรีเซ็ตใหม่ มันเป็นความเชื่อใจประมาณหนึ่ง
แต่ว่าเงิน Cryptocurrency เนี่ย พรุ่งนี้เช้าก็อาจจะมีบริษัทเปิดเงินใหม่ขึ้นมาอีกเรื่อยๆ แต่สุดท้ายแล้วมันก็สามารถไปของมันได้ ทุกคนสามารถจ่ายเงินได้ เพราะฉะนั้นแล้ว เชื่อว่าในบางระดับจะมีการใช้งานไปเรื่อยๆ สกุลไหนยังไม่รู้ เชื่อว่าอย่าง Bitcoin ทุกวันนี้ชนเพดาน ตามทางทฤษฎีที่ได้ 7 รายการ/วินาที แต่ในทางปฏิบัติคือ 4 รายการ/วินาที เราไม่สามารถทะลุจากตรงนั้นไปได้ ก็เริ่มบล็อกเต็ม ค่าโอนก็เริ่มแพงมากจนกระทั่งไม่สามารถใช้งานในมูลค่าต่ำๆ ได้ มันก็มีข้อจำกัดในการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ
หลังๆ มีทุนแบบสถาบันเข้ามาในตลาด Cryptocurrency มากขึ้น มันทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงธรรมชาติของตลาดไหม
น่าจะพูดถึงเรื่องตลาด Future คือสหรัฐฯ ก็เป็นดินแดนที่มีมาตรการความปลอดภัยต่างๆ อยู่แล้ว เราอาจจะเห็นวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2008 ที่เอาเงินมามัดรวมกัน แล้วออกมาตรการต่างๆ ออกมาได้ เขาก็มีธรรมชาติของเขาในฝั่งนักลงทุนในการดันมาตรการแปลกๆ ออกมา Bitcoin ก็เป็นตัวหนึ่งที่ดูมีความเสี่ยง เขาก็ออกมาตรการประกันความเสี่ยงขึ้นมา แล้วทุกคนก็เล่นได้ ไม่แน่ใจว่าตลาดอื่นๆ จะรองรับได้แค่ไหน อย่างเช่น ICO หลายประเทศก็แบนไปแล้ว ทั้งแบนเงียบๆ และแบนแบบเป็นทางการ แต่อย่างสหรัฐฯ ก็ไม่เคยแบนอะไร ทุกวันนี้ในตลาดก็ยังมีซื้อขายอยู่หลายตัว หลายรัฐเก็บภาษีด้วย กำไรเยอะนี่ ก็เก็บภาษีซะ เพราะฉะนั้นแล้ว บางประเทศก็มีแนวโน้มที่จะกลัวไปเลย ซึ่งมันก็มีเหตุผลให้เขากลัว เพราะมันมีการใช้เงินในรูปแบบใต้ดินกันมากขึ้น หรือว่าควบคุมกันไม่ได้
อย่างเงินสดนี่มันจะมีการเจรจากันได้ในบางระดับ เช่นว่าเมื่อก่อนสิงคโปร์มีแบงค์หนึ่งพันดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งมันใหญ่มาก แบงค์ใบเดียวมีมูลค่าสองหมื่นสามหมื่นบาทไทย แล้วมันก็กลายเป็นช่องทางในการขนเงิน คือปกติเงินบาท ขนกิโลนึงก็ได้ล้านเดียว อันนี้กิโลนึงอาจจะได้สักยี่สิบล้าน ซึ่งระหว่างธนาคารด้วยกันเองก็ตกลงกันว่าอย่าให้ขนแบบนี้เลย มันไม่ดีนะ ก็เลยยกเลิกแบงค์นั้นไป ดอลลาร์ที่มีเงินเยอะมากก็ยังมีแค่แบงค์ร้อย
แต่ว่าพวกเงิน Cryptocurrency นี่มันเจรจากันไม่ได้ อาจจะยิ่งกว่าพวก Tax Haven คือไม่รู้จะเจรจากับใคร เลยเป็นปกติที่หลายประเทศจะกลัว อย่างสหรัฐฯ เนี่ย FBI จัดการได้ค่อนข้างดี จากหลายคดีที่ผ่านมา อย่างกรณีของการทลาย Silk Road เขาแฮคเซิฟเวอร์ได้ก่อนนานแล้ว ไล่ดักได้ว่าพ่อค้าเป็นใครบ้าง แล้วจังหวะที่เขาเปิดเซิฟเวอร์ เขารู้ว่าเขาต้องโอนเงินออกจากบัญชี Silk Road เผื่อว่าเจ้าของเซิฟเวอร์เอาบัญชีไปฝากเพื่อนไว้ ว่าถ้าโดนจับให้โอนเงินออกไป FBI มีโปรโตคอลพวกนี้เตรียมไว้ชัดเจนมาก เขาโอนเข้าบัญชี FBI ทันที แล้วก็ยึด การยึดมันประหลาดจากการยึดอื่นๆ ก็คือปกติจะเอาสมุดบัญชี เลขบัญชีนี้ไปบอกแบงค์ บัญชีนี้จงหยุด ผู้จัดการธนาคารมาเซ็น โอนออกไปไม่ได้ ก็จบ อันนี้ไม่ได้ ไม่มีใครจะหยุด ก็ต้องมีการฝึกฝนเจ้าหน้าที่ในอีกรูปแบบหนึ่งที่ต่างไป จนกระทั่งวันนี้ FBI ค่อนข้างพร้อมในเรื่องนี้ เขาแสดงให้เห็นในหลายๆ คดี ก็อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมเขาไม่กลัวขนาดนั้น
แล้วกฎระเบียบของประเทศไทยเป็นยังไงบ้าง
ปี 2012 เคยมีข่าวว่าจะแบน แต่ก็ไม่แบน และในทุกวันนี้ก็ไม่ได้ยินกฎอะไรมากกว่านั้น แม้แต่ ICO เองก็ยังงงว่าจะทำได้ไม่ได้กันยังไง ก็ยังไม่เห็นท่าทีเป็นศัตรูกับของพวกนี้สักเท่าไหร่ แต่ว่าก็ไม่ได้รับรอง ในแง่หนึ่งเขาอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่อยู่คนละโลกกัน อย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ไม่ได้ไปรับฝาก Bitcoin ตรงๆ เขาก็ยังรู้สึกว่าเป็นทรัพย์สินที่คนใคร่จะค้า จะเก็งกำไรรายวัน ก็แล้วแต่คุณ ก็เป็นมุมมองแบบนั้นไปก็ได้ อย่างการระดมทุมนี่ก็เริ่มมีคำถามเยอะ แต่เท่าที่รู้ก็ยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนออกมา
อนาคตเนี่ย มุมมองก็คืออย่างพวก Cryptocurrency นี่ยังไม่แน่ใจ ในแง่การกำกับตลาด อาจจะปล่อยไปอย่างนี้ยาวๆ ได้เรื่อยๆ แต่สำหรับ ICO ส่วนตัวเชื่อว่าน่าจะมีกฎบางอย่าง อาจจะยอมรับ หรืออาจจะแบน หรืออาจจะควบคุมอะไรบางอย่าง แต่ต้องมีกฎในบางระดับ
เวลาพูดถึง Blockchain ก็จะมีการอ้างถึงประโยชน์อย่างการติดตามได้ หรือว่ามีความโปร่งใส ช่วยยกตัวอย่างที่เห็นได้จริงหน่อย
ถ้ายกตัวอย่างกรณี Cryptocurrency คนไทยอาจจะนึกไม่ออกว่าจะใช้เงิน Cryptocurrency ไปทำไม เพราะเงินบาทเราค่อนข้างเสถียร มูลค่าค่อนข้างนิ่ง อันนี้เป็นความดีความชอบของแบงค์ชาติที่เขาจัดการได้ค่อนข้างนิ่ง เราไม่เคยเกิดเหตุการณ์ Bank Run แบบที่คนต้องแห่ไปถอนเงินจากธนาคารมาตั้งแต่ปี 40 คือมันนานมากแล้วจนคนแทบจำไม่ได้ว่าเคยเหตุการณ์นั้นขึ้น เสถียรภาพของระบบธนาคารเราค่อนข้างดี เราสามารถโอนเงินเร็วขึ้นด้วยในปีที่ผ่านมา เรามีพร้อมเพย์แล้ว
มีบทความใน Wall Street Journal พูดถึงว่าถ้าคุณอยู่ในประเทศที่เงินคุณไม่เสถียรเลย คุณโดน Sanction อยู่ ประเทศคุณมีปัญหาบางอย่างที่ทำให้ประชาชนซวยไปด้วย ไม่สามารถโอนเงินเข้าหรือออกนอกประเทศได้เลย ตัวเงินที่ถือเองก็ไม่นิ่งเลย ถ้าคุณเป็นชนชั้นกลาง คุณจะหาทางทุกอย่างที่จะเอาเงินออกไปที่อื่น และ Cryptocurrency ก็อาจจะเป็นแค่ไม่กี่ทางที่ทำให้มันเกิดขึ้นได้ นี่ไม่พูดถึงเรื่องใต้ดินอะไรเลยนะ แต่แค่คิดว่าคุณจะออมเงินไว้ใช้ตอนแก่ตัวเนี่ย คุณจะออมได้ยังไง ในเมื่อเงินที่ถือในมือ มูลค่าก็วิ่งไปมาตลอด
ส่วน Blockchain เนี่ย คุณสมบัติอย่างหนึ่งที่เขาพูดถึงกันก็คือ immutable คืออยู่ๆ จะมาเปลี่ยนนี่ไม่ได้ แต่ว่าอย่างบัญชีธนาคาร เราไปอัพบุคมาตอนเช้ามีหมื่นนึง แต่ในความจริงแล้ว database นี่มัน mutable ธนาคารบอกว่ายอดนั้นผิด เราขอปรับแก้ละกันนะ จริงๆ คือ 500 ก็ทำได้ เคยมีคอมเมนต์ใน Blognone เกี่ยวกับเหตุการณ์พร้อมเพย์ล่มเมื่อต้นปีที่ผ่านมา บอกว่าบัญชีของเขามีเงินเข้ามาแล้วออก จริงไหมไม่รู้ แต่รู้ว่าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นได้ เมื่อมีศูนย์กลางที่ควบคุม database ตลอดเวลา คนมักจะพูดถึงบทบาทของ Blockchain ในกระบวนการของ Cryptocurrency ว่า มันสามารถยืนยันได้ว่าถ้ามีล้านนึงก็ต้องล้านนึง ถ้ามีหมื่นนึงก็ต้องหมื่นนึง ถ้าคุณแก้ คุณต้องมีกระบวนการบางอย่างในการแก้
ก็มีคนเสนอแนวทางการใช้งานแบบนี้โดยไม่ต้องมี Blockchain อย่างที่เอา Ethereum มารันเพื่อใช้งานภายใน มันมีการสร้าง database อื่นๆ ที่ตรวจสอบกันไปมา แล้วไม่สามารถกลับไปแก้ของเก่าได้ เช่นที่ใช้กันโดยไม่รู้ตัวคือ browser ทุกวันนี้ ใบรับรองการเข้าหา browser จำนวนมาก มีหน่วยงานออกใบรับรอง แล้วหน่วยงานก็ต้องแจ้งใครบางคนที่จะเก็บว่าหน่วยงานนี้ออกใบรับรองหมายเลขนี้ไปแล้ว เรียกว่า Transparency Log แล้วคนเก็บ Log ก็จะสร้าง database ขึ้นมาชุดนึงที่อ้างอิงกันแล้วแก้กลับไม่ได้ พอมีคนพยายามไปแก้กลับ browser จะบอกว่าเคยเห็นแล้ว นี่มีการแก้กลับ และให้ยกเลิกเพราะถือว่าให้บริการอย่างไม่น่าเชื่อถือ นับเป็นการใช้งานบางส่วนของ Blockchain ที่เห็นเลยว่ามีประโยชน์จริง
เวลาพูดถึงตลาด Cryptocurrency หลายคนมักจะบอกว่าไม่มีอะไรให้อ้างอิง มีความเห็นยังไง
ถ้าอิงหลักเศรษฐศาสตร์ก็จะบอกว่ามันเป็นดีมานด์-ซัพพลาย ก็มีคนมาซื้อ ซื้อไปทำอะไรก็ไม่รู้ แต่ในเมื่อมีคนซื้อมากกว่ามีคนขาย ราคาก็ขึ้น เท่านั้นเอง ถ้าเราจะเชื่อว่าราคาจะขึ้นต่อไปก็คือเราเชื่อว่าจะมีคนซื้อเก็บไปเรื่อยๆ มันก็เป็นจิตวิทยาหมู่ร่วมกัน ที่ผ่านมา ถ้าคุณซื้อถือสักปีก็ดูจะจริงอยู่ คือถ้าซื้อตั้งแต่ต้นปี 2016 ถึงราคาตอนนี้จะขึ้นๆ ลงๆ คุณก็ยังชิวมาก
Cryptocurrency สกุลหลักๆ ทั้งหมดยังคงคุณสมบัติบางอย่างที่ดีไว้ เช่นว่าความเป็นเจ้าของ เรายังไม่เห็นเงินสกุลหลักๆ ตัวไหนเลยที่โดนแฮคหนักๆ ผมมีร้อยนึง ผมส่งให้คุณบาทนึง ก็ยังคงเป็นแบบนั้นอยู่ ยังคงมีกฏที่ตรงไปตรงมา มีคนบอกว่าในเมื่อมีเงินที่นิ่งๆ เราสามารถไปแฮคออกมาใช้ได้ไหม ถ้าแฮคได้เมื่อไหร่ก็แปลว่าเงินมันใกล้ล่มสลายละนะ เพราะว่าทุกคนจะแฮคของทุกคนได้ แล้วก็จะเป็นแดนเถื่อนว่าเงินมาจากไหนไม่รู้ ซึ่งเงินสกุลหลักยังรักษาคุณสมบัตินี้ได้ดี แม้ว่าจะไม่มีหน่วยงานไหนมาดูแลมันเลยก็ตามที
แต่ก็มีประเด็นความเป็นห่วงเกี่ยวกับเรื่องการแฮคตลาดหรือความหนาแน่นของตลาด คือมีคนจำนวนน้อยที่ถือ Bitcoin จำนวนมาก มีความเห็นยังไง
ก็แบบเดียวกับตลาดหุ้น ที่มีเจ้า มีรายใหญ่ ก็มีสินทรัพย์อื่นๆ ที่มีคุณสมบัติประมาณนี้ แต่ Cryptocurrency มันเห็นกันชัดๆ database เปิดเผย กรณีล่าสุดก็มีคนเชื่อว่า Satoshi ถือเงิน Cryptocurrency มากกว่าที่เราเห็นกันในบัญชีแรก (50 BTC) ถ้าวันหนึ่ง Satoshi ออกมาประกาศว่าจะขายทั้งหมดเลย ก็จะพินาศกัน ก็เป็นความเสี่ยง เหมือนหุ้น ตลาดหลักทรัพย์ก็เปิดเผยผู้ถือหุ้นรายใหญ่ แล้วเราก็หวังว่าวันดีคืนดีเขาคงไม่มาเทใส่ตลาดให้หมด
มีคำแนะนำสำหรับคนทั่วไปที่จะเข้าสู่ตลาดยังไงบ้าง ที่คุณเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ถ้าไม่เข้าใจก็อย่าไปยุ่ง” ยังบอกเหมือนเดิมไหม
จริงๆ หลักการมันตรงไปตรงมามาก ต่อให้เป็นหุ้นเองก็ตาม ต่อให้เป็นทองคำก็ตาม สัก 5 ปีก่อนที่ราคาทองคำขึ้น แล้วก็แห่ไปซื้อกัน ในเมื่อไม่ได้เล่นแล้วไปซื้อทำไม ค่าเข้าค่าออกมันก็แพงพอสมควร แต่ทองอาจจะมีความเสี่ยงน้อยหน่อย เพราะคุณเก็บเป็น ใส่ซองผ้าไว้นะ ใส่กุญแจล็อกไว้นะ มันยังเข้าใจได้ แต่คุณเข้าใจกระบวนการรักษา Cryptocurrency ไหม อย่างโบรกเกอร์หุ้นนี่ก็มีใบอนุญาต มีการตรวจสอบที่ชัดเจนแน่นอน มีการล็อกอินเข้าไปตรวจสอบว่าโบรกเกอร์ถือหุ้นไว้ให้เราจริงๆ ไม่ใช่เราสั่งแล้วมันไม่มีอยู่
จริงๆ คือเราใช้ชีวิตด้วยความสบายใจกัน เพราะทุกวันนี้มีหน่วยงานรัฐเข้ามายุ่งส่วนหนึ่ง เรามีเงินหมื่นนึงในบัญชี พรุ่งนี้เช้าเราไปถอน เราไม่ต้องลุ้นไงว่าเราต้องรอเงินอีกสามวันหรือเปล่า เพราะแบงค์ชาติเขากำกับดูแลไว้ให้แล้ว ถ้าไม่นับพวกโกงอย่างตั้งสลากปลอม หรือคนทำงานผิดพลาด หรือโดนแฮคนะ แต่นั่นก็เป็นความเสี่ยงอีกชั้นหนึ่ง
มุมมองก็คือ Cryptocurrency มันมีความเสี่ยงหลายชั้นมากกว่าปกติ อย่างถือทองคำ ก็ไปร้านที่น่าเชื่อถือ ก็เป็นไปได้จะได้ทอง 99% แบบที่เขาบอก แต่ด้วยความที่ Cryptocurrency ไม่มีหน่วยงานกำกับดูแล แลกเงินนี่ก็อาจจะเริ่มไม่แน่ใจแล้วว่า เงิน 100 BTC ของเราจะอยู่ครบไหม อาจจะโดนแฮคแล้วทุกคนใช้งานโดยไม่รู้ตัวอยู่นาน เพราะฉะนั้นก็จะมีทั้งความเสี่ยงเรื่องราคา เรื่องผู้ให้บริการ หรือเมื่อคุณถอนมาแล้ว ก็มีเรื่องกระบวนการเก็บรักษาอีก อย่างกรณีล่าสุดที่ผู้ร่วมก่อตั้ง BoingBoing ลืมรหัส ก็ได้แต่นั่งมองเลขบัญชีตัวเองทุกวัน แต่เอาเงินออกมาไม่ได้ คือมันเป็นความเสี่ยงที่ต่างไปจากปกติ
ส่วนตัวมองว่าความเสี่ยงในการเก็บรักษาอันตรายที่สุดสำหรับคนที่ไม่เข้าใจ ถ้าเล่นทอง แล้วไปซื้อกองทุนทอง การเก็บรักษามันง่ายกว่า เราไม่ต้องกลัวคนมาปล้นบ้าน แล้วบัญชีนี้ก็มีการกำกับดูแลประมาณนึง ผู้ให้บริการต้องมีทองมารองรับมูลค่า กระบวนการดูแลรักษามันเลยง่ายขึ้น แต่สำหรับ Cryptocurrency กระบวนการรักษามันยากกว่า จะมีคำถามว่าอีก 10 ปีแล้วจะทำยังไง Bitcoin วันนี้อาจจะแตกไปอีก 50 สกุล แล้วมีสกุลหนึ่งขึ้นมาเป็นล้านดอลลาร์ก็ได้ แต่ตอนนั้นรหัสอยู่ไหนวะ อาจหาไม่เจอแล้ว
มีคนบอกว่าเล่นหุ้น เล่นไม่เป็น ก็ถือเป็นค่าวิชา ลงไปเลย เจ๊งก็ช่างมัน แต่คุณต้องรู้ว่าสิ่งที่คุณจะลงคือเพื่อให้คุณรู้
คำว่า “ไม่เข้าใจอย่าไปยุ่ง” นี่ไม่ใช่ว่าเปิดเงินในบัญชีมีเงินเก็บอยู่สองแสน งั้นสุดตัวเลยละกัน อันนี้ไม่ใช่ค่าวิชาละ ถ้ามีคุณมีเงินพอถึงจุดหนึ่งแล้วคุณอยากรู้จักมัน ก็เล่นได้ในระดับที่คุณรู้ว่านี่คือการศึกษา
With assistance by Thanisara Ruangdej / Photos by Watcharapol Saisongkroh