ไลฟ์โค้ชจำนวนหนึ่งบอกเราว่า เฮ้ย เราจะเรียนไปทำไม จบมาก็ได้เงินเดือนแค่หมื่นห้า ในขณะที่ช่วงนี้ เด็กๆ ต่างก็ต้องแก่งแยกกันสอบเข้าโรงเรียนมัธยมระดับแนวหน้า ทางหนึ่งบอกว่าอย่าเสียเวลากับระบบเลย แต่อีกด้านผู้ปกครองและเราเองต่างก็เห็นว่าการศึกษาคือการลงทุนที่สำคัญของชีวิต
ชีวิตมันไม่ได้ง่ายและเรียบง่ายเหมือนที่ไลฟ์โค้ชบอก เราต่างดิ้นรนและอยู่ในเกมของโลกทุนนิยม โลกของการลงทุนและการสะสมทุน ดังนั้นการพูดแค่ ‘เงินเดือนหมื่นห้า’ ในฐานะผลของการลงทุนในการศึกษาอันยาวนานอาจจะเป็นมุมมองที่ ‘ผิวเผิน’ เกินไปหน่อย เพราะชีวิตเรามันซับซ้อนกว่าที่ตั้งสมการโดยเอาแค่ ‘เวลา’ และเงินมาคำนวนเป็นตัวเลขเดี่ยวๆ ชีวิตเราเต็มไปด้วย ‘ค่า’ อันเป็นราคาที่มองไม่เห็น (hidden cost) ราคาที่ยากจะประเมินออกมาเป็นตัวเลข
จริงอยู่ว่าเงินเดือนหมื่นห้าก็อาจจะมีปัญหาในตัวเอง จะถูกไปหรือแพงไป สมกับความต้องการของตำแหน่งแค่ไหน มีสวัสดิการเพียงพอมั้ย ระบบเป็นธรรมรึยัง เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่เราถกเถียงกันได้ แต่การจะบอกว่าเรียนไปตั้งเยอะ มารับเงินแค่นี้ ถือว่าเป็นตรรกะที่ไม่ถูกต้องนัก ในทางสังคมวิทยา มีนักคิดที่พูดเรื่อง ‘ชีวิตคือการลงทุน’ และสิ่งที่นักสังคมวิทยาชี้ให้เห็นคือ ‘ทุน’ ที่เราลงแรงและเก็บเกี่ยวสะสมเป็นสิ่งที่แสนจะซับซ้อน การเข้าเรียนในโรงเรียนเป็นกระบวนการสำคัญในการสะสมทุนที่หลากหลายรูปแบบ ทุน – ไม่ใช่แค่เงิน แต่หมายถึงทุนทางวัฒนธรรมคือรสนิยมและ ทุนทางสังคมคือความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นๆ เงินเดือนหมื่นห้าจึงเป็นเพียงหมุดหมายและก้าวบันไดในการที่เราค่อยๆ สะสมเพิ่มพูนทุนต่อไป
ดังนั้น ถ้าจะพูดเรื่อง ‘การลงทุนที่คุ้มค่า’ ว่า เอ้อ คุณจะเข้าไปลงทุนตามแบบแผนมั้ย หรือจะบอกว่าชั้นไม่เอาแล้ว ไป ‘ลงทุน’ เวลาและโอกาสในเส้นทางอื่นดีกว่า สิ่งที่เราต้องดูคือ ‘ต้นทุน’ หรือภูมิหลังของเรา ว่าเราจะสร้างเส้นทางฝันของตัวเองได้จริงๆ หรือเป็นเพียงแค่ความฝันที่คนอื่นมาวาดวิมานที่ไม่มีจริงไว้ให้
การสะสมทุนที่มากกว่าตัวเงิน
ชีวิตคือการลงทุน ต่อให้เป็นโลกธุรกิจ แนวคิดเรื่องทุนและกำไรก็เป็นเรื่องที่ซับซ้อนในตัวเองอยู่แล้ว ไม่ใช่แค่เรื่องตัวเลขสองฝั่งของกำไรและขาดทุน การลงทุนหลายครั้งเกี่ยวข้องกับคอนเน็กชั่น เกี่ยวข้องกับการซื้อสถานะ บารมี การลงทุนและผลกำไรไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขและตัวเงิน ยิ่งถ้าเป็นการใช้ชีวิต แน่ล่ะว่าเราต่างอยู่ในโลกทุนนิยม ปิแอร์ บูร์ดิเยอ เป็นนักสังคมวิทยาที่ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของโลกทุนนิยมที่มีต่อความคิดของเรา และชี้ให้เห็นว่าเราต่างกำลังสะสมทุนกันอย่างสลับซับซ้อน
แนวคิดเรื่องทุนเป็นแนวคิดสำคัญของบูร์ดิเยอ อธิบายอย่างง่ายที่สุด บูร์ดิเยอบอกว่าเราต่างลงทุนและสะสมทุนอยู่เสมอ และทุนที่ว่าไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่หมายถึง ‘มิติทางวัฒนธรรมด้วย’ ดังนั้น ในความคิดเช่น ลงทุนทั้งเงินและเวลาไปแล้วได้เงินเท่านี้ จึงเป็นวิธีคิดที่มองไม่เห็นมิติของการสะสมทุนของปัจเจกบุคคล – ของเราๆ ท่านๆ
สิ่งที่เราได้จากการศึกษา ที่พ่อแม่จำนวนไม่น้อยกำลังพยายามต่อสู้เพื่อให้ลูกหลานได้เข้าโรงเรียนดีๆ ถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการสะสมทุนให้กับเด็กๆ ทุนตรงนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของความรู้ เจ้าทุนทางวัฒนธรรม(cultural capital)ที่บูร์ดิเยอพูดถึงหมายถึง ‘รสนิยม’ ที่เด็กๆ จะได้รับการหล่อหลอมในระบบการศึกษา รสนิยมไม่ว่าจะเป็นกิริยามารยาท ความชอบในเรื่องต่างๆ การมีสุนทรียภาพทั้งในการอ่านและชมศิลปะ ไปจนถึงเรื่องทักษะในการเล่นกีฬา คุณสมบัติต่างๆ นี้ค่อยๆ ซึมซับหล่อหลอมเข้าไปในตัวเด็กๆ
เราอาจรู้สึกว่ารสนิยมอะไรเหล่านั้นเป็นของแถม แต่บูร์ดิเยอบอกว่าไม่จริง ทุนทางวัฒนธรรมหรือรสนิยมนี่แหละที่เป็นสิ่งที่เราสามารถเอาไปแลกเปลี่ยนกลับไปสู่ทุนอื่นๆ ได้ อย่างง่ายที่สุดคือ คนที่มี ‘การศึกษาดี’ ไม่ได้หมายความแค่การมีความรู้ แต่หมายถึงคนที่มีความรอบด้าน สามารถเข้าสมาคม มีกลุ่มเพื่อนฝูง ซึ่งทั้งหมดนี้ทำให้คนๆ นั้นมี ‘โอกาส’ (chance) ในชีวิตเพิ่มมากขึ่น นึกภาพคนที่มีบุคลิกดี มีความมั่นใจ สามารถพูดคุยสื่อสารกับคนอื่นได้ จะพูดคุยเรื่องหนังสือ เรื่องศิลปะ หรือความรู้ต่างๆ ก็คุยสร้างความประทับใจได้
จริงๆ สิ่งที่บูร์ดิเยอพูดถึง ส่วนหนึ่งก็คือสิ่งที่เราเรียกว่าคอนเน็กชั่นนั่นแหละ การเข้าโรงเรียนดีๆ ส่วนหนึ่งคือการไปสะสมทุนทางสังคม และการที่เราจะรักษาและขยายทุนทางสังคมของเราไว้ได้ การมี ‘รสนิยม’ ในระดับเดียวกันถือเป็นสิ่งชี้ชัดว่าใครจะไปเดินเล่นกินข้าวที่ไหน เล่นกีฬาอะไร ทั้งหมดนี้ชี้วัดได้ว่า เราจะแต่งงานมีครอบครัวกับคนแบบไหน เป็นเพื่อนกับใคร และในที่สุดแล้ว การมีรสนิยมที่ดี มีคอนเน็กชั่นที่ดีก็นำไปสู่ความก้าวหน้าทางอาชีพการงาน นำไปสู่โอกาสทางธุรกิจหรือช่องทางทำกินอื่นๆ
ดังนั้นสิ่งที่บูร์ดิเยอพูดถึงคือ ในระบบที่ดูจะเสรีตามที่ทุนนิยมอ้าง จริงๆ แล้วเต็มไปด้วยการกีดกันทางชนชั้นอยู่เสมอ คนจากชนชั้นที่มีทุนมากกว่า มีโอกาสที่จะเข้าถึงทรัพยากรมากกว่าก็มีสถานะ มีรสนิยมอันทำให้โอกาสในชีวิตสูงกว่า พร้อมๆ กับเจ้ารสนิยมนี้ก็กีดกันคนจากชนชั้นที่มีทุนต่ำกว่าในการเข้าถึงทรัพยากรด้วย
ทุนของเราไม่เท่ากัน
กลับไปที่ประเด็นว่าชีวิตคือการลงทุน ดังนั้น ต้นทุนของเราย่อมไม่เท่ากัน สิ่งหนึ่งที่แนวคิดเรื่องทุนพอจะบอกได้คือ ภูมิหลังของเราค่อนข้างเป็นตัวกำหนดเส้นทางของเรา ทุนเรามีมาแบบไหนก็มีแนวโน้มที่จะไปทางนั้น
เรามักได้ยินคนที่บอกให้เราออกจากกล่อง ไปสร้างอะไรเป็นของตัวเอง เป็นอายุน้อยร้อยล้าน เรื่องเล่าเศรษฐีวัยเยาว์ถูกเล่าเข้าหูจนหัวใจพองโต แต่ถ้าเราดูจริงๆ ส่วนใหญ่คนที่ร่ำรวยตั้งแต่อายุน้อยๆ ก็มักมีภูมิหลัง มีทุนทางธุรกิจ ทางเส้นสาย ทางความคิดในการทำการค้าจากครอบครัวเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว และส่วนใหญ่คนในสถานะที่มีทุนระดับสูงเหล่านี้ ก็มักจะมีการศึกษาในสถาบันระดับสูง อันเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างเครือข่ายในการทำมาหากิน สร้างกำไรต่อไป
พวกตำนานนักธุรกิจสร้างเนื้อสร้างตัว – ประเภทที่ลาออกส่วนใหญ่ ถ้านับอัตราส่วนกับคนทั่วไปก็ถือว่าเป็นคนส่วนน้อยมากๆ และส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีทุนบางอย่าง เช่น อยู่ในมหาวิทยาลัยระดับแถวหน้าอยู่แล้ว คนพวกนี้คืออยู่ในระบบ เข้าใจ และคิดพ้นจากระบบไปจนสามารถสร้างระบบของตัวเองได้ ไม่ใช่ว่าคิดลอยๆ แล้วบอกว่า ไม่เอาแล้ว ฉันจะออกไปทำอันนี้อันนั้น คือถ้าไม่มีต้นทุนความรู้ ต้นทุนทางสังคม และต้นทุนทางวัฒนธรรม ก็ยากที่จะสร้างอะไรจากก้อนดินได้
คนที่มาจากครอบครัวกลางๆ ระบบการศึกษาก็ดูจะเป็นช่องทางที่เราค่อยๆ สะสมทุน หากลยุทธ์ รับเงินเดือนหมื่นห้า แล้วใช้ทักษะต่างๆ เพื่อฉายแสงหารายได้ เติบโตเลื่อนชนชั้นทางสังคมต่อไป จะลาออกไปทำธุรกิจอย่างฝัน ก็อาจจะต้องค่อยเป็นค่อยไป จะลาออกเมื่อมัธยมหรือมหาวิทยาลัยก็ไม่ใจแน่ว่าจะไหวไหม
ดังนั้นการมองว่าเรียนเป็นสิบปีแต่นำไปสู่คำตอบที่เป็นเงินแค่เดือนหมื่นห้า จึงเป็นคำตอบที่มองไม่เห็นสิ่งอื่นที่แอบแฝงมาพร้อมกับการลงทุนอันยาวนาน หมื่นห้าอาจจะเป็นเพียงก้าวแรกของโลกการทำงานและการสะสมทุนต่างๆ ต่อไปในภายหน้าทีละขั้นทีละตอน
แน่ล่ะว่าระบบการศึกษาในโลกทุนนิยมยังเป็นระบบที่เต็มไปด้วยปัญหาและการเข้าถึงทรัพยากรที่เต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำและไม่เป็นธรรม แต่บางครั้งการที่เราจะวิพากษ์วิจารณ์ระบบ และทำการปฏิวัติที่เป็นไปได้ เราอาจจำเป็นต้องอยู่และเข้าใจในระบบก่อน ถึงจะนำเสนอทางออกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนและเป็นรูปธรรมได้
อ้างอิงข้อมูลจาก
- Bourdieu, Pierre. Distinction: A Social Critique of the Judgement of Taste. Oxon: Routledge, 2010.
- Moore, Robert. “Capital.” In Pierre Bourdieu: Key Concepts, edited by Michael Grenfell, 101-17.
- Durham: Acumen, 2008.
- Swartz, David. Culture and Power. Chicago: The University of Chicago Press, 1997.