นอกจากเรื่องเกรด การเรียน แฟน และทีมฟุตบอล อีกประเด็นหนึ่งที่เมื่อหยิบมาพูดบนโต๊ะอาหาร ก็มักจะทำให้ครอบครัวมีปากเสียงกันอยู่เสมอนั่นก็คือ ‘การเมือง’
การเห็นต่างในครอบครัวเป็นเรื่องที่เกิดได้เสมอ โดยเฉพาะการเมืองที่ไม่ต่างอะไรจากการเชียร์ทีมฟุตบอล ที่ทุกคนล้วนแต่มีพรรคในใจของใครของมัน และมีความเชื่อในอุดมการณ์บางอย่างที่ตัวเองคิดว่าดี ถูกต้อง บวกกับทุกวันนี้การเมืองกลายเป็นเรื่องปัจเจกมากขึ้น และความเป็นปัจเจกนี้เองก็ทำให้ทุกคนเห็นภาพไม่เหมือนกัน ก่อให้เกิดความเห็นที่ขัดแย้ง มุมมองที่ต่างกัน และนำไปสู่การโต้เถียงที่ไม่สิ้นสุด
“เวลาเถียงกันเรื่องนี้คือหงุดหงิดมาก ผู้ใหญ่ไม่ค่อยฟังเหตุผลเรา เอาแต่บอกว่าตัวเองผ่านมาเยอะ พูดกี่ทีก็ไม่จบ เลยเลี่ยงที่จะพูดเรื่องนี้กัน” เพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟัง หลังจากเผชิญปัญหาการถกเถียงเรื่องการเมืองกับคนในครอบครัวมานาน
ทุกวันนี้การเมืองไทยแบ่งสีแบ่งขั้วกันอย่างชัดเจน และปัจจุบันก็ลามไปถึงการแบ่ง ‘ช่วงวัย’ เพราะหลายครั้ง ผู้ใหญ่ก็พยายามปิดกั้นวัยรุ่นจากการพูดถึงประเด็นการเมือง เพราะเชื่อว่ายังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น ถูกชักจูงได้ง่าย ไม่มีวุฒิภาวะมากพอ แต่ในขณะเดียวกันวัยรุ่นเองก็มองว่าผู้ใหญ่หัวโบราณและมีความคิดล้าหลัง
ช่องว่างระหว่างวัยหรือ generation gap จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คนเรามองอะไรไม่เหมือนกัน ปีที่ผ่านมา การเมืองกลับมาร้อนระอุอีกครั้ง เนื่องจากประเทศไทยได้มีการเลือกตั้งขึ้นในรอบหลายปี และได้รับความสนใจอย่างมากจากกลุ่มวัยรุ่น ซึ่งพวกเขาเองก็เป็น first voter ที่ถือเป็นสัดส่วนใหญ่ของการเลือกตั้งครั้งนี้ จึงเกิดเป็นสงครามปะทะระหว่าง ‘คนรุ่นเก่า’ และ ‘คนรุ่นใหม่’ เนื่องจากประสบการณ์ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งตอนนี้สถาบันครอบครัวเองก็ได้รับผลกระทบเนื่องจากมีคนทั้งสองรุ่นอยู่ในหลังคาเดียวกัน หลายครั้งจึงเกิดการถกเถียง โต้แย้ง หรือการใช้อำนาจกดทับเพื่อเปลี่ยนความคิดของอีกคน
‘การเมือง’ เรื่องที่คุยได้ในครอบครัว
“ส่วนใหญ่เราจะเงียบ จริงๆ รู้สึกอึดอัด อยากพูดนะ แต่รู้ว่าพูดไปจะต้องโดนเถียงกับแน่นอน เลยเลือกที่จะไม่พูดดีกว่า โดยเฉพาะเรื่องพรรคที่ที่บ้านต่อต้านมาก”
การแลกความสัมพันธ์กับครอบครัวด้วยเรื่องการเมืองถือเป็นสิ่งที่ไม่คุ้มเสี่ยง หลายครอบครัวจึงเลี่ยงที่จะไม่พูดถึงอีกเพราะกลัวจะแตกหักกันไป แต่การพูดคุยเรื่องการเมืองในครอบครัวนั้นก็มีข้อดีอยู่เหมือนกัน เพราะการเปิดใจพูดคุยในเรื่องที่มีความเห็นต่าง จะช่วยฝึกให้เรารู้จักยอมรับความคิดและมุมมองของผู้อื่น และรู้จักรับฟังโดยไม่ตัดสิน ในกรณีที่เราสนทนาเรื่องนี้กันอย่างมีคุณภาพมากพอ
จากผลการสำรวจในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า มีคนจำนวน 56% ที่โอเคกับการพูดคุยเรื่องการเมืองภายในครอบครัว ซึ่ง เวล ไรท์ (Vaile Wright) นักจิตวิทยาและนักวิจัยแห่งสมาคมจิตวิทยา ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า การจะทำให้การเมืองเป็นเรื่องที่คุยได้ในครอบครัวโดยไม่นำไปสู่ความแตกแยก อย่างแรกเราจะต้องตั้งเป้าหมายของบทสนทนาให้ชัดเจน ว่าเป็นไปเพื่อการรับฟังมุมมองของอีกฝ่าย ไม่ใช่เพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งที่อีกฝ่ายเชื่อ
ถ้าเราอยากที่จะรับฟังมุมมองของเขา สกิลพื้นฐานของการสนทนาที่จะช่วยเข้ามาทำให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพขึ้นนั่นก็คือ ‘หลีกเลี่ยงการโจมตี’ ใดๆ ทั้งวาจาและท่าทาง ในขณะที่อีกคนกำลังอธิบายความเห็นของตัวเอง เราไม่ควรจะไปต่อว่าในสิ่งที่เขาเชื่อ เพราะการทำเช่นนั้นจะทำให้อีกคนรู้สึกแปลกแยกและปิดกั้นโอกาสที่จะเปิดใจพูดคุย ในทางกลับกัน เมื่อรับฟังเสร็จแล้วก็อาจจะพูดประมาณว่า “ที่คุณพูดก็น่าสนใจนะ ส่วนมุมมองของเราก็คือ…” เพื่อเป็นการแสดงความเคารพต่อผู้อื่น ก่อนเราจะพูดในมุมของเราบ้าง
การ ‘ไม่พูดตัดสินผู้อื่น’ ก็เป็นอีกวิธีที่จะทำให้การสนทนานี้มีคุณภาพ เพราะการเห็นต่างไม่ได้ทำให้คนคนนั้นเป็นคนไม่ดี เพียงแค่เขาต้องการเสนอมุมที่ต่างจากเราเท่านั้นเอง และการที่เราไปชี้ว่า “คนนั้นไม่เห็นทำอะไรเลย ทำไมต้องดูช่องนี้ เลือกพรรคนี้ทำไม” นั้นไม่มีประโยชน์อะไรแถมยังเป็นการปะทุอารมณ์ของอีกฝ่าย และยิ่งถ้าเราเอ่ยชื่อผู้ลงสมัครเลือกตั้งคนใดคนหนึ่ง ก็ยิ่งเหมือนกับเราไปใส่ร้ายป้ายสีแบบเจาะจงลงไป ทางที่ดีให้พูดกว้างๆ ไว้จะดีที่สุด
และในการสนทนาครั้งนี้ เราไม่จำเป็นจะต้องตรวจสอบความถูกผิดของสิ่งที่อีกฝ่ายพูดทุกเรื่องหรือโต้แย้งอะไรให้มากความ เพราะท้ายที่สุดเราก็จะค้นพบว่าสิ่งที่เขาพูดไม่สอดคล้องกับค่านิยมใดๆ ของเราอยู่ดี เพราะฉะนั้น รับฟังพอให้รู้มุมมอง และแบ่งปันความรู้สึกร่วมกัน นั่นจะทำให้การสนทนานี้ไม่โฟกัสไปที่การไม่เห็นด้วยของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจนเกินไป
“ส่วนใหญ่เราจะยกประเด็นขึ้นมาหรือตั้งคำถามว่าทำไมเขาถึงยังสนับสนุนพรรคนี้ หรือรับข่าวสารจากช่องนี้อยู่ เราแค่อยากตั้งคำถามจนทำให้เขาคิดว่ามันไม่ใช่ทางออก หรือไม่ได้พาประเทศไปข้างหน้า” เพื่อนอีกคนพูดถึงวิธีการโน้มน้าวอีกฝ่ายโดยปราศจากการโต้เถียงที่รุนแรง
แต่ถ้าในกรณีที่เราอยากให้อีกฝ่ายยอมรับความเห็น หรือต้องการโน้มน้าวให้เข้าใจในสิ่งที่พูด ซูซานน์ เดกเกส ไวท์ (Suzanne Degges-White) หัวหน้าแผนกให้คำปรึกษาที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเทิร์นอิลลินอยส์ ให้คำแนะนำว่า เวลาพูดเรื่องการเมือง เราไม่ควรจะเชื่อมโยงมันไปในทางซ้ายหรือทางขวา หรือเจาะจงไปที่ผู้สมัครเลือกตั้งคนใดคนหนึ่ง เช่นเดียวกับการเชียร์ฟุตบอล หากเราไปพูดจาโจมตีทีมที่อีกฝ่ายชอบ เขาคงไม่เห็นด้วยกับเราแน่ๆ ต่อให้เราจะมีสถานะหรือตำแหน่งสูงกว่าเขาก็ตาม
ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตาม การจะให้อีกฝ่ายเห็นด้วยหรือยอมรับความเห็นต่าง เราไม่จำเป็นจะต้องใส่ร้ายป้ายสีหรือยกข้อเสียมาทำให้อีกฝ่ายกลัวเสมอไป หรือบอกว่าอุดมการณ์ที่พวกเขาเชื่อนั้นผิด แต่สามารถทำได้ด้วยการชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่เป็นบวก หรือชี้ข้อดีของการเชื่อในอุดมการณ์ที่แตกต่าง เพราะอย่างน้อยถึงแม้พวกเขาจะไม่ได้หันมาอยู่ทีมเดียวกับเรา แต่ก็ถือว่าเป็นวิธีที่เราจะลองเปิดใจรับฟังมุมมอง และเคารพความเห็นต่างของกันและกันบ้าง
อย่าทำให้ประเด็นการเมืองกลายเป็นบทสนทนาต้องห้ามในครอบครัว เพราะนั่นอาจทำให้สมาชิกแต่ละคนขาดโอกาสในเรียนรู้มุมมองของกันและกัน และไม่ใช่แค่กับเรื่องการเมืองเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการเปิดใจพูดคุยกันในเรื่องอื่นๆ ด้วย
อ้างอิงข้อมูลจาก