ให้ครูสอนออนไลน์ ต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ไหม? ให้เด็กเรียนอยู่บ้าน แต่ถ้าผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลต้องทำอย่างไร?
เมื่อห้องเรียนสี่เหลี่ยมที่เคยจุนักเรียนหลักสิบคน ต้องเปลี่ยนเป็นการเรียนการสอนที่กระจายนักเรียนให้อยู่ห่างกันออกไป ตามมาตรการ Social distancing เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ทั่วโลกต้องเร่งหาทางรับมือและปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ บางประเทศก็ออกเงินซื้อแพลตฟอร์มให้ครูเข้าไปใช้ในการสื่อสาร บางประเทศก็เปิดศูนย์ดูแลเด็กสำหรับผู้ปกครองที่ไม่มีเวลา หรือครอบครัวที่บ้านอาจไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย
เมื่อวันที่ 13 มีนาคมที่ผ่านมา องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประมาณการณ์ไว้คร่าวๆ ว่า COVID-19 ทำให้มีเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนกว่า 421 ล้านคนทั่วโลก
ทันทีที่โรงเรียนปิดทำการ การเรียนการสอนผ่านช่องทางออนไลน์ก็กลายเป็นวิธีการที่ถูกพูดถึงมากที่สุด แต่ก็อย่างที่ทราบกันดีว่า ไม่ใช่ทุกคนจะสามารถปรับเปลี่ยนการเรียนในห้องเรียน ให้กลายเป็นออนไลน์ได้ในชั่วข้ามคืน เพราะมีประชากรเพียงแค่ 60%เท่านั้น ที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้
ดังนั้น แรงสนับสนุนทั้งจากโรงเรียน และภาครัฐจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การศึกษาในช่วงวิกฤตดำเนินไปได้ด้วยดี
จะเรียนอย่างไรในภาวะวิกฤต?
การปรับการเรียนการสอนของแต่ละประเทศ มีความแตกต่างกันออกไป อย่างในประเทศจีน มีการรวบรวมกลุ่มองค์กรต่างๆ เพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการสื่อสาร การเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการศึกษา โดยมีชาวจีนประมาณ 120 ล้านคน ที่เข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ ผ่านการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์
ส่วนฮ่องกง ก็เริ่มให้มีการเรียนการสอนทางออนไลน์ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยให้นักเรียนเข้าเรียนจากที่บ้าน ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ที่ให้นักเรียนอัปโหลดการบ้านเพื่อส่งงาน และมีตารางการเรียนการสอนให้นักเรียนเข้าไปตรวจเช็คได้ตลอดเวลา ซึ่งคุณครูจะเป็นผู้ออกแบบตาราง หลักสูตร และชิ้นงานต่างๆ ที่เอื้อต่อการเรียนรู้ที่บ้านของเด็กๆ
ไหน่มา ชาร์เลีย (Naima Charlier) ผู้อำนวยการฝ่ายการสอนและการเรียนรู้ที่โรงเรียนนานาชาติ Nord Anglia ในฮ่องกง ระบุว่า การปรับให้เรียนผ่านระบบออนไลน์เป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก โดยทุกคนต้องช่วยกันหาแนวทางปรับเปลี่ยนวิธีการเรียนการสอน และแชร์ประสบการณ์เพื่อสำรวจว่า วิธีไหนส่งผลดีต่อทุกฝ่าย และสามารถนำมาปรับใช้ได้จริง
ขณะเดียวกัน ที่ออสเตรเลียก็มีการปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้เอื้อเฟื้อกับการเรียนที่บ้าน โดยออกมาตรการปรับให้นักเรียนเข้าเรียนเวลาไหนก็ได้ เพื่อให้เด็กๆ สามารถแชร์คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือกันได้ ด้วยความเข้าใจว่าไม่ใช่ทุกบ้านจะมีอุปกรณ์พร้อมสำหรับการเรียนการสอนตลอดทั้งวันได้
ยิ่งกว่านั้น รัฐบาลออสเตรเลียยังออกค่าใช้จ่ายให้คุณครูทุกคนสามารถใช้ Google Classroom เพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อสื่อสาร และพูดคุยกับเหล่านักเรียนของพวกเขาได้อีกด้วย
อีกทั้ง ยังมีคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก เกี่ยวกับการเรียนการสอนที่บ้านว่า นอกจากจะปรับเปลี่ยนให้เป็นการเรียนการสอนในช่องทางออนไลน์แล้ว ควรรองรับช่องทางอื่นๆ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เป็นต้น และควรติดตามผลการเรียนการสอนของเด็กๆ และนำมาศึกษาหากลยุทธ์การเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งยังแนะนำว่า ควรมอบหมายให้เด็กๆ อ่านหนังสือ และหากิจกรรมที่ต้องออกแรงระหว่างเรียนที่บ้านด้วยเช่นกัน
เมื่อพ่อแม่ก็ต้องทำงาน แล้วใครจะดูแลเด็ก?
อีกหนึ่งโจทย์สำหรับวงการศึกษาในช่วงวิกฤต COVID-19 ก็คือ การเปิดพื้นที่บางส่วนให้เด็กเข้าไปเรียนรู้ได้ เพราะถึงแม้จะมีมาตรการกักตัวอยู่บ้าน แต่ก็ใช่ว่าผู้ปกครองทุกคนจะอยู่บ้าน แล้วหาเลี้ยงครอบครัวไปพร้อมๆ กันได้ ดังนั้น การเปิดพื้นที่บางส่วนเพื่อรองรับเด็กและช่วยแบ่งเบาผู้ปกครอง จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญสำหรับการศึกษาในยุค COVID-19
เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองและเด็กๆ รัฐบาลออสเตรเลียได้เปิดโรงเรียนให้เด็กบางส่วนที่จำเป็นต้องใช้ห้องเรียน เช่น เด็กที่อยู่ในภาวะที่เจอกับความรุนแรงในครอบครัว หรือคนที่บ้านไม่มี Wi-Fi เป็นต้น โดยจะมีคุณครูมาช่วยผลัดเวรมาช่วยดูแลเด็กที่ผู้ปกครองไม่มีเวลาให้
ขณะที่ ในเกาหลีใต้ หลังจากมีข่าวว่าจะเปิดเทอมเพื่อให้เด็กๆ กลับเข้าไปเรียนในโรงเรียน แต่ก็เจอกับการระบาดหนักในหลากหลายพื้นที่ จนต้องปรับมาเรียนที่บ้านแทน ซึ่งนอกจากจะผลักดันโปรแกรมการเรียนออนไลน์แล้ว รัฐบาลยังเปิดศูนย์ดูแลเด็กฉุกเฉิน (emergency child care) เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองที่ไม่มีเวลาดูแลนักเรียนให้อีกด้วย
ศูนย์ดูแลเด็กฉุกเฉินนี้ เป็นหนึ่งในมาตรการที่กระทรวงศึกษาธิการของเกาหลีกำหนดขึ้น โดยสั่งการให้โรงเรียนอนุบาลและโรงเรียนประถมทั้ง 9,762 แห่ง เปิดศูนย์ดังกล่าวและให้คุณครูคอยประจำการดูแลเด็กๆ โดยกำหนดให้แต่ละชั้นเรียน รับเด็กมาดูแลไม่เกิน 10 คนเท่านั้น
“ผมร้องไห้เพราะต้องส่งลูกชายที่น่ารักไปที่ศูนย์ดูแลเด็กฉุกเฉิน ผมกับภรรยามีงานที่ต้องทำกันทั้งคู่ เอาจริงๆ เราก็ไม่อยากส่งเขาไปเลย เพราะทางที่ดีที่สุด คือหลีกเลี่ยงสถานที่ที่คนพลุกพล่าน แต่ก็โชคดีที่ศูนย์ฯ ไม่ได้มีเด็กเยอะขนาดนั้น เราทั้งกังวลทั้งรู้สึกผิดกับลูกชายและคุณครูที่ต้องมาปฏิบัติหน้าที่นี้ด้วย” ผู้ปกครองชาวเกาหลีใต้คนหนึ่ง ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว ABC News
ไม่เพียงแต่ในโรงเรียนเท่านั้น รัฐบาลเกาหลีใต้ยังให้ศูนย์ดูแลเด็กเล็กทุกแห่ง ให้การดูแลเด็กเล็กในกรณีฉุกเฉิน และถ้าหากศูนย์ดูแลเด็กเล็กแห่งไหน ปฏิเสธที่รับดูแลฉุกเฉิน ผู้ปกครองก็สามารถส่งเรื่องร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบได้
แต่สำหรับอุปกรณ์บางอย่างที่ไม่สามารถจัดหาให้เพียงพอกับศูนย์ดูแลเด็กฉุกเฉินในโรงเรียน และศูนย์ดูแลเด็กเล็ก กระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัวของเกาหลีใต้ ก็วางแผนที่จะส่งผู้ดูแลเด็กไปตามบ้าน ซึ่งใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ก็สามารถลงทะเบียนรับบริการระหว่างที่โรงเรียนปิดทำการได้
นอกจากการสนับสนุนด้านอุปกรณ์ และสถานที่แล้ว อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นที่พูดถึง หลังสถาบันศึกษาหลายแห่งต้องปิดทำการก็คือ การเรียกร้องให้สถานศึกษาลดค่าเทอมลง อย่างในสิงคโปร์ โรงเรียนเตรียมอนุบาลหลายแห่ง ก็ต้องลดค่าธรรมเนียมการศึกษาลงถึง 50%โดยที่รัฐบาลก็ออกมาตรการจ่ายเงินอุดหนุนเยียวยาให้กับเหล่าผู้ประกอบการต่างๆ ซึ่งรวมถึงโรงเรียนเตรียมอนุบาลด้วย
การหาหนทางให้การเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในช่วงที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตอยู่นั้น ถือเป็นโจทย์ชิ้นใหญ่ที่ต้องอาศัยแรงสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาลในการออกแบบทั้งหลักสูตร รูปแบบ และแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ และความเป็นอยู่ของผู้คนให้ได้มากที่สุด
อ้างอิงจาก