ไม่ว่าจะด้วยกระแสของเกรต้า ธันเบิร์ก นักอนุรักษ์ที่ปลุกความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ผู้คนทั่วโลก หรือข่าวการจากไปของมาเรียม ด้วยพลาสติกอัดแน่นเต็มกระเพาะอาหาร ต่างก็สร้างความตื่นตัวให้ผู้คนหันมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมกันอย่างจริงจังมากขึ้นทั้งนั้น
ขณะเดียวกัน ในวันที่ 2-13 ธันวาคมนี้ ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ก็มีการจัดประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 25 (COP25) ขึ้น เพื่อหาแนวทางลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยเมื่อวันเปิดงานที่ผ่านมา อันโตนิโอ กูแตร์เรส (Antonio Guterres) เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า ตอนนี้ จุดที่ไม่อาจหวนกลับไปแก้ไขปัญหาโลกร้อนได้นั้น อยู่ไม่ไกลจากเราแล้ว
เป้าหมายของการประชุมในครั้งนี้ คือการให้ประเทศต่างๆ ร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ (carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 ให้ได้
The MATTER จึงขอพาไปสำรวจว่า ภาครัฐมีนโยบายและแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไรกันบ้าง
ติดฉลากคาร์บอน ส่องก่อนซื้อว่ารักษ์โลกจริงๆ
เวลาช้อปปิ้ง หรือซื้อของต่างๆ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าสินค้าไหนเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจริงๆ
หนึ่งในตัวช่วยที่จะทำให้เรารู้เกี่ยวกับสินค้าที่เราต้องการซื้อ ว่าเป็นสินค้ารักษ์โลกจริงไหม ก็คือฉลากคาร์บอน ซึ่งจะแสดงข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) ตลอดวัฏจักรชีวิตผลิตภัณฑ์ โดยแสดงผลอยู่ในรูปของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 equivalent) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ฉลากบ่งชี้การปล่อยคาร์บอนต่ำ (Low-carbon seal) ฉลากบ่งชี้ระดับการปล่อยคาร์บอน (Carbon rating) ฉลากระบุขนาดคาร์บอน (Carbon score) และฉลากชดเชยคาร์บอน (Carbon offset/neutral)
ในปี ค.ศ.2000-2009 องค์กรอิสระคาร์บอนทรัสต์ (Carbon Trust) องค์กรที่รับรองเกี่ยวกับการผลิตคาร์บอน เป็นผู้ริเริ่มฉลากคาร์บอน ซึ่งให้ข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแก่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจ เพื่อเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน และพฤติกรรมของผู้บริโภค
จุดเริ่มต้นของการติดฉลากคาร์บอน มาจากฉลากสิ่งแวดล้อม (Eco-label) ที่ต้องการแสดงว่าสินค้านั้นๆ มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ หรือบางทีก็แสดงให้เห็นถึงกระบวนการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบจนถึงซากผลิตภัณฑ์ว่าจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมใดๆ
ฉลากคาร์บอน ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นนโยบายที่ใช้กันมานานกว่าสิบปีกันแล้ว เช่น สวิตเซอร์แลนด์ อังกฤษ ฝรั่งเศส สเปน เนเธอร์แลนด์ แคนาดา เกาหลีใต้ หรือในบางรัฐของสหรัฐฯ ในประเทศไทยเองก็ใช้ฉลากคาร์บอนมาตั้งแต่ปี ค.ศ.2008 แล้วเช่นกัน
ภาษีเนื้อสัตว์ เก็บค่าปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การเลี้ยงสัตว์ต่างๆ เพื่อนำมาทำเป็นอาหารของมนุษย์ ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงมากๆ เช่นกัน ในการผลิตเนื้อวัวทั่วโลกจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 41% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
แต่ถ้าเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องอย่าง วัว ควาย แกะ ม้า และสัตว์ปีกอย่าง นก ไก่ แล้วละก็ จะมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ที่ 14.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด เทียบได้กับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 7,100 ล้านตัน
ถึงจะเป็นเปอร์เซ็นต์ที่น้อยกว่าอย่างชัดเจน แต่ความร้ายแรงของการปล่อยก๊าซไม่ได้วัดกันแค่ตัวเลขเท่านั้น เพราะใน 14.5% ของก๊าซเรือนกระจกที่เหล่าน้องวัว น้องควายปล่อยกันออกมา ทั้งจากการเรอ การผายลม และการขับถ่ายนั้น คือก๊าซมีเทน ซึ่งดักจับความร้อนได้มากกว่าคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า
แต่มันก็เป็นเรื่องที่ห้ามกันไม่ได้ (ห้ามเรอ ห้ามผายลม กันไม่ได้จริงๆ นะ) หลายประเทศจึงพยายามหานโยบายต่างๆ ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์แปรรูป และในการทำฟาร์มปศุสัตว์
อย่างในเยอรมนี ก็มีข้อเสนอให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมาธิการศึกษาความเป็นไปได้ในการเก็บภาษีเนื้อวัวในหมวดภาษีบาป เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ขณะที่ เดนมาร์กและสวีเดนก็เคยเสนอให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน เมื่อปี ค.ศ.2019 แต่กระบวนการพิจารณายังไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากการเก็บภาษีนี้จะส่งผลกระทบต่ออาหารการกินของประชาชนด้วย หรือในนิวซีแลนด์ที่ตั้งเป้าหมายของประเทศว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงให้ได้เป็นศูนย์สุทธิ ภายในปี ค.ศ.2050 แต่ก็ยังต้องมีข้อยกเว้นให้กับก๊าซมีเทนที่ถูกปล่อยมาจากพืชและสัตว์อยู่ดี
ตอนนี้ นักวิทยาศาสตร์กำลังพยายามหาวิธีทางที่จะทำให้ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยออกมาจากการทำปศุสัตว์ ลดลงให้ได้มากที่สุด อย่างการทดลองเมื่อเร็วๆ นี้ จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย ชี้ให้เห็นว่าการเติมสาหร่ายในอาหารสัตว์สามารถลดการปล่อยก๊าซมีเทนได้เยอะมากๆ หรืออย่างการตั้งเป้าสร้างวัคซีนที่จะกันจุลินทรีย์ในลำไส้ของสัตว์ทั้งหลาย ผลิตก๊าซมีเทนออกมาเช่นกัน เรียกได้ว่า หลายประเทศทั่วโลก กำลังหาทางรับมือกับปัญหานี้กันอย่างขะมักเขม้นเลยทีเดียว
รถยนต์ไฟฟ้า ช่วยลดปัญหามลพิษและควันดำ
กระแสหนึ่งที่กำลังมาแรงในเรื่องของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คือการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ซึ่งตอนนี้ มีหลายประเทศที่เริ่มหันมาสนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในการขับขี่ด้วยวิธีต่างๆ มากขึ้น เช่น การลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า การออกกฎหมายให้รถขนส่งสาธารณะเปลี่ยนมาใช้รถแบบพลังงานไฟฟ้าแทน
ตอนนี้ รถยนต์ไฟฟ้า มีจำนวนประมาณ 5 ล้านคันทั่วโลก หรือ 0.4% ของจำนวนรถยนต์ทั้งหมด และมีสัดส่วนยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าราว 2.5% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่ยังไม่เยอะมากเท่าไหร่นัก แต่ในช่วงหลายปีมานี้ รถยนต์ไฟฟ้าก็ขยายตัวอย่างรวดเร็วถึง 61% ต่อปี จากปี ค.ศ.2012 ที่มียอดขายเพียง 1 แสนคัน เพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านคันในปี ค.ศ.2018
ถึงอย่างนั้น ก็มีหลายเสียงตั้งคำถามว่า รถยนต์พลังงานไฟฟ้า ช่วยรักษ์โลกจริงๆ เหรอ? เพราะแม้จะไม่ได้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาโดยตรง แต่หลายพื้นที่ในโลกนี้ พลังงานไฟฟ้าก็ยังคงผลิตมาจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และก๊าซเรือนกระจกออกมามากมาย
ในจีนเอง ก็มีข้อกังวลเรื่องการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลปริมาณมากอยู่ ขณะเดียวกัน ก็เป็นประเทศที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าสูงที่สุด โดยคิดเป็นสัดส่วน 55% ของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าทั้งหมดทั่วโลก
อย่างไรก็ดี มีหลายประเทศที่ไม่เพียงแต่หยิบเอารถยนต์พลังงานไฟฟ้ามาใช้อย่างเดียวเท่านั้น แต่ปรับเปลี่ยนแหล่งพลังงานตั้งแต่ต้นทางด้วย อย่างนอร์เวย์ ที่เน้นใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก หรือฝรั่งเศส ที่ได้รับพลังงานไฟฟ้าส่วนใหญ่จากนิวเคลียร์
ส่วนในประเทศไทย แนวโน้มของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็มีมากขึ้นเช่นกัน ข้อมูลสถิติจากการจดทะเบียนใหม่ของรถยนต์ไฟฟ้า กรมขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ระบุว่ามีรถยนต์ไฟฟ้าเเบบปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) เเละไฮบริด (HEV) ในครึ่งเเรกของปีมากถึง 15,366 คัน คิดเป็น 75% ของยอดจดทะเบียนปี ค.ศ.2018 ที่ทั้งปีมี 20,344 คัน ส่วนยานยนต์แบบแบตเตอรี่ (BEV) มีจำนวน 420 คัน สูงกว่ายอดจดทะเบียนใหม่ปี ค.ศ.2561 ที่มีอยู่ 325 คัน
เก็บภาษีคาร์บอน ปล่อยมาเท่าไหร่ ก็ต้องจ่ายคืนเท่านั้น
เรารู้กันดีว่า ภาวะโลกร้อน มาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ไปทำลายชั้นบรรยากาศของโลก โดยก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยสูงที่สุดก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์นั่นเอง ดังนั้นแล้ว วิธีที่จะทำให้ทุกคนช่วยกัน (แกมบังคับนิดๆ ) ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้ผลก็คือ การเก็บภาษีคาร์บอนนั่นเอง
ลองคิดแบบง่ายๆ เลยว่า ใครปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมาเท่าไหร่ คนนั้นก็ต้องจ่ายเงินมาเท่านั้น วิธีคิดนี้นำไปสู่การเก็บภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ซึ่งก็คือ ภาษีที่เรียกเก็บจากผู้ที่ก่อมลพิษ หรือปล่อยก๊าซคาร์บอนออกมา โดยรัฐบาลกำหนดอัตราภาษีต่อหน่วยการปล่อยมลพิษ ซึ่งอาจจะเก็บจากการใช้ประโยชน์ต้นทาง หรือเก็บจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของแหล่งปล่อยก็ได้
อัตราการเก็บภาษีที่พอเหมาะ คืออัตราที่ระดับที่ทำให้ต้นทุนการบำบัดก๊าซเรือนกระจกส่วนเพิ่ม เท่ากับต้นทุนความเสียหายของสังคมส่วนเพิ่มพอดิบพอดี ดังนั้น สินค้าต่างๆ ที่มีการใช้ก๊าซคาร์บอนในกระบวนการผลิตจะมีราคาสูงขึ้น เนื่องมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากภาษีคาร์บอน
ปัจจุบัน มีประเทศที่ใช้นโยบายเก็บภาษีคาร์บอน ไม่ต่ำกว่า 40 ประเทศแล้ว เช่น สหราชอาณาจักร ไอร์แลนด์ ออสเตรเลีย ชิลี สวีเดน และนิวซีแลนด์
สำหรับประเทศไทย เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ครม. มีมีติเห็นชอบปรับโครงสร้างเก็บภาษีรถจักรยานยนต์ตามความจุของกระบอกสูบ และปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และมีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20-25% ในปี ค.ศ.2029 โดยเริ่มจัดเก็บภาษีในต้นปีหน้า
แบนถุงพลาสติก เพื่อลดขยะและมลพิษ
ปีนี้ประเทศไทยออกนโยบายให้งดแจกถุงพลาสติกตามห้างสรรพสินค้ารายใหญ่และร้านสะดวกซื้อ เริ่มต้นวันที่ 1 มกราคมปีหน้า เรียกได้ว่า เป็นนโยบายสิ่งแวดล้อมที่มาแรงแซงทุกโค้งเลยทีเดียว เพราะประเทศไทยประสบปัญหาเรื่องปริมาณขยะทะเล ที่มีจำนวนมากเป็นอันดับ 6 ของโลก
การลดใช้ถุงพลาสติก ไม่ได้ช่วยลดปริมาณขยะอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงด้วย เพราะยิ่งมีการใช้ถุงพลาสติกมากเท่าไหร่ ปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ในกระบวนการผลิต จะถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากเท่านั้น
นอกจากนี้ การเผาทำลายถุงพลาสติกเองก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะอย่างที่รู้กันดีว่า ผลิตภัณฑ์พลาสติก 1 ชิ้น ต้องใช้เวลาย่อยสลายอย่างต่ำ 450 ปีเลยทีเดียว แถมหากโดนแสงแดด หรืออยู่ในกระบวนการย่อยสลาย ก็จะปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างมีเทน เอทิลีน ออกมาอีกด้วย
จากรายงานของ The Ecomonist พบว่า หลายประเทศทั่วโลกแบนการใช้ถุงพลาสติกอย่างจริงจัง เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส ไอซ์แลนด์ เปรู แอฟริกาใต้ นิวซีแลนด์ ซาอุดิอาระเบีย เป็นต้น