ความขัดแย้ง ‘สามเส้า’ ระหว่าง 2 พรรคการเมืองกับ 1 สื่อ (ที่อาจมีอีก 1 พรรคการเมืองถูกโยงมาเกี่ยวข้องด้วย) ถูกวิเคราะห์ว่าสะท้อนให้เห็นทั้งรอยร้าวในพรรคร่วมรัฐบาล ไปจนถึงจุดอ่อนในรัฐธรรมนูญว่าด้วยการถือหุ้นสื่อของ ส.ส.
ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร The MATTER จะพยายามสรุปให้ได้อ่านกัน
1. อธิบายก่อนว่า ตัวละครสำคัญในความขัดแย้งนี้เท่าที่เปิดหน้ามี 3 กลุ่มหลักๆ คือ พรรคอนาคตใหม่ พรรคภูมิใจไทย และสื่อในเครือเนชั่น (ส่วนอีกตัวละครที่มองไม่เห็น หลายคนชี้นิ้วไปที่พรรคการเมืองใหญ่)
2. หลายคนรู้กันดีว่า เครือเนชั่นเปิดหน้าวิพากษ์วิจารณ์พรรคอนาคตใหม่อย่างต่อเนื่อง ถึงขนาดเคยนำคลิปตัดต่อมาเปิดในรายการทีวีของตัวเอง ก่อนวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม พ.ศ.2562 กระทั่งถูกร้องเรียนให้องค์กรวิชาชีพสื่อเข้ามาตรวจสอบ แต่ก็ไม่ได้มีบทลงโทษอะไรตามมา
3. คู่เนชั่น-อนาคตใหม่เป็นที่รู้กันมายาวนาน แต่ไม่นานมานี้ก็มีการเปิดศึกใหม่ เมื่อพรรคภูมิใจไทยฟ้อง 3 พิธีกรรายการเนชั่นสุดสัปดาห์ของเนชั่นทีวี หลังจัดรายการวิพากษ์วิจารณ์ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม โควต้าพรรคภูมิใจไทย (วันที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ.2562) ซึ่งมีข่าวว่าจะถูกพรรคฝ่ายค้านอภิปรายไม่ไว้วางใจช่วงปลายปี พ.ศ.2562 โดยให้ ส.ส.ของพรรคยื่นฟ้องทุกจังหวัด (วันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ.2562)
4. ฟากเครือเนชั่นก็ตอบโต้กลับด้วยการประกาศว่า หากใครพบ ส.ส.ของพรรคภูมิใจไทย แทรกแซงหรือสั่งการข้าราชการโดยมิชอบให้แจ้งมายังรายการเนชั่นสุดสัปดาห์ของเนชั่นทีวี (วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ.2562)
5. อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาทิ้งปริศนา โดยบอกว่ารู้ว่าใครอยู่เบื้องหลังการใช้สื่อโจมตีเครือเนชั่น “เอาเวลาไปคิดเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจดีกว่า” นำไปสู่การคาดเดาว่าอนุทินหมายถึงใคร (วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2562)
6. ต่อมา เครือเนชั่นซึ่งเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ประกาศเลื่อนการประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งมีวาระสำคัญคือการเพิ่มทุนของผู้ถือหุ้นบางกลุ่มโดยอ้างว่ามีกลุ่มการเมืองเข้าแทรกแซง (วันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2562) ส่งผลให้ศุภชัย ใจสมุทร ส.ส.และนายทะเบียนพรรคภูมิใจไทย ลุกขึ้นอภิปรายในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ประธานสภาฯ ทำหนังสือถามเนชั่นว่ากลุ่มการเมืองที่แทรกแซงคือใคร
7. แต่ศุภชัยยังพาดพิง ส.ส.ที่สามีเป็นเจ้าของเครือเนชั่น ซึ่งหลายคนมองกันว่า น่าจะหมายถึงวทันยา วงษ์โอภาสี หรือ ‘มาดามเดียร์’ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ (วันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ.2562) ขณะที่วทันยาก็ออกมาชี้แจงว่า ได้ขายหุ้น ยุติบทบาท และไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยวกับเครือเนชั่น ตั้งแต่ตัดสินใจว่าจะมาเล่นการเมืองแล้ว (วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2562)
8. การตั้งคำถามของศุภชัย เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยการถือครองหุ้นสื่อของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 ซึ่ออาจทำให้เจ้าตัวพ้นจากการเป็น ส.ส.ได้ ทั้งๆ ที่มีหลายคนโต้แย้งว่า สื่อในบริษัทที่ธนาธรเคยถือหุ้นทำนิตยสารไฮโซกับรับจ้างทำนิตยสารให้สายการบิน ต่อให้ถือไว้ก็ไม่น่าจะส่งผลทางการเมือง ตามเจตนารมณ์ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 สืบทอดมายังรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ห้าม ส.ส.ถือหุ้นสื่อ เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมือง
9. กรณีวทันยาที่แม้ไม่ได้ถือหุ้นเครือเนชั่นหรือสื่ออื่นๆ แล้ว แต่สามียังเป็นเจ้าของอยู่ และสื่อที่สามีของวทันยาเป็นเจ้าของอยู่ ถูกมองว่าออกมาวิพากษ์วิจารณ์บางฝ่ายการเมืองเป็นพิเศษทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง – ถูกนำมาเทียบเคียงกับกรณีธนาธรเสมอว่า แบบไหนน่าจะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองมากกว่ากัน หรือผู้เกี่ยวข้องควรจะดูแค่ตัวอักษร (แค่มีหุ้นบริษัทสื่อ=ผิด) ไม่ต้องสนใจเจตนารมณ์ บทบัญญัตินี้ควรจะแก้ไขให้ทันยุคสมัยและสถานการณ์หรือไม่
10. พรรณิการ์ วานิช ส.ส.และโฆษกพรรคอนาคตใหม่ แถลงข่าวถึงกรณีคดีหุ้นสื่อของธนาธร โดยพาดพิงถึงเครือเนชั่นว่านำเสนอข่าวของพรรคอนาคตใหม่เฉลี่ยวันละ 36 นาที เช้า เที่ยง และเย็น ช่วงละ 12 นาที พร้อมกับพาดพิงวทันยา เพื่อตั้งคำถามเรื่องการใช้กฎหมายห้าม ส.ส.ถือหุ้นสื่อ (18 พฤศจิกายน พ.ศ.2562)
11. วทันยาออกแถลงการณ์ผ่านเพจเฟซบุ๊ก ‘เดียร์ วทันยา วงษ์โอภาสี’ ปฏิเสธว่าไม่เคยเกี่ยวข้องกับการดำเนินการใดๆ ของเครือเนชั่น และพร้อมดำเนินการตามกฎหมายกับพรรณิการ์ (18 พฤศจิกายน พ.ศ.2562)
12. อนุทิน หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ออกมาแสดงความเห็นกรณีวทันยา-พรรณิการ์ โดยแชร์คำพูดของโฆษกพรรคอนาคตใหม่ พร้อมบอกว่า “เห็นด้วยกับช่อ(ชื่อเล่นของพรรณิการ์)ครับ” “เชียร์ช่อครับในเรื่องนี้” (19 พฤศจิกายน พ.ศ.2562)
13. ข้อพิพาทสามเส้า แสดงให้เห็นถึงรอยร้าวภายในพรรคร่วมรัฐบาล เพราะมีการโจมตีกระทบชิ่งจากพรรคภูมิใจไทยไปถึง “คนที่คุณก็รู้ว่าใคร” ซึ่งหลายคนมองว่าน่าจะหมายถึงแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ดูได้จากนัยยะของคำของอนุทินที่ว่า “เอาเวลาไปคิดเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจดีกว่า”
14. แม้หลายคนจะวิเคราะห์ว่า ความขัดแย้งรอบล่าสุดไม่น่าจะนำไปสู่การล้มลงของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะหลายๆ พรรคการเมืองยังไม่พร้อมจะเข้าสู่สนามเลือกตั้งครั้งใหม่ ก็ตาม
15. แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็น่าติดตามยิ่งว่าจะบานปลายไปได้มากเพียงใด และที่สุดจะจบลงด้วยวิธีการใดกันแน่ จะมีใครเข้ามาคลี่คลายปัญหานี้ได้หรือไม่
เพราะการเมือง นอกจากจะเป็นเรื่องของการจัดสรรผลประโยชน์ ยังเป็นเรื่องของการบริหารความขัดแย้งด้วย