ย้อนไปสัก 10 ปีที่แล้ว ถ้าเราลองไม่ออกจากห้องไปไหนเลยสัก 1 สัปดาห์ สิ่งที่น่าจะกินได้ในแต่ละวัน (ไม่นับว่าฝากคนอื่นๆ ซื้อนะ) ก็คงจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแปรรูป หรือกดสั่งเดลิเวอรี่ฟาสต์ฟู้ดเจ้าดังที่ไม่ได้มีประเภทอาหารให้เลือกมากมายนัก
แต่ 10 ปีให้หลังจนถึงตอนนี้ ตั้งแต่บรรดาแอปพลิเคชั่นบริการส่งอาหารแบบ ‘straight to your door’ ทยอยเกิดใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็ทำให้พฤติกรรมการบริโภคของเราๆ เองเปลี่ยนแปลงตามไปเช่นกัน แม้ว่าแอพฯ จะทำให้ชีวิตสะดวกสบายมากขึ้น
แต่อีกมุมหนึ่งความเคยชินกับเทคโนโลยีที่ว่านี้ ก็อาจจะนำมาซึ่งวัฒนธรรมการกินที่น่าเป็นกังวลในระยะยาวได้ โดยเฉพาะกับกลุ่มมิลเลนเนียล ที่นิยมใช้บริการสั่งอาหารผ่านแอปฯ มากที่สุด
เทคโนโลยี และความเป็นเมือง : ปัจจัยที่ทำให้แอปฯ สั่งอาหารโตไม่หยุด
เมื่อช่วงกลางปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้เผยแพร่บทวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจเกี่ยวกับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของแอปพลิเคชั่นขนส่งอาหารหรือ food delivery ว่า ในระหว่างปี 2557-2561 ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังแหล่งที่พักมีการขยายตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 10 ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการขยายตัวของภาคธุรกิจร้านอาหาร ที่มีการเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 3-4 เท่านั้น
ส่วนในปี 2562 นี้ ธุรกิจขนส่งอาหารก็น่าจะโตต่อเนื่องไปอีกอยู่ที่ราวๆ ร้อยละ 14
เหตุผลที่ทำให้แอปฯ สั่งอาหารได้รับความนิยม เป็นเพราะความสะดวกรวดเร็วที่สอดคล้องกับพฤติกรรมของกลุ่มลูกค้าหลักอย่างกลุ่มมิลเลนเนียล คือ ตั้งแต่ Gen Y ถึง Gen Z กลุ่มคนที่มีอายุเฉลี่ย 17-38 ปี งานสำรวจเก็บกลุ่มตัวอย่างหลายชิ้นชี้ไปในทางเดียวกันว่า กลุ่มลูกค้าหลักของแอปฯสั่งอาหาร คือ กลุ่มคนในช่วงวัยนี้
หลักๆ เป็นเพราะมิลเลนเนียลโตมาพร้อมกับการเกิดขึ้นของเทคโนโลยี และเครื่องไม้เครื่องมือระบบดิจิทัล บวกกับปรากฎการณ์ ‘digital disruption’ ที่ทำให้แนวโน้มพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จากเดิมที่ต้องเดินไปซื้ออาหารหน้าร้าน แต่ตอนนี้การส่งอาหารของเดลิเวอรี่ทั้งค่ายสีชมพู สีเขียวเข้ม หรือสีเหลืองมะนาวบริการส่งตามตึกออฟฟิศได้กลายเป็นภาพที่หลายๆ คนคุ้นชินไปแล้ว
ไม่ใช่แค่ออฟฟิศใจกลางกรุงเท่านั้น เพราะผลจากการโตวันโตคืนของอสังหาริมทรัพย์ก็พลอยทำให้การใช้ชีวิตของคนเจนนี้เปลี่ยนตามไปอีกเช่นกัน เมื่อเข้าสู่วัยทำงานแล้วมิลเลนเนียลหลายคน มักจะเลือกออกมาใช้ชีวิตคนเดียวตามคอนโดมิเนียมใกล้ที่ทำงาน มากกว่าอยู่บ้านกับครอบครัวตามเดิม
การมีแอปฯ สั่งอาหารยังทำให้ไม่ต้องเดินทางไปไหนไกล ไม่ต้องต่อคิวยาวเหยียด เพียงเลื่อนๆ จิ้มๆ ร้านที่อยากกินจากหน้าจอ อาหารก็จะมาส่งถึงที่ในระยะเวลาที่เหมาะสมทันที นี่ยังไม่นับรวมกับการเข้ามาของเทคโนโลยีสตรีมมิ่งเจ้าใหญ่ๆ ที่ทำให้การอยู่ติดห้องไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป ดูหนังดูซีรีส์เพลินๆ ก็ยังสั่งของมาเติมพลังได้เรื่อยๆ อีก กลายเป็นว่ารู้ตัวกันอีกที เราก็เพลินไม่ได้ออกไปไหนกันแล้ว
คุณค่าทางโภชนาการ กับอาหารยอดนิยม
อย่างที่ได้บอกไปแล้วว่า แอปฯ บริการส่งอาหารเป็นผลพวงจาก disruption จึงไม่ใช่แค่ในไทยที่ได้รับความนิยมมากขนาดนี้ แต่ธุรกิจส่งอาหารกำลังไปได้สวยในหลายประเทศทั่วโลกด้วย
สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าความสะดวกรวดเร็วก็คือ เมนูยอดนิยมที่ทุกคนสั่งกันนี่แหละ
บทความจากเว็บไซต์สำนักข่าว abc ประเทศอังกฤษให้ข้อมูลว่า พฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 18-34 ปี มีความเป็นไปได้ที่จะมีอายุขัยสั้นกว่าคน Gen X หรือ Baby Boomer อันเนื่องมาจากการสั่งอาหารผ่านแอปฯ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วพบว่า อาหารที่นิยมสั่ง คือ อาหารประเภทฟาสต์ฟู้ดอย่างเบอร์เกอร์ และพิซซ่า ที่ได้รับความนิยมต่อเนื่อง รวมถึงอาหารโซนเอเชียโดยเฉพาะอาหารไทยที่ติดอันดับตามมาติดๆ
ด้านเว็บไซต์สำนักข่าว 7NEWS ของออสเตรเลีย ได้สำรวจและพบข้อมูลที่คล้ายๆ กันว่า อาหารที่ได้รับความนิยมจากชาวออสเตรเลียมากที่สุด ได้แก่ เมนู ‘chips and nuggets’ ซึ่งก็จัดว่าเป็นเมนูที่มีคุณค่าทางโภชนาการต่ำ และมีไขมันสูงด้วย
ส่งผลให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายคนออกมาแสดงความกังวลถึงการเลือกเมนูอาหารที่ไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพแบบนี้ เพราะนอกจากกิน chips and nuggets แล้ว ผู้บริโภคหลายรายยังนิยมสั่งน้ำอัดลมมากินคู่กันด้วย ทั้งไขมันและน้ำตาลปริมาณมากหลายๆ มื้อพวกนี้ได้กลายเป็นตัวการสำคัญ ที่ทำให้แผนการควบคุมอาหารของหลายคนล้มเหลว และจะยิ่งเพิ่มปัญหาสุขภาพในภาพกว้างต่อไปอีกแน่นอน
ส่วนของไทยเราทาง GET FOOD ออกมาเปิดเผยสถิติการบริการที่ผ่านมาพบว่า ชานมไข่มุกมียอดการสั่งซื้อผ่านแอปฯ ประมาณ 3 แสนแก้วต่อเดือน กลุ่มคนที่สั่งซื้อมากที่สุด คือ กลุ่มมิลเลียนเนียล และยังพบว่า เป็นกลุ่มคนที่พักอาศัยในคอนโดราวๆ 33 เปอร์เซ็นต์
สิ่งที่เราน่าจะต้องตระหนักในลำดับต่อมา คือ อาหารที่คนไทยนิยมสั่งกันมากในตอนนี้ คืออาหารสตรีทฟู้ด และอาหารญี่ปุ่น
ที่ต้องเตือนใจกันดีๆ คือสตรีทฟู้ดบางอย่าง มักจะมีการปรุงรสด้วยน้ำตาล และโซเดียมที่สูงมากๆ หากกินติดต่อกันเป็นเวลานานก็อาจสะสม และส่งผลเสียต่อร่างกายได้
หน้าร้านกำลังจะถูก disrupt? ว่าด้วยเหตุผลในการสั่งซื้อ
“การสั่งแบบออนไลน์ไม่ต้องมี interaction กับสังคม” คือ เหตุผลที่เว็บไซต์ Huffington post ได้พยายามหาคำตอบจากผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ
และพบว่า การสั่งออนไลน์ไม่มี ‘barriers’ หรืออุปสรรคในการติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย สำหรับลูกค้าบางรายอาจจะมีเงื่อนไขในการสั่งเป็นของตัวเอง เช่น ไม่ชอบกินส่วนประกอบบางอย่างในเมนู หรือแพ้วัตถุดิบบางตัว การเดินไปสั่งที่หน้าร้านบางครั้งอาจทำให้ตัวคนสั่งซื้อรู้สึกผิดหรือเขินอายคนรอบข้าง ซึ่งการสั่งออนไลน์จะตัดปัญหานี้ออกไปได้ทันที
ยกตัวอย่าง ร้านอาหารในประเทศชิลีได้ติดตั้งหน้าจอ touchscreen เพื่อให้ลูกค้าที่อยากสั่งเพิ่มสามารถกดสั่งได้ทันทีที่ต้องการ และทางร้านก็พบว่า วิธีการนี้ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่สั่งอาหารเพิ่มจริงๆ หรืออย่างแบรนด์พิซซ่าบางกรอบชื่อดัง ‘Domino’ ก็เห็นตรงกันว่า การสั่งออนไลน์ช่วยให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจขึ้น ทำให้ยอดขายดีขึ้นกว่าเดิม และลูกค้าส่วนใหญ่ชอบการสั่งผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากกว่าการคุยผ่านโทรศัพท์
สำหรับร้านอาหารเจ้าอื่นๆ ก็เริ่มหันมาเพิ่มกำลังการผลิตหลังบ้านมากกว่าการขยายสเกลร้านแทน ซึ่งเป็นผลจากการสั่งอาหารผ่านแอปฯ ที่ทำให้คนออกมาทานข้าวนอกบ้านน้อยลง แต่เลือกจะสั่งไปกินที่บ้านเพิ่มมากขึ้น หรือบางรายก็เลือกเปิดสาขาที่ตอบโจทย์กับความเร็วอย่าง ‘drive thru’ หรือ ‘food truck’ ที่คล่องตัวกว่า งบน้อยกว่า และตอบโจทย์มากกว่าด้วย
ความรวดเร็ว หรือการระบุทุกอย่างได้เพียงปลายนิ้วเป็นสิ่งที่ดี และเข้ากับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่อยู่แล้ว แต่สิ่งที่อาจจะต้องคิดตามมา คือการบาลานซ์ความเหมาะสมให้อยู่ในจุดที่สมดุลมากขึ้น ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เพื่อใคร แต่ก็เพื่อสุขภาพระยะยาวของพวกเรานี่แหละเนอะ