การเมืองตอนนี้มีหลายหลากมิติ นอกจากประเด็นต่างๆ ที่แกนนำงัดออกมาเรียกร้อง และกระแสต่อต้านที่ดุเดือดจากกลุ่มผู้คัดค้านการชุมนุม ก็มีในแง่ของการกดดันให้ผู้มี ‘สปอตไลท์’ ในสังคม เช่น นักร้อง ดารา หรืออินฟลูเอนเซอร์ ที่ถือกระบอกเสียงขนาดใหญ่อยู่ในมือ ออกมา call out หรือเรียกร้องเพื่อประชาธิปไตยแทนประชาชนคนธรรมดา
ซึ่ง ก้อย―อรัชพร โภคินภากร ก็คือหนึ่งในผู้มีกระบอกเสียงนั้น เพราะเธอคือสาวมากบทบาทในวงการบันเทิง ตั้งแต่นักแสดง อินฟลูเอนเซอร์ ผู้เขียนบท และผู้กำกับ โดยที่ผ่านมาเธอเองก็ได้รับผลกระทบบางอย่าง จากการใช้กระบอกเสียงที่มีอยู่เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย เช่น โดนยกเลิกงาน และขอให้หยุดโพสต์เรื่องการเมือง The MATTER จึงได้ไปถามความเห็นของเธอเกี่ยวกับการ call out ของเหล่าคนดังในช่วงนี้
ตอนนี้กระแสการเมืองกระทบการงานหรือชีวิตของก้อยยังไงบ้าง?
จริงๆ ก็โดนแคนเซิลงานนะ แต่เขาก็ไม่ได้บอกตรงๆ ว่าเป็นเพราะอะไร แต่ก็จะมีบางคนที่บอกว่า “ขออนุญาตเลื่อนไปก่อนนะคะ” “ขอยกเลิกไปก่อนนะ” แต่ถามว่าเยอะมั้ย เราว่าก็ไม่เยอะนะ จริงๆ ก่อนโพสต์ก็เตรียมใจไว้ก่อนแล้ว แต่เมื่อเทียบสิ่งที่เตรียมใจไว้กับสิ่งที่เจอจริงๆ ส่วนตัวก้อยคิดว่ามันไม่ได้มากเท่ากับที่คิด
จากกระแสดารา คนดัง หรืออินฟลูเอนเซอร์ถูกกดดันให้ call out ก้อยมองเรื่องนี้ว่ายังไง เห็นด้วยหรือเปล่า?
ก้อยเข้าใจว่ามันต้องคิดก่อนโพสต์ เพราะมันอาจโดนกระแสสังคมตีกลับได้ แต่ก้อยรู้สึกว่าอยากให้ทุกคนกลับมาถามตัวเองว่า ณ วันนี้ จุดที่เรายืนอยู่ เราเห็นความเหลื่อมล้ำของสังคมมากน้อยขนาดไหน ที่ก้อยไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร เพราะก้อยว่าก้อยเห็นความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมาก ซึ่งก้อยว่าก้อยไม่ได้เสพสื่อจากฝั่งเดียวแน่ๆ เพราะครอบครัวส่วนใหญ่ก้อยก็จะอยู่คนละหัวกับก้อย ก้อยเชื่อว่าถ้าเราเสพสื่อจากทั้งสองทาง เราจะได้เห็นข้อผิดพลาดของรัฐบาลนี้มากขึ้น
แล้วก้อยรู้สึกว่าก้อยได้ตั้งคำถามกับมัน แต่ไม่ได้คำตอบที่เมกเซนส์กลับมา แล้วการที่เราเลือกที่จะตั้งคำถามแบบไม่ก้าวร้าวอะไร ก้อยว่ามันไม่ใช่เรื่องผิด เพราะฉะนั้นอินฟลูเอนเซอร์หลายคน เราอยากให้กล้าที่จะตั้งคำถาม การที่คุณมีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว มันก็เป็นเรื่องที่ดีแหละ แต่การที่คุณไปกินข้าว เดินห้าง คุณเห็นคนที่เหลื่อมล้ำกับคุณมากๆ คุณไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอ?
“การที่คุณมีชีวิตที่ดีอยู่แล้ว มันก็เป็นเรื่องที่ดีแหละ
แต่การที่คุณไปกินข้าว เดินห้าง
คุณเห็นคนที่เหลื่อมล้ำกับคุณมากๆ
คุณไม่รู้สึกอะไรเลยเหรอ?”
การที่เราออกมาเรียกร้องหรือแสดงออก มันจะทำให้ประเทศนี้กล้าวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างเสรีขึ้น การที่เรากลัวว่าพูดสิ่งนี้ไปจะทำให้เราตกงานหรือเปล่า จะมีคนมาจับ มายิงเราหรือเปล่า นี่คือประเทศที่อยากอยู่จริงๆ เหรอ ไม่ต้องคิดไปถึงระดับมหภาคว่าเราจะต้องทำเพื่อคนนั้นคนนี้ เรากลับมาที่ตัวเอง ถามตัวเองว่าเราอยากอยู่ในสังคมแบบไหน เราอยากอยู่ในสังคมที่กล้าๆ กลัวๆ ทำอะไรก็ทำไม่สุดสักอย่างเหรอ ตราบใดที่คุณมีจุดยืน แล้วคุณไม่ได้ไปเบียดเบียนคนอื่น ทำตัวไม่เหมาะสมกับการเป็นคนสาธารณะ หรือใช้คำที่แย่มากๆ ก้อยว่าคุณก็ไม่น่าจะผิดอะไร
การที่แบรนด์ต่างๆ ขอให้ก้อยเลิกโพสต์เรื่องการเมือง ก้อยรู้สึกยังไงบ้าง?
ก้อยเข้าใจเขานะ เพราะต้องยอมรับว่าการปลูกฝังหรือการเติบโตมาของประเทศนี้ มันไม่ได้สนับสนุนให้เด็กวิพากษ์วิจารณ์ ตั้งแต่อยู่ในโรงเรียนเลย เราไม่ได้ถูกสนับสนุนให้เกิดการถกประเด็นหรือกล้าตั้งคำถามอยู่แล้ว เรามีเซนส์ของความอนุรักษ์นิยม ต้องทำตามผู้ใหญ่อย่างนั้นอย่างนี้ เพราะฉะนั้น คนที่มาบอกให้ก้อยไม่โพสต์ ก้อยเชื่อว่าจริงๆ แล้ว เผลอๆ เขาอาจจะคิดแบบก้อยด้วยซ้ำ แต่เขาได้รับคำสั่งมา และเขาก็ต้องทำตาม
ก้อยไม่ได้อยากบอกอะไรกับแบรนด์ แต่ก้อยขอบอกในฐานะปัจเจกเลยแล้วกัน คือเราต้องดูสิ่งที่เราแสดงออกไป อย่างตัวก้อยเอง ก้อยเชื่อในสิ่งนั้น และก้อยรู้สึกว่าสิ่งที่พูดไปมันไม่ได้ก้าวร้าว ก้อยคิดว่าการเมืองเป็นเรื่องที่เราควรพูดได้ เพราะออกจากบ้านมากินข้าวก็เจอ vat 7% เจอการจราจร ทุกๆ อย่างมันเป็นสิ่งที่เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
พอม็อบมันสะพัดขึ้นมา สิ่งที่เกิดขึ้นกับก้อยก็คือ ก้อยกลับไปอ่านมากขึ้น เพื่อที่จะรู้ว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ก่อนหน้านี้ก้อยก็เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกว่าเราแค่มองปัญหาในมุมมองของเรา แต่เราไม่รู้ว่ารากมันคืออะไร ซึ่งคำว่ารากในที่นี้ ไม่มีใครมาบอกเราได้ เราเลยรู้สึกว่าเราอยากผลักดันให้คนไปหาข้อมูลตรงนี้ให้เยอะขึ้น ให้เข้าใจทั้งสองฝ่ายจริงๆ ทั้งคนที่สนับสนุนและไม่สนุน
และสิ่งเราก็อยากบอกตรงๆ กับทุกๆ แบรนด์เลยก็คือ ถ้าทุกวันนี้เขาบอกให้เราไม่โพสต์ด้วยความกลัวว่าจะมีคนมาด่า คือก้อยว่าชีวิตคนเราไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยความกลัวนะ
แล้วประเด็นอะไรที่ก้อยอยากขับเคลื่อนมากที่สุด?
ประเด็นที่ก้อยอยากชูมากที่สุดคือ freedom of speech/expression หรือ สื่อเสรี ที่เขาต้องการนำเสนอข่าวในมุมมองหรือในรูปแบบของเขา เขาควรจะต้องมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอ และผู้คนก็ต้องมีสิทธิที่จะรับสื่อได้หลากหลายแบบเช่นกัน เพราะการที่เขาใช้คำว่า ‘สิ่งนี้ไปทำลายความมั่นคงหรือเสถียรภาพของรัฐบาล’ ถ้าคุณมีความมั่นคงมากพอ หรือสิ่งที่คุณมีมันน่าเชื่อถือมากพอ คุณก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องกลัว และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาคุกคามใคร
เพราะฉะนั้น ประเด็นที่ก้อยอยากขับเคลื่อนมากที่สุดคือ คุณต้องให้สิทธิเสรีภาพผู้คนในการที่จะสามารถเลือกและตัดสินใจทุกๆ อย่างด้วยตนเอง รัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะปิดกั้นอิสรภาพตรงนี้
“สื่อควรจะต้องมีสิทธิเสรีในการนำเสนอ
และผู้คนก็ต้องมีสิทธิที่จะรับสื่อได้หลากหลายแบบเช่นกัน”
อยากฝากอะไรถึงอินฟลูเอนเซอร์ ดารา หรือคนมีชื่อเสียงอื่นๆ ที่ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะยืนหยัดเพื่อเสียงของตัวเองมั้ย?
สำหรับคนที่ยังงงๆ อยู่ว่าจะโพสต์ดีหรือไม่โพสต์ดี คุณยังไม่ต้องโพสต์ก็ได้ ลองไปอ่านดูก่อนก็ได้ ว่าตอนนี้ประเทศของเรากำลังเจอเรื่องอะไรบ้าง หรือผู้คนออกมาชุมนุมกันทำไม บางคนอาจจะมีแนวความคิดที่ไม่ชอบสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็บอกไม่ได้ว่าไม่ชอบตรงไหน งั้นลองหาข้อมูลหรือไปเห็นด้วยตัวเองก่อน แล้วพอถึงวันที่คุณโพสต์ออกมา คุณจะโพสต์อย่างเต็มภาคภูมิว่าคุณได้รู้สึกหรือได้รู้จักสิ่งนี้ดีพอแล้ว
“การเมืองไม่ใช่ interest นะ
แต่มันเป็น life ที่เราไม่สามารถเลือกได้”
ส่วนคนที่ยังอยู่เฉยๆ คุณไม่ต้องโพสต์หรอก แต่คุณต้องอ่าน เพราะมันเป็นเรื่องในประเทศของคุณ มีคนคนหนึ่งเคยถามก้อยว่า ทำไมเราต้องไปเบียดเบียนเขาด้วย ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองเลย คือก้อยอยากบอกว่า การเมืองไม่ใช่ interest นะ แต่มันเป็น life ที่เราไม่สามารถมาเลือกได้ว่าเราชอบศิลปะนะ เราชอบกีฬานะ แต่การเมืองมันอยู่ในทุกอณูจริงๆ ไม่ว่าคุณจะทำอะไร มันอยู่ในระบบหรือรากฐานของคุณไปทั้งชีวิต ซึ่งถ้าคุณไม่อยากโพสต์ก็ไม่เป็นไรนะ เอาจริงๆ คือก้อยว่าการ call out หลายๆ ครั้งมันคือการ call out ที่อยู่ภายใต้ความกดดัน ซึ่งก้อยไม่ได้เห็นด้วยเลย แต่คนที่ยังคงเงียบอยู่ แล้วไม่ทำอะไรเลยสักอย่าง อันนั้นก้อยก็ไม่เห็นด้วยเหมือนกัน
เอาเป็นว่าถ้าใครอยากจะออกมาพูดเรื่องนี้ ก็ลองศึกษาหาข้อมูล และมีจุดยืนของตัวเองที่ชัดเจน โดยที่ไม่ต้องไปเบียดเบียนใคร ส่วนใครที่ stay silent อย่างน้อยเราขอให้คุณรับรู้ความเป็นไปของประเทศที่คุณอยู่ก็ยังดี