ฝรั่งเศสเพิ่งได้เอ็มมานูเอล มาครงเป็นประธานาธิบดีที่อายุน้อยที่สุดไป มาครงผู้มาพร้อมกับทัศนะแบบไม่ซ้ายไม่ขวาและมุ่งเน้นหาตรงกลาง และความสมานฉันท์ของประเทศผู้นี้อาจมีภูมิหลังที่พื้นๆ สำหรับการก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศเช่นการทำงานด้านการธนาคารมาก่อน แต่นอกจากแวดวงการเงินแล้ว มาครงยังมีภูมิหลังที่เกี่ยวข้องกับแวดวงนักคิดนักปรัชญา คือจบการศึกษาเทียบเท่าระดับปริญญาโททางปรัชญาจาก University of Paris-Ouest Nanterre La Défense แถมเคยเป็นผู้ช่วยวิจัยและลูกศิษย์ของปอล ริเกอร์ (Paul Ricoeur) นักปรัชญาฝรั่งเศสคนสำคัญแห่งศวรรษที่ 20 ในหนังสือ La Mémoire, l’Histoire et l’Oubli (Memory, History, Forgetting) ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2000 ริเกอร์ มีการกล่าวขอบคุณมาครงไว้ในหนังสือของตัวเองด้วย
ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับความคิดและปรัชญา แม้ว่าริเกอร์เป็นนักปรัชญาทางสุนทรียศาสตร์และการตีความตัวบทมากกว่าการเป็นนักปรัชญาการเมืองโดยตรง แต่แน่ล่ะว่ารากฐานทางความคิดและความลุ่มลึกต่างๆ ย่อมเกี่ยวข้องกับภูมิหลังและประสบการณ์ของคนคนนั้น การที่มาครงเคยทำงานเป็นผู้ช่วยทางบรรณาธิการของริเกอร์ในช่วงชีวิตหนึ่ง ริเกอร์ย่อมมีอิทธิพลต่อมาครงในทำนองศิษย์-อาจารย์อยู่ไม่มากก็น้อย
การที่ผู้นำทางการเมืองมีความเชื่อมโยงบางอย่างกับผู้นำทางความคิดชวนให้นึกถึงชีวิตของเรา เราต่างมีปรมาจารย์โยดาเป็นของเราเอง เรามีเมนเทอร์ในฐานะผู้ทรงภูมิที่คอยชี้นำชีวิตและเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ยืนอยู่ในปัจจุบันได้ สุดท้ายความสำเร็จและชื่อเสียงหลายครั้งจึงมีผู้ชาญฉลาดที่น่ารักหนุนหลังแลเป็นตัวแปรสำคัญที่ร่วมสร้างความสำเร็จนั้นอยู่ด้วยเสมอ
Emmanuel Macron – Paul Ricoeur
เอ็มมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสคนปัจจุบัน ก่อนจะเข้าสู่แวดวงการเงินและก้าวเข้าสู่การเป็นผู้นำประเทศ มาครงศึกษาระดับปริญญาโทในสาขาวิชาปรัชญาที่ University of Paris-Ouest Nanterre La Défense โดยในช่วงปี 1999 มาครงทำงานเป็นผู้ช่วยทางบรรณาธิการ ในขณะที่ ปอล ริเกอร์ เขียนงานเล่มสำคัญคือ La Mémoire, l’Histoire et l’Oubli (Memory, History, Forgetting) แม้ว่าริเกอร์เป็นนักปรัชญาสายสุนทรียศาสตร์มนุษยศาสตร์มากกว่าปรัชญาการเมือง แต่แน่นอนว่าการทำงานร่วมกันถึง 2 ปีในทำนองศิษย์อาจารย์ย่อมต้องมีอิทธิพลบางอย่างที่มาครงซึมซับไว้ นักวิชาการทางปรัชญาฝรั่งเศสให้ความเห็นว่า หลายครั้งเช่นในการประกาศนโยบายที่มีผลกระทบต่อกลุ่มคนที่อ่อนไหว วาทศิลป์ของมาครงแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากจริยธรรมเรื่องความรับผิดชอบที่น่าจะได้อิทธิพลมาจากวิธีคิดของริเกอร์
Alexander the Great – Aristotle
มหาบุรุษย่อมเติบโตได้เพราะปรมาจารย์ระดับเทพยดา โลกรู้จักคนทั้งสองทั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กษัตริย์ผู้เกรียงไกรที่เอาชนะได้กว่าครึ่งโลกและอริสโตเติล นักปรัชญาที่วางรากฐานความคิดของปรัชญาตะวันตก ทั้งสองมีสถานะเป็นศิษย์-อาจารย์กัน ในชีวประวัติ Life of Alexander แต่งโดย Plutarch กวีโรมันคนสำคัญ(จะรวมเทพไปไหน) พูดถึงชีวิตสมัยเรียนของอเล็กซานเดอร์ว่า ถึงเวลา ณ วิหารใกล้เมือง Mieza อริสโตเติลก็จะมานั่งที่แท่นหินแล้วก็สั่งสอนเรื่องราวต่างๆ กับอเล็กซานเดอร์ ซึ่งสิ่งที่นักปราชญ์สอนกับยุวกษัตริย์นั้นก็ไม่ใช่แค่เรื่องศีลธรรมหรือการปกครองแค่อย่างเดียว แต่ยังสอนเรื่องราวลึกซึ้งอื่นๆ เช่น ความคิดของนักปรัชญาต่างๆ ไปจนถึงฝึกการใช้วาทศิลป์เพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพด้วย
Henry Ford – Thomas Edison
สองบุรุษแห่งวิทยาการและประดิษฐกรรมแห่งโลกสมัยใหม่ โทมัส เอดิสัน ผู้คิดค้นหลอดไฟจากการทดลองนับครั้งไม่ถ้วนและแน่นอนว่าเป็นวีรบุรุษผู้ยิ่งใหญ่ในใจใครหลายคน รวมทั้งเฮนรี่ ฟอร์ด เจ้าแห่งวงการอุตสาหกรรมยานยนต์และเป็นผู้มีอิทธิพลกับเศรษฐกิจและสังคมสมัยใหม่ หลังจากที่ทั้งคู่พบกันในปี 1896 เอดิสันจึงเปลี่ยนสถานะจากฮีโร่วัยเด็กของฟอร์ดมาเป็นผู้ชี้แนะและเพื่อนที่ดี เอดิสันเป็นหนึ่งในคนที่ฟอร์ดขอคำแนะนำในการบริหารบริษัททั้งในแง่ของกลยุทธ์ทางธุรกิจและในโครงการค้นคว้าวิจัยต่างๆ ทั้งคู่คงสถานะการเป็นเพื่อนที่ดีไปจนกระทั่งช่วงบั้นปลายสุดท้ายในชีวิต
Oprah Winfrey- Maya Angelou
มายา แองเจลู เป็นนักคิดนักเขียนหญิงผิวสีคนสำคัญแห่งศตวรรษ งานเขียนและบทกวีของเธอส่งอิทธิพลต่อผู้คนไปทั่วโลก มายาเป็นผู้ที่โอปรา วินฟรี่ พิธีกรและเจ้าแม่รายการโทรทัศน์เรียกมายาว่าเป็นทั้งแม่ พี่สาว และเพื่อน สำหรับโอปราแล้ว มายาเป็นคนคอยให้คำแนะนำในการใช้ชีวิต ทั้งจากตัวอักษรที่เรื่องราวต่างๆ สัมผัสเข้ากับประสบการณ์วัยเด็กของโอปรา จนกระทั่งได้มารู้จักมายาและได้กลายเป็นผู้คอยชี้นำชีวิตของเธอ โอปราพูดถึงมายาว่า “มายาอยู่ข้างเธอเสมอในเวลาที่เธอต้องการ เป็นคนที่คอยชี้แนะแนวทางในช่วงเหตุการณ์สำคัญๆ” และเธอก็บอกว่า “คนที่คอยชี้นำแนวทางเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของชีวิต เธอเห็นว่าความสำเร็จไม่ว่าจะของใครก็ต้องย่อมต้องมีเหล่าผู้ชี้ทางร่วมอยู่ด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”
Mark Zuckerberg – Steve Jobs
ไหนๆ เรื่องราวนี้ก็อยู่บน Facebook คุณพี่มาร์ก Mark Zuckerberg เจ้าของ Facebook ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันก็เคยได้รับการชี้แนะแนวทางจากเจ้าพ่อเทคโนโลยีรุ่นพี่อย่าง Steve Jobs แห่ง Apple คือในช่วงแรกเริ่มของเฟซบุ๊ก จ็อบเป็นผู้ให้แนะนำและช่วยฝึกฝนมาร์กในเรื่องธุรกิจและการบริหารจัดการทั้งหลาย
หลังจากสตีฟ จ็อบ เสียชีวิต มาร์ก ซักเคอร์เบิร์กเขียนคำไว้อาลัยไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “สตีฟ ขอบคุณที่เป็นทั้งผู้ชี้แนะแนวทางและเป็นเพื่อนของผม ขอบคุณที่ได้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่คุณสร้างเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้อย่างไร ผมจะคิดถึงคุณตลอดไป”