ความสามารถในการสื่อสาร เป็นอีกทักษะที่เราควรมีติดตัวไว้ในการใช้ชีวิต นอกจากจะเอาไว้บอกความต้องการ สื่อถึงข้อความที่อยู่ในใจ การสื่อออกไปอย่างมีกึ๋นช่วยกล่อมเกลาให้สารนั้นเป็นไปในแบบที่เราต้องการ เป็นความเคร่งขรึม เป็นความโอนอ่อน แล้วแต่เราจะสื่อออกไปอย่างไร คำพูดของเราจึงเป็นได้ทั้งก้อนหินและดอกไม้ สามารถมอบความหนักอึ้ง เจ็บปวดจากก้อนหินได้ เช่นเดียวกับมอบความหอมหวาน ชื่นใจ เหมือนดอกไม้ที่หยิบยื่นให้กัน
คำชื่นชม ให้กำลังใจ ที่เป็นดั่งดอกไม้นั้น อาจดูเหมือนเรื่องทั่วไปที่ใครๆ ก็ต่างหยิบยื่นให้กันอยู่เสมอ แต่สำหรับบางคน การเอ่ยคำชมอาจยังเป็นเรื่องยาก พ่อแม่ปากแข็งที่ไม่เคยเอ่ยชมลูกแม้เรียนได้เกรด 4.00 เจ้านายที่ไม่ได้มีคำชื่นชมในความสามารถ เพื่อนที่ไม่ได้เอ่ยคำยินดีให้กับเรื่องราวดีๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าใครก็ตามที่อาจจะเคยปากหนัก ชื่นชมอยู่แค่ในใจไม่ได้เอ่ยออกไป หรือไม่ได้สนใจการชื่นชมด้วยซ้ำ อาจมองเป็นเพียงการยกยอปอปั้น อีก 3 นาที 5 นาทีก็มลายสิ้นไปแล้ว คำชมเหล่านั้นเป็นเพียงลมที่พัดผ่านไปจริงหรือเปล่า?
มาร์เซีย นาโอมิ เบอร์เกอร์ (Marcia Naomi Berger) นักจิตบำบัด เจ้าของผลงานเขียน Marriage Meetings for Lasting Love: 30 Minutes a Week to the Relationship You’ve Always Wanted ได้พูดถึงการเอ่ยคำชมให้แก่กันว่า การเอ่ยคำชมเป็นเหมือนการสื่อสารความพึงพอใจที่เรามีให้กับอีกฝ่าย และความรู้สึกเป็นที่พึงพอใจและมีคุณค่าเนี่ย เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ การเอ่ยคำชมจึงเป็นพื้นฐานของความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ไม่ว่าจะกับเพื่อน คนรัก หรือแม้แต่ในที่ทำงานก็ตาม
ลองมาดูงานวิจัยจาก National Institute for Physiological Sciences (NIPS) กัน ในหัวข้อ ‘Processing of Social and Monetary Rewards in the Human Striatum’ พูดถึงเรื่องการชื่นชมกันไว้ว่า ตอนที่เราได้รับคำชมเนี่ย สมองในส่วนเดียวกับตอนที่เราได้รับเงิน มันทำงาน (สว่างขึ้นมา) เหมือนกันเลยล่ะ พูดง่ายๆ ก็คือ ตอนเราได้รับคำชม สมองในส่วนเดียวกันทำงานเหมือนกับตอนที่เราได้เงินนั่นแหละ สอดคล้องกับที่คุณเบอร์เกอร์บอกไว้ว่า การได้รับคำชมเหมือนการได้รับรางวัล เลยทำให้มีแนมโน้วที่จะทำซ้ำแบบนั้นอีก อย่างสมมติว่าเราบอกใครสักคนว่าเขายิ้มแล้วดูดีจังเลย เขาก็จะยิ้มให้เราไปเรื่อยๆ ในทุกครั้งที่เจอกัน
เราเลยอยากแนะนำให้การเอ่ยคำชม กลายเป็นเรื่องทั่วไปในความสัมพันธ์ตั้งแต่การทักทาย พูดคุย ให้กำลังใจ ไม่ว่าจะในความสัมพันธ์กับครอบครัว เพื่อนร่วมงาน คนรัก หรือเจ้านายก็ตาม แต่เราก็เข้าใจดีว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถเข้าไปเอ่ยคำชมได้อย่างไม่ขัดเขิน หรือรู้จักหยอดคำหวานอย่างเป็นธรรมชาติ มาดูกันว่าเราจะเอ่ยคำชมอย่างไรดี ให้มันดูเป็นธรรมชาติและไม่กระอักกระอ่วน
เมื่ออยากเอ่ยชมเจ้านาย
หากเป็นเพื่อนร่วมงาน เราอาจจะสามารถชมเรื่องเล็กน้อย จิปาถะ หยอกเย้ากันได้ตามประสา แต่พอเป็นเจ้านายแล้ว การสร้างความสัมพันธ์ออกจะซับซ้อนขึ้นเสียหน่อย เมื่อเราจะต้องคิดหน้าคิดหลังในการพูดมากขึ้น ชมมากเกินไปอาจเหมือนประจบสอพลอมั้ยนะ แต่ไม่เอ่ยถึงเลยจะดูมองข้ามความสามารถหรือความหวังดีของเขาหรือเปล่า
สมมติว่าในโปรเจ็กต์หนึ่ง เจ้านายมีส่วนช่วยอย่างมากในการแก้ปัญหาให้เรา ในแบบที่เราทำเองไม่รอดแน่นอน เมื่ออยากเอ่ยชมเจ้านาย เราอาจจะต้องขอบคุณหรือพูดถึงในสิ่งนั้นแบบเจาะจงลงไป มากกว่าการหว่านกว้างๆ หรือคำพูดแบบปลายเปิด เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราเห็นในสิ่งที่เขาทำและซาบซึ้งกับมันจริงๆ มากกว่าเอ่ยคำหวานเอาใจเพราะเขาเป็นเจ้านายเท่านั้น (แต่อยากจะหยอดเอาใจก็ไม่ผิด)
เมื่ออยากเอ่ยชมเพื่อนร่วมงาน
“ทำได้ดีมาก” “เธอเป็นคนมีความสามารถนะ” คำชมเหล่านี้แม้จะเป็นคำแง่บวก ดูไม่มีปัญหาอะไรนี่ แต่ว่าคำพูดเหล่านี้อาจจะเป็นเหมือนเจ้านายพูดกับลูกน้องมากกว่า หากเราไม่ได้เอ่ยชมใครเป็นปกติ แล้วอยู่ดีๆ เกิดอยากพูดประโยคเหล่านี้ขึ้นมาเฉยๆ อาจจะเหมือนการวางตัวข่มอีกฝ่ายไปเสียหน่อย (แต่ถ้าหากเป็นคนเข้าสังคมได้ดีในระดับหนึ่ง ที่จะรู้จักการใช้น้ำเสียง ท่าทาง และหาโอกาสที่เหมาะสมแล้วล่ะก็ ไม่มีปัญหาอะไรกับประโยคเหล่านั้นเลย)
การเอ่ยชมเพื่อนร่วมงานจึงควรให้เขารู้สึกว่าเราทั้งคู่อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่มี power dynamics เข้ามาเกี่ยวข้อง ชมแบบมาจากใจ อย่างเช่น บอกว่าเราเองก็ต้องเรียนรู้หลายอย่างจากเขา สิ่งที่เขาทำมีแต่คนชมนะ เราเองก็ดีใจไปกับเขาเช่นกัน หรืออะไรก็ตามที่แสดงให้เห็นว่าความชื่นชมของเรา มาจากเพื่อนที่อยู่ในระดับเดียวกัน ไม่ใช่การเอ่ยชมแบบหยาดฝนหล่นจากฟ้า ส่งมาให้ชื่นใจ
เมื่ออยากเอ่ยชมคนใกล้ชิด ครอบครัว คนรัก
พอเป็นคนใกล้ตัวแล้ว อะไรๆ อาจจะง่ายขึ้น โดยอาจเริ่มจากคำชมทั่วไป ชุดวันนี้ดูดีนะ ดีใจที่ได้เจอกันนะ เพื่อเป็นการเริ่มต้นการพูดคุยที่ดี หรือลองหาอะไรที่อีกฝ่ายมักทำอยู่บ่อยๆ และทำได้ดี กับข้าววันนี้อร่อยจัง ร้องเพลงได้เพราะเหมือนเดิมเลยนะ เพื่อแสดงความใส่ใจต่ออีกฝ่าย
เพราะคำชมทำให้การพูดคุยดีขึ้น ความสัมพันธ์ดีขึ้น นำมาซึ่งบรรยากาศรอบตัวที่ดีขึ้น ที่สำคัญ เราไม่ต้องลงทุนอะไรกับคำชมเลย เพียงแค่เอ่ยมันออกไป ก็ช่วยนำมาซึ่งความพึงพอใจต่อกันได้แล้ว และก็ขอบคุณมากนะที่อ่านมาจนถึงตรงนี้ ขอให้เป็นวันที่ดีของทุกคนนะ
อ้างอิงข้อมูลจาก