เฟซบุ๊ค Decharut Sukkumnoed ของ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขียนเล่าเรื่องราวของลูกสาวและลูกชายอยู่บ่อยๆ
กล่าวโดยสรุป ความน่าสนใจของพ่อและลูกทั้งสอง คือ “คำถาม” และ “คำตอบ”
คำถาม…กระติ๊บ-วริษา สุขกำเนิด อยู่ ม.5 โรงเรียนโยธินบูรณะ (และเป็นเลขาธิการกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท กลุ่มนักเรียนที่รณรงค์เคลื่อนไหวในประเด็นต่างๆ ด้านการศึกษา) ส่วนแดน-แดนไท สุขกำเนิด อยู่ ป.6 โรงเรียนเพลินพัฒนา แม้อายุยังไม่มาก แต่ทั้งสองคนตั้งคำถามต่อสิ่งต่างๆ ได้อย่างน่าทึ่ง ทั้งในแง่ประเด็นที่ยาก (เชื่อว่ามีไม่มากนักในคนวัยเดียวกัน) และมุมมองที่สะท้อนความเป็นคนช่างคิดและกล้าเป็นตัวของตัวเอง เช่น อัตลักษณ์คืออะไร การเป็น Atheist (ผู้ไม่สังกัดศาสนา) วัฒนธรรมประชาธิปไตยของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แนวคิดพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของรัชกาลที่ 9 ฯลฯ
คำตอบ…แม้โดยอาชีพอาจารย์เดชรัตคือนักวิชาการ ซึ่งหมายถึงการเป็น “ผู้รู้” ในเรื่องต่างๆ แต่เขากลับสร้างบทสนทนาแบบเปิดกว้าง ให้อิสระ ไม่ชี้นำ ไม่สั่งการ แต่ชวนมอง ชวนคิดผ่านการตั้งคำถาม สร้างกิจกรรม หรือแม้แต่เล่นบอร์ดเกมร่วมกัน
“ผมว่าถ้าใช้ความเป็นพ่อให้น้อยลง ความเป็นพ่อจะถูกใช้ได้ดีขึ้น” เขาพูดถึงบทบาทของตัวเอง ที่เกิดขึ้นจากเสียงสะท้อนแสนธรรมดาของลูกสาว ซึ่งกลายเป็นจุดเปลี่ยนต่อ “ความเป็นพ่อ” ของเขาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ตอนมีลูกคนแรก อาจารย์ตั้งใจว่าจะเลี้ยงลูกยังไง
ผมเป็นคนเชื่อเรื่องโปรแกรมมิ่ง ถ้าวางแผนอย่างเป็นระบบ เราน่าจะได้ผลลัพธ์ที่ดี แต่ผ่านไปไม่นาน ผมพบว่ากระติ๊บเป็นตัวของตัวเองเร็วมาก ความเป็นธรรมชาติของเขาเริ่มเกิดตั้งแต่ยังไม่ถึงหนึ่งปี เช่น ตอนนั้นกระติ๊บยังเด็กอยู่ เขาชอบร้องเพลง แต่อารมณ์ตอนนั้นเกิดไม่อยากร้อง แล้วมีคนขอให้ร้อง เขาก็ร้องไห้ไปด้วยร้อยเพลงไปด้วย มันบ่งบอกว่าลูกเราแคร์คนอื่นเยอะ แต่ขณะเดียวกัน เขาก็ต้องการเป็นตัวเอง ขนาดร้องไห้ก็ยังอุตส่าห์ร้องเพลง หรือพูดกลับกัน ขณะร้องเพลงก็ยังอุตส่าห์ร้องไห้
ผมพยายามจะแก้นะ แต่ยังไม่มีคำตอบ จนกระติ๊บเริ่มโต ตอนสัก ป.4 เขาเริ่มโต บางครั้งมีความหงุดหงิดเยอะ แม้ผมจะควบคุมน้อยลง แต่บางครั้งก็ยังควบคุมอยู่ ตอนนั้นไปส่งเขาที่โรงเรียน ดุเขาไปตลอดทาง ถามเขาว่า “เข้าใจไหม” เขาก็ตอบ “ไม่เข้าใจ” พอใกล้จะถึง ผมก็ถามว่า “เข้าใจไหม” เขาก็บอกว่า “ไม่เข้าใจ” เราถามต่อว่า “ทำไมยังไม่เข้าใจ” เขาตอบกลับว่า “ที่พ่อพูดน่ะเข้าใจแล้ว แต่ที่ไม่เข้าใจ ทำไมไม่พูดให้ดีกว่านี้” เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมกลับมาคิด เราคงต้องเปลี่ยนตัวเองแล้ว แต่ก็ใช้เวลา 2-3 ปีกว่าเขาจะคลายความอึดอัด ทำให้ตอนมีแดนไท ผมก็เลี้ยงลูกได้ง่ายขึ้น
ผมเลยเรียกคอนเซ็ปต์ว่า ‘เดินตามหลังลูก’ ให้เขานำไป แต่ไม่ใช่ปล่อยเลยตามเลยนะ อะไรที่ไม่ใช่ เราก็พูดได้ แต่จะพูดในฐานะพ่อให้น้อยลง แต่จะพูดในฐานะเพื่อน หรือคนที่เห็นโลกต่างจากเขา ผมไม่ใช้คำว่าเห็นโลกมาก่อน เห็นโลกมามากกว่า แน่นอนว่าเรามีประสบการณ์ และเขาก็ฟังเราอยู่แล้ว แต่เราอย่าใช้ความเป็นพ่อทับลงไปอีก ผมว่าถ้าใช้ความเป็นพ่อให้น้อยลง ความเป็นพ่อจะถูกใช้ได้ดีขึ้น
เขาตอบกลับว่า
“ที่พ่อพูดน่ะเข้าใจแล้ว แต่ที่ไม่เข้าใจ ทำไมไม่พูดให้ดีกว่านี้”
เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ผมกลับมาคิด เราคงต้องเปลี่ยนตัวเองแล้ว
ตอนได้ยินกระติ๊บพูด อาจารย์รู้สึกยังไง
ใช่ ทำไมเราถึงไม่คิดนะ จริงๆ มันมีวิธีอื่น แต่ตอนนั้นเราคิดแต่ว่าทำยังไงเขาถึงจะยอมรับสิ่งที่เราพูด แต่ด้วยความเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ผมเลยพอจะเข้าใจได้ง่าย พูดภาษาเศรษฐศาสตร์ คือลูกค้าเขาปฏิเสธแล้ว เราจะขายวิธีเดิมได้ยังไงล่ะ (หัวเราะ)
เปลี่ยนตัวเองยากไหม
ผมเริ่มคลายเลยนะ ไม่ได้ยาก แต่ต้องคอยระมัดระวัง เราเห็นอะไรได้ยินอะไรจากเขา ก็คอยดู เปลี่ยนมาใช้วิธีตั้งคำถามในสิ่งที่เขาทำ มุ่งหวังอะไร แล้วเราช่วยอะไรได้บ้าง
คนเป็นผู้ใหญ่ต้องเคยลองผิดลองถูกจนได้คำตอบว่า อะไรดี-อะไรควร อาจารย์มีโมเมนต์อยากแนะนำให้ทำตามบ้างไหม
ต้องมีแน่ๆ อยู่แล้ว แต่ผมเปลี่ยนเป็นว่า วิธีแนะนำที่ดีกว่าคืออะไร เช่น การจะบอกว่าบุหรี่ไม่ดี เขาก็ได้ยินแล้วล่ะ แต่เขาจะเชื่อลึกแค่ไหนมันก็อีกเรื่อง ผมเลยทำการทดลองเรื่องการสูบบุหรี่ ใช้ขวดพลาสติก ข้างในใส่น้ำไว้ เจาะรูไว้ เป็นเหมือนกาลักน้ำ พอเราปล่อยรู น้ำก็ลดลง อากาศก็แทนที่ มันเหมือนเราสูบบุหรี่เลย ควันเต็มขวดเลย ตรงปลายบุหรี่ที่เป็นก้นกรองก็ใส่สำลีไป ดูว่าที่ออกมาจากก้นกรองเป็นยังไง มันจะเห็นเลยว่าเป็นยังไง จุดสำคัญคือพ่อแม่ต้องใจเย็นเวลาลูกมีคำถาม ขณะนั้นเรานึกวิธีอะไรได้ ก็ดูว่ามันเวิร์คไหม ถ้ายังไม่ได้ แล้วไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่เกิดอันตรายกับลูกเดี๋ยวนั้น เรายังไม่ต้องรีบก็ได้นะ ถอยมานิดนึง อาศัยสิ่งที่เราชอบอ้างเสมอว่ามีประสบการณ์เยอะกว่า แล้วลองเปลี่ยนวิธีการ บางทีผมก็ชวนเล่นเกม บางทีก็เล่าประวัติศาสตร์ให้ฟัง บางทีก็พาลูกไปคุยกับคนอื่น เป็นการได้รับคำแนะนำโดยเราไม่ต้องพูดเอง
จุดสำคัญคือพ่อแม่ต้องใจเย็นเวลาลูกมีคำถาม ขณะนั้นเรานึกวิธีอะไรได้ ก็ดูว่ามันเวิร์คไหม ถ้ายังไม่ได้ แล้วไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่เกิดอันตรายกับลูกเดี๋ยวนั้น เรายังไม่ต้องรีบก็ได้นะ
เคยแนะนำแล้วถึงที่สุดเขาก็ยังไม่เชื่อบ้างไหม
มีครับ เช่นเรื่องการแต่งกาย เขาก็ยังไม่ฟังอยู่ดี ต้องให้เขาฟังหลายๆ คน เราอาจต้องขอบ้างในบางกรณี ขอด้วยเหตุผลและท่าทีที่ดี วันนี้ต้องมาที่ทำงานของพ่อนะ แต่จริงๆ มันไม่มีถึงที่สุดหรอก เพราะผมกับลูกก็คุยกันเรื่อยๆ ต่างฝ่ายต่างเปิดพื้นที่กันเรื่อยๆ แล้วลูกก็ไม่ได้ตายตัวว่าข้อสรุปคือแบบนี้
ได้ยินจากกระติ๊บว่าเขาคุยกับพ่อได้ทุกเรื่อง แม้แต่เรื่องความรัก มองว่าตัวเองมีคาแรคเตอร์แบบไหน ลูกถึงกล้าเปิดใจ
ถ้าพูดให้ง่าย ทำให้เพื่อนของลูกแอดเฟรนด์เราในเฟซบุ๊ค (หัวเราะ) นี่เป็นปลายทางนะ ถามว่าทำยังไง เราต้องไม่แทรกแซงชีวิตเขาจนเกินพอดี และก่อนที่เพื่อนของลูกจะกดมาเป็นเฟรนด์ เราต้องมีความน่าสนใจอะไรบางอย่าง หาความน่าสนใจตรงนั้นให้เจอ การจะชวนเพื่อนลูกมาเป็นเพื่อนเราในชีวิตจริงมันยาก แต่ในเฟซบุ๊คมันง่ายกว่า และสุดท้ายมันจะนำไปสู่ความจริงได้ เช่น ชวนมากินข้าวด้วยกัน
สถานการณ์ทางการเมืองปัจจุบัน ทำให้เลี้ยงลูกยากขึ้นไหม
ไม่หรอกครับ มันมีเรื่องให้คุยเยอะขึ้นด้วย แต่พ่อแม่ต้องอย่าอินเกินไป ไม่ว่าจะสายไหนก็ตาม ถ้าเราไม่มีลูก แล้วอยากจะอินกับฝั่งไหน มันไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีลูกแล้วอินมาก เราจะเสียโอกาสในการพัฒนาดุลยพินิจของเขา
พ่อแม่ต้องอย่าอินเกินไป ไม่ว่าจะสายไหนก็ตาม
ถ้าเราไม่มีลูก แล้วอยากจะอินกับฝั่งไหน มันไม่มีปัญหา
แต่ถ้ามีลูกแล้วอินมาก เราจะเสียโอกาสในการพัฒนาดุลยพินิจของเขา
คุยเรื่องการเมืองกับลูกยังไงบ้าง
ผมพยายามหลีกความเป็นคนดี-คนเลว ให้การเมืองเป็นเรื่องของการกระทำ การกระทำนี้ถูกไหม เพราะถ้าเราคุยกับลูกโดยบอกว่า ฝ่ายนี้ดี ฝ่ายนี้เลว มันวุ่น หลักการข้อนี้สำคัญนะ ถ้าพ่อแม่อยากฝึกพัฒนาการลูกในเชิงดุลยพินิจ ต้องหลีกความเป็นคนดีคนเลว ถ้าไม่หลีกนะ เสร็จเลย เพราะมันง่ายกว่าไง พอมันง่าย อย่างอื่นก็ไม่ต้องใส่ใจ เพราะเห็นอยู่แล้วว่าคุณเป็นคนดีในความเชื่อนั้น ก็เชื่อไปเลยสิว่าเขาทำดี
ถ้าหล่อหลอมให้ใช้แว่นแบบคนดี-คนเลว มามองเรื่องการเมือง ก็อาจส่งผลต่อการมองในเรื่องอื่นๆ ด้วย
ใช่ครับ แต่บางกรณีเราถูกคนอื่นแกล้งโดยตรง แน่นอนว่าธรรมชาติมนุษย์ก็มองว่าคนนั้นไม่ค่อยดีกับเรา แต่กับการเมือง เราไม่ได้ไปเกี่ยวโดยตรง พ่อแม่ต้องอย่าพาเข้าไปเกี่ยวโดยตรงว่าคนนั้นดีหรือเลว
อาจารย์สอนเรื่องการใช้อารมณ์และเหตุผลยังไง
อยู่ที่เขาเห็นจากเรา ถ้าเรารับฟังเขา เขาก็พร้อมรับฟังเรา
เคยตีลูกไหม
เคยสิ (ตอบทันที) ตีสมัยกระติ๊บ แต่ตอนแดนไท ผมไม่ได้ตีแล้ว
มองย้อนกลับไปรู้สึกผิดไหม
เหมือนคำพูดของกระติ๊บเลยครับ ทำไมไม่ใช้วิธีที่ดีกว่านี้
อะไรคือความคาดหวังและความภูมิใจต่อลูกทั้งสองคน
ผมไม่ได้มีความคาดหวังนะ ส่วนความภูมิใจคือ ทั้งสองคนเหมือนเป็นเพื่อน เราได้เรียนรู้เรื่องต่างๆ ไปพร้อมกัน ลูกไม่ต้องมาตอบแทนบุญคุณพ่อ เพราะระหว่างความสัมพันธ์แต่ละวัน เราต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน เป็นความสุขในชีวิต แต่มันไม่ใช่ความภูมิใจแบบความสำเร็จ (เงียบคิด) เรียกว่าเป็นเรื่องที่ดีละกัน ที่ผมและลูกอยู่กันแบบนี้ได้
ลูกไม่ต้องมาตอบแทนบุญคุณพ่อ
เพราะระหว่างความสัมพันธ์แต่ละวัน เราต่างตอบแทนซึ่งกันและกัน
ถ้าวันหนึ่งลูกตีตัวออกห่างไป ก็ไม่โกรธเขา ?
ครับ แต่มันคงไม่ง่ายในความหมายนั้น เพราะผมก็ต้องปรับไปหาเขาเหมือนกัน วันนั้นเราอาจมีข้อจำกัดบางอย่าง ซึ่งอาจไม่ใช่ปัญหาของลูก แต่อาจเป็นปัญหาของเราก็ได้
แต่ละบ้านก็คงมีวิธีการเลี้ยงดูลูกหลานแตกต่างกันไป เชื่อว่าทุกคนก็คงตั้งใจจะทำให้ดีที่สุดเหมือนๆ กัน เพราะการจะเลี้ยงเด็กให้โตขึ้นมาสักคนนั้นไม่ง่าย ยิ่งเพราะพวกเขานั้นมีชีวิต ความคิด และจิตใจเป็นของตัวเอง แนวทางการเลี้ยงลูกแบบดร.เดชรัต อาจจะเป็นแนวทางตัวอย่างให้บทบาทพ่อแม่หรือผู้ปกครองในบางมุมง่ายขึ้นบ้างก็ได้